เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2551 สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับธนาคารโลก (World Bank) กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดการประชุมรับฟังรายงานการวัดผลเรื่องความสะดวกในการประกอบธุรกิจประจำปี 2552 (Doing Business 2009) ผ่านระบบ Teleconference จากกรุงวอชิงตัน ดี ซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ณ อาคารสถาบันวิทยบริการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. เปิดเผยว่า ผลสำรวจของธนาคารโลกที่จัดอันดับความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจประจำปี 2552 (Doing Business 2009) จากข้อมูลเดือนกรกฎาคม 2550 ถึงเดือนมิถุนายน 2551 ธนาคารโลกได้จัดอันดับให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่สะดวกในการประกอบธุรกิจ เป็นอันดับที่ 13 จาก 181 ประเทศทั่วโลก และเป็นลำดับที่ 4 ในเอเชีย ถือว่าดีขึ้นจากการสำรวจครั้งที่แล้วซึ่งอยู่อันดับ 15 จาก 178 ประเทศ ขณะที่ประเทศสิงคโปร์อยู่ในลำดับที่ 1 ติดต่อกัน 3 ปีซ้อน และ ฮ่องกงอยู่ในลำดับที่ 4 ญี่ปุ่นอันดับที่ 12 ส่วนมาเลเซียอันดับที่ 20 จีนอันดับที่ 83 และเวียดนามอันดับที่ 92 ทั้งนี้ การที่ไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ดีขึ้น เป็นผลมาจากการปรับปรุงกระบวนการทำงานของส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกัน โดยเชื่อว่าหากสถานการณ์บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ ผลการจัดอันดับดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่น และการลงทุนในประเทศ เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าว
ด้านนายอาวุธ วรรณวงศ์ รองเลขาธิการ ก.พ.ร. ได้กล่าวในการร่วมประชุมและร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้ว่า ปีนี้ ไทยได้รับการเลื่อนมาอยู่ในอันดับที่ 13 เป็นเพราะการประสานการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานราชการและสำนักงาน ก.พ.ร. ที่ได้ทุ่มเทในการดำเนินการเพื่อปรับปรุงระบบการให้บริการโดยลดขั้นตอน และระยะเวลาการปฏิบัติราชการ ปรับปรุงกฏหมาย กฏ ระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการให้บริการ และพัฒนาคุณภาพการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวก และตอบสนองความต้องการของประชาชน/ผู้ประกอบการ ที่ทำให้การทำธุรกิจในไทยมีความสะดวกมากขึ้น เช่น การผ่านพิธีการสินค้านำเข้า ส่งออกด้วยการนำระบบ E-customs มาใช้ ซึ่งช่วยลดจำนวนเอกสารที่ต้องยื่นเพื่อนำสินค้าเข้า-ออกมีจำนวนน้อยลง การลดค่าโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์และลดอัตราภาษีธุรกิจบางประเภท มีผลให้ค่าใช้จ่ายโดยรวมลดลงเหลือ 1.1% ของมูลค่าสินทรัพย์จาก 6.3% การแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เพื่อเพิ่มพูน และปกป้องสิทธิของผู้ถือหุ้นรายย่อย และการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่วิสาหกิจชุมชน และการลดภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นต้น
ธนาคารโลกได้ยกย่องภูมิภาคเอเชียตะวันออกว่า เป็นผู้นำของโลกด้านการปฏิรูปขั้นตอนของราชการเพื่ออำนวยความสะดวก ต่อการทำธุรกิจ โดยในระยะหนึ่งปีที่ผ่านมา ประเทศในเอเชียตะวันออกทั้งหมด 24 ประเทศได้ออกมาตรการเพื่อลดขั้นตอนทางราชการรวมกันทั้งสิ้น 26 มาตรการ ซึ่งนับว่าสูงที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นของโลกในช่วงเวลาเดียวกัน โดยจีนเป็นผู้นำในเรื่องนี้ และมีไทย กัมพูชา มาเลเซียตามมาติดๆ
รายงานผลของธนาคารโลก เป็นการสื่อสารให้ผู้ประกอบธุรกิจเกิดความมั่นใจที่จะเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทย ทั้งนี้ การเลื่อนอันดับขึ้นมา เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหน่วยงานราชการต่างๆ ที่ได้ร่วมกันผลักดันให้ระบบราชการมีประสิทธิภาพ มีขั้นตอนการทำงานลดลง สามารถติดต่อรับบริการหลายบริการได้ ณ จุดเดียว ทำให้ผู้รับบริการเกิดความพึงพอใจเพิ่มขึ้น นายอาวุธกล่าว
สำหรับรายงานการจัดอันดับความยากง่าย หรือความสะดวกในการประกอบธุรกิจที่จัดทำขึ้นในแต่ละปี มีดัชนีชี้วัด 10 ด้าน ประกอบด้วย การเริ่มต้นธุรกิจ การขออนุญาตก่อสร้าง การจ้างงานและการเลิกจ้าง การจดทะเบียนทรัพย์สิน การได้รับสินเชื่อ การคุ้มครองผู้ลงทุน การชำระภาษี การค้าระหว่างประเทศ การบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง และการปิดกิจการ
โดยการเผยแพร่รายงานผลการวิจัยเรื่อง Doing Business 2009 เป็นการเผยแพร่ผ่านระบบ Teleconference จากกรุงวอชิงตัน ดี ซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีประเทศที่ร่วมรับฟังพร้อมกับประเทศไทย คือ จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ทั้งนี้ รายงานการวัดผลเรื่องความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ธนาคารโลกได้มีการตีพิมพ์และเผยแพร่ไปทั่วโลก โดยมีผู้ประกอบการธุรกิจเป็นจำนวนมาก ที่นำรายงานดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจเพื่อเข้าไปประกอบธุรกิจในประเทศต่างๆ
วสุนธรา & ภัทรพร ข.(สลธ.) / จัดทำ
กลุ่มสื่อสารฯ (สลธ.) / ข่าว & ภาพ