สำนักงาน ก.พ.ร. จัดทำหนังสือแนวทางการจัดส่วนราชการในภูมิภาค
สำนักงาน ก.พ.ร. โดยกลุ่มงานพัฒนาระเบียบราชการส่วนภูมิภาคและความสัมพันธ์กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มงานวิชาการ จัดพิมพ์หนังสือ แนวทางการจัดส่วนราชการในภูมิภาค แจกจ่ายให้กับส่วนราชการและจังหวัด เพื่อใช้เป็นคู่มือในการจัดส่วนราชการในภูมิภาค ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปในแนวทางและมาตรฐานเดียวกัน
เรื่องแนวทางการจัดส่วนราชการในภูมิภาคนั้น ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2550 และสำนักงาน ก.พ.ร. ได้แจ้งเวียนให้ส่วนราชการทราบและถือปฏิบัติแล้ว โดยแจ้งถึงรูปแบบ การจัดส่วนราชการในภูมิภาค และการดำเนินการเพื่อขอจัดตั้งส่วนราชการในภูมิภาค ซึ่งการจัดทำหนังสือ แนวทางการจัดส่วนราชการในภูมิภาค ในครั้งนี้ ได้ประมวลมติคณะรัฐมนตรี และความเห็นของกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ (อ.ก.พ.ร.) ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งรายละเอียดรูปแบบและแนวทางการจัดราชการในภูมิภาค โดยมีเนื้อหาหลัก ๆ ดังนี้
ความนำ
กล่าวถึงความสำคัญของการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ที่มีบทบาทสำคัญต่อการให้บริการประชาชน และตอบสนองความต้องการของประชาชนในระดับพื้นที่ ในฐานะเป็นตัวแทนของส่วนกลางในการปฏิบัติงานที่ใกล้ชิดกับประชาชน รวมไปถึงสภาพการณ์ในปัจจุบันและสภาพปัญหาของการบริหารราชการส่วนภูมิภาค อาิทิ ปัญหาในเรื่องของระบบการบริหาร การมอบอำนาจ การเชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยงาน การใช้ทรัพยากร วัฒนธรรมในการทำงาน รวมไปถึงปัญหาเกี่ยวกับบทบาทที่ซ้ำซ้อนและไม่ชัดเจนของหน่วยงานต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่ีงนำไปสู่การกำหนดแนวทางในการจัดส่วนราชการในภูมิภาคให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น
ส่วนที่ 1 การพัฒนาระบบการบริหารราชการส่วนภูมิภาคที่ผ่านมา
กล่าวถึงการพิจารณากำหนดแนวทางการพัฒนาระบบการบริหารราชการส่วนภูมิภาคในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับปรุงการจัดส่วนราชการในภูมิภาค เพื่อลดบทบาท ลดความซ้ำซ้อนระหว่างหน่วยงาน และเพื่อให้การดำเนินงานในระดับพื้นที่มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ โดยมีการพิจารณากำหนดแนวทางในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
1. การจัดความสัมพันธ์ของการบริหารราชการ ระหว่างราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น
2. การแก้ไขปัญหาการบริหารราชการในส่วนภูมิภาค อันสืบเนื่องมาจากการปฏิรูประบบราชการ กรณีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการคลัง
3. การกำหนดให้มีราชการบริหารส่วนภูมิภาคของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ส่วนที่ 2 แนวทางการจัดส่วนราชการในภูมิภาค
กล่าวถึงแนวทางการจัดส่วนราชการในภูมิภาค ที่ได้มาจากการศึกษา ทบทวน แนวทางต่าง ๆ ที่รวบรวมจากมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง มติคณะกรรมการและอนุกรรมการต่าง ๆ รวมทั้งรายงานการศึกษาที่เคยดำเนินไว้ เช่น รายงานวิจัย การพัฒนาโครงสร้างการบริหารราชการส่วนภูมิืภาค เป็นต้น
การกำหนดแนวทางการจัดส่วนราชการในภูมิภาคครั้งนี้ จะครอบคลุมถึงหน่วยงานที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ภูมิภาค 2 ลักษณะ คือ
1. หน่วยงานของราชการบริหารส่วนกลางที่จัดตั้งในภูมิภาค
2. ส่วนราชการส่วนภูมิภาคของกระทรวง ทบวง กรม (ระดับจังหวัดและอำเภอ)
ทั้งนี้ เนื้อหาในส่วนที่ 2 นี้จะประกอบด้วย กรอบแนวคิดในการจัดส่วนราชการในภูมิภาค คำนิยาม และแนวทางการจัดส่วนราชการในภูมิภาค ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 แนวทาง ได้แก่ แนวทางการจัดตั้งหน่วยงานขอราชการบริหารส่วนกลางในภูมิภาค (จังหวัด) และ แนวทางการจัดตั้งส่วนราชการส่วนภูมิภาคของกระทรวง ทบวง กรม
ส่วนที่ 3 การขอจัดตั้งส่วนราชการในภูมิภาค
กล่าวถึงกรณีที่ส่วนราชการที่จะขอจัดตั้งส่วนราชการ ไม่ว่าจะเป็นราชการบริหารส่วนกลางในภูมิภาค หรือราชการบริหารส่วนภูมิภาค จะต้องเสนอเป็นร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงการแบ่งส่วนราชการภายในกรม โดยในส่วนที่ 3 นี้จะมีรายละเอียดของขั้นตอนการขอจัดตั้งส่วนราชการดังกล่าวและการเสนอเป็นร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ รวมทั้งรายการคำชี้แจงประกอบคำขอจัดตั้งส่วนราชการ ตามแบบคำชี้แจงประกอบการขอจัดตั้งส่วนราชการ ที่ส่วนราชการจะต้องจัดทำ เพื่อเป็นประโยชน์ในการพิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมของการจัดตั้งส่วนราชการ
ภาคผนวก
ประกอบด้วย จำนวนส่วนราชการในภูมิภาค มติคณะรัฐมนตรีและหนังสือเวียนของสำนักงาน ก.พ.ร. ที่เกี่ยวข้อง และบทความเรื่องแนวทางการจัดการบริหารราชการในภูมิภาค โดย นายมนุชญ์ วัฒนโกเมร กรรมการ ก.พ.ร และ ประธาน อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาระบบการบริหารราชการในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น
ทั้งนี้ หนังสือ แนวทางการจัดส่วนราชการในภูมิภาค ดังกล่าว นอกจากแจกให้กับส่วนราชการและจังหวัด รวมทั้งเผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.พ.ร. คลิก.. เพื่อใช้เป็นแนวทางประกอบการปฏิบัติงานต่อไป
วสุนธรา (สลธ.) / รายงาน
วิชิตร์ (กลุ่มงานพัฒนาระเบียบราชการส่วนภูมิภาคฯ) / ข้อมูล