กลับมาอีกครั้งกับสรุปสาระสำคัญของกิจกรรม เวทีปัญญา สัมมนาวาที ที่สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) จัดขึ้นเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างส่วนราชการและจังหวัด
ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินการส่งเสริมการจัดการความรู้ในส่วนราชการและจังหวัดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ตามมาตรา 11 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ที่กำหนดให้ส่วนราชการต้องมีหน้าที่ในการพัฒนาความรู้ เพื่อให้มีลักษณะเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ
ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา มีส่วนราชการและจังหวัดนำการจัดการความรู้ไปใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน จนประสบความสำเร็จในด้านต่างๆ ดังนั้น เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน สำนักงาน ก.พ.ร. จึงได้ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) นำแนวคิด วิธีการและเทคนิคการดำเนินงานที่ดีของส่วนราชการและจังหวัดมาเล่าสู่กันฟัง โดยใช้กระบวนการจัดการความรู้ใน เวทีปัญหา สัมมนาวาที
และเพื่อเป็นการแบ่งปันความรู้จากการจัดกิจกรรมดังกล่าว OPDC News จะนำสาระสำคัญของการจัดกิจกรรมเวทีปัญหา สัมมนาวาที ครั้งที่ 4 ถึงครั้งที่ 6 มาถ่ายทอดให้กับชาวสำนักงาน ก.พ.ร. เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการส่งเสริมการพัฒนาระบบราชการของหน่วยงานต่าง ๆ
ครั้งที่ 4 เรื่อง การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม และค่านิยมในการปฏิบัติราชการ
วันศุกร์ที่ 14 มีนาคม 2551 ณ ห้องสุธรรม อารีกุล ชั้น 1 อาคาร 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ครั้งที่ 5 เรื่อง การปรับปรุงกระบวนการทำงานในการให้บริการประชาชน
วันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม 2551 ณ ห้องประชุมเลขที่ 9302 ชั้น 3 อาคาร 9 ศูนย์กิจกรรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วิทยาเขตศรีราชา จ.ชลบุรี
ครั้งที่ 6 เรื่อง การบริหารงานภาครัฐในระบบเครือข่าย
วันศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม 2551 ณ ห้องประชุมสัมมนา 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น
เวทีปัญญา สัมมนาวาที ครั้งที่ 4
การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม และค่านิยมในการปฏิบัติราชการ
|
การส่งเสริมการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม และค่านิยมในการปฏิบัติราชการเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของการพัฒนาระบบ ราชการไทย ซึ่งมีกรอบคุณลักษณะที่พึงประสงค์ 8 ประการ รวมกันเรียกว่า I AM READY หรือ ฉันพร้อมทำงานเพื่อประชาชน
สำหรับผู้แทนหน่วยงานที่มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความสำเร็จ เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม และค่านิยมในการปฏิบัติราชการ ได้แก่ สำนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา โรงพยาบาลบ้านตาก และกรมราชทัณฑ์ โดยมีสาระสำคัญ สรุปได้ดังนี้
จากประสบการณ์ของ สำนักงานที่ดินจังหวัดสงขลาภารกิจหลัก คือ การปกป้องรักษาสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับที่ดินให้กับประชาชนและรัฐ แต่ลักษณะงานมีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับกฎหมาย ต้องใช้ความระมัดระวังรอบคอบอย่างมาก ซึ่งนับว่าเป็นข้อจำกัดในการปฏิบัติงานอย่างยิ่ง ทำให้การบริการประชาชนต้องล่าช้า ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของสำนักงานที่ดินตลอดมา
ต่อมาได้มีการพัฒนานวัตกรรมสำหรับการบริหารจัดการขึ้น เรียกว่า SAMILA Model เพื่อเป็นกรอบแนวคิดให้เกิดการปรับเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติราชการที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน ด้วยการมุ่งเน้นการให้บริการที่รวดเร็ว ถูกต้อง เป็นธรรม เสมอภาคและโปร่งใส
ภาพแสดงรายละเอียด SAMILA Model หรือรูปแบบการบริหารจัดการของสำนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา
SAMILA Modelมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ การนำแนวคิดการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) มาเป็นส่วนหนึ่งของ บ้าน โดยมีเสาหลัก คือ กฎระเบียบ ใช้ภาวะผู้นำด้วยหลักนิตติธรรม คุณธรรม โปร่งใส รับผิดชอบ มีส่วนร่วม และคุ้มค่า เป็นหลังคาตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี มีการทำงานเป็นทีม พัฒนาระบบข้อมูลและเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระราชทานแนวทาง เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา มาเป็นแนวทางปฏิบัติ ดุจแสงไฟส่องบ้าน เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ประกอบกับแนวทางของท่านประธานองคมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งนำไปสู่แผนปฏิบัติการที่เรียกว่า แผนตอบคุณแผ่นดิน ที่สำคัญคือ บ้าน หลังนี้สร้างความรู้สึกเป็นเสมือนครอบครัวเดียวกกัน มีความเป็นพี่น้อง มีความเหนียวแน่น และสามารถสื่อสารกันในแต่ละฝ่ายได้อย่างรวดเร็ว โดยการสร้างทัศนคติที่ทำให้บุคลากรทุกคนคิดถึงประชาชน ที่มาใช้บริการให้เสมือน ญาติของตน
กลยุทธ์หลักที่นำมาใช้ประกอบด้วย 1) ด้านบุคลากร สนับสนุนให้บุคลากรใช้ชีวิตอย่างพอเพียง เสริมสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ สร้างเครือข่ายช่วยทำงาน ส่งเสริมความรักสามัคคี และใช้ระบบประเมินผล 2) ด้านกระบวนการ ลดระยะเวลาและขั้นตอน เช่น ลดระยะเวลากระบวนการโอนกรรมสิทธิ์เหลือเพียง 1 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งดีกว่ามาตรฐานที่กำหนดจากส่วนกลาง รวมทั้งมี free office แสดงภาพให้ประชาชนเห็นได้ทันที 3) ด้านคุณภาพการบริการ มีการหมุนเวียนบุคลากรภายในเพื่อให้ทุกคนทำงานร่วมกันและทำงานได้ทุกเรื่องจึงสามารถให้บริการได้เบ็ดเสร็จในจุดเดียว รวมถึงการบริการเหนือความคาดหมาย เช่น การจัดร่ม เก้าอี้พัก น้ำดื่ม ให้ประชาชนระหว่างหารรังวัด เป็นต้น
ภาพแสดงกรอบแนวคิด SAMILA Model หรือรูปแบบการบริหารจัดการของสำนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา
สำหรับการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม และค่านิยมในการปฏิบัติราชการของโรงพยาบาลบ้านตาก ยึดหลักการบริหารจัดการภายในองค์กร 3 ประการ ได้แก่ 1) ทีมเท่านั้นทำให้งานประสบความสำเร็จ 2) การทำงานเชิงรุก และ 3) การพึ่งพาตนเอง รวมทั้งได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับประชาชนในชุมชนเพื่อมุ่งสู่การบิน โรงพยาบาลใกล้บ้านใกล้ใจ
ภาพแสดง MODEL บ้านคุณภาพสร้างสุข ของโรงพยาบาลบ้านตาก จังหวัดตาก
HT Healthy Thailand
HPH Health Promoting Hospital
TQM Total Quality Management
CQI Continuous Quality Improvement
SS Suggestion System
OD Organization Development
การพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลบ้านตาก ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สามารถสรุปเป็นกระบวนแบบบูรณาการได้ 10 ขั้นตอน พร้อมประกอบเป็นภาพ Model บ้านคุณภาพสร้างสุข เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในกรสร้างคุณภาพและสุขภาพที่ดี ซึ่งขั้นตอนดังกล่าว
มีดังนี้
1. เริ่มต้นที่ฐาน โดยการใช้กิจกรรม 5 ส. เพื่อสร้างนิสัยแห่งคุณภาพและการมีสุขภาพที่ดี
2. สร้างบ้านน่าอยู่ สร้างบรรยากาศการทำงานที่ดี อบอุ่น ปรับโครงสร้างองค์กรอย่างเหมาะสม
3. ผู้บริหารต้องรู้ ผู้บริหารทุกระดับมองภาพรวมขององค์กรมุ่งสู่เป้าหมายสูงสุดที่กำหนดไว้ มีการสร้างตัวแบบการวางแผนเชิงกลยุทธ์ เพื่อการหวังผลสัมฤทธิ์เพื่อใช้ในการนำองค์กรได้
4. นำสู่เจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ทุกคนร่วมกันจัดทำวิสัยทัศน์ ทำให้ทุกคนเห็นความสำคัญของสิ่งที่จะทำ จนเกิดความมุ่งมั่นและรู้สึกเป็นเจ้าของ เจ้าหน้าที่ทุกคนรู้จักคุณภาพที่จะต้องทำให้เกิด และรู้วิธีที่จะทำให้เกิดคุณภาพนั้นๆ
5. สามัคคีคือพลัง สร้างทีมโดยใช้กิจกรรม OD (Organization Development) ที่สอดแทรกไปกับการทำงานประจำ
6. ตั้งทีมพัฒนา โดยใช้หลักการ 3 ประสาน คือ ทีมนำ (นำฝัน) เป็นคณะกรรมการอำนวยการพัฒนาคุณภาพ ทีมหนุน (ทอฝัน) เป็นคณะกรรมการประสานงานและสนับสนุน และ ทีมทำ(สานฝัน) เป็นคณะกรรมการการดำเนินการพัฒนาคุณภาพ บูรณาการกรรมการทุกประเภทมาจัดให้เป็นทีมเดียวกัน มีการเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม โดยเน้นทีมคร่อมหน่วยงาน
7. ค้นหาหลักการ ให้ทุกคนมองเห็นภาพรวมของการทำกิจกรรมทุกอย่างที่มีเป้าหมายเดียวกันคือ คุณภาพ และให้ประชาชนเลือกรับบริการจากโรงพยาบาลมากกว่าการเลือกโรงพยาบาลอื่น
8. สานสู่การปฏิบัติ ปฏิบัติตามหลักการที่วางไว้ เน้นให้ทุกคนมีส่วนร่วมในงานของตนเองและการทำคุณภาพต้องให้สอดรับกับงานประจำ หรือ การทำงานประจำให้ดีด้วยหัวใจของมาตรฐาน HA (Hospital Accreditation)
9. จัดการประเมิน ใช้การประเมินหลายรูปแบบ ได้แก่ การประเมินตนเอง การติดตามตัวชี้วัด การเยี่ยมสำรวจภายใน การตรวจประเมินจากบุคคลภายนอกและชุมชน รวมทั้งการประเมินผลประจำปี
10. เดินสู่จุดหมาย เป้าหมายที่สำคัญ คือ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เจ้าหน้าที่มีความสุขและโรงพยาบาลอยู่ได้ เพื่อพัฒนาสุขภาพของประชาชนอย่างยั่งยืน เป็น โรงพยาบาลใกล้บ้านใกล้ใจ หรือ To be the hospital of choice
นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น เจ้าหน้าที่ยังมีแนวคิดใหม่ๆ อีกหลายโครงการเพื่อใช้กระตุ้นส่งเสริมให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรมและค่านิยมในการปฏิบัติงาน เช่น
แนวคิด 4Cs (Clean, Care, Cooperation, Community)
การพัฒนาทีมพัฒนาคุณภาพ (นำฝัน, สานฝัน, และสานฝัน)
การสร้าง Brand BH (Bantak Hospital) ให้เป็นที่รู้จักต่อชุมชน โดยการสร้างกิจกรรม และดึงชุมชนเข้ามีส่วนร่วม
การถ่ายทอดองค์ความรู้ เช่น การให้บริการการเจาะเลือด แก่อาสาสมัครหมู่บ้าน
แนวคิดการสร้างนวัตกรรมใหม่โดยประยุกต์วัสดุที่หาได้ในพื้นที่มาใช้ใหม่อย่างคุ้มค่า
จากการปรับเปลี่ยนที่เกิดขึ้น ทำให้โรงพยาบาลบ้านตากเปลี่ยนจากโรงพยาบาลเล็กๆ ในชุมชนเป็นองค์กรที่เข้มแข็งและเป็นที่กล่าวขานถึงในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการมีส่วนร่วมของประชาชน การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ การบูรณาการแนวคิดและเครื่องมือในการบริหารต่างๆ ยิ่งไปกว่านั้น ยังนับเป็นหน่วยงานต้นแบบที่มีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ครบตามกรอบ I AM READY อีกด้วย
ในกรณีของกรมราชทัณฑ์ นับเป็นหน่วยงานต้นแบบการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรมและค่าด้วย โดยมีผู้บัญชาการเรือนจำสีคิ้วมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่า กรมราชทัณฑ์มีความท้าทายที่สำคัญ ได้แก่ การปรับแนวคิดเกี่ยวกับการควบคุมกักขังผู้ต้องหา และปรับพฤติกรรมผู้ต้องหาเพื่อคืนคนสู่สังคม ทั้งนี้ เพราะภูมิหลังของผู้ต้องหามีความหลากหลาย ทั้งในเรื่องเพศ อาชีพ อายุ การศึกษา สถานภาพทางสังคม ตลอดจนสาเหตุของการตกเป็นผู้ต้องขังด้วย กอปรกับประเด็นสิทธิมนุษยชนได้รับความสนใจมากขึ้น ทั้งในระดับประเทศและในต่างประเทศ กรมราชทัณฑ์จึงต้องปรับตนเองเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามภารกิจได้ตามมาตรฐานสากล รวมทั้งภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ
การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ที่โดดเด่นของกรมราชทัณฑ์ คือ การพัฒนารูปแบบการดำเนินงานของกรมฯ ทั้งในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของข้าราชการ โดยยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ปลูกผักเพื่อรับประทานเอง และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขัง โดยยึดหลัก 4 ประการ ดังนี้
1. เรือนจำเรือนปัญญา มุ่งเน้นผู้ต้องขังที่ต้องการศึกษาต่อในระดับอนุปริญญาและปริญญาตรีขึ้นไป
2. เรือนจำเรือนพัฒนา มุ่งเน้นการฝึกอาชีพผู้ต้องขัง ให้สามารถประกอบอาชีพภายหลังการพ้นโทษตามคำพิพากษาแล้ว
3. เรือนจำเรือนกีฬา มุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพผู้ต้องขังที่มีความโดดเด่นทางการกีฬา เช่น กีฬามวย จนได้รับรางวัลระดับโลกมาแล้ว
4. เรือนจำเรือนธรรม มุ่งอบรมจริยธรรมเพื่อปลูกจิตสำนึกและพัฒนาจิตใจตามหลักศาสนาที่ผู้ต้องขังเคารพนับถือ
จากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้หลักการและเทคนิควิธีปฏิบัติ จนนำไปสู่ความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม และค่านิยมใน 3 หน่วยงานข้างต้น องค์ประกอบ และขั้นตอนสารสำคัญสามารถสรุปได้ ดังนี้
ภาพแสดงแบบจำลองขั้นตอนการดำเนินการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม และค่านิยมในการทำงาน
ตารางแนวปฏิบัติเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม และค่านิยมในการทำงาน
(ผลจาก เวทีปัญญา สัมมนาวาที ครั้งที่ 4)
หน่วยงาน |
ค่านิยมในการทำงาน |
แนวปฏิบัติ |
ผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม |
สำนักงานที่ดิน จังหวัดสงขลา |
มีการปฏิบัติงานเชิงรุก (Activeness) |
พัฒนากรอบแนวคิด SAMILA Model |
การพัฒนาคุณภาพการ ให้บริการประชาชน อย่างต่อเนื่อง |
มีการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถวัด และแสดงไว้อย่างชัดเจน (Efficiency) |
ลดระยะเวลา และขั้นตอนกระบวนการ ให้บริการ |
การให้บริการโอนกรรมสิทธิ์ ทำได้รวดเร็วกว่าเวลามาตรฐาน ที่กำหนด |
มีการเรียนรู้และปรับตัวให้ทัน ความต้องการ และความคาดหวังของประชาชน (Relevancy) |
สร้างบรรยากาศเป็นองค์การ แห่งการเรียนรู้ ให้ทำงานเป็นทีม และแทนกันได้ ตลอดจนสามารถให้บริการ เหนือความคาดหมายได้ |
ผู้ใช้บริการสามารถรับบริการได้ เบ็ดเสร็จในจุดเดียว และได้รับบริการที่เหนือ ความคาดหมาย |
โรงพยาบาล บ้านตาก
|
มีการปฏิบัติงานเชิงรุก (Activeness) |
กระตือรือร้นในการให้บริการด้วย การทำงาน และการตลาดชิงรุก Brand BH (Bantak Hospital) |
มีการให้บริการแบบ One Stop Service เช่น บริการทันตกรรม บริการนวดแผนไทย กายภาพบำบัด ฯลฯ |
มีใจเป็นธรรม มีคุณธรรม ปฏิบัติราชการด้วยใจบริสุทธิ์ และกุศลเจตนา (Morality) |
ใช้แนวทาง บ้านคุณภาพสร้างสุข เพื่อสร้างความไว้วางใจให้กับผู้มารับบริการ |
มีระบบการประเมินโครงการพัฒนา คุณภาพชีวิต ในสถานประกอบการ |
มีการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถวัด และแสดงไว้อย่างชัดเจน (Efficiency) |
นำระบบมาตรฐานต่างๆ มาใช้ เช่น (Hospital Accreditation) HA เป็นต้น |
ประชาชนหันมาเลือกใช้บริการ จากโรงพยาบาลชุมชนมากขึ้น
|
มีความรับผิดชอบต่อผลสำเร็จ ของงานต่อสาธารณะ (Accountability) |
ทำงานเพื่อประชาชน โดยคำนึงผลกระทบ และผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น กับคนในชุมชน |
อาสาสมัครหมู่บ้าน ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ ตลอดจนชุมชน ได้รับการบริการ ด้านสาธารณสุข อย่างทั่วถึง |
มีใจเป็นประชาธิปไตย โดยคำนึงถึงเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ และหลักนิติธรรม (Democracy) |
เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วม เป็นคณะกรรมการ ของโรงพยาบาล |
ชุมชนและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ทำให้คุณภาพงานบริการดีขึ้น |
มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ของงาน (Yield) |
ใช้แนวคิด โรงพยาบาลใกล้บ้านใกล้ใจ |
ประชาชนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เจ้าหน้าที่มีความสุข และโรงพยาบาล มีผลงานเป็นที่ยอมรับ ได้รับการกล่าวขาน ในความเป็นเลิศด้านต่างๆ |
เรือนจำสีคิ้ว กรมราชทันฑ์ |
ข้าราชการปฏิบัติงานอย่างมีศักดิ์ศรี (Integrity) |
ปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด ให้เป็นไปตามคำพิพากษา หรือคำสั่งตามกฎหมาย |
ภาพลักษณ์ของกรมฯ มีความโปร่งใสมากขึ้น ภาพของการทุจริตประพฤติมิชอบ รวมถึงความรุนแรงในกรมฯ ค่อย จางหายๆ ไป |
มีใจเป็นธรรม มีคุณธรรม ปฏิบัติราชการด้วยใจบริสุทธิ์ และกุศลเจตนา (Morality) |
สร้างมาตรฐานเรือนจำ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดี ของผู้ต้องขัง |
ปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ตามมาตรฐานของ UN ฝึกอาชีพและให้ความรู้ แก่ผู้ต้องขังเพื่อคืน คนดี สู่สังคม |
มีใจเป็นประชาธิปไตย โดยคำนึงถึงเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ และหลักนิติธรรม (Democracy) |
เปิดโอกาสให้ภาคสังคมมีส่วนร่วม เป็นสภาที่ปรึกษาราชทัณฑ์ ร่วมมือกับมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด |
สังคมภายนอกสามารถเข้ามาเรียนรู้ และศึกษาลักษณะการทำงาน และกิจกรรมของกรมฯ อย่างต่อเนื่อง |
การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรมและค่านิยมของระบบราชการ นับเป็นหนึ่งยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการพัฒนาระบบราชการไทย การที่จะปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรมและค่านิยมของระบบราชการที่เอื้อต่อการพัฒนาระบบราชการนั้น ไม่สามารถทำได้โดยวิธีการใช้อำนาจสั่งการ การถ่ายทอดความรู้ในลักษณะให้การศึกษาฝึกอบรม หรือการรณรงค์แต่เพียงอย่างเดียว ด้วยเหตุนี้ ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา สำนักงาน ก.พ.ร. จึงได้สนับสนุน และส่งเสริมให้การบริหารราชการเกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะการสร้างการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง (Action learning) รวมทั้งเน้นข้าราชการเป็นศูนย์กลาง (empowerment) เพื่อให้สามารถเรียนรู้และเกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ด้วยตนเองด้วยความเต็มใจ นอกจากนี้ ได้เสนอแนะการจัดระบบการบริหารจัดการและสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ (enabling environment) เพื่อให้ข้าราชการมีความรู้ ความสามารถ และทักษะที่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง ก้าวผ่านจิตสำนึกที่ไม่ยึดติดกับความคิดในลักษณะเป็นราชการแบบดั้งเดิม ตลอดจนสร้างระบบราชการให้เป็นระบบเปิด คือ ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายในสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบและเร่งรัดการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม และค่านิยมของระบบราชการยุคใหม่โดยมุ่งเน้นประโยชน์สุขของประชาชนเป็นสำคัญ
การจัด เวทีปัญญา สัมมนาวาที นี้เป็นการประยุกต์ใช้แนวคิด และกระบวนการของการจัดการความรู้เพื่อส่งเสริมการสร้างเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีปฏิบัติการเฉพาะเรื่อง เวทีนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในการสร้างรูปแบบของชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practice - CoP) โดยคาดหวังให้ผู้เข้าร่วมรับฟังเกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชนจากความสำเร็จ ความภาคภูมิใจ และเสียงตอบรับจากประชาชนของหน่วยงานตัวอย่างที่มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมถึงการนำแนวคิดวิธีการ และเทคนิคในการลดขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติราชการกลับไปเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินการต่อไป
กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร / สรุปประเด็น
กนกวรรณ (สลธ.) / รวบรวม
วสุนธรา & ภัทรพร ข.(สลธ.) / จัดทำ