OPDC News ในวันนี้ ขอนำรายละเอียดของการเสวนาของ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และ กรรมการ ก.พ.ร. ซึ่งเป็นการ วิพากษ์ผลที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ซึ่งเป็นอีกประเด็นหนึ่งในการเสวนา หัวข้อ การพัฒนาระบบราชการตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณท์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ใน การประชุมสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2551 : ในโอกาสครบรอบ 6 ปี ของการพัฒนาระบบราชการไทย ที่สำนักงาน ก.พ.ร. จัดขึ้น เมื่อวันศุกร์ที่ 3 ตุลาคม 2551 ณ หอประชุมกองทัพเรือ มานำเสนอกันค่ะ
ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และ กรรมการ ก.พ.ร. ได้กล่าวถึง พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ว่า มาจากผลการศึกษาที่พบว่าการปฏิรูประบบราชการที่ดำเนินการมาตั้งแต่สมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งมีคณะกรรมการปฏิรูประบบราชการมาจนถึงช่วงต้นของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เน้นในเรื่องของการปรับโครงสร้างระบบราชการ คือ จำกัดจำนวนส่วนราชการระดับกรมไม่ให้มีเพิ่มขึ้น แต่ระดับกองนั้นเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นอันมาก และมีการยกระดับกองขึ้นเป็นสำนัก (ระดับ 9) อีกเป็นจำนวนมาก
อีก ประการหนึ่งที่คณะกรรมการปฏิรูประบบราชการทำ คือ เรื่องของจำนวนข้าราชการ โดยกำหนดให้เป็น zero based หรือ ไม่ให้เพิ่มจำนวนข้าราชการ และอาศัยกลไก คือ มติคณะรัฐมนตรีเป็นหลัก ซึ่งหมายความว่า หากคณะรัฐมนตรีไม่ต้องการให้ทำอย่างนั้น ก็สามารถยกเลิกเองหรือลงมติเป็นอย่างอื่นได้
แนว ความคิดที่จะปฏิรูประบบราชการในปี พ.ศ. 2545 มองว่า การปฏิรูประบบราชการแบบเดิมที่เน้นเรื่องโครงสร้างของระบบราชการ และจำนวนข้าราชการ รวมทั้งการใช้มติคณะรัฐมนตรีเป็นกลไกนั้น คงจะไม่เพียงพอ จึงเป็นที่มาของการกำหนดมาตรา 3/1 ไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 ซึ่งเป็นความพยายามปรับปรุงกระบวนการและวิธีการทำงานของระบบราชการ ให้สอดคล้องกับการบริหารงานภาครัฐแนวใหม่และประชาธิปไตยตามหลักธรรมาภิบาล
ทั้งนี้ มาตรา 3/1 ของกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินดังกล่าว ไม่เพียงนำไปสู่การออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 เท่านั้น แต่รวมถึงพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอและการพิจารณาเรื่องของคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 ด้วย ซึ่งในช่วงแรก ๆ นั้น ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก
สำหรับความสำเร็จของพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 นั้น สามารถประเมินได้เป็น 3 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่
1. ส่วนที่ประสบความสำเร็จเกินคาด คือ สิ่งที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาได้มีการนำไปใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เช่น แผนการบริหารราชการแผ่นดิน แผนนิติบัญญัติ ที่ปรากฏอยู่ในมาตรา 76 และมาตรา 176 ของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ทำให้ต้องใชู้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้เพื่อขยายความของคำดังกล่าวในรัฐธรรมนูญ แสดงว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่าเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเรื่องดี เป็นเรื่องที่ถูกต้อง
อย่าง ไรก็ตาม แผนการบริหารราชการแผ่นดิน แผนนิติบัญญัติ และแผนปฏิบัติราชการนั้น เหมาะกับรัฐบาลที่อยู่ได้ 4 ปี เพราะถูกออกแบบมาเพื่อวัตถุประสงค์ คือ ต้องการทำให้การบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีและของสภามีหลักมีเกณฑ์ สามารถตรวจสอบ/วัดผลได้ โดยกำหนดจำนวนนับได้ว่าเมื่อบริหารราชการแผ่นดินไป 4 ปีแล้ว จะได้ถนนกี่เส้น อาชญากรรมลดลงไปเป็นจำนวนเท่าไหร่ แต่สภาพเหตุการณ์ปัจจุบันซึ่งรัฐบาลอยู่ได้ไม่นาน ทำให้แผนการบริหารราชการแผ่นดิน 4 ปี กลายเป็นแผนลอย ๆ
นี่ จึงเป็นความสำเร็จเกินคาดและความน่ากังวล คำถามก็คือว่า จะทำอย่างไรกับแผนการบริหารราชการแผ่นดินที่เดิมกำหนดไว้ 4 ปี ซึ่งอาจจะต้องเปลี่ยนมาเป็นแผนการบริหารราชการแผ่นดินรายปี ตามปีงบประมาณ หรือราย 6 เดือน
จุด ที่ประสบความสำเร็จอีกประการหนึ่งของพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ อยู่ในหมวด 3 (การบริหารราชการเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ) เช่น การจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการ (มาตรา 12) และมีเงินรางวัลเป็นสิ่งจูงใจ ที่แบ่งออกเป็นเงินรางวัลสำหรับผู้บริหารและเงินรางวัลสำหรับส่วนราชการ ซึ่งเป็นความสำเร็จในระดับที่เกินความคาดหวัง เพราะเวลานี้หลายส่วนราชการรีบดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ เพื่อให้สำเร็จตามตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ในคำรับรองฯ อย่างไรก็ตาม มีคำถามที่น่าคิดคือ เป็นความสำเร็จดังกล่าว เป็นความสำเร็จที่ควรภาคภูมิใจหรือไม่ หากส่วนราชการปรับปรุงระบบราชการและวิธีการทำงานเพราะเงินรางวัล
2. ส่วนที่มีการปฏิบัติ แต่ไม่แน่ชัดว่าปฏิบัติมากน้อยเพียงใด และคุณภาพของการปฏิบัติเป็นอย่างไร มีอยู่หลายส่วน เช่น การกำหนดให้ทำบัญชีต้นทุนค่าใช้จ่ายต่อหน่วย (มาตรา 22) ซึ่งขณะนี้กรมบัญชีกลางได้ดำเนินการไปแล้ว ในขณะที่ส่วนราชการ 81 แห่งได้ดำเนินการแล้วในปี 2550 และเข้าใจว่าขณะนี้ได้บังคับให้ทุกส่วนราชการดำเนินการแล้ว
นอก จากนี้ยังมีเรื่องของการมอบอำนาจ (มาตรา 27, 28) ศูนย์บริการร่วม (มาตรา 30 - 32) เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งได้มีการปฏิบัติแล้วแต่เต็มรูปแบบมากน้อยเพียงใด สำนักงาน ก.พ.ร. ต้องทำการสำรวจอย่างจริงจัง
3. ส่วนที่ไม่แน่ชัดว่ามีการปฏิบัติหรือไม่ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนราชการ และ ประชาชน โดยในส่วนที่เกี่ยวกับราชการ ได้แก่ หมวด 2 ว่าด้วยการปฏิบัติราชการเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขของประชาชน กำหนดไว้ในมาตรา 8 (3) ว่า ก่อนเริ่มดำเนินการส่วนราชการต้องจัดให้มีการศึกษาวิเคราะห์ผลดีและผลเสีย ให้ครบทุกด้าน มีกลไกการตรวจสอบ และต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งไม่แน่ใจว่ามีการทำในจุดนี้หรือไม่ เพราะเห็นว่าระบบราชการยังทำเหมือนเดิม คือ ทำตามคำสั่งอธิบดี ซึ่งอาจจะรับคำสั่งมาจากปลัดกระทรวงหรือรัฐมนตรีอีกต่อหนึ่ง
นอก จากนี้ยังมีในเรื่องของการกำหนดให้ราชการเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ หรือ Knowledge Organization (มาตรา 11) ซึ่งจากการสอบถามข้าราชการในบางหน่วยงานว่า Knowledge Organization เป็นอย่างไร/หมายความว่าอย่างไร ก็ได้รับคำตอบว่าไม่รู้ คำถามจึงอยู่ที่ว่า ทำไปแล้วแค่ไหน เพราะคำว่าองค์การแห่งการเรียนรู้ไม่ใช่เพียงทำวิจัยแล้วนำมาเขียนเป็น รายงานการวิจัยของส่วนราชการ แต่สิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นคือ ในกระบวนการทำงานนั้น สามารถสั่งสมข้อมูลและแปลงข้อมูลเป็นความรู้ที่นำมาใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ ต่อไปได้ ในจุดนี้จึงอาจต้องทำการสำรวจให้ชัดเจน
ใน หมวด 4 ซึ่งเริ่มดำเนินการบ้างแล้ว แต่ไม่แน่ใจว่าดำเนินการอย่างจริงจังเป็นเรื่องเป็นราวมากน้อยเพียงใด นั่นก็คือ การประเมินความคุ้มค่าของภารกิจของรัฐ ที่กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และสำนักงบประมาณดำเนินการ และสำนักงาน ก.พ.ร. กำลังคิดให้ทุกกรมนำภารกิจของตนมาพิจารณา กรมละ 1 ภารกิจ เพื่อทบทวนว่าภารกิจนั้นควรจะเลิกหรือโอนถ่ายให้คนอื่นทำหรือไม่ ซึ่งในจุดนี้ถือว่าจำเป็นสำหรับในอีก 5 ปีข้างหน้า เป็นเรื่องที่จะต้องเร่งทำ เพราะระบบการเมืองใหม่ที่มีการเรียกร้องกันอยู่นั้น จำเป็นที่ราชการต้องมาทบทวน ว่าทำในสิ่งที่ไม่ควรจะทำหรือไม่
ยัง มีอีกหลายเรื่องในหมวด 4 ที่ยังไม่ได้ดำเนินการ เช่น มาตรา 23 ที่กำหนดว่าการจัดซื้อจัดจ้างไม่ควรพิจารณาเพียงราคา แต่ให้คำนึงถึงประโยชน์และผลเสียทางสังคม ภาระต่อประชาชน คุณภาพ วัตถุประสงค์ที่จะใช้ ราคาและประโยชน์ระยะยาว ซึ่งคิดว่าไม่มีใครกล้าทำ เพราะสำนักนายกรัฐมนตรียังเขียนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุแบบ เดิม คือ พิจารณาที่ราคาต่ำเป็นหลัก และกรรมการตรวจสอบภาครัฐ หรือ คตส. ก็พิจารณาแต่เพียงว่า ถ้าให้สัมปทานแล้วรัฐบาลต้องได้เงินมาก ๆ ดังนั้น จึงไม่แน่ใจว่า มาตรา 23 นี้ที่กำหนดให้ดูผลกระทบต่อประชาชน คำนึงถึงผลเสียทางสังคม สุขภาพ คำนึงถึงวัตถุประสงค์ที่จะใช้ระยะยาวของประเทศ จะได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังหรือไม่ เพราะสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ยังมีระเบียบพัสดุแบบเดิม ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นที่สำนักงาน ก.พ.ร. ต้องประเมินและกำหนดตัวชี้วัดว่า สปน. ต้องแก้ระเบียบพัสดุให้เป็นไปตามมาตรา 23 ของพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้
หมวด 6 กำหนดให้ทบทวนกฎเกณฑ์ กฎหมาย ที่ไปควบคุมธุรกิจโดยไม่จำเป็น และให้ทบทวนกฎหมาย กฎระเบียบ ที่ไปกระทบส่วนราชการอื่นโดยไม่จำเป็น ขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการ ซึ่งในส่วนนี้เคยมีความพยายามที่จะทำ โดยในช่วงปลายของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณฯ 1 ได้กำหนดให้มีการพัฒนากฎหมาย มีกรรมการนโยบายพัฒนากฎหมาย และกำหนดเป็นตัวชี้วัดเรื่องการพัฒนากฎหมาย แต่ต่อมาก็ไม่ได้มีการดำเนินการต่อ ดังนั้น กฎหมายหรือกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ยังจำกัดเสรีภาพของบุคคล หรือเป็นตัวกำหนดโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่แท้จริง ยังคงมีอยู่ ทั้งนี้ หากจะปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคม แต่ไม่ปฏิรูปกฎหมายเศรษฐกิจและกฎหมายสังคม ก็จะไม่ใช่การปฏิรูปที่แท้จริง เพราะกฎหมายเป็นเครื่องกำหนดโครงสร้างการจัดสรรผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและ สังคม หากจะประเมินในจุดนี้คิดว่าต้องรื้อทำใหม่ และหากหน่วยงานเดิมทำไม่ได้ สำนักงาน ก.พ.ร. ต้องนำมาทำเอง
มี อีกหลายเรื่องที่ยังไม่ได้ดำเนินการ เช่น มาตรา 45 ที่กำหนดให้ต้องมีกรรมการประเมินอิสระมาประเมินส่วนราชการ ซึ่งไม่แน่ใจว่าได้มีการทำแล้วหรือไม่ อย่างไรก็ตามระบบราชการมี คตส. ของกระทรวง แต่จะเป็นกรรมการอิสระตามความหมายในมาตรานี้หรือไม่ ต้องมีการพิจารณาในเรื่องนี้
มาตรา 46 ที่ให้มีการประเมินผู้บังคับบัญชานั้น ยังไม่มีการดำเนินการ โดยขณะนี้เป็นการประเมินแบบ 90 องศา หรือ top down คือ ลูกน้องถูกผู้บังคับบัญชาประเมิน แต่มาตรา 46 นี้ ต้องการให้เกิดการประเมินแบบ 360 องศา ซึ่งในเวลานี้ยังไม่มีการประเมิน
ทั้ง หมดนี้เป็นการประเมินแบบคร่าว ๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับราชการ ซึ่งจำเป็นที่สำนักงาน ก.พ.ร. จะต้องสำรวจอย่างจริงจังว่าในแต่ละมาตราได้มีการปฏิบัติไปมากน้อยเพียงใด และผลคืออะไร
ในส่วนที่เกี่ยวกับประชาชนนั้น ความจริงพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้มีผลพอ ๆ กับวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง กล่าวคือ หากราชการไม่ทำตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ แล้วก่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชน ประชาชนสามารถนำไปฟ้องศาลปกครองได้ แต่ยังไม่เคยเห็นกรณีที่มีการอ้างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ เพื่อดำเนินคดีในศาลปกครองกับส่วนราชการเลยแม้แต่น้อย แม้กระทั่งส่วนราชการด้วยกันเองก็ยังไม่ได้ให้ความสนใจ ยกตัวอย่างเช่น มาตรา 25 กำหนดว่า ห้ามตั้งกรรมการเว้นแต่จะเป็นเรื่องจำเป็น หรือหากมีการตั้งกรรมการแล้ว ส่วนราชการใดส่งผู้แทนไปเป็นกรรมการแล้วลงมติ ให้ถือว่าส่วนราชการที่มีผู้แทนในกรรมการนั้นถูกผูกพันโดยการที่ส่งผู้แทนไป เป็นกรรมการ แต่ไม่รู้ว่าได้มีการใช้ประโยชน์ในจุดนี้บ้างหรือไม่ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ส่วนราชการสามารถนำไปใช้ได้ เช่น สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีสามารถอ้างมาตรานี้ ในกรณีที่รัฐมนตรีแถลงตรงกันข้ามหรือทักท้วงเรื่องที่ส่วนราชการเสนอในที่ ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยที่ส่วนราชการมีผู้แทนอยู่ในคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี ซึ่งรัฐมนตรีไม่สามารถอ้างได้ เพราะถือว่าเรื่องนี้ได้ผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองฯ แล้ว โดยที่รัฐมนตรีไม่ได้ทักท้วง
หรือ กรณีที่บอกว่า ส่วนราชการใดมีอำนาจอนุญาตอนุมัติ หรือให้ความเห็นชอบ หากส่วนราชการอื่นยืนคำขอมา ต้องแจ้งผลการพิจารณาภายใน 15 วัน หากไม่ดำเนินการตามนี้ แล้วเกิดความเสียหายขึ้น ให้ถือว่าข้าราชการซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องและหัวหน้าส่วนราชการนั้นประมาท เลินเล่ออย่างร้ายแรง หมายความว่าจะใช้กฎหมายความรับผิดเพื่อละเมิดตัดความผิดส่วนตัวไปไม่ได้
ตัวอย่าง ดังกล่าวที่ยกมา้ เพื่อชี้ให้เห็นว่าพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ควรจะส่งผลกระทบต่อส่วนราชการได้ มากกว่านี้ แต่เหตุที่ส่งผลกระทบน้อย เพราะส่วนราชการยังไม่ได้นำพระราชกฤษฎีกานี้ไปควบคุมกันเอง และประชาชนไม่ได้นำพระราชกฤษฎีกานี้มาควบคุมส่วนราชการ ซึ่งถ้าจะให้ได้ผลดีนั้น ส่วนราชการจะต้องนำพระราชกฤษฎีกานี้มาศึกษาอย่างลึกซึ้ง และเรื่องใดไม่เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกานี้ที่กระทำโดยส่วนราชการอื่นและท่าน มีส่วนเกี่ยวข้อง ให้แจ้งว่าส่วนราชการนั้นทำผิดโดยอ้างอิงพระราชกฤษฎีกานี้
ดัง นั้น เพื่อให้ส่วนราชการต่าง ๆ ได้รับทราบและมีความเข้าใจถึงพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำผิดหรือการไม่ทำตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ สำนักงาน ก.พ.ร. จึงควรจัดหลักสูตรพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ และให้ประกาศนียบัตร
สำหรับความเป็นไปของพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 นั้น เวลานี้บ้านเมืองเกิดความขัดแย้ง ซึ่งต้องพิจารณาิว่าอะไรคือสาเหตุ แต่โดยส่วนตัวแล้ว มองว่าเป็นความขัดแย้งเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจในการจัดสรรผลประโยชน์ใน สังคม ระหว่างคนที่มีกับคนที่ไม่มี คนที่เคยมีเสียง เป็นฐานนโยบาย แล้ววันหนึ่งเสียงถูกปิด ความเป็นฐานนโยบายหมดไปเพราะรัฐบาลเอาทรัพยากรลงไปแจกให้ระดับล่าง
เวลา นี้มีการเรียกร้องให้มีการเมืองใหม่ หลายคนพูดถึงกระบวนการว่าจะทำอย่างไร ซึ่งผู้ใหญ่ในสังคมหลายคนเห็นว่า การเมืองใหม่ไม่ใช่เพียงแค่การจัดทำรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้น โจทย์ใหญ่คือ เมืองไทยหลังความขัดแย้งจะไปในทิศทางใด? จะไปแบบเดิมและแก้รัฐธรรมนูญ หรือจะมาทบทวนกันใหม่ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าต้องทบทวนใหม่ โดยตั้งคำถาม 2 ข้อ คือ
1. เราจะปรับระบบการบริหารเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างไร กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เราจะปรับปรุงระบบการเมือง ระบบการบริหารราชการ และภาครัฐอย่างไร
2. เราจะปรับปรุงการจัดสรรผลประโยชน์ให้เป็นธรรมกับคนกลุ่มต่าง ๆ อย่างไร เพื่อให้เกิดความสงบ สันติ และไม่เกิดการฆ่าฟันกัน
สำหรับคำถามที่ว่าด้วยการปรับระบบการบริหารเศรษฐกิจและสังคมของประเทศนั้น หมายถึง ต้องปรับทั้งระบบการเมือง ระบบราชการ และระบบการบริหารภาครัฐทั้งหมด และวันนี้เป็นโจทย์ใหญ่ของสังคม ไม่ใช่เพียงสำนักงาน ก.พ.ร. ว่าการบริหารเศรษฐกิจสังคมแบบที่มีรัฐสภา มีคณะรัฐมนตรี มีส่วนราชการและจังหวัดอย่างในปัจจุบัน รวมไปถึงการมีพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบ บูรณาการ ที่ให้จังหวัดสามารถตั้งงบประมาณเองได้นั้น เพียงพอหรือไม่ หรือต้องทำมากกว่านั้น คือ ส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้งคนกลุ่มต่าง ๆ จะเป็นอย่างไร
หาก โจทย์เป็นเช่นนี้จริง ก็จำเป็นที่เราจะต้องทบทวนภารกิจของรัฐใหม่ทั้งหมด ดังนั้น บทที่ว่าด้วยการทบทวนภารกิจของรัฐ ที่กำหนดให้สภาพัฒน์ทำโครงการนำร่องทบทวนภารกิจกรมละ 1 ภารกิจนั้น ไม่เพียงพอ เพราะสังคมมีความต้องการมากกว่านั้น ต้องมีการทบทวนว่ารัฐบาลควรจะทำหน้าที่เฉพาะที่สำคัญจริง ๆ เช่น เรื่องความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย การต่างประเทศ และหลักสำคัญทางเศรษฐกิจ ส่วนเรื่องใดที่เป็นเรื่องของการบริการสาธารณะ ควรผ่องถ่ายให้เอกชนทำ หรือให้ชุมชน/ท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ
เพราะ ฉะนั้น นอกจากการทบทวนภารกิจของรัฐทั้งหมด ซึ่งอาจจะต้องมีการยุบหน่วยงานหลังจากมีการทบทวนภารกิจแล้ว เรื่องที่จะตามมาในระบบราชการก็คือ การแบ่งสรรอำนาจกันใหม่ ว่า อะไรจะให้องค์กรปกครองท้องถิ่นทำ อะไรจะให้ภาคเอกชนทำ อะไรจะให้ชุมชน/ท้องถิ่นทำ และอะไรจะให้ภาคประชาสังคม หรือ NGO ทำ ยกตัวอย่างเช่น ระบบการดูแลคนชราของฮ่องกงนั้น รัฐบาลฮ่องกงไม่ได้ทำเอง แต่จะมีงบประมาณและให้ NGO มาประมูลเพื่อไปดำเนินการ โดยรัฐจะไปตรวจสอบ และให้มีการวัดคุณภาพและความพึงพอใจของคนชรา หากไม่พึงพอใจก็จะเปลี่ยนผู้ทำใหม่ในปีต่อไป ดังนั้น การทบทวนภารกิจและการแบ่งสรรอำนาจกันใหม่ จำเป็นที่จะต้องมีหน่วยงานหนึ่งขึ้นมาศึกษา
คำว่า ประชารัฐ ที่เรียกว่าสังคมกับรัฐร่วมกันทำอะไรบางอย่าง คงจะเป็นคำตอบในการบริหารเศรษฐกิจสังคมของประเทศในระยะยาวข้างหน้า ไม่ใช่รัฐเป็นผู้ชี้ขาดแต่เพียงอย่างเดียวอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่เรียกว่า รัฐนำสังคม หรือ ล้อมสังคม ซึ่งการจะใช้ตรงนี้ได้ ต้องมีรูปแบบ มีความรู้ และเทคโนโลยีที่เหมาะสมที่จะสร้างระบบบริหารแบบ Inclusive Management Technology
ดัง นั้น ก.พ.ร. จึงมีการบ้านที่ต้องดำเนินการอีกมาก และเป็นการบ้านที่ใหญ่ซึ่งเกินกว่าที่ ก.พ.ร. จะทำเองคนเดียว เพราะเป็นภาพรวมใหญ่ของประเทศ และเป็นการปรับระบบ การบริหารเศรษฐกิจและสังคมแบบใหม่ ซึ่งหมายถึง การเมือง ราชการ และการบริหารภาครัฐ ไปเพื่อการจัดสรรผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เป็นธรรมขึ้นกว่าเดิม สิ่งนี้จึงเป็นคำถามใหญ่สำหรับเมืองไทยหลังความขัดแย้ง และเป็นโจทย์ใหญ่ที่สำนักงาน ก.พ.ร. ต้องรับไปพิจารณา
ในช่วงท้ายของการเสวนา ดร.บวรศักดิ์ได้ยกคำพูดของนายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งพูดไว้อย่างน่าคิดว่า บ้านเมืองมี 2 ส่วน คือ พลเมือง และ ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ทั้งนี้ คำว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ ประกอบด้วย 2 คำ คือ ผู้หลัก และ ผู้ใหญ่ ฝ่าย การเมืองนั้นเป็นผู้ใหญ่ มีหน้าที่ตัดสินใจ ในขณะที่ผู้หลัก คือ ระบบราชการ ซึ่งมีหน้าที่ที่จะต้องคอยบอกผู้ใหญ่ ว่าสิ่งใดที่ทำไม่ได้ หรือผิดกฎหมาย ปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเราส่วนหนึ่ง คือ เมื่อใดก็ตามที่ผู้หลักเสียหลัก และผู้ใหญ่ไม่เป็นผู้ใหญ่ บ้านเมืองก็จะเกิดความไม่สงบ
สถานการณ์ ความเป็นไปของบ้านเมืองเวลานี้ สิ่งที่เป็นโจทย์ใหญ่คือ ความคิดดั้งเดิมที่ว่า ผู้หลักผู้ใหญ่เป็นผู้บริหารบ้านเมือง และพลเมืองเป็นผู้รับผลการบริหารนั้น ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้ในโลกยุคปัจจุบันและสังคมไทยในเวลานี้ แต่ต้องการทั้ง 2 ฝ่ายในรูปแบบประชารัฐ คือ ภาครัฐกับภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมมีความรับผิดชอบร่วมกันต่ออนาคตของคนทุกคนในสังคม ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นคงจะยังจบลงไม่ได้ หากยังหาคำตอบไม่ได้ว่า สังคมข้างหน้าพลเมืองและผู้หลักผู้ใหญ่จะมาร่วมกันในการบริหารเศรษฐกิจสังคม ให้เกิดความเป็นธรรมได้อย่างไร
เพราะ ฉะนั้นจึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่วันนี้การปฏิรูประบบราชการจะดูแต่ระบบราชการไม่ ได้แล้ว แต่ต้องดูไปถึงภาคส่วนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ระบบราชการด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน ภาคชุมชน ภาคองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งภาคประชาสังคม
จากนี้ไปอีก 10 ปีข้างหน้า หัวใจสำคัญของการบริหารประเทศ การบริหารเศรษฐกิจและสังคม จะอยู่ที่คำว่า ส่วนร่วมที่เหมาะสม ซึ่งแค่ไหนจึงจะเหมาะสมในเรื่องใดนั้น เป็นโจทย์ใหญ่ที่จะต้องพิจารณา โดยทบทวนบทบาทภารกิจของรัฐ ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน จังหวัด ท้องถิ่น และของกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม ซึ่งเป็นงานใหญ่และยาก แต่หากไม่ทำ ความขัดแย้งก็จะยังคงอยู่ และอาจจะทวีความรุนแรงขึ้น เพราะปัจจัยภายนอก อันได้แก่ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งจะทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เป็นปัญหาที่ชัดเจนและลุกลามขึ้น และท้ายที่สุดทำให้เราต้องเปลี่ยนไม่ว่าจะชอบหรือไม่ ดังนั้น เมื่อรู้ว่าน้ำจะท่วม ไฟจะไหม้ ก็ต้องลงมือทำ ต้องปรับปรุงตั้งแต่วันนี้ มิฉะนั้นแล้วเมื่อการณ์นั้นมาถึง เวลานั้นเราจะคิดและรับมือกับสถานการณ์นั้นไม่ทัน
วสุนธรา (สลธ.) / รายงาน
กลุ่มสื่อสารฯ สลธ. / ภาพ