Logo of OPDC ก.พ.ร. FAQ สำหรับการค้นหา  |  ภาษาไทย   |   English   |   Mobile   |   Help   |  

หน้าหลัก หน้าหลัก | ติดต่อ | ผังเว็บไซต์ |  หน้าหลัก
Share แชร์ พิมพ์หน้านี้
ข่าวเด่น ก.พ.ร. / ปี 2552 / มีนาคม / เดินหน้า...พัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่

เดินหน้า...พัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่

เดินหน้า...พัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่


           
รายการเดินหน้า...พัฒนาราชการไทย  ที่ออกอากาศไปเมื่อคืนวันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมา ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย NBT  ได้นำเสนอเรื่อง นักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่  โดยพิธีกรของรายการ คือ คุณศิริบูรณ์ ณัฐพันธ์ ได้สนทนากับแขกรับเชิญ คือ ศ.ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี คุณแสงทิวา นราพิชญ์ นักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 1 ปัจจุบันรับราชการที่สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และ คุณน้ำหยาด นันตา นักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 ปัจจุบันรับราชการที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์   

           รายการเริ่มต้นด้วยภาพบรรยากาศของการปฐมนิเทศนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่รุ่นที่ 3 ซึ่งมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายวีระชัย วีระเมธีกุล เป็นประธานเปิดงาน จากนั้นเป็นเทปสัมภาษณ์ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร.ซึ่งได้กล่าวถึงที่มาของโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (นปร.) ว่า ...เป็นโครงการที่เกิดขึ้นมาเพื่อรองรับการปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2545 ที่ได้มีความพยายามนำหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีมาใช้ในระบบราชการ จึงมีการออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 พร้อมทั้งมีการนำเครื่องมือ เทคนิค วิธีการ บริหารจัดการสมัยใหม่หลายอย่างมาใช้ แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของพระราชกฤษฎีกาฯ ดังกล่าวก็คือ การปรับเปลี่ยนความคิด กระบวนทัศน์ และพฤติกรรมของตัวข้าราชการ ในส่วนของคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาสู่ระบบราชการ เราต้องการคนที่มีจิตใจรักในการรับราชการและได้รับการอบรมเรื่องการปฏิบัติราชการที่มีการเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก ฉะนั้นจะต้องมีการเตรียมคนเหล่านี้ให้เข้าใจถึงการปฏิบัติราชการในแนวใหม่ สำนักงาน ก.พ.ร. จึงได้เสนอโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ ต่อคณะรัฐมนตรีและก็ได้รับความเห็นชอบ และได้มีการดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2548 หลักสูตรนี้ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการศึกษาในเชิงวิชาการ แต่จะเน้นการปฏิบัติจริง เช่น การวางแผนยุทธศาสตร์ การวิเคราะห์สถานการณ์ การเขียนแผนที่เชิงยุทธศาสตร์ การกำหนดตัวชี้วัด รวมทั้งให้ไปฝึกปฏิบัติราชการยังหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ ฝึกปฏิบัติราชการกับผู้ว่าราชการจังหวัด ฝึกงานที่สถานทูตไทยในต่างประเทศ ฝึกงานด้านนโยบายตามกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ รวมทั้งไปฝึกงานกับภาคธุรกิจเอกชน กิจกรรมเหล่านี้ทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้เพิ่มพูนทักษะและประสบการณ์ ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่รับราชการปกติทั่วไป เป็นการเปิดโลกทัศน์และวิสัยทัศน์ในการทำงาน ซึ่งมีความจำเป็นมากในลักษณะของการบริหารราชการในปัจจุบันที่จะต้องมีการเชื่อมโยงบูรณาการ...

           จากนั้นพิธีกรได้สนทนากับ ศ.ดร. ชาติชาย ณ เชียงใหม่ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ซึ่งกล่าวเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ในการรับสมัครและหลักสูตรของนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 3 คือ จะรับสมัครผู้ที่จบปริญญาโทขึ้นไปโดยไม่จำกัดประสบการณ์ เนื่องจากเห็นว่าผู้ที่จบปริญญาโทจะเป็นผู้ที่ผ่านกระบวนการในการฝึกคิด ฝึกประมวลความเห็นมาแล้ว และมีวัยวุฒิ ทำให้ง่ายในการต่อยอดการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติเมื่อเข้าร่วมโครงการ ในส่วนการปรับหลักสูตร คือ การเรียนเตรียมความพร้อมในชั้นเรียนจะเปลี่ยนจาก 26 เดือนเป็น 22 เดือน และจะฝึกงาน 4 แห่ง ๆ ละ 3 เดือนเท่ากัน ได้แก่ ฝึกกับท่านทูต ณ สถานทูตไทยในต่างประเทศ ฝึกงานกับปลัดกระทรวงในหน่วยงานส่วนกลางที่ทำเรื่องนโยบาย ฝึกงานกับธุรกิจเอกชน และฝึกงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดต่าง ๆ

           ก่อนที่จะไปฝึกงานนั้น นปร. จะถูกเตรียมความพร้อมโดยให้เรียนทฤษฎีประมาณ 3 - 4 เดือน จากนั้นจึงฝึกงาน เมื่อกลับจากการฝึกงานในแต่ละสถานที่จะต้องทำรายงานส่ง แล้วจึงเตรียมตัวไปฝึกงานในสถานที่ต่อไป ที่สำคัญจะต้องมีการสอบโดยจะแบ่งเป็น 3 ระดับ และเมื่อครบ 22 เดือนจะต้องสอบจบ แล้วจึงได้รับวุฒิบัตร แต่อย่างไรก็ดีการกำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ นี้จะถูกปรับเปลี่ยนให้มีความเหมาะสมได้ในรุ่นต่อ ๆ ไป สุดท้ายโครงการอาจจะหยุด หากมี นปร. จำนวนมากพอสมควรแล้ว

           ดร.ชาติชายยังได้กล่าวถึงผลตอบรับที่ได้จากการประเมินผู้ร่วมโครงการทั้ง 2 รุ่นที่ผ่านมา โดยการสอบถามเชิงลึกกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน ผู้รับบริการด้วยสำหรับคนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการบริการประชาชน รวมทั้งตัวของ นปร. เอง ซึ่งมีประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

           ประเด็นแรก  การบรรจุในตำแหน่งที่เหมาะสมกับงานที่ได้ฝึกมาหรือไม่ พบว่าเกือบทั้งหมดได้รับการบรรจุในหน่วยงานที่ตรงกับที่ได้รับการฝึกอบรมในโครงการ หรือตรงกับที่เรียนมา

           ประเด็นที่สอง การได้รับโอกาสจากผู้คับบัญชา พบว่าส่วนใหญ่ได้รับโอกาสให้ทำงานเชิงรุก คือได้รับโอกาสให้ทำงานด้านการกำหนดนโยบาย มีส่วนร่วมในการเสนอโครงการ แต่ก็มีบ้างเป็นส่วนน้อยที่ยังไม่ได้รับโอกาส โดยจะได้ทำงานในส่วนที่เป็นงานประจำมากกว่า

           ส่วนประเด็นที่สาม เรื่องของการปรับตัว การยอมรับจากผู้ร่วมงานว่ามีปัญหาอะไรหรือไม พบว่าส่วนใหญ่ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่ทำงานได้ และสอบถามจากผู้บังคับบัญชาโดยให้เปรียบเทียบนักเรียน นปร. กับข้าราชการทั่วไป ว่ามีความแตกต่างหรือไม่ในการทำงาน หรือในแง่ส่งมอบงาน ได้รับคำตอบในเชิงที่ดีคือ รู้จักจับประเด็น ซึ่งเป็นผลมาจากที่โครงการให้การอบรมให้มองภาพกว้าง ให้รู้จักจับประเด็น  

           นอกจากนี้ พิธีกรยังได้พูดคุยกัยกับ นปร. รุ่นที่ 1 และ 2 ที่มาร่วมรายการ คือ คุณแสงทิวา นราพิชญ์ นปร. รุ่นที่ 1 ซึ่งเล่าว่า ตนเองเรียนจบจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยทำงานเป็นประชาสัมพันธ์ที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อเข้าโครงการ นปร. ได้ไปฝึกงานที่จังหวัดราชบุรี กรมทรัพยากรน้ำ บริษัท ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น และสถานทูตไทยในเกาหลีใต้ เมื่อจบจากการอบรมโครงการ นปร.ได้บรรจุเข้ารับราชการที่กระทรวง วัฒนธรรม ซึ่งเป็นไปตามที่ตั้งใจ คุณแสงทิวาได้เล่าต่อว่า การที่ได้รับโอกาสให้ไปฝึกงานในสถานที่ต่าง ๆ นั้น ทำให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กับตนเอง ได้พบคนมากมายหลายประเภท ได้ครูผู้ฝึกสอนที่ดี ได้รับคำแนะนำที่ดี ได้เรียนรู้จากประสบการณ์โดยตรง ทำให้ได้พบว่าราชการไทยมีปัญหาอะไรบ้าง และเมื่อไปฝึกงานกับภาคเอกชนทำให้ได้พบว่าทำไมภาคเอกชนจึงคล่องตัวกว่า มีข้อดีอะไรที่น่าจะนำมาใช้ในระบบราชการได้ และเมื่อมาทำงานที่กระทรวงวัฒนธรรมก็ได้มีโอกาสเสนอโครงการต่อผู้บริหาร อยากจะให้โครงการนั้นผ่านและสามารถเอาไปปฏิบัติจริงได้ ถือได้ว่าสิ่งที่ได้รับจากการร่วมโครงการนี้สามารถนำมาใช้ในการปฏิบัติงานจริงได้

           ด้าน คุณน้ำหยาด นันตา  นปร. รุ่นที่ 2  เล่าว่า ตอนนี้รับราชการอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์  หลังจากเรียนจบปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็มาสมัครเข้าร่วมโครงการ ระหว่างนั้นได้มีโอกาสไปฝึกงานที่จังหวัดน่าน กรมทรัพย์สินทางปัญญา สถานทูตไทยที่ประเทศฝรั่งเศส ทำให้ได้เรียนรู้สภาพชุมชนในท้องถิ่น ตลอดจนงานเชิงพิธีการทางการทูต สำหรับสิ่งที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการ คือ การรู้จักความอดทน การยอมรับและรู้จักบริหารการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นสถานที่ที่เราไปฝึกงาน สภาพสถานการณ์ทางการเมือง ความไม่แน่นอนของสิ่งที่เราคาดการณ์ว่าจะเป็น เมื่อจบโครงการคุณน้ำหยาดได้เข้ารับราชการที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ที่เลือกหน่วยงานนี้เพราะเห็นว่าเป็นหน่วยงานใหม่ให้โอกาสคนรุ่นใหม่ในการเสนอความคิดเห็น

 

 

         

ธารทิพย์ & สุคนธ์ทิพย์ (สลธ.) / ข่าว & ภาพ
วสุนธรา & ภัทรพร ข.(สลธ.) / จัดทำ

 

 

 


เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 4 มิถุนายน 2552 14:18:28 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 4 มิถุนายน 2552 14:18:28
ข่าวเด่น ก.พ.ร.
    ลิงค์     |     สมาชิกเครือข่าย     |     RSS feed     |     คำถามที่พบบ่อย            

เกี่ยวกับ

กฏหมายและระเบียบ

หนังสือเวียน

ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

ศูนย์ความรู้

ประชาสัมพันธ์

W3C   Facebook Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.   PMQA Channel  ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ  ipv6 ready  www.info.go.th  การปฏิเสธความรับผิดชอบ |  Webmail| Intranet สำหรับข้าราชการ | ผังเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ 

Slocan

สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

59/1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7882 สายด่วน 1785 e-mail: administrator@opdc.go.th