Logo of OPDC ก.พ.ร. FAQ สำหรับการค้นหา  |  ภาษาไทย   |   English   |   Mobile   |   Help   |  

หน้าหลัก หน้าหลัก | ติดต่อ | ผังเว็บไซต์ |  หน้าหลัก
Share แชร์ พิมพ์หน้านี้
ข่าวเด่น ก.พ.ร. / ปี 2551 / ตุลาคม / เสวนา การพัฒนาระบบราชการตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยหลักเกณท์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ในงานครบรอบ 6 ปีของการพัฒนาระบบราชการไทย

เสวนา การพัฒนาระบบราชการตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยหลักเกณท์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ในงานครบรอบ 6 ปีของการพัฒนาระบบราชการไทย

เสวนา การพัฒนาระบบราชการตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วย
หลักเกณท์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

ในงานครบรอบ 6 ปีของการพัฒนาระบบราชการไทย


           เมื่อวันศุกร์ที่ 3 ตุลาคม 2551 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัด การประชุมสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2551 : ในโอกาสครบรอบ 6 ปี ของการพัฒนาระบบราชการไทยขึ้น ณ หอประชุมกองทัพเรือ โดยเชิญ หัวหน้าส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการของส่วนราชการ จังหวัด และองค์การมหาชน รวมทั้งผู้แทนรัฐวิสาหกิจและองค์กรภาคเอกชนต่าง ๆ

           เนื่องในโอกาสครบรอบปีของการพัฒนาระบบราชการไทย สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดการประชุมสัมมนาทางวิชาการขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการรายงานความก้าวหน้าและผลของการพัฒนาระบบราชการ และในปี 2551 ซึ่งเป็นการครบรอบ 6 ปีของการพัฒนาระบบราชการนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้นำเสนอในประเด็นของ ผลการพัฒนาระบบราชการตาม พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับหนึ่งที่สำนักงาน ก.พ.ร. ยึดเป็นแนวทางในการดำเนินงาน


            การประชุมสัมมนาทางวิชาการในครั้งนี้ มีการเสวนาในหัวข้อ
การพัฒนาระบบราชการตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณท์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และ กรรมการ ก.พ.ร.   และ นายสมภพ อมาตยกุล กรรมการ ก.พ.ร.  โดยมี ดร.วิพุธ อ่องสกุล ที่ปรึกษาสำนักงาน ก.พ.ร. จากคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ


 

 

การบังคับใช้พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546
ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา

 

           ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. ได้กล่าวถึง การบังคับใช้พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา โดยเกริ่นนำถึงที่มาของพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ซึ่งเกิดจากแนวความคิดในการเปลี่ยนแปลงการบริหารราชการแผ่นดิน ไปสู่ การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี หรือ Good Governance ซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก จากการผสมผสานระหว่างสองกระแสแนวความคิด คือ การบริหารงานภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management) และ กระแสความเป็นประชาธิปไตย (Democratization)

           นอกจากนี้ยังมี มาตรา 11 ในเรื่องการเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ โดยการใช้ความรู้เข้ามาช่วยในการบริหารงาน และปรับตัวองค์กรให้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดการความรู้ในระบบราชการแล้วค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม ปัญหาในขณะนี้คือ การระบุให้ได้ว่าอะไรคือความรู้ที่จะนำมาจัดการ แลกเปลี่ยน และถ่ายทอดในระบบราชการ

           จุดสำคัญอีกประการหนึ่งของหมวดที่ 3 คือ การนำเรื่องการบริหารเชิงยุทธศาสตร์เข้ามาใช้ โดยเริ่มต้นกระบวนการตั้งแต่การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ การบริหารงานเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งการจะทำให้ภาคราชการทำงานแบบมียุทธศาสตร์ มีตัวชี้วัดและเป้าหมาย จะต้องเริ่มที่ผู้บริหารราชการแผ่นดินฝ่ายการเมือง กล่าวคือ เมื่อรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว สิ่งแรกที่ควรทำคือ แผนการบริหารราชการแผ่นดิน 4 ปี โดยกำหนดตัวชี้วัด เป้าหมาย และกลยุทธ์ให้ชัด จากนั้นระบบราชการจะได้ถอดออกมาเป็นแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี ของส่วนราชการและจังหวัด ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดทำมาแล้ว 2 ครั้ง ก็ยังมีปัญหาอยู่บ้างในเรื่องของเป้าหมายบางเป้าหมายที่ยังไม่ชัดเจน

           หมวดที่ 4 การบริหารราชการอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ เน้นในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพและความคุ้มค่า โดยกำหนดให้มีการคำนวณต้นทุนต่อหน่วยหรือต้นทุนตามฐานกิจกรรม (มาตรา 21) แต่ก็ยังมีคำถามว่า หน่วยที่จะนำมาใช้ในการคำนวณต้นทุนนี้คืออะไร ซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการคิดคำนวณความคุ้มค่า (มาตรา 22) ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในขั้นทดลองดำเนินการ เนื่องจากมีการขยายไปสู่การวิเคราะห์ความคุ้มค่าในเชิงภารกิจ ซึ่งบางภารกิจก็ยากที่จะคำนวณในเชิงของความคุ้มค่า

           หมวดที่ 5 การลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน มีหัวใจสำคัญอยู่ 3 เรื่อง คือ การกระจายอำนาจ (มาตรา 27, 28) การปรับปรุงขั้นตอนระยะเวลาการทำงาน (มาตรา 29) และ การจัดตั้งศูนย์บริการร่วม (มาตรา 30, 31, 32) ซึ่งทั้ง 3 เรื่องก็ได้มีการดำเนินการแล้ว เริ่มจากการมอบอำนาจ/การกระจายอำนาจในการบริหาร ซึ่งทำได้ระดับหนึ่งแล้ว แต่ปัญหาในวันนี้ก็คือ ต้องการจะมอบหรือไม่ ดังนั้น การมอบอำนาจจึงยังไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่อยากจะเห็น โดยเฉพาะการมอบอำนาจลงไปยังระดับปฏิบัติการ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ใกล้ชิดประชาชน รวมทั้งการมอบอำนาจข้ามหน่วยงาน ซึ่งยังไม่มีการมอบอำนาจเท่าที่ควร

           ในเรื่องของการปรับปรุงขั้นตอนและลดระยะเวลาการปฏิบัติงาน ดูเหมือนจะเป็นหน้าเป็นตาของระบบราชการในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งส่วนราชการทั้งหลายได้ช่วยกันผลักดันในเรื่องนี้ โดยทุกส่วนราชการได้มีการลดระยะเวลาในกระบวนการทำงานต่าง ๆ ลงได้ดีมากพอสมควร ที่สำคัญคือ งานบางงานที่ต้องเชื่อมโยงหลายส่วนราชการ แต่ละหน่วยงานต้องช่วยกันลดระยะเวลาของการดำเนินงานในแต่ละส่วนที่อยู่ในความรับผิดชอบของตน

           ในเรื่องของการจัดตั้งศูนย์บริการร่วม ได้มีการดำเนินการไปค่อนข้างมาก หลายรูปแบบ ทั้งระดับกระทรวง ระดับจังหวัด อาทิ ศูนย์บริการร่วมด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน ศูนย์บริการร่วมรูปแบบเคาน์เตอร์บริการประชาชน เป็นต้น ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาไปได้ระดับหนึ่ง และได้รับความชื่นชมว่าทำงานโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพราะประชาชนได้รับความสะดวกในการขอรับบริการของภาครัฐมากขึ้น อย่างไรก็ตาม งานที่ให้บริการในศูนย์บริการร่วมยังอยู่ในขอบเขตที่จำกัด และมีเพียงไม่กี่งานบริการ เนื่องจากยังติดปัญหาเรื่องระบบ e-Government และการมอบอำนาจข้ามหน่วยงาน ที่ทำให้ยังไม่สามารถทำงานแทนกันได้

           หมวดที่ 6 การปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการ เกิดจากแนวคิดที่ต้องการเห็นรัฐบาลที่เล็ก จิ๋วแต่แจ๋ว จึงให้มีการทบทวนบทบาท ขนาด ภารกิจ ทบทวนกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายที่ควบคุมกลไกตลาด กฎหมายที่มีลักษณะเป็นการออกกฎระเบียบคุมราคาหรือโควต้าการผลิตต่าง ๆ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาก็พบปัญหาอยู่บ้าง เพราะมีบางส่วนราชการโตขึ้น ซึ่งต้องมาทบทวนกันใหม่ว่าภารกิจใดที่ภาครัฐควรเลิกทำ แล้วให้เอกชนดำเนินการแทน ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่พูดกันในหลักการหรือในเชิงวิชาการได้ แต่ในทางปฏิบัติแล้วอาจจะทำได้ยาก เพราะอาจจะกระทบต่อตำแหน่งงานของข้าราชการ

           หมวดที่ 7 การอำนวยความสะดวกและการตอบสนองความต้องการของประชาชน ได้มีการดำเนินการไปแล้วหลายอย่าง เช่น การลดขั้นตอน การประกาศระยะเวลาแล้วเสร็จของงาน ซึ่งได้ดำเนินการควบคู่ไปกับการปรับปรุงการให้บริการ ความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการ เน้นในเรื่องของการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 อย่างไรก็ตาม จากผลการประเมินพบว่า มีเพียง 24 ส่วนราชการ จาก 121 แห่ง และมีเพียง 4 จังหวัดเท่านั้น ที่สามารถดำเนินการได้ครบถ้วนตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าว

           ในเรื่องของการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนนั้น ได้มีการดำเนินการในเรื่อง e-Government และ e-Service มีการจัดตั้งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศขึ้น ซึ่งสามารถขับเคลื่อนไปได้ในระดับหนึ่ง โดยปัจจุบันมีส่วนที่เป็น e-Service ได้เพียง 14 งานบริการเท่านั้น จึงต้องดำเนินการต่อไป

           หมวดที่ 8 การประเมินผลการปฏิบัติราชการ หลักธรรมาภิบาลบอกไว้ว่าต้องมีการแสดงภาระรับผิดชอบต่อประชาชนได้ ดังนั้นจึงเป็นความพยายามที่จะให้การทำงานในภาคราชการสามารถวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม หลังจากที่ได้มีการวางแผนแล้ว จึงได้มีระบบวัดผล มีการสร้างตัวชี้วัดขึ้นมา และนำไปผูกโยงกับการให้เงินรางวัลประจำปี ซึ่งมีกำหนดไว้ในมาตรา 48 และมาตรา 49 ของพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ด้วย

           หมวดที่ 9 บทเบ็ดเตล็ด กำหนดให้นำหลักการต่าง ๆ ในพระราชกฤษฎีกานี้ไปใช้กับหน่วยงานของรัฐประเภทอื่นด้วย เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (มาตรา 52) องค์การมหาชนและรัฐวิสาหกิจ (มาตรา 53) ซึ่งขณะนี้กระทรวงมหาดไทยได้ออกข้อกำหนดให้ท้องถิ่นปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ในหลาย ๆ ส่วนแล้ว ในส่วนขององค์การมหาชนนั้น สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดทำหนังสือเวียนแจ้งถึงการปฏิบัติงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีไปแล้ว ในขณะที่รัฐวิสาหกิจก็อยู่ระหว่างการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลตนเองที่ดีแล้วเช่นกัน

           ภาพทั้งหมดของการดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 มีทั้งส่วนที่ประสบความสำเร็จ บางส่วนที่ดำเนินการเร็วเกินไปและมีปัญหาบางอย่างที่ต้องแก้ไข โดยสรุปปัญหาในภาพรวมได้ ดังนี้

           1. ความเข้าใจในเรื่องพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้อย่างถ่องแท้ อาจจะมีน้อยเกินไป ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. ยังไม่สามารถขยายผลในเรื่องนี้ได้ดีเท่าที่ควร ดังนั้น สำนักงาน ก.พ.ร. ต้องรับไปดำเนินการในเรื่องนี้ให้ชัดเจนเพิ่มมากขึ้น

           2. วัฒนธรรมเดิม ๆ ของระบบราชการเป็นอีกจุดหนึ่งที่ต้องเอาชนะให้ได้ เพราะพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ต้องการเปลี่ยนทัศนคติ และพฤติกรรมในวงราชการ ฉะนั้นต้องเอาชนะวัฒนธรรมเดิม ๆ เพื่อไปสู่วัฒนธรรมใหม่ให้ได้

           3. การนำเรื่องของการส่งเสริมการปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ หรือการส่งเสริมธรรมาภิบาลไปผูกเข้ากับเงินรางวัล อาจกลายเป็นกับดัก และเกิดสภาพที่ว่า ทำเพราะถูกกำหนด/ถูกบังคับให้ทำ หรือทำเพื่อเงินรางวัล โดยที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากจิตใจที่ต้องการปรับปรุงระบบราชการอย่างแท้จริง

      
     นี่จึงเป็นปัญหาที่ต้องช่วยกันแก้ไขต่อไป โดยสรุปแล้ว คิดว่าเจตนารมณ์ที่ต้องการจะทำให้ระบบราชการไทยดีขึ้นนั้น เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งวันนี้บ้านเมืองเผชิญกับมรสุมทางเศรษฐกิจ ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ดังนั้น จุดสำคัญก็คือ ระบบราชการจะต้องเป็นเสาหลักของบ้านเมือง และสิ่งที่เราต้องทำให้ดีคือ ทำให้เสาหลักนี้เป็นเสาหลักที่ไม่ผุ เสาหลักที่ไม่โอนเอียง และเป็นเสาหลักที่ทำงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างแท้จริง ตามหลักธรรมาภิบาล ซึ่งภารกิจนี้ใหญ่เกินกว่าที่สำนักงาน ก.พ.ร.จะทำได้โดยลำพัง แต่เป็นภารกิจที่ทุกคนในระบบราชการต้องช่วยกันทำ ช่วยกันเปลี่ยน และออกแบบระบบราชการใหม่ให้ดีและเป็นที่เชื่อมั่นศรัทธาของผู้คน

 

 

 

วิพากษ์ผลที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหาร
กิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

 


           ด้าน ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และกรรมการ ก.พ.ร. ได้วิพากษ์ถึงผลที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

           หากจะประเมินความสำเร็จของ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 นั้น สามารถประเมินได้เป็น 3 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่

           1. ส่วนที่ประสบความสำเร็จเกินคาด คือ สิ่งที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาได้มีการนำมาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เช่น แผนการบริหารราชการแผ่นดิน แผนนิติบัญญัติ ที่ปรากฏอยู่ในมาตรา 76 และมาตรา 176 ของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว แสดงว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่าเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเรื่องดี เป็นเรื่องที่ถูกต้อง

           อย่างไรก็ตาม แผนการบริหารราชการแผ่นดิน แผนนิติบัญญัติ และแผนปฏิบัติราชการนั้น เหมาะกับรัฐบาลที่อยู่ได้ 4  ปี เพราะถูกออกแบบมาเพื่อวัตถุประสงค์ คือ ต้องการทำให้การบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีและของสภามีหลักมีเกณฑ์ สามารถตรวจสอบ/วัดผลได้ว่าเมื่อบริหารราชการแผ่นดินไป 4 ปีแล้ว จะทำให้เกิดผลผลิต/ผลลัพธ์อะไรบ้าง แต่สภาพเหตุการณ์ปัจจุบันซึ่งรัฐบาลอยู่ได้ไม่นาน ทำให้แผนการบริหารราชการแผ่นดิน 4 ปี กลายเป็นแผนลอย ๆ

           นี่จึงเป็นความสำเร็จเกินคาดและความน่ากังวล คำถามก็คือว่า จะทำอย่างไรกับแผนการบริหารราชการแผ่นดินที่เดิมกำหนดไว้ 4 ปี ซึ่งอาจจะต้องเปลี่ยนมาเป็นแผนการบริหารราชการแผ่นดินรายปี ตามปีงบประมาณ หรือราย 6 เดือน

           จุดที่ประสบความสำเร็จอีกประการหนึ่งของพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ อยู่ในหมวด 3 การบริหารราชการเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ เช่น การจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการ (มาตรา 12) และมีเงินรางวัลเป็นสิ่งจูงใจ ที่แบ่งออกเป็นเงินรางวัลสำหรับผู้บริหารและเงินรางวัลสำหรับส่วนราชการ ซึ่งเป็นความสำเร็จในระดับที่เกินความคาดหวัง เพราะเวลานี้หลายส่วนราชการรีบดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ เพื่อให้สำเร็จตามตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ในคำรับรองฯ

           2. ส่วนที่มีการปฏิบัติ แต่ไม่แน่ชัดว่าปฏิบัติมากน้อยเพียงใด และคุณภาพของการปฏิบัติเป็นอย่างไร มีอยู่หลายส่วน เช่น การกำหนดให้ทำบัญชีต้นทุนค่าใช้จ่ายต่อหน่วย (มาตรา 22) ซึ่งขณะนี้กรมบัญชีกลางได้ดำเนินการไปแล้ว ในขณะที่ส่วนราชการ 81 แห่งได้ดำเนินการแล้วในปี 2550 และเข้าใจว่าขณะนี้ได้บังคับให้ทุกส่วนราชการดำเนินการแล้ว

           นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการมอบอำนาจ (มาตรา 27, 28) ศูนย์บริการร่วม (มาตรา 30 - 32) เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งได้มีการปฏิบัติแล้วแต่เต็มรูปแบบมากน้อยเพียงใด สำนักงาน ก.พ.ร. ต้องทำการสำรวจอย่างจริงจัง

           3. ส่วนที่ไม่แน่ชัดว่ามีการปฏิบัติหรือไม่ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ราชการและประชาชน โดยในส่วนที่เกี่ยวกับราชการ ยกตัวอย่างเช่น

           - หมวด 2 ว่าด้วยการปฏิบัติราชการเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขของประชาชน กำหนดไว้ในมาตรา 8 (3) ว่า ก่อนเริ่มดำเนินการส่วนราชการต้องจัดให้มีการศึกษาวิเคราะห์ผลดีและผลเสียให้ครบทุกด้าน มีกลไกการตรวจสอบ และต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งไม่แน่ใจว่ามีการทำในจุดนี้หรือไม่

           - มาตรา 11 การเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ ซึ่งจากการสอบถามข้าราชการในบางหน่วยงานว่า องค์การแห่งการเรียนรู้เป็นอย่างไร/หมายความว่าอย่างไร ก็ได้รับคำตอบว่าไม่รู้ คำถามจึงอยู่ที่ว่า ดำเนินการไปแล้วมาน้อยเพียงใด เพราะสิ่งที่แต่ที่ต้องการให้เกิดคือ การสั่งสมข้อมูลและแปลงข้อมูลเป็นความรู้ที่นำมาใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ในจุดนี้จึงอาจต้องทำการสำรวจให้ชัดเจน

           - หมวด 4 ซึ่งเริ่มดำเนินการบ้างแล้ว แต่ไม่คิดว่าจะทำกันเป็นเรื่องเป็นราว ก็คือ การประเมินความคุ้มค่าของภารกิจของรัฐ เพื่อทบทวนว่าภารกิจนั้นควรจะเลิกหรือโอนถ่ายให้คนอื่นทำหรือไม่ ซึ่งในจุดนี้ถือว่าจำเป็นที่จะต้องเร่งทำ เพราะระบบการเมืองใหม่ที่มีการเรียกร้องกันอยู่นั้น จำเป็นที่ราชการต้องมาทบทวน ว่าทำในสิ่งที่ไม่ควรจะทำหรือไม่

           - หมวด 6 กำหนดให้ทบทวนกฎเกณฑ์ กฎหมาย ที่ไปควบคุมธุรกิจโดยไม่จำเป็น และให้ทบทวนกฎหมาย กฎระเบียบ ที่ไปกระทบส่วนราชการอื่นโดยไม่จำเป็น ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการ ดังนั้น กฎหมายหรือกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ยังจำกัดเสรีภาพของบุคคล หรือเป็นตัวกำหนดโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่แท้จริง ยังคงมีอยู่ ซึ่งหากจะปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมนั้น จะต้องปฏิรูปกฎหมายเศรษฐกิจและกฎหมายสังคมด้วย เพราะเป็นเครื่องกำหนดโครงสร้างการจัดสรรผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม

           ยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังไม่ได้ดำเนินการ เช่น มาตรา 45 ที่กำหนดให้ต้องมีกรรมการประเมินอิสระมาประเมินส่วนราชการ ซึ่งไม่แน่ใจว่าได้มีการทำแล้วหรือไม่ หรือ มาตรา 46 ที่กำหนดให้มีการประเมินผู้บังคับบัญชานั้น ยังไม่มีการดำเนินการ โดยขณะนี้เป็นการประเมินแบบ 90 องศา หรือ top down คือ ลูกน้องถูกผู้บังคับบัญชาประเมิน แต่มาตรา 46 นี้ ต้องการให้เกิดการประเมินแบบ 360 องศา ซึ่งในเวลานี้ยังไม่มีการประเมิน

           ทั้งหมดนี้เป็นการประเมินแบบคร่าว ๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับราชการ ซึ่งจำเป็นที่สำนักงาน ก.พ.ร. จะต้องสำรวจอย่างจริงจังว่าในแต่ละมาตราได้มีการปฏิบัติไปมากน้อยเพียงใด และผลคืออะไร

           ในส่วนที่เกี่ยวกับประชาชนนั้น ความจริงแล้วหากราชการไม่ทำตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้แล้วก่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชน ประชาชนสามารถนำไปฟ้องศาลปกครองได้ แต่ยังไม่เคยเห็นกรณีที่มีการอ้างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้เพื่อไปดำเนินคดีในศาลปกครองกับส่วนราชการเลยแม้แต่น้อย แม้กระทั่งส่วนราชการด้วยกันเองก็ยังไม่ได้ให้ความสนใจ

           ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีที่บอกว่า ส่วนราชการใดที่มีอำนาจอนุญาตอนุมัติ หรือให้ความเห็นชอบ หากส่วนราชการอื่นยืนคำขอมา ต้องแจ้งผลการพิจารณาภายใน 15 วัน หากไม่ดำเนินการตามนี้ แล้วเกิดความเสียหายขึ้น ให้ถือว่าข้าราชการซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องและหัวหน้าส่วนราชการนั้นประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

           ที่ยกตัวอย่างนี้ เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ควรจะส่งผลกระทบต่อส่วนราชการได้มากกว่านี้ แต่เหตุที่ส่งผลกระทบน้อย เพราะส่วนราชการยังไม่ได้นำพระราชกฤษฎีกานี้ไปควบคุมกันเอง และประชาชนไม่ได้นำพระราชกฤษฎีกานี้มาควบคุมส่วนราชการ ซึ่งถ้าจะให้ได้ผลดีนั้น ส่วนราชการจะต้องนำพระราชกฤษฎีกานี้มาศึกษาอย่างลึกซึ้ง และเรื่องใดไม่เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกานี้ที่กระทำโดยส่วนราชการอื่น และท่านมีส่วนเกี่ยวข้อง ให้แจ้งว่าส่วนราชการนั้นทำผิดโดยอ้างอิงพระราชกฤษฎีกานี้

           สำหรับความเป็นไปของ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 นั้น เวลานี้บ้านเมืองเกิดความขัดแย้ง ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว มองว่าเป็นความขัดแย้งเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจในการจัดสรรผลประโยชน์ในสังคม ระหว่างคนที่มีกับคนที่ไม่มี คนที่เคยเป็นฐานนโยบาย แล้ววันหนึ่งความเป็นฐานนโยบายหมดไป เพราะรัฐบาลเอาทรัพยากรลงไปแจกให้ระดับล่าง

           เวลานี้มีการเรียกร้องให้มีการเมืองใหม่ หลายคนพูดถึงกระบวนการว่าจะทำอย่างไร ซึ่งผู้ใหญ่ในสังคมหลายคนเห็นว่า การเมืองใหม่ไม่ใช่เพียงแค่การจัดทำรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว แต่โจทย์ใหญ่คือ เมืองไทยหลังความขัดแย้งจะไปในทิศทางใด? โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าต้องมีการทบทวนใหม่ โดยตั้งคำถาม 2 ข้อ คือ

           1. เราจะปรับระบบการบริหารเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างไร กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เราจะปรับปรุงระบบการเมือง ระบบการบริหารราชการ และภาครัฐอย่างไร

           2. เราจะปรับปรุงการจัดสรรผลประโยชน์ให้เป็นธรรมกับคนกลุ่มต่าง ๆ อย่างไร เพื่อให้เกิดความสงบ สันติ และไม่เกิดการฆ่าฟันกัน

           ในเรื่องการปรับระบบการบริหารเศรษฐกิจและสังคมของประเทศนั้น ต้องปรับทั้งระบบการเมือง ระบบราชการ และระบบการบริหารภาครัฐทั้งหมด โดยการทบทวนภารกิจของรัฐว่าภารกิจใดที่รัฐควรทำเอง และภารกิจใดที่ควรผ่องถ่ายให้เอกชน ชมชุน หรือท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ

           นอกจากการทบทวนภารกิจของรัฐทั้งหมดแล้ว เรื่องที่จะตามมาในระบบราชการก็คือ การแบ่งสรรอำนาจกันใหม่ ว่าอะไรจะให้องค์กรปกครองท้องถิ่นทำ อะไรจะให้ภาคเอกชนทำ อะไรจะให้ชุมชน/ท้องถิ่นทำ และอะไรจะให้ภาคประชาสังคม หรือ NGO ทำ

           คำว่า ประชารัฐ ที่เรียกว่าสังคมกับรัฐร่วมกันทำอะไรบางอย่าง คงจะเป็นคำตอบในการบริหารเศรษฐกิจสังคมของประเทศในระยะยาวข้างหน้า กล่าวคือ ไม่ใช่รัฐเป็นผู้ชี้ขาดแต่เพียงอย่างเดียวอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่เรียกว่า รัฐนำสังคม หรือ ล้อมสังคม แต่จะต้องให้ความสำคัญกับส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้งคนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมด้วย

           ดังนั้น ก.พ.ร. จึงมีการบ้านที่ต้องดำเนินการอีกมาก และเป็นการบ้านที่ใหญ่เกินกว่าที่ ก.พ.ร. จะทำเพียงลำพัง เพราะเป็นภาพรวมใหญ่ของประเทศ และเป็นการปรับระบบการบริหารเศรษฐกิจและสังคมแบบใหม่ ซึ่งหมายถึงการเมือง ราชการ และการบริหารภาครัฐ ไปเพื่อการจัดสรรผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เป็นธรรมขึ้นกว่าเดิม สิ่งนี้จึงเป็นคำถามใหญ่สำหรับเมืองไทยหลังความขัดแย้ง

 

 

 

การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) ตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

 


           จากนั้น นายสมภพ อมาตยกุล กรรมการ ก.พ.ร. ได้กล่าวถึง การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) ตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และความเชื่อมโยงของ PMQA กับหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยเกริ่นนำว่า หากมองย้อนหลังกลับไปตั้งแต่ก่อนที่จะมีพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 จะพบว่าระบบราชการไทยมีความก้าวหน้าไปอย่างมาก

           นอกจากนี้ ยังเป็นความภูมิใจที่ความก้าวหน้าของพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ เกิดขึ้นเพราะผู้บริหารและข้าราชการร่วมแรงร่วมใจกัน ส่วนประเด็นที่ว่าทำไปมากน้อยเพียงใด ครบถ้วนหรือไม่ หรือทำด้วยความตั้งใจหรือจำใจนั้น โดยส่วนตัวแล้วมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นวิวัฒนาการ ต้องอาศัยระยะเวลา เพราะการดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกานี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มากมายมหาศาล ไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นหรือบรรลุเป้าหมายได้ในระยะเวลาเพียงแค่ 6 ปี

           ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลง มีความผันผวนเกิดขึ้น แต่สิ่งที่จะลืมไม่ได้ และจะต้องช่วยกันก็คือ โครงสร้างพื้นฐานต้องแน่น โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานในเรื่องคุณภาพ ที่จะต้องแน่น เพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดที่ยอดปิระมิดนั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงชั่วครั้งชั่วคราว แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากฐานรากจะอยู่ได้นานหลายยุคหลายสมัย

           ดังนั้น จึงได้นำเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐมาใช้เป็นเครื่องมือควบคู่กันไป เพื่อให้พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 สามารถดำเนินต่อไปได้ โดยพัฒนามาจากเกณฑ์คุณภาพของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้มานานและกลายเป็นวัฒนธรรมของผู้ปฏิบัติงาน เป็นสิ่งที่ทำแล้วเห็นว่ามีผลกับองค์กรและมีผลตอบแทนกับตัวเราด้วย

           เกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) เปรียบเสมือนระบบในการตรวจวัดสุขภาพขององค์กร โดยการนำเครื่องตรวจวัดไปจับตามจุดต่าง ๆ ทั้งหมด 6 จุด ว่าได้มาตรฐานหรือไม่ มีจุดอ่อนหรือจุดที่จะต้องปรับปรุงหรือไม่ อย่างไร

           กล่าวง่าย ๆ ก็คือ ระบบนี้ถูกออกแบบขึ้น เพื่

 

 


เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 4 กันยายน 2552 16:41:32 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 4 กันยายน 2552 16:41:32
ข่าวเด่น ก.พ.ร.
    ลิงค์     |     สมาชิกเครือข่าย     |     RSS feed     |     คำถามที่พบบ่อย            

เกี่ยวกับ

กฏหมายและระเบียบ

หนังสือเวียน

ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

ศูนย์ความรู้

ประชาสัมพันธ์

W3C   Facebook Facebook สำนักงาน ก.พ.ร.   PMQA Channel  ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ  ipv6 ready  www.info.go.th  การปฏิเสธความรับผิดชอบ |  Webmail| Intranet สำหรับข้าราชการ | ผังเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ 

Slocan

สงวนลิขสิทธิ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

59/1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7882 สายด่วน 1785 e-mail: administrator@opdc.go.th