เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2552 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามใน ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด พ.ศ. 2552 โดยระเบียบฯ ดังกล่าว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2552 เป็นต้นไป ตามที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 126 ตอนพิเศษ 62 ง วันที่ 27 เมษายน 2552
จากการที่มาตรา 55/1 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติไว้ว่า ในจังหวัดหนึ่งนอกจากกรุงเทพมหานคร ให้มีคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดคณะหนึ่ง เรียกโดยย่อว่า ก.ธ.จ. ทำหน้าที่สอดส่องและเสนอแนะการปฏิบัติภารกิจของหน่วยงานของรัฐในจังหวัดให้ใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และเป็นไปตามหลักการที่กำหนดไว้ในมาตรา 3/1 ทั้งนี้ จำนวน วิธีการสรรหา และการปฏิบัติหน้าที่ของ ก.ธ.จ. ให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงาน ก.พ.ร. จึงได้ยกร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด พ.ศ. .... และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องมาเป็นระยะ ล่าสุด ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2552 ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะลงนามในกฎหมายดังกล่าว เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2552 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 126 ตอนพิเศษ 62 ง เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2552
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด พ.ศ. 2552 ได้กำหนดถึงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับจำนวน วิธีการสรรหา และการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด หรือ ก.ธ.จ. ซึ่งประกอบด้วย ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งมีเขตอำนาจในจังหวัดเป็นประธาน และผู้แทนภาคประชาสังคม ผู้แทนสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้แทนภาคธุรกิจเอกชนในจังหวัดนั้น เป็นกรรมการ ซึ่งจำนวนกรรมการ ก.ธ.จ. แต่ละแห่งให้ถือเกณฑ์จำนวนอำเภอของแต่ละจังหวัดเป็นหลัก ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 6 ของระเีบียบฯ ฉบับนี้ กล่าวคือ
จำนวนอำเภอ (อำเภอ) |
จำนวนกรรมการ (คน) |
องค์ประกอบของกรรมการ (คน) |
ประธาน |
ผู้แทนภาคประชาสังคม |
ผู้แทนสมาชิกสภาท้องถิ่น |
ผู้แทนภาคธุรกิจเอกชน |
ไม่เกิน 10 |
ไม่เกิน 14 |
1 |
ไม่เกิน 7 |
3 |
3 |
11 - 15 |
16 |
1 |
9 |
3 |
3 |
16 - 20 |
18 |
1 |
9 |
4 |
4 |
21 ขึ้นไป |
20 |
1 |
11 |
4 |
4 |
ทั้งนี้ กรรมการผู้แทนภาคประชาสังคม กรรมการผู้แทนสมาชิกสภาท้องถิ่น และกรรมการผู้แทนภาคธุรกิจเอกชน มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี โดยกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับการสรรหาอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้
นอกจากนี้ ให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งข้าราชการสังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่ตามที่ประธานเสนอ เป็นเลขานุการ 1 คน และผู้ช่วยเลขานุการ 1 คน รวมทั้งแต่งตั้งข้าราชการในจังหวัดนั้นตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเสนอ เป็นผู้ช่วยเลขานุการอีก 1 คน
อำนาจหน้าที่ของ ก.ธ.จ.
1. สอดส่องการปฏิบัติภารกิจของหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐในจังหวัด ให้ใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ตาม พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 อย่างน้อย ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 23 ของ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด พ.ศ. 2552
2. แจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ในกรณีที่พบว่ามีการละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับ หรือมีกรณีทุจริต
3. เสนอแนะแนวทางการปฏิบัติและการส่งเสริมตามหลักคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลเพื่อการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีของหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่ีวยงานของรัฐในจังหวัด
4. ติดตามการปฏิบัติตามมติ ก.ธ.จ.
5. แต่งตั้งที่ปรึกษาด้านวิชาการ การประชาสัมพันธ์ หรือด้านอื่น จำนวนไม่เกิน 3 คน
6. เผยแพร่ผลการปฏิบัติหน้าที่ต่อสาธารณะตามที่เห็นสมควร
สำหรับการดำเนินการในการยกร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด พ.ศ. 2552 มีดังนี้
26 พฤศจิกายน 2550 ก.พ.ร. ในการประชุมครั้งที่ 12/2550 เห็นชอบกับร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด พ.ศ. .... ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
2 มกราคม 2551 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการของร่างระเบียบฯ ดังกล่าวตามที่ ก.พ.ร. เสนอ และให้ส่งร่างระเบียบฯ ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป
5 สิงหาคม 2551 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกับร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว โดยให้แก้ไขร่างข้อ 24 วรรคสอง จากเดิม ให้มีการประชุม ก.ธ.จ. ตามที่ประธานเห็นสมควร เป็น ให้มีการประชุม ก.ธ.จ. ตามที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีประกาศกำหนด และให้นำร่างระเบียบในเรื่องนี้เสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาลงนามเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
19 พฤศจิกายน 2551 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้เสนอร่างระเบียบฯ ดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง โดยเป็นการขอทบทวนการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด พ.ศ. .... เพื่อให้มติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2551 ได้รับการพิจารณาทบทวนให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และสามารถใช้บังคับได้ตามความเป็นจริง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างระเบียบฯ ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ และเห็นควรให้ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป
10 มีนาคม 2552 คณะรัฐมนตรีีมติเห็นชอบกับร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้
3 เมษายน 2552 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด พ.ศ. 2552
27 เมษายน 2552 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด พ.ศ. 2552 ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 126 ตอนพิเศษ 62 ง
วสุนธรา (สลธ.) / รายงาน
สำนักกฎหมายฯ / ข้อมูล