Logo of OPDC ก.พ.ร. FAQ สำหรับการค้นหา  |  ภาษาไทย   |   English   |   Mobile   |   Help   |  

หน้าหลัก หน้าหลัก | ติดต่อ | ผังเว็บไซต์ |  หน้าหลัก
Share แชร์ พิมพ์หน้านี้
ข่าวเด่น ก.พ.ร. / ปี 2552 / กุมภาพันธ์ / เปิดโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 3

เปิดโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 3

เปิดโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 3


           นายวีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 3   เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552  ณ ห้องประชุม ก.พ.ร. ชั้น 5 สำนักงาน ก.พ.ร.

           โครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ เป็นโครงการที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2548 เพื่อสรรหาและคัดเลือกผู้ที่มีความรู้ความสามารถและขีดสมรรถนะสูงมาเข้ารับราชการ และพัฒนาให้เป็นนักคิดที่มีวิสัยทัศน์ เป็นนักวางแผน นักพัฒนา และนักปฏิบัติ อย่างมีดุลยภาพและคุณภาพ เพื่อทำหน้าที่ในการนำการเปลี่ยนแปลงในภาคราชการ และขับเคลื่อนนโยบายยุทธศาสตร์และแผนงานโครงการให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามที่กำหนดไว้

           เนื่องในโอกาสเปิดโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 3   สำนักงาน ก.พ.ร. ได้รับเกียรติจาก นายวีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการและให้โอวาทกับผู้เข้าร่วมโครงการ โดยกล่าวว่า ชื่อของโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ได้บอกอยู่แล้ว ว่าเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นไปอย่างรอบด้าน ทุกมิติ และมากกว่าที่หลายคนเคยคิดไว้ ยกตัวอย่างเช่น เรื่อง Climate Change ซึ่งไม่กี่ปีก่อนหน้านี้คนยังไม่ให้ความสนใจ แต่ในปัจจุบันคนส่วนใหญ่ยอมรับว่าเป็นปัญหาที่สำคัญระดับโลก และอาจจะกระทบถึงความดำรงอยู่ของมนุษยชาติ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และกระทบกับการทำงานของเราในทุก ๆ เรื่อง

           รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวถึง กระบวนการเปลี่ยนแปลง ว่าสามารถมองได้เป็น 3 ส่วน ได้แก่

           1. ต้องสนใจและเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันคืออะไร อะไรที่อยู่ในกระแสหลัก ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ เราก็ไม่สามารถที่จะปฏิเสธได้

           2. ต้องพิจารณาว่าเราจะใช้ประโยชน์กับการเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ อย่างไร ซึ่ง เรา ในที่นี้หมายถึงประเทศชาติ ที่รวมถึงทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคราชการ ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม

           3. เมื่อรู้แล้วว่ากระแสการเปลี่ยนแปลงหลักของโลกคืออะไร และจะใช้ประโยชน์กับการเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ ได้อย่างไร เราจะสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับสังคมอย่างไร เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนสิ่งที่เราต้องการจะขับเคลื่อนได้ ซึ่งส่วนนี้ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุด โดยเริ่มต้นง่าย ๆ จากหน่วยงานที่เราอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา รวมถึงผู้ใต้บังคับบัญชา

    

           ในช่วงท้ายของการกล่าวเปิดโครงการและให้โอวาท รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ขอให้ผู้เข้าร่วมโครงการนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 3 ใช้เวลาในช่วงของการเข้าร่วมโครงการให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด พร้อมกันนี้ได้ฝากข้อคิดไว้ 3 เรื่อง คือ

           1. ต้องอดทน เพราะระบบราชการเป็นระบบที่ใหญ่ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของเราได้ตลอดเวลา และหลาย ๆ ครั้งอาจตรงข้ามกับสิ่งที่เราต้องการ

           2. เปิดความคิดให้กว้าง อย่าทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว ซึ่งการเข้าร่วมโครงการนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ร่วมทำงานใกล้ชิดกับผู้บริหารระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด รวมทั้งเอกอัครราชทูต ดังนั้น จึงขอให้ศึกษาวิธีการคิดและวิธีการทำงานของผู้บริหาร และนำมาปรับใช้

           3. เรียนรู้ที่จะเป็นข้าราชการที่ดอย่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเคยสอนเราไว้ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะ เก่ง แล้วต้อง ดี ด้วย


           ด้าน ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. ได้กล่าวถึงที่มาของโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ว่า เกิดขึ้นโดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาหน่วยงานภาครัฐให้เป็นองค์กรที่มีขีดสมรรถนะสูง โดยปรับปรุงขีดสมรรถนะของทรัพยากรบุคลากรภาครัฐ ให้สามารถเพิ่มผลิตภาพ และพัฒนาขีดความสามารถให้มีความเป็นมืออาชีพ เพื่อให้รองรับกับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการพัฒนาเสริมสร้างขีดสมรรถนะของผู้นำการเปลี่ยนแปลงในระบบราชการในระดับต่าง ๆ รวมทั้งการสร้างนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่เพื่อเป็นกลุ่มข้าราชการผู้บุกเบิก หรือเป็นผู้สร้างนวัตกรรมในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ

           ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2547 และวันที่ 10 พฤษภาคม 2548 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ และให้สำนักงาน ก.พ.ร. ดำเนินโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ โดยได้ดำเนินโครงการมาแล้ว 2 รุ่น คือ

           รุ่นที่ 1 เมื่อปี 2548 - 2550 มีผู้ผ่านโครงการจำนวน 39 คน และปัจจุบันได้รับการบรรจุแต่งตั้งในหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์เรียบร้อยแล้ว

           รุ่นที่ 2 เมื่อปี 2549 - 2551 มีผู้ผ่านโครงการจำนวน 39 คน และขณะนี้ส่วนใหญ่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งในหน่วยงานต่าง ๆ แล้วเช่นเดียวกัน

           และเมื่อวันที่  8  เมษายน  2551   คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้สำนักงาน ก.พ.ร. รับผิดชอบดำเนินโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ต่อไปอีกปีละ 1 รุ่น ซึ่งรุ่นที่ 3 ได้ดำเนินการโครงการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 โดยมีผู้ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการจำนวน 51 คน แบ่งเป็นกลุ่มข้าราชการ 10 คน และกลุ่มบุคคลทั่วไป 41 คน อันประกอบด้วยผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก 2 คน และระดับปริญญาโท 49 คน

           หลังจากการกล่าวเปิดโครงการและให้โอวาทโดยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ได้กล่าวกับผู้เข้าร่วมโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 3 ในการปฐมนิเทศว่า สิ่งที่เป็นความคาดหวังของสำนักงาน ก.พ.ร. และสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี คือ ต้องการให้นักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ เป็น ผู้นำการเปลี่ยนแปลง หรือ Change Leader เพื่อเป็นกำลังหลักในการช่วยกันพัฒนาระบบราชการและพัฒนาประเทศ โดยสมรรถนะและคุณสมบัติที่สำคัญ คือ การคิดเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Thinking) และ การบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management)


           จากนั้น ดร.ทศพรได้ให้แนวทางในการฝึกปฏิบัติตามหลักสูตรของโครงการ และกล่าวถึงความเป็นมาของการพัฒนาระบบราชการ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง องค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของ ก.พ.ร. และ สำนักงาน ก.พ.ร. รวมทั้งยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการพัฒนาระบบราชการ ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย พ.ศ. 2551 - 2555 ที่มุ่งเน้นในการทำให้ระบบราชการเก่ง ดี เปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม และตอบสนอง ทันต่อการเปลี่ยนแปลง


           เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวปิดท้ายว่า เรามาร่วมอุดมการณ์เดียวกันในการปรับระบบราชการไทยให้ดีขึ้น ให้เป็นระบบราชการที่ทั้งเก่ง ทั้งดี เป็นเสาหลักของบ้านเมืองนี้ต่อไปได้ เพราะไม่ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือปัญหาต่าง ๆ อย่างไรเสียประเทศไทยก็ต้องมีระบบราชการ และระบบนี้ก็ต้องเป็นเสาหลักของบ้านเมืองที่จะปล่อยให้ผุกร่อนลงไปไม่ได้ แต่จะต้องเป็นไม้เนื้อแข็ง มีการสร้างหน่อใหม่ที่มีความเข้มแข็งขึ้นมาเสริม เพื่อนำการเปลี่ยนแปลงให้ระบบราชการเป็นเสาหลักที่ดีของบ้านเมือง ที่ได้รับความไว้วางใจจากทุกคนต่อไป

 

     

 


วสุนธรา (สลธ.) / รายงาน

 

 


เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2552 15:20:53 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2552 15:20:53
ข่าวเด่น ก.พ.ร.
    ลิงค์     |     สมาชิกเครือข่าย     |     RSS feed     |     คำถามที่พบบ่อย            

เกี่ยวกับ

กฏหมายและระเบียบ

หนังสือเวียน

ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

ศูนย์ความรู้

ประชาสัมพันธ์

W3C   Facebook Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.   PMQA Channel  ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ  ipv6 ready  www.info.go.th  การปฏิเสธความรับผิดชอบ |  Webmail| Intranet สำหรับข้าราชการ | ผังเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ 

Slocan

สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

59/1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7882 สายด่วน 1785 e-mail: administrator@opdc.go.th