รับสมัครผู้มีคุณสมบัติเข้าร่วมโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 3
สำนักงาน ก.พ.ร. เปิดรับสมัครผู้ที่สนใจและมีคุณสมบัติเข้าร่วมโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 3 ยื่นใบสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2551 ณ สถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี อาคารวิทยกิตติ์ ชั้น 13 สยามสแควร์
ในขณะที่ผู้เข้าร่วมโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 จำนวน 39 คน ซึ่งได้สำเร็จการศึกษาจากโครงการฯ แล้ว กำลังอยู่ระหว่างการปฏิบัติราชการในสำนักงาน ก.พ.ร. ก่อนที่บรรจุแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในหน่วยงานที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ต่อไปนั้น โครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ก็ยังคงเดินหน้าต่อไปเรื่อย ๆ โดยกำลังเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจและมีคุณสมบัติ เข้าร่วมโครงการฯ ในรุ่นที่ 3
ผู้เข้าร่วมโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 3 จะใช้เวลาประมาณ 22 เดือน เพื่อพัฒนาให้เป็นผู้ที่มีสมรรถนะในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Leader) โดยเป็นทั้งนักคิดที่มีวิสัยทัศน์ นักพัฒนาและนักวางแผน และนักปฏิบัติอย่างสมดุล สามารถเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในด้านความคิด วิชาการ และเทคนิคการบริหารจัดการองค์การ โดยผู้ที่ได้รับการประเมินให้ผ่านโครงการ จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในส่วนราชการที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ต่อไป
สำหรับผู้ที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการจะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
1. คุณสมบัติทั่วไป
ผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติทั่วไป และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
2. คุณสมบัติเฉพาะ
1) กลุ่มบุคคลทั่วไป
เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไปในสาขาวิชาใด ๆ จากสถาบันการศึกษาในประเทศหรือต่างประเทศที่ได้รับการรับรอง อายุไม่เกิน 30 ปีบริบูรณ์ในวันปิดรับสมัคร และหากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ต้องมีอายุไม่เกิน 35 ปีบริบูรณ์ในวันปิดรับสมัคร
2) กลุ่มข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทต่าง ๆ
เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไปในสาขาวิชาใด ๆ จากสถาบันการศึกษาในประเทศหรือต่างประเทศที่ได้รับการรับรอง อายุไม่เกิน 30 ปีบริบูรณ์ในวันปิดรับสมัคร และหากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ต้องมีอายุไม่เกิน 35 ปีบริบูรณ์ในวันปิดรับสมัคร
ทั้งนี้ จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด ประมาณ 60 คน
|
การรับสมัครและหลักฐานประกอบการรับสมัคร
|
|
วัน เวลาที่รับสมัคร
เปิดรับสมัคร ระหว่างวันที่ 16 ตุลาคม 2551 - 20 พฤศจิกายน 2551 โดยสามารถติดต่อขอรับใบสมัครได้ที่สถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี หรือ ดาวโหลดใบสมัครได้ที่ www.igpthai.org หรือเว็บไซต์สำนักงาน ก.พ.ร. ที่ www.opdc.go.th
วิธีการสมัคร
1. สมัครด้วยตนเองที่สถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ระหว่างวันที่ 16 ตุลาคม 2551 - 20 พฤศจิกายน 2551 ในวันและเวลาราชการ
2. สมัครทางไปรษณีย์ ระหว่างวันที่ 16 ตุลาคม 2551 - 14 พฤศจิกายน 2551 โดยผู้สมัครต้องส่งใบสมัคร หลักฐานและเอกสารประกอบการสมัครตามประกาศรับสมัครพร้อมทั้งธนาณัติสั่งจ่ายในนาม ศูนย์ทดสอบทางวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการทดสอบวิชาความสามารถทางภาษาไทย ความสามารถทางภาษาอังกฤษ (CU-TEP) และความสามารถทางเชาว์ปัญญา โดยจ่าหน้าซองส่งถึง สถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เลขที่ 254 อาคารวิทยกิตติ์ ชั้น 13 ซอยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 64 ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
หลักฐานและเอกสารประกอบการสมัคร
1. รูปถ่ายขนาด 1.5 x 2 นิ้ว หน้าตรงไม่สวมหมวกและแว่นตาดำ ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน จำนวน 3 รูป (สำหรับติดในใบสมัคร 1 รูป และติดในบัตรประจำตัวผู้สอบ 2 รูป)
2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวข้าราชการ หรือบัตรเจ้าหน้าที่ของรัฐ (ถ่ายเอกสารหน้า-หลังให้อยู่ในหน้าเดียวกัน)
3. สำเนา ก.พ. 7 หรือหลักฐานอื่นที่เกี่ยวกับประวัติการรับราชการ (กรณีผู้สมัครเป็นข้าราชการ)
4. สำเนาใบปริญญาบัตร และสำเนาใบแสดงผลการศึกษา (Transcript) ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไป ทั้งนี้ ผู้ที่จะถือว่าเป็นผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรชั้นปริญญาบัตรของสถานศึกษาใดนั้น จะถือตามกฎหมาย กฎ หรือระเบียบเกี่ยวกับการสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรของสถานศึกษานั้น ๆ เป็นเกณฑ์ โดยจะต้องสำเร็จการศึกษากละได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจอนุมัติ ภายในวันปิดรับสมัครคัดเลือก คือวันที่ 20 พฤศจิกายน 2551
ในกรณีที่ไม่สามารถนำหลักฐานการศึกษาดังกล่าวมายื่นพร้อมใบสมัครได้ ให้นำหนังสือรับรองคุณวุฒิที่สถานศึกษาออกให้ โดยระบุสาขาวิชาที่สำเร็จการศึกษา และวันที่ที่ได้รับอนุมัติปริญญาบัตร ซึ่งจะต้องอยู่ภายในกำหนดวันปิดรับสมัคร มายื่นแทนก็ได้
5. สำเนาใบแสดงผลการสอบ TOEFL และ/หรือ IELTS (ถ้ามี)
6. สำเนาหลักฐานอื่น ๆ เช่น ใบเปลี่ยนชื่อ - นามสกุล (ในกรณีที่ชื่อ - นามสกุลในหลักฐานการสมัครไม่ตรงกัน)
ทั้งนี้ ให้ผู้สมัครเขียนคำรับรองสำเนาถูกต้องและลงชื่อกำกับในสำเนาหลักฐานทุกฉบับ พร้อมทั้งนำหลักฐานตัวจริงมาแสดงในวันสมัคร สำหรับผู้ที่สมัครทางไปรษณีย์ ให้นำหลักฐานตัวจริงมาแสดงในวันสอบด้วย
ผู้สมััครเข้าร่วมโครงการฯ จะต้องผ่านการทดสอบความรู้ใน 3 ขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การทดสอบความรู้พื้นฐาน (29 - 30 พฤศจิกายน 2551)
1) วิชาความสามารถทางภาษาไทย (เน้นความสามารถทางด้านการสื่อสาร)
2) วิชาความถนัดทางเชาวน์ปัญญา
3) วิชาความสามารถทางภาษาอังกฤษ (CU-TEP)
ผู้สมัครที่มีผลการสอบ TOEFL ได้คะแนน 550 ขึ้นไปสำหรับการสอบแบบ Paper-based Testing หรือได้คะแนน 213 ขึ้นไป สำหรับการสอบแบบ Computer-based Testing หรือผลสอบ IELTS ได้คะแนน 6.0 ขึ้นไป โดยผลสอบจะต้องมีอายุไม่เกิน 2 ปี นับจากวันสอบ จึงจะได้รับการยกเว้นการสอบวิชาความสามารถทางภาษาอังกฤษ (CU-TEP)
ผู้สมัครจะต้องสอบผ่านการทดสอบความรู้พื้นฐานทั้ง 3 วิชา จึงจะมีสิทธิ์เข้าทดสอบในขั้นตอนที่ 2
ขั้นตอนที่ 2 การทดสอบข้อเขียนและการทดสอบสภาวะจิตใจและอารมณ์ (13 ธันวาคม 2551)
1) การทดสอบข้อเขียนเพื่อประเมินความรู้ ความสามารถในการวิเคราะห์ การใช้ความคิดเชิงเหตุผลและความคิดในเชิงสร้างสรรค์ ในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การบริหาร การต่างประเทศ ในประเด็นร่วมสมัยของไทย
2) การทดสอบสภาวะจิตใจและอารมณ์ และความสนใจในการรับราชการ
ผู้สมัครจะต้องสอบผ่านการทดสอบตามขั้นตอนที่ 2 จึงจะมีสิทธิ์เข้าทดสอบในขั้นตอนที่ 3
ขั้นตอนที่ 3 การประเมินความเหมาะสมทางบุคลิกภาพ พฤติกรรม เชาวน์อารมณ์
1) การประเมินพฤติกรรมด้วยวิธี Assessment Center (27 - 28 ธันวาคม 2551)
2) การประเมินบุคลิกภาพด้วยการสอบสัมภาษณ์ (6 - 7 มกราคม 2552)
ผู้ที่เข้ารับการสอบสัมภาษณ์จะต้องนำใบรับรองแพทย์ (ต้นฉบับ) จากแพทย์ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนรับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลป์ สาขาเวชกรรม แสดงว่าไม่เป็นโรคที่ต้องห้ามตาม กฎ ก.พ. ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2535) ซึ่งออกให้ไม่เกิน 1 เดือน นับถึงวันสอบ มายื่นในวันสอบสัมภาษณ์ด้วย
วสุนธรา (สลธ.) / จัดทำ
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 4 กันยายน 2552 16:57:43 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 4 กันยายน 2552 16:57:43