Logo of OPDC ก.พ.ร. FAQ สำหรับการค้นหา  |  ภาษาไทย   |   English   |   Mobile   |   Help   |  

หน้าหลัก หน้าหลัก | ติดต่อ | ผังเว็บไซต์ |  หน้าหลัก
Share แชร์ พิมพ์หน้านี้
ข่าวเด่น ก.พ.ร. / ปี 2551 / ธันวาคม / สาระสำคัญของ เวทีปัญญา สัมมนาวาที ครั้งที่ 6 การบริหารงานแบบเครือข่ายในภาครัฐ

สาระสำคัญของ เวทีปัญญา สัมมนาวาที ครั้งที่ 6 การบริหารงานแบบเครือข่ายในภาครัฐ

 

สาระสำคัญของ เวทีปัญญา สัมมนาวาที ครั้งที่ 6
การบริหารงานแบบเครือข่ายในภาครัฐ


          สรุปสาระสำคัญของกิจกรรม เวทีปัญญา สัมมนาวาที  ในวันนี้เป็นเรื่องของ การบริหารงานแบบเครือข่ายในภาครัฐ ซึ่งเป็นการประชุมเวทีปัญญา สัมมนาวาที ครั้งที่ 6 ที่สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 ณ ห้องประชุมสัมมนา 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น  เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยเชิญผู้แทนหน่วยงานเข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารงานแบบเครือข่ายในภาครัฐ (Governing by Network) จำนวน 2 ท่าน จากสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งได้สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

          การบริหารงานแบบเครือข่ายเกิดขึ้นจากการสร้างความสัมพันธ์ การผสมผสานและเชื่อมโยงการทำงานของหลายองค์กรเข้าด้วยกัน เป็นการสร้างเครือข่ายกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในระดับต่างๆ ซึ่งรูปแบบเครือข่ายนี้ต้องพึ่งพา ติดต่อประสานงาน และแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความหลากหลาย ความสะดวก รวดเร็วในการให้บริการประชาชน และตอบสนองต่อสถานการณ์ ตลอดจนความต้องการต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปได้

ภาพแสดงรูปแบบ โครงสร้างการทำงานและการบริหารจัดการของหน่วยงานภาครัฐ

          ในบริบทของไทย การมุ่งสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีของคนในชาติเป็นภารกิจสำคัญของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา สสส. อาศัยยุทธศาสตร์การระดมพลังทางสังคม และการบริหารการจัดการแบบใหม่ที่เน้นการบริหารจัดการด้วยองค์กรขนาดเล็ก ทำหน้าที่เป็น น้ำมันหล่อลื่น สร้างการมีส่วนร่วมของภาคีหรือเครือข่ายต่างๆ ที่มีเป้าหมายการทำงานเดียวกันจากทุกภาคส่วนสังคม โดยให้การสนับสนุนทุน พัฒนากระบวนการเรียนรู้ และเน้นการตรวจสอบผลลัพธ์ภายใต้อุดมการณ์สร้างเสริมสุขภาพ  สสส. จึงนับเป็นนวัตกรรมทางสังคมที่ทำหน้าที่ ค้นหา พัฒนา และขยายผล โดยหาคนมาร่วมเรียนรู้ ร่วมพัฒนาแผนงาน และร่วมรณรงค์ หลังจากนั้นจะทำการลองผิดลองถูก และพัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็มีการขยายผล โดยสร้าง เครือข่าย ซึ่งภาคีเครือข่ายนี้เองนับเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จในการดำเนินงานของ สสส.


          

ภาพแสดงแนวคิดการทำงานของ สสส.

          การลดอุบัติเหตุถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการสร้างเสริมสุขภาวะของคนไทย จากประสบการณ์ในการรณรงค์แผนงานลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. พบว่าเครือข่ายที่ดีควรตระหนักรู้ว่าการทำงานเครือข่ายมีประโยชน์ ตลอดจนเห็นถึงความสำคัญในการไปเกาะเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ได้ และสามารถเชื่อมโยงกับงานของตนเองได้ ดังนั้น การทำงานแบบเครือข่ายจึงทำเพื่อ...

                ลดข้อจำกัดเรื่องคนไม่พอ เงินไม่พอ งานมากเกินไป

                ลดข้อจำกัดเรื่องระยะทาง เวลาในการทำงาน

                ไม่ต้องฝ่าวิกฤตอย่างโดดเดี่ยว โดยอยู่แบบมีพวก ตายแบบมีเพื่อน

                เปลี่ยนเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย

                ทำเรื่องร้ายให้เป็นเรื่องดี

                สร้างมิตรไมตรี สร้างความสุนทรี ทำงานให้เกิดความสุข

                เป็นช่องทางสื่อสารสร้างความเข้าใจที่ต้นทุนต่ำ ไร้ขอบเขต

ภาพแสดงการทำงานแบบเครือข่ายกับแผนงานลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของ สคอ.

          ก่อนที่จะมาเป็นเครือข่ายนั้น โจทย์ที่ สคอ. พบคือ ทำอย่างไรจะทำให้คนไทยลดหรือชะลอการดื่ม? และคำตอบง่ายๆ ที่มักถูกมองข้ามคือ การทำให้รู้ ทำให้เข้าใจ ทำให้เปลี่ยนพฤติกรรม โดยสร้างแนวร่วมทางสังคมระดับชาติ ตลอดจนสร้างแนวร่วมระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน นี่คือจุดเริ่มต้นของการทำงานแบบเครือข่าย ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ระบบว่า มีใครเป็นเจ้าภาพ ทำได้แค่ไหน และจะหนุนเสริมอย่างไร หลังจากนั้นจึงดำเนินการออกแบบระบบเพื่อค้นหา พัฒนาและขยายเครือข่าย นอกจากนี้ การทำงานแบบเครือข่ายยังเป็นการสร้างโอกาสให้ภาคประชาชนและเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งเคล็ดลับแห่งความสำเร็จของ สคอ. ในการเลือกเครือข่าย คือ เลือกทำงานกับคนที่อยู่กับปัญหา รู้และเข้าใจ แสดงออกซึ่งความต้องการ และมุ่งมั่นตั้งใจที่จะจัดการกับสิ่งนั้นอย่างเห็นได้ชัดเจน


          ในกรณีของ สคอ. การใช้พลังเครือข่ายทางสังคม เป็นการยึดเหนี่ยวพลังให้ยืนหยัดมั่นคง ทั้งในระดับนโยบาย ซึ่งเป็นช่องทางสื่อสารจากระดับนโยบายสู่ระดับปฏิบัติ และในระดับปฏิบัติ ที่จะสะท้อนความรู้สึก ความต้องการจากผู้ปฏิบัติสู่นโยบาย ซึ่งเทคนิคสำคัญที่นำมาใช้และประสบความสำเร็จด้วยดี คือ การประชาสัมพันธ์แบบเครือข่าย โดยเน้นความเจาะจง ตรงประเด็น เชื่อมโยง ต่อเนื่อง และปักธง โดยอนาคตของการทำงานแบบเครือข่ายจะต้องคิดซ้ำๆ ทำซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และสิ่งนั้นจะกลายเป็นวัฒนธรรมที่ฝังรากหยั่งลึกไปโดยปริยาย

ภาพแสดงรูปแบบเครือข่ายของ สคอ.

          สำหรับการบริหารงานภาครัฐในระบบเครือข่ายของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ซึ่งเป็นองค์กรประชาชนที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งของสังคมจากฐานรากด้วยพลังองค์กรชุมชนและประชาสังคม แนวทางสำคัญในการดำเนินงาน คือ การเชื่อมโยงเครือข่ายขององค์กรชุมชนในทุกระดับและการเน้นองค์กรชุมชนเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน การพัฒนาโดยประสานความร่วมมือของหน่ววยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ภาพแสดงพัฒนาการของ พอช. ในระยะ 7 ป

          ในมุมมองของ พอช. การใช้ระบบเครือข่ายจะช่วยสร้างการแตกตัวของการทำงานได้อย่างรวดเร็ว วิธีการทำงานร่วมกันกับเครือข่าย จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะ พอช. มีโครงการกว่า 1,500 โครงการ มีประชาชนที่เกี่ยวข้องมากกว่า 600,000 คน ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายกลุ่มใดที่นำแนวคิดการบริหารเครือข่ายไปใช้และประสบผลสำเร็จจึงได้รับการส่งเสริมให้จัดอบรม เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และขยายผลการทำงานซึ่งกันและกัน เป็นกระบวนการสร้างให้ชุมชนเห็นศักยภาพของตนเองและศักยภาพของชุมชนข้างเคียงด้วย บางชุมชนอาจมีศักยภาพในภาคเกษตร ในขณะที่อีกแห่งหนึ่งมีศักยภาพด้านอุตสาหกรรมชุมชน ดังตัวอย่างของ ชุมชนตะวันใหม่ (บ้านไดนาโม) ที่สร้างบ้านเช่าโดยใช้เศษไม้จากโรงเลื่อย เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ พอช. จึงนำประสบการณ์ความสำเร็จดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในเรื่องอื่นๆ ด้วย เพื่อให้ชุมชนหรือชาวบ้านเกิดความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของแนวคิดหรือโรงการนั้น เทคนิคสำคัญที่ พอช. ได้สรุปไว้คือ หน่วยงานที่จะทำเรื่องเครือข่ายต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการปฏิบัติ ตลอดจนต้องมีทั้งใจและความรู้เพื่อนำมาสู่วิธีการที่ดี และถูกต้อง

ภาพแสดงการเคลื่อนงานขบวนฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น จังหวัดสระแก้ว

          นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัจจัยความสำเร็จของ พอช. คือ ต้องมีความเชื่อและอุดมการณ์ ควบคู่กันทั้งองค์กร และตัวบุคคลที่เป็นผู้ปฏิบัติ การนำมาซึ่งผลสำเร็จของการบริหารเครือข่ายจึงต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน มีระบบการบริหารจัดการที่ดี อย่างไรก็ดี เป้าหมายของหน่วยงานกับเป้าหมายของเครือข่ายมีความแตกต่างกัน ต้องพิจารณาวิเคราะห์ให้ชัดเจน มิเช่นนั้น การทำงานอาจไม่ตอบสนองต่อความต้องการของชาวบ้านได้                                                   

                                        

          จากการทำงานของ พอช. การดำเนินงานแบบเครือข่ายนี้ต้องเกิดจากความเข้าใจร่วมกัน และจะต้องประกาศเป็นนโยบายขององค์กรให้ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใส ซึ่งในทางปฏิบัติ หน่วยงานต้องกลับไปทบทวนระเบียบข้อบังคับ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการปรับใช้กับทุกพื้นที่ (เช่น การกำหนดนิยามและพื้นที่ของชุมชนแออัดใน กทม. และหนองคายไม่สามารถใช้เหมือนกันได้)

ภาพแสดงขั้นตอนการสร้างเครือข่ายของ พอช.


          จากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้หลักการ แนวคิด และเทคนิควิธีปฏิบัติจนนำไปสู่ความสำเร็จในการบริหารงานแบบเครือข่ายในภาครัฐใน 2 หน่วยงานข้างต้น ปัจจัยสำคัญ 4 ประการในการสร้างระบบเครือข่ายให้มีประสิทธิภาพ สามารถสรุปได้ ดังนี้

       

ภาพแสดงปัจจัยในการสร้างเครือข่ายให้มีประสิทธิภาพ

 

         1) การออกแบบเครือข่าย : ความสำเร็จของการบริหารงานแบบเครือข่ายมักขึ้นอยู่กับการออกแบบเครือข่ายตั้งแต่ตอนเริ่มต้น เมื่อกำหนดแนวทางและโครงสร้างการบริหารเครือข่ายแล้ว โครงสร้างดังกล่าวต้องสามารถสนับสนุนการไหลเวียนของข้อมูล และทรัพยากรระหว่างหน่วยงานต่างๆ ภายในเครือข่ายได้ การออกแบบเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพเปรียบเหมือนการมีแผนที่การเดินทางที่ดี ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐดำเนินงานประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายและนโยบายได้

         2) การประสานงานในเครือข่าย : เพื่อให้การบริหารงานแบบเครือข่ายประสบความสำเร็จ หน่วยงานต่างๆ ต้องสามารถเชื่อมต่อกันได้ในหลากหลายระดับ ซึ่งเทคโนโลยีอาจเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเชื่อมต่อการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ในเครือข่ายเข้าด้วยกัน เป็นใบเบิกทางให้สมาชิกในเครือข่ายได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ ร่วมดำเนินงาน ช่วยกันตัดสินใจ แบ่งปันข้อมูลของผู้ใช้บริการร่วมกัน

         3) การติดตามผล : ระบบการวัดผลการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง หากขาดข้อมูลด้านผลงานที่เชื่อถือได้ การที่จะทราบว่าสมาชิกในเครือข่ายได้ปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ได้ครบถ้วนหรือไม่ และประชาชนผู้รับบริการพอใจในบริการที่ได้รับหรือไม่ ย่อมเป็นไปไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ ระบบการวัดและติดตามผลจึงเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นในระบบการบริหารงานแบบเครือข่าย

         4) การเสริมสร้างประสิทธิภาพ : การทำงานของภาครัฐในแบบเครือข่ายจำเป็นต้องอาศัยความสามารถและทักษะในการทำงานที่แตกต่างไปจากเดิม นอกเหนือไปจากความรู้ในด้านการวางแผน การจัดทำงบประมาณ การจัดหาบุคลากร และภารกิจโดยทั่วไปที่เคยปฏิบัติกันมา การบริหารแบบระบบเครือข่ายยังต้องอาศัยความชำนาญในด้านอื่นๆ ด้วย อาทิ การฝึกสอน การเป็นคนกลางประสานงาน การเจรจาต่อรอง การวิเคราะห์ความเสี่ยง การจัดการด้านสัญญา ความสามารถในการแก้ปัญหาที่ไม่เป็นไปตามแบบแผน การคิดเรื่องกลยุทธ์ การสื่อสารระหว่างบุคคล การจัดโครงการและธุรกิจ และการสร้างทีม เป็นต้น

 

ตารางแนวปฏิบัติในการบริหารงานแบบเครือข่ายในภาครัฐ
(ผลจาก เวทีปัญญา สัมมนาวาที ครั้งที่ 6)

องค์ประกอบพื้นฐาน ในการบริหารงานแบบเครือข่าย

แนวปฏิบัต

 หน่วยงาน

1. การออกแบบและการนำไปปฏิบัต

 

 

- วิเคราะห์ระบบ ณ ปัจจุบันแล้วจึงดำเนินการออกแบบระบบเพื่อค้นหา พัฒนา และขยายเครือข่าย

สคอ.

- มีเป้าหมายที่ชัดเจน มุ่งเน้นให้องค์กรชุมชนเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนา โดยเริ่มจากกิจกรรมเล็กๆ ก่อน เพื่อวิเคราะห์กิจกรรม
พอช.

 

2. การประสานงานในเครือข่าย

 

 

- ใช้การประชาสัมพันธ์ เพื่อปลูกฝังวัฒนธรรมการทำงาน แบบเครือข่าย

- เลือกทำงานกับคนที่อยู่กับปัญหา รู้และเข้าใจ แสดงออกซึ่ง ความต้องการและมุ่งมั่นตั้งใจ ที่จะจัดการกับสิ่งนั้นอย่างเห็น ได้ชัดเจน

สคอ.


- ยึดโยงเครือข่ายด้วยความเชื่อ และอุดมการณ์ โดยประกาศเป็นนโยบาย

พอช.

3. การติดตามผล

- สร้างโอกาสให้ภาคประชาชน และเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบผลการดำเนินการ และช่วยจัดทำข้อเสนอ ตลอดจนผลักดันรูปแบบให้มีสิ่งที่ควรมี

 

สคอ.



- วิเคราะห์เป้าหมายของหน่วยงานกับเป้าหมายของเครือข่ายให้ชัดเจน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการทำงานสามารถตอบสนองความต้องการ ของชาวบ้านได้
พอช.
4. การเสริมสร้างประสิทธิภาพ - สนับสนุน และพัฒนากระบวนการเรียนรู้ให้แก่ภาคีเครือข่ายต่างๆ
สคอ.

- ทบทวน ระเบียบข้อบังคับ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการปรับใช้กับทุกพื้นที่

- จัดอบรมระหว่างเครือข่ายเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และขยายผลการทำงาน
พอช.

          
         
 โดยสรุป ในการสร้างเครือข่ายนั้น ต้องทราบความจำเป็นของปัญหา ความซ้ำซ้อนของปัญหา พร้อมทั้งวิธีการทำเครือข่าย โดยหาแนวร่วม หาจุดตรวจสอบให้ทุกคนมีส่วนร่วม มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้  การบรรลุเป้าหมายในการบริการประชาชนภายใต้สภาพแวดล้อมใหม่เช่นนี้ จำเป็นต้องมีวิธีการจัดการใหม่ นั่นคือ วิธีใหม่ๆ ในการใช้ระบบสารสนเทศเพื่อเชื่อมต่อกับสมาชิกในเครือข่าย วิธีใหม่ๆ ในการทำให้เกิดความรับผิดชอบ วิธีใหม่ๆ ในการวัดผลและการติดตามตรวจสอบผลงาน และวิธีใหม่ๆ ในการคิดเรื่องการพัฒนาทุนมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ แนวคิดเรื่องการบริหารจัดการด้วยเครือข่ายจึงเป็นการแสดงให้เห็นกรอบการทำงานของหน่วยงานภาครัฐในอนาคต ตลอดจนเป็นการเตรียมความพร้อมให้เครือข่ายต่างๆ ที่มาจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม มุ่งไปสู่ทิศทางการบริหารจัดการในระบบเครือข่าย และสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิผลสูงสุด อันจะนำไปสู่ประโยชน์สุขของประชาชนต่อไป

         การจัด เวทีปัญญา สัมมนาวาที นี้เป็นการประยุกต์ใช้แนวคิด และกระบวนการของการจัดการความรู้เพื่อส่งเสริมการสร้าง เครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีปฏิบัติการเฉพาะเรื่อง เวทีนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในการสร้างรูปแบบของชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practice - CoP) โดยคาดหวังให้ผู้เข้าร่วมรับฟังเกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชนจากความสำเร็จ ความภาคภูมิใจ และเสียงตอบรับจากประชาชนของหน่วยงานตัวอย่างที่มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมถึงการนำแนวคิดวิธีการ และเทคนิคในการลดขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติราชการกลับไปเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินการต่อไป

                              


กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร / สรุปประเด็น
กนกวรรณ (สลธ.) / รวบรวม
วสุนธรา & ภัทรพร ข.(สลธ.) / จัดทำ

 

 


เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2552 14:34:56 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2552 14:34:56
ข่าวเด่น ก.พ.ร.
    ลิงค์     |     สมาชิกเครือข่าย     |     RSS feed     |     คำถามที่พบบ่อย            

เกี่ยวกับ

กฏหมายและระเบียบ

หนังสือเวียน

ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

ศูนย์ความรู้

ประชาสัมพันธ์

W3C   Facebook Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.   PMQA Channel  ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ  ipv6 ready  www.info.go.th  การปฏิเสธความรับผิดชอบ |  Webmail| Intranet สำหรับข้าราชการ | ผังเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ 

Slocan

สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

59/1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7882 สายด่วน 1785 e-mail: administrator@opdc.go.th