การสัมมนาและประชุมเชิงปฏิบัติการ
การจัดทำนโยบายการกำกับดูแลองค์การที่ดี
เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2551 นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการสัมมนาและประชุมเชิงปฏิบัติการ การจัดทำนโยบายการกำกับดูแลองค์การที่ดี ณ ห้องวอเตอร์เกท บอลรูม โรงแรมอมารี วอร์เตอร์เกท ที่สำนักงาน ก.พ.ร. โดยสำนักบริหารการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรมจัดขึ้น มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 570 คน จากส่วนราชการ จังหวัด สถาบันอุดมศึกษา และองค์การมหาชน
ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวรายงานสรุปว่า สำนักงาน ก.พ.ร. มีบทบาทหน้าที่สำคัญประการหนึ่งที่จะต้องส่งเสริมเรื่องธรรมาภิบาลในระดับองค์การ เพื่อให้ส่วนราชการนำวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี หรือ Good Governance มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการ โดยที่ผ่านมา สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง โดยศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับเกณฑ์คุณภาพการบริหารซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เช่น Malcom Baldrige National Quality Award (MBNQA) ของประเทศสหรัฐอเมริกา และ Thailand Quality Award (TQA) ของประเทศไทย ซี่งสำนักงาน ก.พ.ร. ได้ประยุกต์เป็น เกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดภาครัฐ หรือ Public Sector Management Quality Award (PMQA)
ทั้งนี้ ในเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ หมวด 1 เรื่องการนำองค์การนั้น ส่วนหนึ่งได้ให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้ส่วนราชการดำเนินการอย่างมีจริยธรรมและธรรมาภิบาล โดยผู้บริหารจะต้องแสดงให้เห็นถึงทิศทางของการนำองค์กรที่ตั้งอยู่บนหลักการกำกับดูแลตนเองที่ดี หรือ Good Governance รวมทั้งความรับผิดชอบต่อสังคม ที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐส่วนใหญ่ยังมิได้มีการจัดทำนโยบายการกำกับดูแลองค์การที่ดีขึ้นอย่างเป็นทางการ การจัดประชุมในครั้งนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้และความเข้าใจ ให้หน่วยงานภาครัฐตระหนักถึงความจำเป็น และให้ความสำคัญกับการจัดทำนโยบายการกำกับดูแลองค์การที่ดี เพื่อเป็นทิศทางในการกำกับดูแลการบริหารงานของหน่วยงานภาครัฐ ให้ดำเนินไปบนพื้นฐานของธรรมาภิบาลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
จากนั้น นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดประชุมพร้อมมอบนโยบาย โดยสรุปว่า นโยบายการกำกับดูแลองค์การที่ดี ถือเป็นเรืองใหม่ที่สืบเนื่องจากการปฏิรูประบบราชการไทย โดยเป็นหัวใจสำคัญในการที่จะนำแผนปฏิบัติราชการ แผนการบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดจนนโยบายของรัฐบาล ไปปฏิบัติให้เกิดผลตามความมุ่งหวังอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งตั้งแต่มีการปฏิรูประบบราชการ ประเทศไทยได้ขับเคลื่อนให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับคำว่า ธรรมาภิบาล หรือ การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยหลักที่สำคัญที่สุดคือ ต้องมีผู้รับผิดชอบในทุกขั้นตอน นโยบายการกำกับดูแลองค์การที่ดีจึงถือเป็นเรื่องสำคัญในการปกครองประเทศอย่างแท้จริง และหวังให้ทุกภาคส่วนร่วมกันระดมความคิดในการจัดทำกลยุทธ์ และนโยบายรองรับ เพื่อใช้กำกับดูแลหน่วยงานให้เกิดความซื่อสัตย์สุจริต มีการบริหารงบประมาณอย่างมีคุณค่า และร่วมมือร่วมใจผลักดันให้นโยบายดังกล่าวข้างต้นส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อประเทศชาติและประชาชนสืบไป
หลังจากนั้น ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ได้บรรยายพิเศษเรื่อง การขับเคลื่อนภาครัฐผ่านนโยบายการกำกับดูแลองค์การที่ดี และชี้แจงกรอบแนวทางการจัดทำนโยบายการกำกับดูแลองค์การที่ดีของภาครัฐ โดยสรุปได้ว่า หลังจากการปฏิรูประบบราชการเมื่อปี 2545 ได้มีการนำแนวความคิดเรื่อง การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (Good Governance) เข้ามาในประเทศไทย สำหรับภาคราชการ ได้มีการริเริ่มดำเนินการหลายเรื่อง ที่สำคัญที่สุดคือ แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทยฉบับใหม่ ที่มีสาระสำคัญอยู่ 4 เรื่อง คือ การทำระบบราชการให้ทันสมัย ตอบสนองทันต่อการเปลี่ยนแปลง การมีส่วนร่วม รวมถึงการทำให้ระบบราชการมีความเก่งและดี
การทำให้ระบบราชการทั้งเก่งและดีมิใช่เรื่องง่าย แต่เป็นสิ่งที่สำคัญ ยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการพัฒนาระบบราชการ คือ การสร้างระบบในการกำกับดูแลตนเองที่ดี ซึ่งหากมองในเรื่องของการบริหารจัดการจะพบว่า ในการนำองค์กรนั้น ผู้นำการบริหารการเปลี่ยนแปลงและผู้บริหารในองค์การ มีภารกิจสำคัญอยู่ 3 ประการ คือ
1. Determining a direction การวางทิศทางและยุทธศาสตร์การทำงาน
2. Designing the organization ออกแบบโครงสร้างองค์การและระบบการทำงาน
3. Nurturing a culture dedicated to excellence and ethical behavior สร้างวัฒนธรรมองค์การที่เอื้อต่อพฤติกรรมที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศ และประพฤติปฏิบัติอยู่ในความดีงาม (เก่ง+ดี)
ในช่วง 4 - 5 ปีที่ผ่านมา สำนักงาน ก.พ.ร. ได้นำเทคนิคด้านการบริหารจัดการเข้ามาส่งเสริมแก่หน่วยงานภาครัฐ เพื่อทำองค์กรให้ดีมีคุณภาพ นั่นคือรูปแบบการบริหารคุณภาพโดยรวมทั้งองค์กร มุ่งเน้นให้ทุกองค์กรให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ในการดำเนินงาน พร้อมทั้งต้องทำงานโดยคำนึงถึงผลลัพธ์ที่ดีต่อสังคม ซึ่งการที่จะไปสู่จุดนั้นได้ มีตัวแปรสำคัญ ๆ อยู่ 6 ประการ คือ
1. การนำองค์การอย่างเหมาะสม
2. การวางยุทธศาสตร์ที่ดี
3. การให้ความสำคัญกับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
4. ระบบฐานข้อมูล ระบบการจัดการความรู้ที่ดี
5. ทรัพยากรบุคคล
6. การจัดการกระบวนการ
โดยตัวแปรที่ 1 ถึง 4 นั้น ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของตัวองค์กร ในขณะที่ตัวแปรที่ 5 และ 6 จะเป็นตัวขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จ
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ายุทธศาตร์ขององค์กรจะเป็นอย่างไร ก็ต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เอื้อต่อยุทธศาตร์นั้น ๆ ด้วย ดังนั้น เราจึงต้องพิจารณาว่าค่านิยมหลักขององค์กรเน้นเรื่องอะไร เพื่อที่จะหล่อหลอมให้เป็นวัฒนธรรมองค์กรต่อไป โดย เลขาธิการ ก.พ.ร. ได้ยกตัวอย่างค่านิยมหลักของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้
เมื่อมีกรอบชัดเจนแล้วก็ต้องแปลงออกมาเป็นนโยบายกำกับดูแลองค์การที่ดีต่อไป โดยสำนักงาน ก.พ.ร. ได้พิจารณาเห็นว่า ภาครัฐควรมีนโยบายการกำกับดูแลองค์การที่ดี ซึ่งครอบคลุมอย่างน้อย 4 ด้านสำคัญ ดังภาพต่อไปนี้
หลังจากจบการบรรยายของเลขาธิการ ก.พ.ร. แล้ว เป็นช่วงของการเสวนาในหัวข้อ นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี : กรอบการพัฒนาสู่ความยั่งยืน โดยวิทยากรจากองค์การชั้นนำ ได้แก่
คุณประจวบ ตรีนิกร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)
คุณวัฒนา โอภานนท์อมตะ บริษัท บางจากปิโตเลียม จำกัด
คุณศักดา ศรีสังคม บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)
ดำเนินรายการโดย คุณภัทรศักดิ์ อุตตมะโยธิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอพีเอ็ม เลิร์นนิ่ง จำกัด
โดยแต่ละท่านได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในองค์การของตน ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
คุณประจวบ ตรีนิกร จาก บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือ ธรรมาภิบาล หรือ บรรษัทภิบาล คือ ระบบที่จัดให้มีโครงสร้างและกระบวนการของความสัมพันธ์ ระหว่างคณะกรรมการฝ่ายจัดการและผู้ถือหุ้น เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน นำไปสู่การเจริญเติบโตและเพิ่มมูลค่าให้ผู้ถือหุ้นในระยะยาว โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย ได้แก่ ลูกค้า พนักงาน คู่ค้า ผู้ถือหุ้น เจ้าหนี้ สังคม รัฐ คู่แข่ง ผู้ตรวจสอบบัญชี สำหรับการกำหนดนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี ของบริษัท บ้านปู ประเด็นหลัก คือ การบริหารที่ดี มีการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเน้นในเรื่อง
กรรมการ จะต้องมีระบบการสรรหากรรมการที่ดี มีนโยบาย แผนงาน การประเมินผลที่ดี
การบริหารงานและระบบงาน แผนงาน กลยุทธ์ ต้องแปลงค่าเป็นตัวเงินได้ และทุกแผนงานต้องมีการจัดการกับความเสี่ยง การแจกแจงงานที่ชัดเจน มีการกำหนดตัวชี้วัด (KPI) ที่ชัดเจน
ระบบคน มีการมอบหมายงาน มีการพัฒนาคนให้มีคุณลักษณะตามที่องค์กรต้องการ มีตัววัดผลชัดเจน นอกจากนั้นควรมีการตั้งคณะทำงานต่าง ๆ มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ดี และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
คุณวัฒนา โอภานนท์อมตะ บริษัท บางจากปิโตเลียม จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีแนวคิดว่า ทุกองค์กรมีจุดมุ่งหมายเหมือนกัน ไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชน คือ ต้องการให้องค์กรมีความมั่นคง มีศักยภาพในการเติบโต และมีอนาคต บริษัทเชื่อว่าในการที่จะได้สิ่งดังกล่าวมา ต้องเกิดความไว้วางใจ ความเชื่อมั่น รู้สึกว่าองค์กรมีประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งภายในองค์กร คือ พนักงาน ผู้ถือหุ้น คู่ค้า และภายนอกองค์การ คือ คู่แข่ง ตลอดจนสังคม สิ่งแวดล้อม โดยต้องสร้างความพึงพอใจแก่ทุกกลุ่ม และมีการสร้างความสมดุลระหว่างมูลค่ากับคุณค่า ในแง่ของมูลค่าคือ หลักคิดในการทำธุรกิจ ได้แก่ การสร้างผลตอบแทน สร้างความพึงพอใจให้กับผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด นอกจากนั้นยังคำนึงถึงเรื่องของสังคม สิ่งแวดล้อม ให้ดีขึ้นด้วย โดยมีการศึกษาหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีจากต่างประเทศ และศึกษาองค์กรในประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จ มีการจัดการที่ทันสมัย มีหลักธรรมาภิบาล เน้นที่ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สร้างวัฒนธรรมองค์กรให้พัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับสิ่งแวดล้อมและสังคม สร้างวัฒนธรรมให้พนักงาน มีคุณลักษณะที่บริษัทต้องการ คือ เป็นคนดี มีความรู้ เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น มีการจัดทำเป็นคู่มือเรื่องนโยบาย ดูแลกำกับกิจการที่ดี โดยสิ่งที่บางจากเน้นคือ สังคม สิ่งแวดล้อม คณะกรรมการ และผู้ปฏิบัติงาน
คุณศักดา ศรีสังคม บริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง นโยบายการกำกับดูแลองค์การที่ดี หรือ Corporate Governance (CG) ว่า ช่วยเรื่องความยั่งยืนขององค์การ โดยเน้นในเรื่องต่าง ๆ เช่น
- การลงทุน ต้องดูว่ามีความเสี่ยงอะไรบ้าง มีการวิเคราะห์ความเสี่ยง
- ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
- การสร้างความยั่งยืน ผูกมิตรกับรอบข้าง
โดยนำหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีมาใช้ ทางบริษัทเน้นที่ ความสมดุลกับสิ่งแวดล้อม สื่อให้เห็นจากโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมีการตั้งคณะกรรมการย่อยคอยกำกับดูแลการทำงานของฝ่ายบริหารและพนักงานอย่างใกล้ชิด คุณศักดากล่าวทิ้งท้ายว่า CG จะเกิดขึ้นได้ ต้องให้คนในองค์การทำด้วยใจ และเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น
ในช่วงบ่าย ได้มีการแบ่งการประชุมออกเป็น 6 ห้อง ซึ่งแต่ละห้องเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำ นโยบายการกำกับดูแลองค์การที่ดี แก่ผู้แทนจากส่วนราชการ จังหวัด สถาบันอุดมศึกษาและองค์การมหาชน โดยที่ปรึกษาโครงการ ได้แก่ บริษัท เอพีเอ็ม เลิร์นนิ่ง จำกัด เป็นผู้ดำเนินการฝึกอบรม
เมื่อเสร็จสิ้นการประชุมสัมมนาในครั้งนี้ คาดว่าผู้เข้าร่วมประชุมจะมีความรู้ความเข้าใจเรื่อง การจัดทำนโยบายการกำกับดูแลองค์การที่ดี ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เพื่อนำไปปรับใช้ในหน่วยงานและจัดทำนโยบายฯ อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
บรรยากาศการประชุมกลุ่มย่อย
ภัทรพร ว. (สลธ.) / ข่าว & ภาพ
วสุนธรา (สลธ.) / จัดทำ
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2552 12:31:09 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2552 12:31:09