การประชุมผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาคุณภาพ การบริหารจัดการภาครัฐ
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมา สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดประชุมผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ ในการจัดทำเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐในระดับที่ยอมรับได้(Acceptable Level) ซึ่งเป็นกรอบการประเมินความสำเร็จของการดำเนินการ ตามตัวชี้วัดระดับความสำเร็จของการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 ที่มุ่งเน้นให้ส่วนราชการพัฒนา และปรับปรุงองค์การตามแผนพัฒนาองค์การที่สอดคล้องกับเกณฑ์คุณภาพ การบริหารจัดการภาครัฐในระดับที่ยอมรับได้ โดยมี นายสมภพ อมาตยกุล ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ เป็นประธานในการประชุมรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ พร้อมทั้ง ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. นายอาวุธ วรรณวงศ์ รองเลขาธิการ ก.พ.ร. และนางสาวทัศนีย์ ดุสิตสุทธิรัตน์ รองเลขาธิการ ก.พ.ร. นางสุพรรณี ไพรัชเวทย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรม รวมทั้ง ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ผู้บริหารจากภาครัฐและเอกชน ให้เกียรติร่วมให้ข้อเสนอแนะในการประชุม อาทิ ศ.ดร. เทียนฉาย กีระนันทน์ ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชช์ ดร.ชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ ดร.อำพน กิตติอำพน ฯลฯ ณ สถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี อาคารวิทยกิตต์ สยามสแควร์
จากการประชุมดังกล่าวสรุปผลได้ว่า ผู้ทรงคุณวุฒิเห็นด้วยกับเกณฑ์ที่ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้นำเสนอ ทั้งนี้ควรคำนึงถึงภาพรวมและเป้าประสงค์ของการพัฒนาองค์การ ข้อใดในแต่ละหมวดที่มีความซ้ำซ้อนให้รวมกัน ควรมุ่งเน้นการวัดเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณ และคำนึงถึงข้อจำกัด ความเหมาะสมของความหมายของคำศัพท์ภาคธุรกิจ และการนำมาปรับใช้กับระบบราชการไทย นอกจากนี้ควรนำยุทธศาสตร์พัฒนาระบบราชการมาประกอบด้วย เพื่อให้สามารถมุ่งเน้นเป้าหมายปลายทางได้ชัดเจนมากขึ้น สิ่งที่สำคัญที่เป็นปัจจัยของความสำเร็จคือผู้ที่จะไปตรวจประเมินให้คำปรึกษา ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจลักษณะสำคัญของแต่ละองค์การ ที่จะเข้าไปตรวจประเมินเป็นอย่างดี และเห็นควรปรับชื่อเกณฑ์ฯ จาก ระดับที่ยอมรับได้ (Acceptable Level) เป็นระดับมาตรฐานขั้น
ต้น (Fundamental Level)
สำหรับในรายละเอียดนั้น สำนักงาน ก.พ.ร. ได้แยกประเภทหน่วยงานเป็น 4 ประเภทคือ กรมที่เป็นหน่วยงานให้บริการ และกรมที่เป็นหน่วยงานนโยบาย จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษา โดยที่เกณฑ์ฯ นี้เป็นระดับพื้นฐานที่ส่วนราชการหรือจังหวัดโดยส่วนใหญ่สมควรที่จะได้ดำเนินการในระดับที่กำหนด (Minimum Requirements) ซึ่งหากเทียบกับเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ การดำเนินการโดยเฉลี่ยควรเทียบได้กับ ระดับ 3 นั่นคือ กระบวนงานหรือระบบเริ่มใช้ได้ผล หรือมีระดับคะแนนประมาณ 45 / 50 % นั่นหมายความว่า การบริหารจัดการองค์การมีกระบวนการ / ระบบที่มีประสิทธิภาพและดำเนินการอย่างเป็นระบบเพื่อรองรับกิจกรรมในหัวข้อที่ประเมิน (Approach) ซึ่งกระบวนงาน / ระบบ ดังกล่าวเป็นที่เข้าใจ ยอมรับ และบุคลากรเริ่มมีบทบาทสนับสนุนในกระบวนงาน / กิจกรรมด้านนี้ (Deployment) โดยองค์การเริ่มมีการประเมินประสิทธิผลของกระบวนการ / ระบบของกิจกรรมดังกล่าว อาจมีการปรับปรุงให้กระบวนการ / ระบบให้ดีขึ้นบ้าง (Learning) และมีความสอดรับ สนับสนุนกิจกรรมระดับสำคัญขององค์การที่ระบุไว้ในภารกิจ / ยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการ (Integration) แต่ทั้งนี้การที่องค์การประเมินองค์การด้วยตนเอง และ / หรือ โดยผู้ที่เข้าไปเป็นที่ปรึกษา ต้องคำนึงถึงลักษณะเฉพาะของแต่ละองค์การด้วย
ดังนั้น สำนักงาน ก.พ.ร. โดยสำนักบริหารการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรม จะได้ดำเนินการปรับให้เกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐในระดับที่ยอมรับได้ (Acceptable Level) เป็นระดับมาตรฐานขั้นต้น (Fundamental Level) ให้มีความสอดคล้องกับแนวทางและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อใช้เป็นกรอบการประเมินความสำเร็จของการพัฒนาองค์การ ในการยกระดับขีดความสามารถ ต่อไป
กัลยาณ์ (สำนักนวัตกรรมฯ) / ภาพ & ข้อมูล
วสุนธรา & ภัทรพร ข.(สลธ.) / จัดทำ
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 4 กันยายน 2552 17:00:32 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 4 กันยายน 2552 17:00:32