อบรมผู้ตรวจประเมินตัวชี้วัดระดับความสำเร็จของการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551
เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2551 สำนักงาน ก.พ.ร. โดยสำนักบริหารการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรม ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี จัดการฝึกอบรมผู้ตรวจประเมินตัวชี้วัด ระดับความสำเร็จของการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ตามโครงการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ เพื่อเสริมสร้างความเป็นเลิศในการปฏิบัติราชการ ณ ห้องมิ่งเมือง โรงแรมเดอะทวิน ทาวเวอร์ โดยมีผู้เข้ารับการอบรมทั้งสิ้น จำนวน 60 คน
นางสาวพรพิมล รัตนพิทักษ์ หัวหน้าโครงการฯ ได้ชี้แจงวัตถุประสงค์ของการอบรมและการตรวจประเมินฯ เพื่อสอบทานการประเมินตนเองของส่วนราชการและจังหวัด ตามตัวชี้วัดระดับความสำเร็จของการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ซึ่ง สำนักงาน ก.พ.ร. ได้กำหนดให้ระดับความสำเร็จของการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ เป็นตัวชี้วัดบังคับต่อเนื่อง ซึ่งมีน้ำหนัก ร้อยละ 22
สำหรับหลักสูตรในการอบรมครั้งนี้ประกอบด้วย การบรรยายเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ จรรยาบรรณของผู้ตรวจประเมิน โดย นายนพพร มุขมา วิทยากรที่ปรึกษาจากสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
บทบาทหน้าที่ของผู้ตรวจประเมิน สถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ได้พิจารณาคุณสมบัติของผู้ตรวจประเมิน และผู้ตรวจประเมินจะได้รับมอบหมายหน่วยงาน ให้ตรวจประเมินตามความเหมาะสม ซึ่งผู้ตรวจประเมินทุกท่านจะต้องอุทิศเวลา ให้กับการตรวจประเมินผลตัวชี้วัดของหน่วยงานตามที่ได้รับมอบหมาย
จรรยาบรรณของผู้ตรวจประเมิน ตลอดเวลาที่เป็นผู้ตรวจประเมิน และหลังจากการทำหน้าที่ ผู้ตรวจประเมินจะต้องให้คำมั่นสัญญา ว่าจะปฏิบัติตนเหมาะสมกับความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพ ด้วยความซื่อสัตย์ ยุติธรรม และรับผิดชอบต่อสาธารณะ กล่าวคือ
-
ไม่ทำตัวขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ หรือแสวงหาประโยชน์จากการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA)
-
เชื่อมั่นในผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการตรวจประเมิน ทั้งในปัจจุบันหรือที่ผ่านมา
-
ไม่เปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับซึ่งมีผลต่อกระบวนการประเมิน ไม่ว่าจะในปัจจุบันหรืออนาคต
-
ไม่รับผลประโยชน์ส่วนตัวหรือผลประโยชน์พิเศษใด ๆ จากการปฏิบัติหน้าที่ผู้ตรวจประเมิน ต้องไม่ตรวจประเมินองค์กรที่ว่าจ้างตนหรือองค์กรในเครือ รวมทั้งองค์กรที่ตนให้บริการปรึกษาแนะนำอยู่ หรือที่กำลังจะให้การปรึกษาแนะนำ
-
ไม่ตรวจประเมินคู่แข่ง ลูกค้า คู่ค้าหลักขององค์กรที่ว่าจ้างตนหรือองค์กรในเครือ หรือองค์กรที่มีผลประโยชน์ทางด้านการเงิน หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการให้บริการปรึกษาแนะนำ
-
ไม่สื่อข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือข้อมูลที่อาจทำให้เข้าใจผิดโดยเจตนา ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม เบี่ยงเบนในกระบวนการประเมินผล
-
ไม่ติดต่อองค์กรที่ได้เข้าไปตรวจประเมินไปแล้วโดยหวังผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งรวมถึงการว่าจ้างหรือการให้บริการปรึกษาแนะนำ
-
ไม่แสดงกริยา วาจา ที่ไม่เหมาะสมที่แสดงถึงความไม่เคารพ ไม่ให้เกียรติหน่วยงานผู้รับการตรวจประเมิน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผล
รวมทั้งต้องพยายามส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ เพื่อช่วยกระตุ้นให้ส่วนราชการต่าง ๆ ปรับปรุงคุณภาพ ผลิตภาพ และผลการดำเนินการโดยรวม
ในการฝึกอบรมครั้งนี้ ยังมีการชี้แจงวิธีการตรวจประเมิน แบบฟอร์มที่ใช้ตรวจประเมิน การรายงานผลการตรวจประเมิน โดย นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารการเปลี่ยนแปลง 3 สำนักบริหารการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรม ซึ่งผู้ตรวจประเมิน ได้ให้ความสนใจในการอภิปรายซักถาม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นการสร้างให้เกิดความเข้าใจ ในแนวทางการตรวจประเมินที่ถูกต้อง และเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน
วสุนธรา (สลธ.) / จัดทำ
สิริพร นปร.2 (ส.นวัตกรรมฯ) / ข้อมูล
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 4 กันยายน 2552 17:03:35 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 4 กันยายน 2552 17:03:35