นโยบายและระบบในการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ ที่ คณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ หรือ ก.น.จ. กำหนดขึ้นเพื่อให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดสามารถบริหารงาน แก้ไขปัญหา และพัฒนาพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตอบสนองความต้องการของประชาชน นอกจากจะมีเรื่องของกรอบแนวทาง และระบบการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ ตามที่ได้นำเสนอไปใน OPDC News เมื่อวานนี้แล้ว ยังได้กำหนดเรื่องของระบบการประสานและการรายงาน และระบบการติดตามและประเมินผล ไว้ด้วย โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
ระบบการประสานและการรายงาน
การรายงานผลความคืบหน้าของแผนงานโครงการตามแผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด แผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด แผนปฏิบัติราชการประจำปีกลุ่มจังหวัด ตลอดจนสภาพปัญหาต่าง ๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่ ให้จังหวัดดำเนินการ ดังนี้
การรายงานผลการดำเนินการและปัญหาอุปสรรคในพื้นที่
1. เพื่อให้การบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผล ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ให้จังหวัดนำเรียนรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้กำกับการปฏิบัติราชการในพื้นที่นั้น ๆ พิจารณาให้คำแนะนำช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาอย่างสม่ำเสมอ
2. กรณีที่มีปัญหาและอุปสรรคในพื้นที่ที่จังหวัดไม่สามารถแก้ไขได้โดยลำพังตนเอง ให้จังหวัดรายงานต่อผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และหรือผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เพื่อบูรณาการในการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นกับส่วนราชการต่าง ๆ และนำเสนอ ก.น.จ. เพื่อทราบ หรือให้ข้อวินิจฉัยสั่งการในการแก้ไขปัญหา
3. ในกรณีที่เป็นปัญหา อุปสรรคที่มีความคาบเกี่ยวในระหว่างพื้นที่ หรือระหว่างกระทรวงในความรับผิดชอบของรองนายกรัฐมนตรี ให้ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีนำเรื่องเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค (กกภ.) พิจารณาก่อนนำเสนอ ก.น.จ. เพื่อทราบ
4. การรายงานผลความก้าวหน้าในการดำเนินการแผนงาน โครงการตามแผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด แผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด แผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัด และการบริหารงบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดรายงานต่อ ก.น.จ. ทราบทุก 6 เดือน
5. การรายงานสรุปผลการปฏิบัติงานและผลการใช้จ่ายงบประมาณ ตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณที่แสดงถึงผลสำเร็จ รวมทั้งปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานตามแผนพัฒนาจังหวัด และแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด ให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดรายงานต่อ ก.น.จ. ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี และรายงานต่อสำนักงบประมาณ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงบประมาณกำหนดตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติมด้วย
ระบบการติดตามและประเมินผล
1. ใช้กลไกการตรวจราชการของผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ในการเร่งรัด ติดตาม และประเมินผลการดำเนินการตามแผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด แผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด และแผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัด รวมทั้งการบริหารงบประมาณจังหวัดและงบประมาณกลุ่มจังหวัด โดย
1.1 ให้ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีปรึกษาหารือร่วมกับผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ในการจัดทำแผนการตรวจราชการแบบบูรณาการ และจัดวางระบบในการติดตามประเมินผลแผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด แผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด แผนปฏิบัติราชการประจำปีกลุ่มจังหวัด ตลอดจนการบริหารงบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบังเกิดผลสัมฤทธิ์ ทั้งนี้ ในแผนการตรวจราชการแบบบูรณาการดังกล่าว ต้องมีความครอบคลุมแผนงาน/โครงการสำคัญตามแผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด ที่สะท้อนเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาล
1.2 การรายงานผลการติดตามและประเมินผลการดำเนินการตามแผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด แผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด และแผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัด ของผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย จะต้องแสดงให้เห็นถึงผลการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมชัดเจน รวมถึงสภาพปัญหาและอุปสรรค พร้อมข้อเสนอแนะในการแก้ไข ปรับปรุงที่มีความชัดเจน เหมาะสม และเป็นไปได้ในการดำเนินการ
2. ให้นำรายงานผลการติดตามและประเมินผลการดำเนินการตามแผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด แผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด และแผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัด เสนอต่อคณะกรรมการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค (กกภ.) เพื่อพิจารณาให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมและพัฒนาระบบการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ ก่อนนำเสนอ ก.น.จ.
3. ใช้กลไกของ ก.พ.ร. ในการติดตามประเมินผลตามคำรับรองการปฏิบัติราชการของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด
4. ใช้กลไกของคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (ค.ต.ป.)
วสุนธรา (สลธ.) / จัดทำ