สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีวันอังคารที่ 18 ธ.ค. 50
ที่่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.พ.ร.
การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 18 ธันวาคม 2550 ซึ่งมี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 2 ตึกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหลังใหม่ ทำเนียบรัฐบาล ได้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.พ.ร. จำนวน 2 เรื่อง ดังนี้
เรื่อง
การพัฒนาระบบจดหมายอิเล็กทรอนิกส์กลาง เพื่อการสื่อสารในภาครัฐ |
คณะรัฐมนตรีพิจารณาการพัฒนาระบบจดหมายอิเล็กทรอนิกส์กลางเพื่อการสื่อสารในภาครัฐ ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ แล้วมีมติ ดังนี้
1. รับทราบและอนุมัติในหลักการการพัฒนาระบบจดหมายอิเล็กทรอนิกส์กลาง เพื่อการสื่อสารในภาครัฐ ตามมติคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ครั้งที่ 12/2550 วันที่ 26 พฤศจิกายน 2550 ตามที่ สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ โดยถือเป็นนโยบายด้านความมั่นคงปลอดภัยของข่าวสารภาครัฐ ดังนี้
1.1 ให้ข้าราชการและพนักงานของรัฐยุติการใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ฟรีของเอกชน โดยเฉพาะของต่างประเทศ ภายใน 1 ปี ทั้งนี้ ให้ข้าราชการระดับผู้อำนวยการกองหรือเทียบเท่าขึ้นไป ต้องใช้ระบบของตนเองหรือของภาครัฐภายใน 3 เดือน
1.2 ให้สำนักงาน ก.พ.ร. เป็นหน่วยงานกลางร่วมกับสำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการพัฒนาระบบจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐต่อไป
2. ให้ สำนักงาน ก.พ.ร. รับความเห็นของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รวมทั้งความเห็นของคณะรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้ ไปพิจารณาด้วย ดังนี้
2.1 การรักษาความปลอดภัยของข่าวสารภาครัฐ อาจพิจารณาดำเนินการโดยใช้ทางเลือกอื่นที่มีความสามารถเท่าเทียมกัน แทนการลงทุนในระบบฮาร์ดแวร์ (hardware) ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงได้ เช่น การใช้โปรแกรมซอฟต์แวร์เข้ารหัสลับ (software scrambling) เป็นต้น
2.2 ในระยะต้นควรเร่งพัฒนาให้ระบบจดหมายอิเล็กทรอนิกส์และเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐมีควาามั่นคง ปลอดภัย และน่าเชื่อถือ ก่อนที่จะเปิดใช้บริการจดหมายอิเล็กทรอนิกส์กลาง
สำนักงาน ก.พ.ร. รายงานว่า เนื่องด้วยในปัจจุบันข้าราชการและพนักงานของรัฐจำนวนมาก ได้หันไปใช้บริการจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ที่ให้บริการโดยไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียม (free-e-mail) ที่จัดทำขึ้นโดยบริษัทเอกชนของต่างประเทศ ซึ่งกำหนดเงื่อนไขการใช้งานและการนำข้อมูลของผู้ใช้ไปทำประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ เช่น การทรงสิทธิ์ไว้ในการทำสำเนาเอกสารของผู้ใช้เพื่อความต่อเนื่องของบริการ และทรงสิทธิ์ในการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ ทำการอ่าน จดหมายอิเล็กทรอนิกส์และเอกสารแนบของผู้ใช้ได้
การที่ข้าราชการไทยไปใช้บริการดังกล่าวโดยไม่ได้อ่านเงื่อนไขของการใช้บริการและยังไปประกาศ ที่อยู่สำหรับจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-mail address) สำหรับติดต่อเป็นที่อยู่ของบริการของต่างประเทศ มีผลทำให้เอกสารของราชการซึ่งข้าราชการและบุคลากรของรัฐจะต้องเก็บรักษาไว้ในที่ทำงานตัวเอง ถูกทำสำเนาอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของเอกชนในต่างประเทศ ซึ่งมีระบบสืบค้นและทำเหมือนข้อมูล เพื่อใช้ในกิจการของบริษัทโดยอาศัยเนื้อหาของผู้ใช้เป็นวัตถุดิบ
เหตุการณ์เช่นนี้อาจเป็นผลเสียต่อราชการไทยในระยะยาว หากในอนาคตบริษัทเอกชนเหล่านั้น นำข้อมูลของไทยมาวิเคราะห์เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ รวมถึงการนำข้อมูลจราจรของการสื่อสารกันไปใช้ในด้านที่มิชอบ ซึ่งอาจจะรวมไปถึงการสอดแนมเอกสารที่ทางราชการใช้ดำเนินงานภายในและยังอยู่ในฐานะปกปิดจนกว่าจะได้รับอนุมัติ ตลอดจนเอกสารที่ต้องปิดเป็นความลับ
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่คณะรัฐมนตรีจำเป็นต้องรับทราบและพิจารณาเกี่ยวกับความรุนแรงของปัญหา และทางแก้ไขในระยะเร่งด่วนและในระยะยาว
เรื่อง
แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาการพัฒนาภาคมหานครแบบบูรณาการ (กรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร) |
คณะรัฐมนตรีรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 317/2550 เรื่อง แต่งตั้ง คณะกรรมการศึกษาการพัฒนาภาคมหานครแบบบูรณาการ (กรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร) โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ดังนี้
องค์ประกอบ
รองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ
กรรมการประกอบด้วย ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ นายขวัญสรวง อติโพธิ สถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม นายพนิต ภู่จินดา ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รองปลัดกรุงเทพมหานคร (นายพิชัย ไชยพจน์พานิช) รองปลัดกรุงเทพมหานคร (นายนิคม ไวยรัชพานิช)
โดยมีผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผลกรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการและเลขานุการ
อำนาจหน้าที่
1. กำหนดกรอบและภาระหน้าที่การทำงานอันนำไปสู่การพัฒนาภาคมหานครแบบบูรณาการ
2. จัดทำรูปแบบและโครงสร้างการทำงาน และคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาภาคมหานครแบบบูรณาการ
3. นำเสนอผลการศึกษาต่อคณะรัฐมนตรี
4. ปฏิบัติการเรื่องอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2550 เป็นต้นไป
วสุนธรา (สลธ.) / จัดทำ
ข้อมูลจากหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
และเว็บไซต์ รัฐบาลไทย
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 10 มีนาคม 2551 14:53:42 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 10 มีนาคม 2551 14:53:42