Logo of OPDC ก.พ.ร. FAQ สำหรับการค้นหา  |  ภาษาไทย   |   English   |   Mobile   |   Help   |  

หน้าหลัก หน้าหลัก | ติดต่อ | ผังเว็บไซต์ |  หน้าหลัก
Share แชร์ พิมพ์หน้านี้
ข่าวเด่น ก.พ.ร. / ปี 2551 / ตุลาคม / สำนักงาน ก.พ.ร. จัดประชุมทบทวนแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 - พ.ศ. 2554 ตามนโยบายที่ 8 : นโยบายการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

สำนักงาน ก.พ.ร. จัดประชุมทบทวนแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 - พ.ศ. 2554 ตามนโยบายที่ 8 : นโยบายการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

สำนักงาน ก.พ.ร. จัดประชุมทบทวนแผนการบริหารราชการแผ่นดิน
พ.ศ. 2552 - พ.ศ. 2554
ตามนโยบายที่ 8 : นโยบายการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี


           เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2551 นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 - พ.ศ. 2554 ตามนโยบายที่ 8 : นโยบายการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี  ณ ห้องบุหงา โรงแรมเรดิสัน โดยมีผู้แทนส่วนราชการต่าง ๆ เข้าร่วมประชุม

           หลังจากรับฟังคำกล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้จาก ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. แล้ว  นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเปิดการประชุม พร้อมมอบนโยบายและแนวทางการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน ตาม นโยบายที่ 8 เรื่องการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี    โดยกล่าวว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้ถวายสัตย์ปฏิญาณและแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว สิ่งแรกที่คณะรัฐมนตรีต้องทำตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ คือ การจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน และแผนด้านนิติบัญญัติ ซึ่งเรื่องดังกล่าวได้ถูกบัญญัติไว้เป็นครั้งแรก ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

           จากการที่ได้มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดินในภาพรวม พบว่า ปัญหาของบ้านเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลที่แล้ว และในขณะนี้ไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ก็มีบางเรื่องที่ต้องได้รับการแก้ไขมากยิ่งขึ้น เช่น ปัญหาเศรษฐกิจของโลกที่ทุกประเทศกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย นอกจากนี้ ยังมีปัญหาในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสังคม ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาความไม่ปรองดองกันในชาติ รวมทั้งปัญหาที่เรื้อรังมานาน เช่น ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เป็นปัญหาหลักของบ้านเมืองเช่นเดียวกัน

           ในนโยบายรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อรัฐสภา จึงกำหนดเรื่องเร่งด่วนรวม 16 เรื่อง ไว้ในนโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก โดยเน้นเรื่องความสมานฉันท์ ความสามัคคี การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นหลัก และมุ่งเน้นให้ชนชั้นรากหญ้าได้มีโอกาสหาเลี้ยงชีพ และดำรงชีพอยู่ได้อย่างมีความสุข มีเกียรติ ในสังคมไทย ตลอดจนการเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้าในสถานการณ์ของโลกปัจจุบัน

           ทั้งนี้ เชื่อว่าการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 - พ.ศ. 2554 นั้น  ไม่ใช่เรื่องยากนัก เพราะสาระสำคัญและเป้าหมายไม่ต่างกับรัฐบาลที่แล้ว แต่อาจจะนำปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่ มาปรับปรุงใแผนการบริหารราชการแผ่นดิน ในนโยบายที่ 8 ให้ดียิ่งขึ้น

           การจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งแบ่งออกเป็น 8 นโยบายนั้น ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หมวดที่  5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ อยู่แล้ว นอกจากนี้ พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดินในแต่ละปี ก็ได้นำแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐทั้ง 8 นโยบาย ไปเป็นแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารประเทศ และการใช้จ่ายงบประมาณ ดังนั้น จึงขอให้พิจารณาความสอดคล้อง ระหว่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายกับแผนการบริหารราชการแผ่นดินที่จะจัดทำในครั้งนี้

           สำหรับนโยบายที่ 8 ของแผนการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งประกอบด้วย 2 ประเด็นหลัก คือ การบริหารราชการแผ่นดินและการตรากฎหมายนั้น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ฝากในประเด็นของการบริหารราชการแผ่นดินว่า ขอให้คำนึงถึงประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศและเป็นผู้เสียภาษี ดังนั้น ประชาชนควรจะได้รับผลตอบรับที่คุ้มค่า และถึงมือประชาชนอย่างแท้จริง  ซึ่ง 70% ของเงินภาษีได้นำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกระทรวง ทบวง กรม (งบประจำ)  จึงขอให้พิจารณาว่าเงินภาษีที่ประชาชนจ่าย และนำมาเป็นงบประมาณในการดำเนินงานของส่วนราชการนั้น มีส่วนใดบ้างที่สามารถกลับคืนไปสู่ประชาชนได้  และในการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน ในนโยบายที่นั้น ขอให้คำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับด้วย

           ในประเด็นของการตรากฎหมายนั้น เนื่องจากในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมาไม่มีการประกาศใช้กฎหมายใด ๆ เลย ซึ่งปัญหาเกิดจากการที่รัฐบาลชุดที่แล้วไม่ได้นำกฎหมายต่าง ๆ ที่ค้างอยู่ในสภามาพิจารณา เพราะในขั้นรับหลักการนั้น องค์ประชุมที่พิจารณากฎหมายดังกล่าวไม่ครบองค์ประชุมแม้แต่ฉบับเดียว ทำให้กฎหมายต่าง ๆ ที่ค้างอยู่ตกไป  ดังนั้น จึงฝากในเรื่องของการตรากฎหมายไว้ในการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อผลักดันกฎหมายที่จำเป็นตามรัฐธรรมนูญให้เกิดขึ้นทันตามกำหนดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎหมายที่เป็นกลไกสนับสนุนการดำเนินการตามแผนการบริหารราชการแผ่นดิน ในนโยบายต่าง ๆ ทั้ง 8 นโยบาย

           ในช่วงท้ายของการมอบนโยบาย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ขอให้ทุกหน่วยงาน และทุกภาคส่วน ปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงสิ่งที่ได้ปฏิญาณตนหรือถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นั่นคือ การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประเทศชาติ และประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งจะส่งผลทำให้การดำเนินการตามแผนการบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งทุก ๆ เรื่องที่อยู่ในนโยบายรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดใดก็ตาม เป็นไปตามเป้าหมายที่จะทำให้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง ประชาชนอยู่ดีกินดีอย่างแท้จริง

     

            จากนั้น ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร.  ได้ ชี้แจงแนวทางการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 - พ.ศ. 2554" ตามนโยบายที่ 8 : นโยบายการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี  โดยกล่าวว่า การจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดินนั้น เป็นความพยายามที่จะเปลี่ยนวิธีการทำงานในการบริหารราชการแผ่นดินของประเทศไทย เพื่อให้ระบบการบริหารงานของประเทศไทยมีความทันสมัยมากขึ้น เป็นการบริหารงานเชิงยุทธศาสตร์ โดยเริ่มจากรัฐบาลที่จะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ในการบริหารประเทศ จากนั้นส่วนราชการต่าง ๆ ก็จะได้จัดเตรียมแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารงานในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป 

           สำหรับที่มาของการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดินนั้น เดิมได้บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 โดยกำหนดให้มีการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน และกำหนดให้ส่วนราชการจัดทำแผนปฏิบัติราชการ เพื่อรองรับการปฏิบัติงานตามแผนการบริหารราชการแผ่นดิน

           ต่อมาในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550  มาตรา 75 มาตรา 76 และมาตรา 176 ได้บัญญัติให้รัฐบาลต้องกำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน ต้องมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และคณะรัฐมนตรีต้องจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อแสดงมาตรการและรายละเอียดของแนวทางในการปฏิบัติราชการ ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐในการบริหารราชการแผ่นดิน  นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีต้องจัดให้มีการตรากฎหมายที่จำเป็นต่อการดำเนินการตามนโยบายและแผนการบริหารราชการแผ่นดิน

           ทั้งนี้ เจตนารมณ์ของแผนการบริหารราชการแผ่นดิน ก็คือ แผนยุทธศาสตร์ 4 ปีของรัฐบาล ที่กำหนดว่า รัฐบาลจะดำเนินการในเรื่องใด มีเป้าหมายในการทำงานคืออะไร จะตรวจเช็คความสำเร็จได้อย่างไร ใช้ตัวชี้วัดอะไร มีกลยุทธ์แนวทางการทำงานอย่างไร และใครเป็นผู้รับผิดชอบ

           ในช่วงที่ผ่านมา นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 และต่อมา เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2551 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี นายกรัฐมนตรีได้ประชุมชี้แจงนโยบายรัฐบาลให้กับส่วนราชการ และมอบนโยบายเรื่องการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน โดยให้ข้าราชการประจำช่วยกันยกร่างแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 - พ.ศ. 2554 ขึ้น และเสนอให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีพิจารณา ในวันที่ 28 ตุลาคม 2551  จากนั้น เมื่อแผนการบริหารราชการแผ่นดินได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ส่วนราชการจะต้องนำไปใช้ในการจัดทำแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี และแผนปฏิบัติราชการประจำปี  และจัดส่งให้สำนักงาน ก.พ.ร. เพื่อประกอบการจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการ รวมทั้งจัดส่งให้สำนักงบประมาณ เพประกอบในการจัดทำคำของบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553

  

           ทั้งนี้ ในการจัดทำแผนปฏิบัติราชการ 4 ปีของส่วนราชการนั้น เดิมจัดทำในลักษณะที่เป็น Static plan คือ จัดทำแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี (พ.ศ. 2551 - พ.ศ. 2555) และเมื่อถึงสิ้นปี 2554 ก็จะทำแผนฯ ปี 2445 - 2558 ต่อไป  แต่จากสภาพการณ์ในปัจจุบัน จึงมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนการจัดทำแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี ในลักษณะที่เป็น Rolling plan กล่าวคือ จะปรับแผนฯ ทุกปี โดยเริ่มจากการจัดทำแผนฯ ปี 2551 - 2554 จากนั้นในปีถัดไปก็จะจัดทำแผนฯ ปี 2552 - 2555 และ แผนฯ ปี 2553 - 2556 ไล่ไปเรื่อย ๆ ในแต่ละปี ซึ่งจะสอดรับกับระบบของสำนักงบประมาณในการประมาณการใช้จ่ายงบประมาณ

           สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการ การจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 - พ.ศ. 2554 ตามนโยบายที่ 8 : นโยบายการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี  ครั้งนี้  เป็นการทบทวนเป้าหมายเชิงนโยบาย ตัวชี้วัด กลยุทธ์ รวมทั้งโครงการหลักที่สำคัญ และจะทำให้กลยุทธ์และเป้าหมายที่กำหนดไว้บรรลุผล (Flagship projects) ตามนโยบายที่ 8 : นโยบายการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยคิดในภาพรวมของรัฐบาล ว่าจากที่กำหนดไว้เดิมในรัฐบาลชุดที่แล้วซึ่งมีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี จะเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงอย่างไรบ้างในรัฐบาลชุดปัจจุบัน  จากนั้นจึงกลับไปพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแต่ละส่วนราชการอีกครั้งหนึ่ง  ซึ่งข้อมูลที่ได้จะสามารถนำไปจัดทำแผนปฏิบัติราชการ 4 ปีของส่วนราชการต่อไป

           ทั้งนี้ นโยบายที่ 8 : นโยบายการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี นั้น จะแบ่งออกเป็น 3 เรื่อง ได้แก่

           8.1 ประสิทธิภาพการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

           8.2 กฎหมายและการยุติธรรม

           8.3 ส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารจากทางราชการและสื่อสาธารณะอื่นได้อย่างกว้างขวาง ถูกต้อง เป็นธรรมและรวดเร็ว

  

           สำหรับกำหนดการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 - พ.ศ. 2554 มีดังนี้

16 ตุลาคม 2551

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมส่วนราชการเพื่อชี้แจงนโยบายรัฐบาล
และมอบนโยบายเรื่องการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน

17 ตุลาคม 2551

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ)
เป็นประธานประชุมชี้แจงการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน
ตามนโยบายที่ 8 :นโยบายการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

16 - 22 ตุลาคม 2551

กระทรวง/ส่วนราชการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 - พ.ศ. 2554
และประสานกับสำนักงบประมาณ (สงป.) ในการปรับแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่าย
งบประมาณ สำหรับปีงบประมาณ 2552 ให้สอดคล้องกับนโยบายที่จะเริ่มดำเนินการ
ในปีแรกของรัฐบาล

22 ตุลาคม 2551

กระทรวงส่งแผนการบริหารราชการแผ่นดินที่ผ่านความเห็นชอบ
ของรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลให้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)  สงป. กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และ สำนักงาน ก.พ.ร.

22 - 24 ตุลาคม 2551

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (สศช.  สงป.  สำนักงาน ก.พ.ร.)
ดำเนินการบูรณาการแผนการบริหารราชการแผ่นดิน

24 26 ตุลาคม 2551

สศช. บูรณาการแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 - พ.ศ. 2554

27 ตุลาคม 2551

ประชุมคณะกรรมการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน ครั้งที่ 2

28 ตุลาคม 2551

เสนอนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีพิจารณา

           ทั้งนี้ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2547 ได้กำหนดให้ส่วนราชการต้องจัดทำแผนปฏิบัติราชการ 4 ปีให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่แผนการบริหารราชการแผ่นดินประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเท่ากับว่าส่วนราชการจะต้องจัดทำแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี (พ.ศ. 2552 - พ.ศ. 2555) ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 28 ธันวาคม 2551 โดยประมาณ

           ดังนั้น สิ่งที่ส่วนราชการต้องดำเนินการในช่วงวันที่ 16 - 22 ตุลาคม 2551 คือ จัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 - พ.ศ. 2554 ตามแบบฟอร์มที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกำหนด (ดาวน์โหลดได้ที่ www.nesdb.go.th) โดยพิจารณาแผนของกระทรวง ว่าในนโยบายที่ 1 ถึงนโยบายที่ 8 ของแผนการบริหารราชการแผ่นดินนั้น ส่วนราชการจะดำเนินการเรื่องใดบ้าง ซึ่งการดำเนินการในจุดนี้จะช่วยให้ส่วนราชการได้จัดทำร่างแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี (พ.ศ. 2552 - พ.ศ. 2555) ไปด้วย และเมื่อครบกำหนดการจัดทำแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี ส่วนราชการก็สามารถนำแผนฯ ที่ร่างไว้มาดำเนินการได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำแผนฯ ที่ร่างไว้ มาจัดทำคำของบประมาณ ปี 2553 ได้อีกด้วย

   


           
หลังจากที่เลขาธิการ ก.พ.ร. ได้ชี้แจงแนวทางการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 - พ.ศ. 2554 ตามนโยบายที่ 8 : นโยบายการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีแล้ว ได้แบ่งการประชุมออกเป็น 2 กลุ่มย่อย เพื่อทบทวนเป้าหมายเชิงนโยบาย ตัวชี้วัด กลยุทธ์ รวมทั้งยืนยันโครงการสำคัญต่าง ๆ (Flagship projects) ของนโยบายที่ 8 โดยแบ่งกลุ่มย่อย ดังนี้


   

           กลุ่มย่อยที่ 1  พิจารณาเรื่อง ประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน (นโยบาย 8.1) ดำเนินการประชุมโดย นายอาวุธ วรรณวงศ์ รองเลขาธิการ ก.พ.ร.  และเรื่อง ส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารจากทางราชการและสื่อสาธารณะอื่นได้อย่างกว้างขวาง ถูกต้อง เป็นธรรม และรวดเร็ว (นโยบาย 8.3) ดำเนินการประชุมโดย นายชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี


   

           กลุ่มย่อยที่ 2   พิจารณาเรื่อง   กฎหมายและการยุติธรรม (นโยบาย 8.2)  ดำเนินการประชุมโดย   นายสมณ์  พรหมรส ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม


       

           จากการประชุมกลุ่มย่อยดังกล่าว ผู้เข้าร่วมประชุมได้ทบทวนเป้าหมายเชิงนโยบาย ตัวชี้วัด กลยุทธ์ และโครงการสำคัญต่าง ๆ (Flagship projects) ของนโยบายที่ 8 : นโยบายการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ของแผนการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. จะได้นำไปปรับปรุงแผนฯ ให้มีความเหมาะสมต่อไป

  


วสุนธรา (สลธ.) / รายงาน
ภัทรพร ว. (สลธ.) / ภาพ

 

 

 

 


เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2552 14:54:02 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2552 14:54:02
ข่าวเด่น ก.พ.ร.
    ลิงค์     |     สมาชิกเครือข่าย     |     RSS feed     |     คำถามที่พบบ่อย            

เกี่ยวกับ

กฏหมายและระเบียบ

หนังสือเวียน

ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

ศูนย์ความรู้

ประชาสัมพันธ์

W3C   Facebook Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.   PMQA Channel  ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ  ipv6 ready  www.info.go.th  การปฏิเสธความรับผิดชอบ |  Webmail| Intranet สำหรับข้าราชการ | ผังเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ 

Slocan

สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

59/1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7882 สายด่วน 1785 e-mail: administrator@opdc.go.th