สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับ OECD Asian Center for Public Governance แห่งประเทศสาธารณรัฐเกาหลี จัดการประชุมนานาชาติ เกี่ยวกับการเพิ่มบทบาทการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารกิจการบ้านเมือง หัวข้อ Enhancing Citizen Participation in Public Governance ระหว่างวันที่ 28 - 29 พฤษภาคม 2551 ณ ห้องวอเตอร์เกท บอลรูม ชั้น 6 โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท โดยมี นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ Mr.Hee-bong Lee Director of OECD Asian Center for Public Governance แห่งประเทศสาธารณรัฐเกาหลี เป็นประธานเปิดการประชุมพร้อมกล่าวสุนทรพจน์
ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. เปิดเผยว่า การประชุมนานาชาติภายใต้หัวข้อ Enhancing Citizen Participation in Public Governance นี้ เน้นหนักด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบาย ด้านงบประมาณ ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ และด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงาน ก.พ.ร. และ OECD Asian Center for Public Governance แห่งประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งเป็นอีกโอกาสสำคัญของประเทศไทยที่ได้ร่วมงานกับองค์กรระดับโลก ทำให้ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการเพิ่มบทบาทการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารกิจการบ้านเมือง
โดย OECD (Organization for Economic Cooperation and Development) หรือองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาการทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นองค์กรหนึ่งที่มีความสำคัญระดับโลก ในการสนับสนุนด้านประชาธิปไตย และส่งเสริมให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ได้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยที่ตระหนัก และให้ความสำคัญต่อบทบาทการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการสร้างเสถียรภาพ ความมั่นคงก้าวหน้าในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการปกครอง จึงได้มีการเชิญประเทศไทยร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมกับ OECD Asian Center for Public Governance แห่งประเทศสาธารณรัฐเกาหลี
การจัดประชุมครั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้เชิญผู้นำองค์กร ผู้บริหารระดับสูง ตลอดจนนักวิชาการ ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ที่มีประสบการณ์และมีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาระบบราชการให้เป็นระบบเปิด เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทัศนคติ และความคิดเห็นกว่า 100 ท่าน
เข้าร่วมการประชุม ซึ่งมีหัวข้อการสนทนาแบ่งเป็น 4 เรื่องหลัก ประกอบด้วย
วันพุธที่ 28 พฤษภาคม 2551 สนทนาในหัวข้อ
Session 1 : Open and Inclusive Policy Making
(การมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบาย)
Session 2 : Citizen Involvement in Budgeting
(การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการงบประมาณ)
Session 3 : Citizen Participation in Local Development Programs
(การมีส่วนร่วมของประชาชนในโครงการพัฒนาท้องถิ่น)
วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤษภาคม 2551 สนทนาในหัวข้อ
Session 4 : Interface with Citizens through e-Government
(การมีส่วนร่วมของประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์) และ Future Steps and Conclusions
โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างองค์กร ที่ดำเนินการเกี่ยวกับการปฏิรูประบบราชการของประเทศต่าง ๆ ที่นำไปสู่ความร่วมมือกันอย่างจริงจังในระดับนานาชาติ เกี่ยวกับการเปิดระบบราชการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสมาชิกระหว่างข้าราชการ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสมาชิก OECD และประเทศที่ไม่เป็นสมาชิก OECD ในภูมิภาคเอเซีย โดยประเทศสมาชิกที่มีความชำนาญเรื่องต่าง ๆ จะได้แลกเปลี่ยนและสร้างเครือข่ายในเรื่องการจัดการความรู้ และสามารถนำไปเป็นเครื่องมือในการพัฒนาการบริหารราชการ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
การจัดประชุมนานาชาติครั้งนี้ จะส่งผลประโยชน์ต่อประเทศไทย ในการได้แสดงผลงานที่ประสบความสำเร็จแก่นานาประเทศ อันเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี และความน่าเชื่อถือให้แก่รัฐบาลไทยและประเทศไทยในระดับนานาชาติ ขณะเดียวกันก็ได้ศึกษาวิธีปฏิบัติจากประเทศที่ดำเนินการปฏิรูปราชการที่สัมฤทธิ์ผลและต่อเนื่อง ที่จะนำไปสู่การปรับปรุงและสร้างเสริมระบบราชการไทย ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเปิดระบบราชการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ให้มีความทันสมัย มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าว
กลุ่มสื่อสารฯ สลธ. / ข่าว
ชนกสุดา (สลธ.) / ข้อมูล
วสุนธรา (สลธ.) / จัดทำ