สำนักงาน ก.พ.ร. ส่งเสริมการใช้เส้นทาง EWEC
ในการขยายการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว
ความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรม
รวมทั้งเพิ่มความสัมพันธ์ไทย ลาว เวียดนาม มากขึ้น

(Part II)


           “การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการค้า    การลงทุน    และการท่องเที่ยว       โดยใช้เส้นทางเชื่อมโยง
ทางเศรษฐกิจแนวตะวันออก - ตะวันตก (East West Economic Corridor) ร่วมกันระหว่างเอกอัครราชทูต แบบบูรณาการในประเทศเพื่อนบ้านของไทย กับผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (19 จังหวัด) และกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง (5 จังหวัด)”
ที่สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงมหาดไทยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 - 30 มิถุนายน 2549 ณ ห้องประชุมออคิดบอลรูม 2 (ชั้น 2)โรงแรมโซฟิเทล
ราชาออคิด จังหวัดขอนแก่น
มานำเสนอกันต่อค่ะ

          สำหรับข่าวในวันนี้เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในวันที่ 30 มิถุนายน 2549 ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของการประชุม โดยเป็นการ รายงานผลจากการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างเอกอัครราชทูต CEO และผู้ว่าฯ CEO เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2549 โดยมี ดร.กันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม

            รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องทำงานแบบบูรณาการและเป็นทีมเดียวกัน จากนี้ต่อไป การดำเนินนโยบายการต่างประเทศของไทยในทุกระดับ ทุกคนต้องใส่เสื้อทีมประเทศไทย ไม่ใช่เสื้อทีมสโมสรกระทรวง ทบวง กรม จังหวัด หรือกลุ่มจังหวัด

          การเชื่อมโยงการทำงานระหว่างทูตและผู้ว่าฯ เป็นข้อริเริ่มที่เป็นประโยชน์มาก ในช่วงสองปีที่ผ่านมา เห็นการทำงานที่มีมิติเชื่อมโยงกันมากขึ้น ทั้งในลักษณะสองฝ่าย คือ ทูตหรือผู้ว่าฯ เดินทางไปประชุมหารือร่วมกันโดยตรง และลักษณะหลายฝ่าย คือ คณะเอกอัครราชทูตและคณะผู้ว่าฯ มาจัดประชุมร่วมกัน ดังเช่นวันนี้ ซึ่งตนมั่นใจว่า แนวโน้มการทำงานเช่นนี้จะต้องดำเนินต่อไป ไม่ว่าจะมีใครมาเป็นรัฐบาล

          เอกอัครราชทูตถือเป็นผู้ช่วยของรัฐบาล ในด้านการต่างประเทศ ต้องมีความรอบรู้เกี่ยวกับประเทศไทย และประเทศ ที่ตนไปอยู่ จะต้องรู้เขารู้เราจะต้องเป็นผู้เปิดประตูความสัมพันธ์ในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการเสริมสร้างมิตรภาพ และความร่วมมือเป็นผู้ที่มองเห็นโอกาสต่าง ๆ แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาแจ้งให้รัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ในประเทศ ได้รับทราบและสานต่อ

           ผู้ว่าราชการจังหวัดก็เป็นผู้ช่วยรัฐบาล ต้องเป็นผู้ที่มีความรอบรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นของตนดีที่สุดเช่นกัน จะต้องเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ท้องถิ่น/กลุ่มจังหวัดให้บรรลุและให้ได้ผลในระดับชาติ

          หากส่วนราชการทั้งสองส่วน คือ ส่วนราชการในระดับท้องถิ่น/ภูมิภาค และส่วนราชการในต่างประเทศ ทำงานอย่างสอดรับกัน เราจะได้รับทราบข้อมูลที่สมบูรณ์จากการทำงานแบบ Inside Out และ Outside In และผู้ที่ได้รับประโยชน์คือประเทศไทย

          จังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ถือเป็นด่านหน้าที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นผู้ที่อยู่ในกลไกล ดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านโดยตรง นโยบายของรัฐบาลปัจจุบันคือ การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ กับประเทศ เพื่อนบ้านให้เกิดขึ้น    จึงอยากให้ท่านทั้งหลายยึดหลักการ     สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ     เป็นกรอบในการดำเนินทุกกิจกรรม ทุกโครงการกับประเทศเพื่อนบ้าน

           สื่อมวลชนไทยเป็นอีกส่วนที่มีความสำคัญอย่างมาก ในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากภาคสื่อมวลชนสามารถนำเสนอข้อมูลไปยังทุกท่านได้โดยตรงและอย่างรวดเร็ว ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ สามารถรับฟัง รับชม และอ่านหนังสือไทย ดังนั้น หากสื่อมวลชนคำนึงแต่ผลประโยชน์ ผลตอบแทนทางธุรกิจ โดยขาดความเข้าใจถึงความละเอียดอ่อนด้านวัฒนธรรม ประเพณี หรือวิถีชีวิตของเพื่อนบ้าน ก็จะส่งสัญญาณที่ผิดให้แก่เพื่อนบ้าน และอาจลุกลามจนเป็นประเด็นระหว่างประเทศได้

            นอกจากความไว้เนื้อเชื่อใจแล้ว รัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างมากต่อการลดช่องว่างของการพัฒนา และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เราต้องพัฒนาเศรษฐกิจของเพื่อนบ้านให้เข้มแข็ง การช่วยเหลือเพื่อนบ้านก็คือการช่วยเหลือตัวเราเองด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบรรเทาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ

          การที่เราส่งเสริมภาคเอกชนไทยให้ขยายการค้าการลงทุนกับต่างประเทศ เราอาจจะแข่งขันกันทำงาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เราต้องไม่ขัดแย้งกัน ต้องบริหารจัดการให้การแข่งขันเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ กล่าวคือ มี Management of Competition เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวต่อถึงข้อเสนอแนะบางประการเพื่อประกอบการพิจารณาการดำเนินการ ดังนี้

          1. การต่างประเทศในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากกว่าในอดีต ท่านได้เข้าเป็นผู้เล่น หรือผู้สนับสนุนงานด้านต่างประเทศในระดับที่ต่างๆ กันไป ในขณะที่เรามียุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศกับประเทศนั้นเพียงยุทธศาสตร์เดียว ดังนั้น ท่านต้องศึกษาและวิเคราะห์ทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านให้มากที่สุด และเผยแพร่แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ ให้มากที่สุด เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อที่เราจะได้ร่วมมือกันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เล่นบทบาทสอดคล้องกัน มีการทำงานเป็นเอกภาพ แข่งขันกันทำงานแต่ไม่ใช่แข่งกันเอง

          2. ต้องมีการสร้างความพร้อมเสมอ เพื่อรองรับการพัฒนาการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศระดับอนุภูมิภาค เราจะเห็นภาพกิจกรรมการค้า การลงทุน ระหว่างไทยและประเทศต่างๆ มากยิ่งขึ้น ผ่านเครือข่ายคมนาคม ทั้งจากด้าน East West Economic Corridor (พม่า ไทย ลาว เวียดนาม) North South Economic Corridor (ไทย พม่า ลาว จีน) และ Southern Economic Corridor (ไทย กัมพูชา เวียดนาม)

          จะเห็นว่าประโยชน์ไม่ได้อยู่ที่ตัวสะพาน หรือการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม แต่ขึ้นอยู่กับว่า เราจะใช้ประโยชน์จากเส้นทาง ทั้งหมดได้อย่างไร ดังนั้น ความพร้อมประการแรก คือ เราจะต้องแยกภาพให้ออกว่า การเชื่อมโยงเส้นทางเหล่านี้ไม่ใช่เป็นเรื่องระหว่างไทย พม่า ลาว และเวียดนาม หรือประเทศในอนุภูมิภาค เพราะเส้นทาง EWEC ทำให้ไทยสามารถส่งสินค้าไปถึงอินเดีย ตะวันออกกลางได้

             นอกจากนี้ เราต้องเตรียมพร้อมในการหาหนทางเพิ่มมูลค่าสินค้าที่จะผ่านเส้นทาง EWEC การปรับกฎระเบียบของเราจะช่วยอำนวยความสะดวกในการนำเข้าและส่งออก การทบทวนยุทธศาสตร์ทั้งในส่วนท้องถิ่นและส่วนกลางว่า เมื่อประตูการค้าช่องนี้เปิดแล้ว เราสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างไร          ทั้งนี้ รัฐได้มีนโยบายสนับสนุน Contract Farming การท่องเที่ยวในอนุภูมิภาค Five Countries One Destination ในกรอบ ACMECS

           ความพร้อมต่อมา คือ ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เนื่องจากจะเป็นกลไลในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อย่างแท้จริง

             ความพร้อมสุดท้าย คือ ผลกระทบในด้านลบจากการใช้ประโยชน์ในเส้นทางเหล่านี้ เช่น อาชญากรรมข้ามชาติ แรงงานผิดกฎหมาย ยาเสพติด การค้ามนุษย์ และโรคระบาด ซึ่งจะมาพร้อมกับเส้นทางและการคมนาคมขนส่งที่รวดเร็วทันสมัย ซึ่งเราจะต้องวางแผนรองรับ รวมทั้งจัดทำเครือข่าย Early Warning อย่างเป็นระบบ


            หลังจากนั้น นายเจตน์ ธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นผู้นำเสนอ ผลสรุปและข้อเสนอแนะจากการประชุมเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2549 ดังนี้

           1.  ที่ประชุมได้รับทราบผลการศึกษาทางวิชาการเกี่ยวกับศักยภาพของเส้นทาง EWEC จากคณาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งทำหน้าที่เป็น Think Tank ในการทำงานระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัด CEO และเอกอัครราชทูต CEO และได้รับทราบแนวนโยบายและศักยภาพของเส้นทาง จากผู้แทนสำนักงานคระกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นประโยชน์มากในการเสริมความรู้ความเข้าใจ และเป็นพื้นฐานในการนำเสนอประเด็นสำหรับการแลกเปลี่ยนความเห็นของที่ประชุม

               ในที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น สร้างความเข้าใจในกระบวนการและวิธีการทำงานของผู้ว่าฯ CEO และทูต CEO ทั้งนี้ บรรยากาศการหารือมีความเป็นกันเองและตรงไปตรงมา ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อความร่วมมือ

           2.  ในการผลักดันยุทธศาตร์ด้านการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยว โดยใช้เส้นทางเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก EWEC ที่ประชุมเห็นว่า

               2.1 ยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับเส้นทางเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตกต้องมองภาพกว้าง ที่เป็นเส้นทางในการเชื่อมกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและเอเชีย กับภูมิภาคอื่นๆ ของโลก โดยเฉพาะเกี่ยวข้องกับประเทศที่มีศักยภาพสูง เช่น จีนและอินเดีย

               2.2 ผู้ว่าฯ CEO ต้องมองภาพรวมเชื่อมโยงจากท้องถิ่นสู่ระดับสากล ทั้งนี้ จังหวัดและกลุ่มจังหวัดจะมองภาพศักยภาพของตนเอง เพื่อเชื่อมโยงกับระดับสากลและปฏิบัติในพื้นที่ ในขณะที่ทูต CEO จะปฏิบัติงานในระดับสากล โดยมุ่งเน้นมุมมองจากระดับสากลเชื่อมโยงสู่พื้นที่

               2.3 จังหวัดและกลุ่มจังหวัดต้องวิเคราะห์ศักยภาพและกำหนดบทบาทของจังหวัด และกลุ่มจังหวัดให้ชัดเจน

           3.  สำหรับการผลักดันยุทธศาสตร์ EWEC ให้สำเร็จที่ประชุมเห็นว่า

               3.1 การเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับเพื่อนบ้านแต่ละประเทศมีลักษณะที่แตกต่างกัน ดังนั้น ผู้ปฏิบัติต้องมีความเข้าใจในประเด็นที่ละเอียดอ่อนของแต่ละประเทศ และการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต้องทำในทุกระดับ ทั้งในภาครัฐ เอกชน ประชาชน และสื่อมวลชน ทั้งนี้ ต้องพิสูจน์ด้วยการกระทำ มิใช่พูดแต่ทฤษฎี และเมื่อดำเนินการแล้ว ก็ต้องมีความสมดุล อย่าให้ประเด็นความไว้เนื้อเชื่อใจกลายเป็นนายเราในการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน

               3.2 ควรเน้นความสำคัญของ mutual benefits ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ในการเยือนประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากจะมุ่งขายสินค้าไทยแล้ว ขอให้พิจารณาการเสนอซื้อสินค้าของเพื่อนบ้านด้วย ซึ่งนอกจากจะเป็นการยกระดับประเทศไทยแล้ว ยังเป็นการเพิ่มโอกาสและเอื้อประโยชน์กับเศรษฐกิจกับคนไทยด้วย รวมทั้งแสดงให้เพื่อนบ้านเห็นว่าไทยไม่คิดที่จะเอาเปรียบฝ่ายเดียว

               3.3 ควรกำหนดแนวทางการปฏิบัติและจัดทำคู่มือการติอต่อกับต่างประเทศ

               3.4 ควรพัฒนาระบบข้อมูลเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านไว้ที่ ROC (ศูนย์ปฏิบัติการร่วม)

               3.5 การใช้ประโยชน์จากเส้นทาง EWEC ควรมุ่งเป้าหมายในการมีผลประโยชน์เกื้อหนุนกันกับประเทศเพื่อนบ้าน ในลักษณะ win win ทั้งนี้ จังหวัดต่างๆ ที่เส้นทาง EWEC พาดผ่านจะต้องหันกลับมาวิเคราะห์ศักยภาพของตนเอง ในการใช้ประโยชน์จาก EWEC ให้ได้มากที่สุด ทั้งในด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

               3.6 เตรียมความพร้อมของบุคลาการให้มีความรู้ ความเข้าใจตามเส้นทาง EWEC และความเชื่อมโยงของ EWEC กับศักยภาพของพื้นที่และการสร้างท้องถิ่นให้เข้มแข็ง

               3.7 เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าที่จะผ่านเส้นทาง EWEC ปรับปรุงขั้นตอนศุลกากร ณ จุดชายแดนต่างๆ ให้เป็น One Stop Service โดยอาจจะเริ่มที่จังหวัดหนองคายและขยายผลไปยังจุดชายแดนอื่นๆ

               3.8 แม้เส้นทาง EWEC จะมีศักยภาพและประโยชน์ในด้านการค้า การลงทุน อย่างไรก็ดี ก็มีข้อสังเกตว่า ภาคกลางของเวียดนามซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญของ EWEC ยังเป็นภาคที่ยากจนที่สุด ดังนั้น การค้าการลงทุนจึงควรพิจารณาในลักษณะเชื่อมโยงกับศักยภาพของภาคเหนือและภาคใต้ด้วย

          4. สำหรับกลไกการประสานงานร่วมระหว่างผู้ว่าฯ CEO และทูต CEO ที่ประชุมมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับบทบาทของ ROC ว่า ROC จะมีส่วนช่วยอย่างมากในการส่งเสริมการทำงานเป็นเนื้อเดียวกัน ของเอกอัครราชทูตและผู้ว่าราชการจังหวัดในหลายลักษณะด้วยกัน เช่น

               4.1 เป็นศูนย์ประสานงานระหว่างผู้ว่าฯ CEO และทูต CEOในลักษณะสำนักงานต่างประเทศของกลุ่มจังหวัด/จังหวัด
               4.2 เป็นศูนย์สารสนเทศเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน
               4.3 เสริมสร้างความเข้าใจและช่วยเหลือในการดำเนินงานของผู้ว่าฯ CEO ที่เกี่ยวกับประทศเพื่อนบ้าน
               4.4 เป็นศูนย์ประสานงาน และจัดทำปฏิทินรวมของแผนงานและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง
กับประเทศเพื่อนบ้านของกลุ่มจังหวัด/จังหวัด
               4.5 ช่วยพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรของจังหวัด ในด้านเกี่ยวกับประเทศ
เพื่อนบ้าน

            5. อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นว่า การที่ศูนย์ปฏิบัติการร่วมจะทำงานสำเร็จจะต้องได้รับการสนับสนุนอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่

               5.1 มีกฏหมายรองรับ เช่น มติ ครม.
               5.2 มีงบประมาณรองรับที่ชัดเจน
               5.3 มีการพัฒนาตัวชี้วัดผลงานของจังหวัด CEO และ สอท. CEO โดยให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่มีส่วนในการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ

          6. สำหรับตัวอย่างกิจกรรมร่วมระหว่างผู้ว่าฯ และทูต เช่น

               6.1 การรวบรวม ส่งผ่าน และพัฒนาระบบข้อมูลเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ ที่ผู้ว่าฯ ต้องใช้ประกอบในการกำหนดกิจกรรมร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ข้อมูลเศรษฐกิจ การค้า สินค้า บริการที่ประเทศนั้นๆ ต้องการจากประเทศไทย และความคาดหวังที่ประเทศเหล่านั้นต้องการจากประเทศไทย

               6.2 การสร้างความรู้ความเข้าใจในหลักสากลของการติดต่อค้าขาย และวัฒนธรรมของระบบการค้าการลงทุนของประเทศเพื่อนบ้าน

               6.3 การพัฒนาระบบการติดต่อค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อความอำนวยความสะดวก และสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชนในทางปฏิบัติ

               6.4 การพัฒนาบุคลากรด้านวิเทศสัมพันธ์ของจังหวัด

          7. ที่ประชุมมีข้อเสนอเกี่ยวกับสาขาการพัฒนาการทรัพยากร
มนุษย์ การท่องเที่ยว และการค้าการลงทุน ในกรอบ EWEC
ดังนี้

               การผลักดันยุทธศาสตร์หลักที่เชื่อมโยงกับ EWEC ควรเริ่มต้นจากยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งรวมถึงการศึกษา และวัฒนธรรม โดยใช้ยุทธศาสตร์การท่องเที่วและบริการ เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และถ่ายทอดวัฒนธรรมระหว่างกัน ซึ่งการศึกษาและวัฒนธรรมที่แน่นแฟ้น จะเป็นตัวเชื่อมโยงไปถึงการผลักดันยุทธศาสตร์การค้า การลงทุนได้ง่ายขึ้น

              ในด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาทุนมนุษย์ ควรมุ่งเน้นการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ โดยอาศัยกิจกรรมดังต่อไปนี้

                  - ส่งเสริมให้มีการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านในสถาบันการศึกษาระดับสูง เช่น หลักสูตรภาษาและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง โดยให้สถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพรับผิดชอบพัฒนาหลักสูตร โดยรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนในเรื่องของทุนการศึกษา สำหรับการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและอาจารย์ บุคลากร ระหว่างมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนและสถาบันการศึกษาในประเทศที่เป็นเจ้าของภาษา

               - ผลักดันให้กระทรวงศึกษาธิการบรรจุหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษาได้เรียนภาษาเพื่อบ้านเป็นภาษาที่สอง

               - รัฐบาลควรจัดให้มีทุนการศึกษาเพื่อสนับสนุนให้บุคลากรไปศึกษาต่อ หรือทำวิจัยในประเทศเพื่อนบ้าน และให้ทุนบุคลากรในประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาศึกษาวิจัยในประเทศไทย

               - ผลักดันให้มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมภาคประชาชนระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทั้งนี้ โดยมองว่าความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างประชาชนจะนำไปสู่ความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ

               - ส่งเสริมกิจกรรมกีฬาและนันทนาการระหว่างบุคลากรทุกระดับของประเทศในอนุภูมิภาคฯ เพื่อมิตรภาพและความเข้าใจอันดีระหว่างกัน

              ในด้านยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว ควรมุ่งเน้นด้านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ วัฒนธรรม และความเข้าใจอันดี ผ่านกิจกรรมการท่องเที่ยวโดยการ...

               -  พัฒนาบุคลากร เช่น มัคคุเทศก์ ควรมีความรู้ในภาษาประเทศเพื่อนบ้าน

               - สร้างแรงดึงดูดทางการท่องเที่ยว โดยการเชื่อมโยงทรัพยากรการท่องเที่ยวร่วมกัน ในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง ทั้งในเชิงนิเวศน์ มรดกโลก ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และศาสนาให้อยู่ในวงจรเดียวกัน

               -  ผลักดันความร่วมมือในกรอบสามเหลี่ยมมรกต ให้มีผลชัดเจนในลักษณะ Three Countries One Destination อย่างแท้จริง

                 ในด้านยุทธศาสตร์การค้า การลงทุน มุ่งเน้นผลประโยชน์ร่วมกัน ที่ประชุมเห็นควรดังนี้

               - มีการพัฒนาระบบข้อมูลการค้า โดย “รู้เขา รู้เรา”

               -  อำนวยความสะดวก และเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบ
การด้านการเจรจาธุรกิจระหว่างประเทศรวมทั้งทำความเข้าใจ
กับขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้าน

               -  ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนดำเนินการค้า ในลักษณะของการส่งออกและนำเข้าสินค้าที่มีศักยภาพ

                  -  ส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจในกฎเกณฑ์ และข้อตกลงต่างๆ ของ Contract Farming

               -  ส่งเสริมการย้ายฐานการผลิตสำหรับสินค้าที่ประเทศเพื่อนบ้านผลิตได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่า

               สำหรับประเด็นอื่นๆ ได้แก่ การสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในลักษณะของเมืองคู่แฝด ทั้งนี้ ควรเน้นให้มีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ได้มีการลงนามในความตกลงแล้ว รวมทั้งจัดทำแผนงานและงบประมาณรองรับกิจกรรม/โครงการที่เป็นความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ภายหลังจากการทำข้อตกลงร่วมกัน

           8. ในการประชุมครั้งนี้ ได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน โดยภาคเอกชนได้มีข้อเสนอแนะ ดังนี้

               8.1  ให้มีการปรับปรุงกฎระเบียบและแนวทางปฏิบัติของส่วนราชการต่างๆ ที่ยังไม่เอื้ออำนวยต่อการค้าการลงทุน เช่น Contract Farming และให้ภาครัฐทำงานอย่างบูรณาการไปในทิศทางเดียวกัน

               8.2  เสนอให้รวมกลุ่มภาคเอกชนเป็น Cluster และจัดทำ Company Profile ของสมาชิกสภาหอการค้า และสภาอุตสาหกรรมของแต่ละจังหวัด ให้เป็นแบบแผนเดียวกันและเชื่อมโยงกัน

               8.3  สร้างเครือข่ายองค์การและข้อมูลของภาคเอกชน/ผู้ประกอบการภายในประเทศ

               8.4  จัดทำแผนยุทธศาสตร์การค้าของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกัน ในการค้าขายกับต่างประเทศ และสร้างจุดเด่นของการค้าที่มีศักยภาพในการส่งออก โดยต้องประสานงานกับเอกอัครราชทูตในประเทศเพื่อนบ้าน

               8.5  ภาครัฐควรให้การสนับสนุนด้านระบบ Logistics และการปรับปรุงระบบ Infrastructure

               8.6  ควรจัดทำแผนรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจาก EWEC เช่น อาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด โรคระบาด

            9. ที่ประชุมเห็นประโยชน์จากการเดินทางไปดูงานของจังหวัดในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ดี เห็นว่าควรมีการ ประสานงานกันอย่างใกล้ชิดระหว่างจังหวัดกับสถานเอกอครราชทูต     ทั้งนี้    สถานเอกอัครราชทูต       และกระทรวงการ
ต่างประเทศสามารถช่วยเหลือในการเตรียมการด้านข้อมูลก่อนออกเดินทาง การจัดทำนัดหมาย เพื่อให้คณะสามารถดำเนินการตามกำหนดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

           โดยสรุป การประชุมร่วมกันระหว่างผู้ว่าฯ CEO และทูต CEO มีประโยชน์อย่างยิ่ง CEO ทั้งสองมีความเห็นร่วมกันว่า น่าจะมีการประชุมอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ในลักษณะ Retreat และอาจจัดกิจกรรมร่วมกัน เช่น กีฬา เป็นต้น


           ทางด้าน ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า สาระที่ควรเร่งพิจารณาซึ่งเป็นข้อสังเกตนั้น มีดังนี้

           1. เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ EWEC ซึ่งสำคัญมาก ต้องมีการพิจารณาประเด็นยุทธศาสตร์ให้ละเอียดเจาะลึก เพื่อจะได้มีการ focus ได้อย่างถูกต้อง

            2. เรื่องของความไว้เนื้อเชื่อใจ ซึ่งจะเป็นเรื่องของการไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างเรากับประชาชน เอกชน ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่มีความสำคัญ ปัจจัยตัวนี้จะทำให้เราประสบผลสำเร็จหรือไม่ ดังนั้น กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงมหาดไทยควรหารือกันว่า ความเสี่ยงจะอยู่ที่ระดับใด หากอยู่สูงควรรีบจัดการความเสี่ยงนี้โดยเร็ว อย่างไรก็ตาม อยากจะฝากไว้กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้พิจารณาว่าควรจะมีความเสี่ยงหลายด้าน ระดับแรก รัฐบาลกับรัฐบาล ธุรกิจกับธุรกิจ ประชาชนกับประชาชน เราควรวิเคราะห์แบบองค์รวมในทุกระดับ เรื่องนี้ขอฝากเป็นวาระสำคัญเพื่อให้เราขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ได้ต่อไป

            3. การวางยุทธศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญ แต่การนำยุทธศาสตร์        หรือการบริการจัดการยุทธศาสตร์ไปใช้สำคัญกว่า
รัฐและเอกชนควรทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด จึงเกิดการทำงานกันอย่าง ROC ที่เกิดขึ้น ที่เราพยายามให้เกิดเพื่อให้มีการเชื่อมโยงอย่างบูรณาการ ต้องขอขอบคุณผู้ว่าฯ ที่ทำให้เกิดขึ้นโดยการประสานงานกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น

          4. ROC ปลัดมหาดไทยให้นโยบาย ข้อสังเกตอยู่มาก ตอนนี้ ROC ประสานกันเป็นเครือข่าย แต่เมื่อเห็นเป็นรูปธรรม สิ่งที่ต้องทำต่อคือการใช้ประโยชน์จาก ROC ให้มากที่สุด ในเรื่องของข้อมูล เราต้องรู้เขารู้เรา แต่ตอนนี้ ROC ยังไม่มีข้อมูล ซึ่งเอกชนยังต้องหาข้อมูลเองอยู่ หากเมื่อเรามี ROC เราจะมีศูนย์ข้อมูลและใช้ข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์และใช้ประโยชน์

          5. การประชุมเป็นการเปลี่ยนแปลงในระบบราชการ    เป็นการประสานงานระหว่างทูตกับผู้ว่าฯ มีการทำงานที่เป็น
เครือข่ายรัฐ เอกชน วิชาการ วันนี้ยุทธศาสตร์ EWEC จะเห็นว่ามีศักยภาพค่อนข้างสูง มีหลายเรื่องต้องทำให้เกิดเป็นรูปธรรม


          ในช่วงบ่ายของวันที่ 30 มิถุนายน 2549 ดร.กันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นประธาน เปิดศูนย์ปฏิบัติการร่วม (Regional Operarion Center : ROC) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ สถาบันยุทธศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งบรรยากาศของพิธีเปิดศูนย์ปฏิบัติการร่วมภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น จะมานำเสนอในโอกาสต่อไปค่ะ


    
สำนักงาน ก.พ.ร. ส่งเสริมการใช้เส้นทาง EWEC ในการขยายการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว
ความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรม รวมทั้งเพิ่มความสัมพันธ์ไทย ลาว เวียดนาม มากขึ้น 
(Part I)  (Main)