สำนักงาน ก.พ.ร. โดย ภารกิจการพัฒนาองค์การมหาชนและหน่วยงานของรัฐรูปแบบอื่นที่มิใช่ส่วนราชการ จัดทำเอกสาร การจัดโครงสร้างหน่วยงานของรัฐในกำกับของฝ่ายบริหาร เืพื่อให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป นำไปใช้ประโยชน์ และศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดโครงสร้างหน่วยงานของรัฐ หลังจากที่ได้มีการปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. 2545
ภารกิจหลักที่สำคัญประการหนึ่งของสำนักงาน ก.พ.ร. คือ การศึกษา วิเคราะห์ และเสนอความเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างระบบราชการ การปรับเปลี่ยนส่วนราชการเป็นองค์การมหาชน หรือองค์กรรูปแบบอื่นที่มิใช่ส่วนราชการ รวมทั้งการแบ่งส่วนราชการภายในของส่วนราชการที่เป็นกระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการอื่น
ในการดำเนินการตามภารกิจดังกล่าว สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดทำแนวทางและหลักการต่าง ๆ เกี่ยวกับการจัดโครงสร้างระบบราชการเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เืพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดโครงสร้างหน่วยงานของรัฐมาโดยตลอด ตัวอย่างเช่น การจำแนกประเภทหน่วยงานของรัฐ แนวทางในการแบ่งส่วนราชการภายในกรม ขั้นตอนการจัดตั้งองค์การมหาชน โดยการดำเนินการดังกล่าว ได้รับแนวทางและคำแนะนำจากคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ (อ.ก.พ.ร.) คณะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และผู้บริหารของสำนักงาน ก.พ.ร.
และเพื่อให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ นิสิตนักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่สนใจ ได้รับทราบและเข้าใจแนวทางในการจัดโครงสร้างหน่วยงานของรัฐดังกล่าว สำนักงาน ก.พ.ร. โดยภารกิจการพัฒนาองค์การมหาชนและหน่วยงานของรัฐรูปแบบอื่นที่มิใช่ส่วนราชการ จึงได้รวบรวมแนวคิด หลักการ มติคณะรัฐมนตรี หนังสือเวียนของสำนักงาน ก.พ.ร. และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดโครงสร้างหน่วยงานของรัฐ นำมาจัดทำเป็นเอกสาร การจัดโครงสร้างหน่วยงานของรัฐในกำกับของฝ่ายบริหาร ขึ้น และเผยแพร่ให้กับส่วนราชการ และหน่วยงานของรัฐต่าง ๆ รวมทั้งสถาบันอุดมศึกษา เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
สำหรับเนื้อหาของเอกสาร การจัดโครงสร้างหน่วยงานของรัฐในกำกับของฝ่ายบริหาร ที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดทำขึ้นในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 5 ส่วน ประกอบด้วย
ส่วนที่ 1 หลักการจำแนกประเภทหน่วยงานของรัฐในกำกับของฝ่ายบริหาร
กล่าวถึงที่มาและสาระสำคัญของหลักการจำแนกประเภทหน่วยงานของรัฐในกำกับของฝ่ายบริหาร ซึ่งกำหนดประเภทหน่วยงานของรัฐเป็น 4 ประเภท คือ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และ หน่วยงานของรัฐรูปแบบใหม่ (ได้แก่ องค์การของรัฐที่เป็นอิสระ และกองทุนที่เป็นนิติบุคคลซึ่งเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจของรัฐ) โดยหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการเป็นหน่วยงานของรัฐ จะพิจารณาจาก 1) ความสัมพันธ์กับรัฐ 2) กิจกรรม 3) งบประมาณ / รายได้ของหน่วยงาน การค้ำประกันหนี้ 4) สถานะของบุคลากร 5) วิธีการและระบบกฎหมายที่ใช้ในการทำกิจกรรม 6) ความเป็นเจ้าของและอำนาจในการบริหารจัดการ
นอกจากนี้ ในเอกสารดังกล่าวยังระบุถึงการนำหลักการไปใช้ประโยชน์ และหนังสือเวียนสำนักงาน ก.พ.ร. ที่เกี่ยวข้องด้่วย
ส่วนที่ 2 การซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐ
กล่าวถึงที่มาและสาระสำคัญของการซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งหนังสือเวียนสำนักงาน ก.พ.ร. ที่เกี่ยวข้อง โดยการซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐดังกล่าว มีสาระสำคัญเกี่ยวกับขั้นตอนการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐ ในกรณีการขอจัดตั้งส่วนราชการ และการขอจัดตั้งองค์การมหาชน ซึ่งส่วนราชการต้องจัดทำรายละเอียดประกอบการพิจารณาตามแบบคำชี้แจงประกอบการขอจัดตั้งส่วนราชการ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของ ก.พ.ร. ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ส่วนที่ 3 องค์การมหาชน
กล่าวถึงหลักการและแนวคิดขององค์การมหาชน ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐรูปแบบใหม่ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับภารกิจของรัฐ ในการบริการสาธารณะทางสังคมและวัฒนธรรม ไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไร นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดของมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและหลักเกณฑ์สำคัญตามมติคณะรัฐมนตรี ขั้นตอนในการจัดตั้งองค์การมหาชน แนวทางการบริหารของคณะกรรมการองค์การมหาชน พระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2552 และรายชื่อองค์การมหาชนที่จัดตั้งโดยพระราชกฤษฎีกาตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2552 ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2543 ถึงเดือนกันยายน 2551 รวม 22 หน่วยงาน
ส่วนที่ 4 หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ
กล่าวถึงแนวคิดและหลักการของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ ซึ่งมีสถานะเป็นหน่วยงานให้บริการภายในของระบบราชการ โดยมีลักษณะกึ่งอิสระ แต่ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของกรมและอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของอธิบดี มีเป้าหมายให้บริการหน่วยงานแม่เป็นอันดับแรก นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดความเป็นมา และลักษณของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษของไทย รวมมทั้งกฎหมาย ระเบียบ และหนังสือเวียนสำนักงาน ก.พ.ร. ที่เกี่ยวข้อง
ส่วนที่ 5 แนวทางปฏิบัติการแบ่งส่วนราชการภายในกรม
กล่าวถึงที่มาและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งส่วนราชการภายในกรม แนวทางปฏิบัติการแบ่งส่วนราชการภายในกรม และรายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางการจัดโครงสร้างหน่วยงานสนับสนุน กรณีงานตรวจสอบภายใน งานพัฒนาระบบบริหาร และงานตรวจราชการ ในระดับกระทรวง ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจซ้ำซ้อนกัน โดยได้มีการประชุมหารือระหว่างผู้บริหารสำนักงาน ก.พ.ร. กับผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานสนับสนุนดังกล่าวของส่วนราชการระดับกระทรวง เพื่อให้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับบทบาท หน้าที่ และภารกิจของหน่วยงานดังกล่าว
ทั้งนี้ เอกสาร การจัดโครงสร้างหน่วยงานของรัฐในกำกับของฝ่ายบริหาร ที่สำนักงาน ก.พ.ร. จัดทำขึ้นนี้ นอกจากกจะเผยแพร่ให้กับส่วนราชการ และหน่วยงานของรัฐต่าง ๆ รวมทั้งสถาบันอุดมศึกษาแล้ว ยังเผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.พ.ร. เืพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดไปใช้ประโยชน์ไ้ด้อีกด้วย โดยเข้าไปที่ www.opdc.go.th / ศูนย์ความรู้ / เอกสารเผยแพร่ หนังสือประจำปี 2552
วสุนธรา (สลธ.) / รายงาน
ยุทธชัย (ภารกิจองค์การมหาชนฯ) / ข้อมูล