ก.พ.ร. ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมมือ
ในการพัฒนาประสิทธิภาพ การให้บริการประชาชน
ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2551 เวลา 10.00 น. ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วย เลขาธิการ ก.พ. ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข กรมการปกครอง กรมที่ดิน ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สตูล และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยมี นายพงศ์โพยม วาศภูติปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีฯ ณ ห้องประชุม 1 กระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วย
นายพงศ์โพยม วาศภูติ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เรื่องการให้บริการประชาชนนั้น นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากในแง่ของสังคมจิตวิทยา ซึ่งการจัดให้มีพิธีการลงนามความร่วมมือกันในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการริเริ่มที่ดีมาก ซึ่งที่ผ่านมา แม้หลายหน่วยงานราชการต่างได้พัฒนาปรับปรุงในเรื่องนี้ให้ดียิ่งขึ้นอยู่แล้ว แต่ถ้าหากเราได้รับคำแนะนำจากทางสำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงาน ก.พ. ก็จะยิ่งทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างสมบูรณ์มากขึ้น และยิ่งเฉพาะสำหรับในการจัดให้มีการพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพิเศษมากกว่าในจังหวัดอื่น ๆ ด้วยแล้ว คิดว่าเป็นความชอบธรรม เป็นสิทธิที่ทำได้ เพราะว่า 5 จังหวัดชายแดนเหล่านี้เขามีวิถีชีวิตและมีวัฒนธรรมที่เป็นเฉพาะของท้องถิ่น ดังนั้น การเข้าใจ เข้าถึงความรู้สึกนึกคิด รวมทั้งการติดต่อสื่อสารด้วยภาษาเดียวกัน ตลอดรวมถึงการปฏิบัติและให้บริการที่ดีของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองอย่างมีคุณภาพ สะดวก รวดเร็ว เสมอภาค เป็นธรรม สอดคล้องกับสถานการณ์และสภาพสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ก็คิดว่าในแง่สังคมจิตวิยาเราจะได้ประโยชน์อย่างสูง คือจะทำให้ประชาชนมีความพึงพอใจ ไว้วางใจ เชื่อมั่น ศรัทธา และให้ความร่วมมือต่อเจ้าหน้าที่และมัทัศนคติเชิงบวกต่อรัฐในภาพรวมมากยิ่งขึ้น
นายพระนาย สุวรรณรัฐ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้้ (ศอ.บต.) กล่าวถึงความเป็นมาของการจัดทำ โครงการพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า การพัฒนาการบริการ ถือเป็นปัจจัยที่มีส่วนสำคัญต่อการเสริมสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ ซึ่งฟังดูอาจเหมือนไม่เกี่ยวข้องกันเท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่คนจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบรายวันเป็นหลัก แต่ในข้อเท็จจริงแล้วหัวใจของการแก้ไขปัญหาให้เกิดสันติสุข อย่างยั่งยืนนั้น อยู่ที่การเอาชนะในการต่อสู้ทางความคิด หรือที่เรียกว่าสงครามความคิด และการเอาชนะในการแย่งชิงประชาชนในสงครามประชาชน ฉะนั้น 2 เรื่องนี้เป็นเรื่องของการบริหารความรู้สึก เป็นเรื่องของสงครามข่าวสาร ซึ่งทางฝ่ายพลเรือนต้องเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้เต็มที่ การพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการแก่พี่น้องประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของเรานั้น มุ่งผลสัมฤทธิ์ในเชิงยุทธศาสตร์ที่เอาชนะจิตและใจประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ ในด้านหนึ่งนั้นก็เป็นการตอบโต้การโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายตรงข้าม ที่พยายามจะให้พี่น้องมุสลิมในพื้นที่มีความรู้สึกในด้านลบ มีอคติ และไม่ศรัทธาต่อราชการ ว่าไม่ได้ให้ความสำคัญในวิถีชีวิตในวัฒนธรรมท้องถิ่น มีการเลือกปฏิบัติ และไม่ให้ความเสมอภาค ความเท่าเทียม ความเป็นธรรม ดังนั้น เราจึงต้องมาช่วยกันกอบกู้สถานการณ์ นั่นคือใช้การกระทำเป็นเครื่องพิสูจน์ เอาการกระทำของบุคลากร พนักงานของรัฐ ข้าราชการในพื้นที่ เป็นตัวพิสูจน์ว่าเรามิได้เป็นไปตามโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายที่กล่าวอ้าง
การปฏิบัติของเราในพื้นที่นอกจากจะทำให้เท่าเทียมกันทั่วประเทศแล้ว เห็นว่าสำหรับในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องทำให้ยิ่งกว่าที่เราทำกันในพื้นที่อื่นๆ ก็ด้วยเหตุความจำเป็นจากปัญหาดังกล่าวข้างต้น นอกจากนั้นแล้วการปฏิบัติและการให้บริการที่ดีจากรัฐจะมีส่วนสำคัญ ในการแย่งชิงประชาชนส่วนใหญ่ อีกทั้งการให้บริการยังเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเจ้าหน้าที่ ในการติดต่อสื่อสารสร้างความเข้าใจ และเข้าถึงประชาชนในสถานการณ์ ที่ไม่สามารถลงไปปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากหวั่นเกรงเรื่องความปลอดภัย ดังนั้นเรื่องนี้จึงนับเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก และเป็นความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญ ระหว่างการให้บริการประชาชนกับการเสริมสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความเกี่ยวพันนี้มีความชัดเจน ถ้าหากเราทำให้เกิดความรู้สึกเชื่อมั่นในการบริการที่ดี และเสมอภาคเป็นพิเศษสำหรับพี่น้องในพื้นที่ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะมีอคติอยู่แล้ว จะมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างสันติสุขได้อย่างแน่นอน ดังนั้นการมีความร่วมมือกันในวันนี้ ถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การทำงานในพื้นที่ทั้ง 44 อำเภอ ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน และเป็นไปในแนวทางที่ถูกต้องต่อไป
ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. ได้กล่าว ในฐานะของสำนักงาน ก.พ.ร.ว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมในพิธีลงนามในครั้งนี้ และก็ได้มาร่วมทำงานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการที่จะสร้างความสันติสุขให้เกิดขึ้น ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกครั้งหนึ่ง และคิดว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ที่เราจะต้องเร่งดำเนินการในเรื่องของการพัฒนาการให้บริการประชาชน ที่นับแต่ได้มีการปฏิรูประบบราชการตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา เราได้เน้นในเรื่องของการทำงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เน้นในเรื่องของการทำงานโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เจตนารมย์ดังกล่าวนี้นอกจากจะทำทั่วทั้งประเทศแล้ว คิดว่าในกรณีของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ยิ่งจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้น โดยนำเอาความต้องการของลูกค้าคือผู้รับบริการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งไม่เหมือนกับกลุ่มอื่นมาวิเคราะห์ดูว่าความต้องการของประชาชนในพื้นที่นั้นเขาอยากได้อะไร จากนั้นนำมาออกแบบการทำงาน เพื่อที่สามารถให้บริการได้ตรงกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ดังที่ท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยได้กล่าวถึง บางครั้งเรื่องเล็กๆน้อยๆ การใช้ระบบสองภาษาก็น่าที่จะเกิดประโยชน์ จึงคิดว่าถ้าหากเรามีคนที่พูดภาษายาวี ที่สามารถสื่อสารกับประชาชนในพื้นถิ่นได้สักคนหนึ่ง มาคอยต้อนรับอยู่ที่หน่วยงานราชการของเรา เพียงแค่นี้ก็คิดว่าอาจจะช่วยสร้างความอบอุ่นใจให้กับพวกเขาได้เพิ่มมากขึ้น
เลขาธิการ ก.พ.ร. ได้กล่าวต่อไปอีกว่า ในโอกาสนี้ต้องขอฝากไว้กับผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 5 จังหวัด ให้ได้ช่วยคิดในเรื่องของการสร้างนวัตกรรมในการให้บริการ โดยอาจต้องคุยกับหัวหน้าส่วนราชการเพื่อช่วยกันสร้างความแตกต่างอะไรให้เกิดขึ้น ด้วยลักษณะการให้บริการในหน่วยงานพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีความเป็นพิเศษเฉพาะ ดังนั้นความสำเร็จของจังหวัด จึงย่อมขึ้นอยู่กับการสร้างตัวรูปแบบ ซึ่งหมายถึงผลิตภัณฑ์และบริการที่ไม่เหมือนกับคนอื่นแต่ว่ามีความพิเศษสำหรับจังหวัดของท่านเอง ดังทุกปีที่มีการมอบรางวัลคุณภาพการให้บริการประชาชน ก็เป็นความน่าชื่นใจที่ระบบราชการของเราทั้งระบบได้ก้าวหน้าขึ้นไป ซึ่งในปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลทั้งที่ระแงะและตากใบ ได้มีความทุ่มเทในการยกระดับคุณภาพการให้บริการได้ดีมากแล้วก็ได้รับรางวัลจากสำนักงาน
ก.พ.ร. สำหรับในปีนี้ ก็มุ่งหวังว่าคงจะมีหน่วยงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกหลายหน่วยงาน ได้รางวัลคุณภาพการให้บริการประชาชนเพิ่มมากขึ้น
สิ่งที่เราคุยกันในวันนี้จะเกิดขึ้นมิได้เลยหากไม่ได้มีการปฏิบัติ โดยปีนี้ก็เป็นปีที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดจะสามารถตั้งงบประมาณ ของท่านได้เองแล้ว จึงน่าจะเป็นโอกาสอันดีที่ท่านจะสามารถริเริ่มสร้างนวัตกรรมด้านบริการ ซึ่งหากท่านต้องการให้ช่วยสนับสนุนในด้านใด สำนักงาน ก.พ.ร. ได้มีทีมงานที่พร้อมประสานให้ความช่วยเหลือท่านได้อย่างเต็มที่ เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวในที่สุด
สำหรับขั้นตอนการดำเนินงาน ภายหลังจากการลงนามในบันทึกข้อตกลงแล้ว จะมีการมอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานให้แก่หัวหน้าหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ โดยในปี 2551 จะเน้นหนักการพัฒนาบริการของหน่วยงานฝ่ายพลเรือนที่ใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ คือ ที่ทำการปกครองอำเภอและทุกส่วนราชการ ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในศูนย์ราชการอำเภอ รวมทั้งโรงพยาบาลชุมชน สถานีอนามัย และสำนักงานที่ดิน ในอำเภอนำร่อง 13 แห่ง คือ อำเภอหนองจิก,โคกโพธิ์,สายบุรี และอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี อำเภอธารโต,เบตงกาบัง และอำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา อำเภอแว้ง,บาเจาะ,รือเสาะ,อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส และอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ก่อนสรุปประเมินผล และขยายผลไปยังหน่วยงานอื่นๆ ครอบคลุมพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้ง 44 อำเภอ ในปี 2552
วสุนธรา (สลธ.) & ภัทรพร ข./ จัดทำ
กลุ่มสื่อสารฯ (สลธ.) / ข่าว & ภาพ