เมื่อวันที่ 29 30 มิถุนายน 2549 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมออคิดบอลรูม 2 โรงแรมโซฟิเทล ราชาออคิด จังหวัดขอนแก่น สำนักงาน ก.พ.ร. กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมกันจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ
ภายใต้ชื่อ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยใช้เส้นทางเชื่อมโยง
ทางเศรษฐกิจแนวตะวันออก - ตะวันตก (East West Economic Corridor) ร่วมกันระหว่างเอกอัครราชทูต
แบบบูรณาการในประเทศเพื่อนบ้านของไทย กับผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (19 จังหวัด) และกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง (5 จังหวัด) ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ประสานเชื่อมโยงยุทธศาสตร์และการทำ
งานร่วมกันระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัด และระหว่างกลุ่มจังหวัด อันจะทำให้การพัฒนาระบบราชการในเรื่องการบริหารราชการ
แบบบูรณาการในจังหวัดและต่างประเทศ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรา 3/1 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ
แผ่นดิน (ฉบับที่ 5) และตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ทั้งนี้ มีคณะทำงานประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนมหาวิทยาลัยขอนแก่น และผู้แทนสำนักงาน ก.พ.ร. โดยมีกรอบการทำงานที่เน้นให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว
ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านของไทย
การประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าวมี นายเจตน์ ธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในการเปิดการประชุม ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ได้มีการนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยใช้เส้นทางเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจแนวตะวันออก - ตะวันตก (East West Economic Corridor: EWEC) โดย รศ.รังสรรค์ เนียมสนิท ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
แนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว
โดยใช้เส้นทางเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจแนวตะวันออก - ตะวันตก (East West Economic Corridor: EWEC)
โดย รศ.รังสรรค์ เนียมสนิท |
1. การทบทวนผลการดำเนินงานที่ผ่านมา |
1) การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาระบบการทำงานร่วมกัน ระหว่างเอกอัครราชทูตแบบบูรณาการในประเทศเพื่อนบ้านของไทย กับผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19 จังหวัด เมื่อวันที่ 21 - 22 ธันวาคม 2547 การเปิดตัวศูนย์ปฏิบัติการร่วมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2547
2) การจัดงาน Thailand-Laos-Vietnam Festival 2005 ที่เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 1-3 เมษายน 2548 เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่าง 3 ประเทศ
3) การประชุมเพื่อกำหนดแนวทางและกลไกการดำเนินงานของ ROC การคัดเลือกประธานและฝ่ายเลขานุการ ROC เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2548 |
|
4) การประชุมเชิงปฏิบัติการ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการค้าการลงทุน โดยใช้เส้นทางเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจแนวตะวันออก ตะวันตก (East West Economic Corridor : EWEC) เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2548 เพื่อประมวลความคิดเห็นและกำหนดประเด็นที่จะประชุมร่วมกันระหว่างทูต CEO และผู้ว่า CEO
5) การประชุมคณะกรรมการบริหาร ROC ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2549 เพื่อทบทวนโครงสร้าง บทบาทหน้าที่ และแผนกิจกรรมที่จะดำเนินการของ ROC รวมทั้งการคัดเลือกประธาน ROC ประจำปี 2549
2. ภาพรวมของ East West Economic Corridor: EWEC |
เส้นทางสายนี้จะแล้วเสร็จประมาณปี 2552 จะเป็นเส้นทางสายใหม่ที่เชื่อมโยงมหาสมุทรกับมหาสมุทร เชื่อมโยงทะเลกับทะเล และเชื่อมโยงประเทศจีนและอินเดีย คาดว่าเส้นทางสายนี้จะก่อให้เกิดอุปสงค์และโอกาสใหม่ๆ ขึ้น เส้นทางสายนี้ยาว 1,450 กิโลเมตร ผ่านประเทศไทย 777 กิโลเมตร ประเทศไทยโดยเฉพาะกลุ่มจังหวัดภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะวางยุทธศาสตร์อย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขกับประชาชน และเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ และเกิดประโยชน์ร่วมในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
จากการตรวจสอบประเด็นยุทธศาสตร์ที่กลุ่มจังหวัดมุ่งเน้นจากผลการประชุม CEO Retreat ครั้งที่ 2 ใน 5 กลุ่มจังหวัดภาคอีสาน และ 1 กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ ที่เส้นทางผ่าน รวมทั้งสิ้น 24 จังหวัด พบว่ามียุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นด้านการค้าการลงทุน จำนวน 5 กลุ่มจังหวัด ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม จำนวน 2 กลุ่มจังหวัด ด้านการเกษตร โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ จำนวน 3 กลุ่มจังหวัด และด้านการท่องเที่ยว จำนวน 4 กลุ่มจังหวัด ซึ่งจะสอดคล้องกับมติ ครม. สัญจรที่เกี่ยวข้องดังนี้
1. มติ ครม.สัญจร ณ จังหวัดกาฬสินธุ์ วันที่ 4 ตุลาคม 2548
ยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด 6.2 (สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร)
- การร่วมมือการผลิตสินค้า ประเทศเพื่อนบ้าน
- การผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตร
- ศูนย์กลางการพักและกระจายสินค้า
- เส้นทางรถไฟ
2. มติ ครม. สัญจร ณ จังหวัดเลย วันที่ 10 มกราคม 2549
ยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด 6.1 (อุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู เลย)
- Contract farming
- สินค้าเกษตร 10 รายการ ได้แก่ ถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ละหุ่ง มันฝรั่ง ข้าวโพดหวาน เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ยูคาลิปตัส ถั่วลิสง ลูกเดือย และถั่วเขียวผิวมัน
- การค้า / การท่องเที่ยว
3. มติ ครม.สัญจร ณ จังหวัดสุโขทัย วันที่ 19 ธันวาคม 2548
ยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด 2.2 (พิษณุโลก สุโขทัย ตาก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์)
- Logistics
- เพิ่มมูลค่าภาคการเกษตร และอุตสาหกรรมอาหารด้วยเทคโนโลยีและฐานความรู้ (Value Chain)
- พัฒนาและสร้างสรรค์มูลค่าการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ศาสนา และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์
4. มติ ครม. สัญจร ณ จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549
ยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด 1.1 (กลุ่มล้านนา)
- การพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดน
- เพิ่มมูลค่าโดยใช้เทคโนโลยี
- อุตสาหกรรมสะอาด
ดังนั้น จึงกำหนดกรอบประเด็นยุทธศาสตร์ EWEC ไว้ 3 ประเด็น คือ 1) การค้า-การลงทุน 2) การท่องเที่ยว-การบริการ 3) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ภายใต้ปรัชญา 3 C ที่ ADB และสภาพัฒนาเศรษฐกิจ
และสังคมแห่งชาติ
ได้กำหนดไว้ คือ Community, Connection, Competitiveness อย่างไรก็ตาม การดำเนินการควรอยู่บนพื้นฐาน
ของความไว้เนื้อเชื่อใจและการประสานประโยชน์อย่างเท่าเทียม
3. ประเด็นยุทธศาสตร์การค้า การลงทุน ตามแนวเส้นทาง EWEC |
- สิ่งที่คาดว่าจะเกิดคือ เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และจังหวัดมุกดาหาร
- จังหวัดพิษณุโลกจะมีศูนย์โลจิสติกส์ เชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมทางน้ำกับจังหวัดนครสวรรค์ และเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวกับจังหวัดสุโขทัย
- จากภาคเหนือข้ามมายังภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีศูนย์โลจิสติกส์ที่จังหวัดขอนแก่นเชื่อมโยงกับจังหวัด
นครราชสีมา และเชื่อมโยงเส้นทางการบินกับจังหวัดอุบลราชธานี และอุดรธานี
- ในการวิเคราะห์ประเด็นยุทธศาสตร์ที่โดดเด่นของภาคอีสานพบว่า มีหลายประเด็นที่โดดเด่นและสอดคล้อง
กับยุทธศาสตร์ของรัฐบาล เช่น ครัวของโลก ข้าวหอมมะลิ ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ การค้าชายแดน การแปรรูปสินค้าเกษตร และ Contract farming ดังนั้น โอกาสในการพัฒนาคือ การส่งเสริมกิจกรรม Contract Farming อย่างต่อเนื่อง พัฒนาเขตเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับศักยภาพของจังหวัด สนับสนุนเรื่องนิคมอุตสาหกรรม และพัฒนาแหล่งพลังงานให้สอดคล้องกับความต้องการพลังงานของโลก
4. ประเด็นยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวและบริการ |
กลุ่มจังหวัดภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีศักยภาพในการพัฒนาหลายมิติ เช่น เส้นทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เส้นทางธรรม เส้นทางมรดกโลก เส้นทางท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และนิเวศน์ มีสินค้าการท่องเที่ยวที่มีคุณค่าและหลากหลาย
ประเด็นของการพัฒนาศักยภาพคือ ทำอย่างไรจึงจะส่งเสริมเส้นทางนี้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม และส่งเสริมเส้นทางการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะมีขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน ต้องพัฒนา Cluster ท่องเที่ยวที่เข้มแข็ง การพัฒนาบุคลากรทางการท่องเที่ยว ที่พัก ศูนย์การประชุม ศูนย์ข้อมูลทางการท่องเที่ยว รถเช่า การขายของที่ระลึก
5. ศักยภาพการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ |
ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีมหาวิทยาลัย โรงพยาบาล และศูนย์การแพทย์มากกว่า 50 แห่ง มีสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน ศูนย์ฝึกอบรม สถานีวิจัย/ทดลอง ของส่วนราชการมากกว่า 40 แห่ง มีศูนย์เรียนรู้ ปราชญ์ชาวบ้าน วิทยาลัยชุมชน ศูนย์ฝึกวิชาชีพ ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จะทำให้มีโอกาสอย่างมากในการสนับสนุน ส่งเสริม สร้างโอกาสทางการศึกษา และสนับสนุนการเรียนรู้ร่วมกันกับประเทศเพื่อบ้าน สนับสนุนส่งเสริมด้านการสาธารณสุขกับประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในภาคประชาชน
6. แผนที่ทางยุทธศาสตร์ และ Value Chain |
ภาพรวมยุทธศาสตร์การทำงานร่วมกัน สามารถนำเสนอเป็นแผนที่ยุทธศาสตร์ EWEC ดังนี้
|
วิสัยทัศน์ |
เส้นทางเชื่อมโยงสังคม เศรษฐกิจ บนพื้นฐานแห่งมิตไมตรี |
|
ประเด็นยุทธศาสตร์ |
การค้าและการลงทุน การท่องเที่ยวและการบริการ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ |
|
คุณค่า |
เพื่อสร้างคุณค่าความไว้เนื้อเชื่อใจ และประสานประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน |
จะสร้างคุณค่าได้ ต้องเกิดความร่วมมืออย่างเน่นแฟ้น เพื่อผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เหมาะสม ต้องมีกิจกรรมสัมพันธไมตรีเพิ่มขึ้น มีกิจกรรมที่ส่งเสริมมูลค่าการค้าการลงทุนสูงขึ้น และกิจกรรมและมูลค่าธุรกิจการบริการและการที่องเที่ยวเพิ่มขึ้น สร้างความเข้มใจและความพึงพอใจของภาคส่วนต่างๆ สร้างจุดแวะพัก ศูนย์กระจายสินค้า และบริการบนเส้นทาง EWEC พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ประเด็นสุดท้ายที่สำคัญคือ สร้างทีมงานที่เป็น Team Thailand พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของfunction และarea สร้างความรู้ความเข้าและทัศนคติจากทุกภาคส่วนในการสานสัมพันธไมตรีกับประเทศเพื่อนบ้าน ประสานยุทธศาสตร์และเป้าหมายการทำงานร่วมกันที่เชื่อมโยงระหว่าง กระทรวงและกลุ่มจังหวัด/จังหวัด ที่สอดคล้องกัน
ข้อเสนอสิ่งที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนสำหรับ 2 ซีอีโอ (นำเสนอโดย Value Chain : EWEC)
1) กิจกรรมส่งเสริมสัมพันธไมตรี
2) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
3) การท่องเที่ยว
4) การค้าการลงทุน
การบริหารความเสี่ยง (Risk Management)
- การเมือง
- ความมั่นคง
- ยาเสพติด / อาชญากรรม
- แรงงาน / ค้ามนุษย์
- โรคระบาด
- การจัดการทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม
7. ยุทธศาสตร์ EWEC (Blue Ocean Strategy) และโครงการสำคัญ |
กลยุทธ์การส่งเสริมการทำงานร่วมกัน ไม่เน้นการแข่งขันระหว่างกลุ่มจังหวัด และการแข่งขันระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบด้วยกิจกรรมดังนี้
- กิจกรรมสร้างสรรค์ กิจกรรมภาคประชาชน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวัฒนธรรม
- กิจกรรมขจัดความไม่ไว้วางใจ เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติ และความรู้สึก
- การลดกฎ ระเบียบ และพิธีการที่เป็นอุปสรรคทางการค้า
- การเพิ่มพูนสัมพันธไมตรี และเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์-ทุนสังคม
ข้อเสนอโครงการสำคัญและเร่งด่วน
- ระดับจังหวัด
* การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างเมืองคู่แฝดให้ต่อเนื่อง
* ภาคประชาชน
* ภาคราชการธุรกิจเอกชน
- ระดับกลุ่มจังหวัด-ภาค
* การส่งเสริมกิจกรรม Road Show
* การพัฒนายุทธศาสตร์ให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกัน
- ระดับประเทศ
* กำหนดนโยบาย EWEC และเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่ให้ชัดเจน
* มีคณะกรรมการการบริหาร แลระบบสนับสนุนที่ชัดเจน
|
นายธานินทร์ ผะเอม ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กล่าวถึงเรื่องยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือในอนุภูมิภาค : การขับเคลื่อน EWEC โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค
เรามีแผนงานความร่วมมือร่วมในอนุภูมิภาคที่สำคัญ ได้แก่ แผนงาน
การพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี เจ้าพระยา แม่โขง (ACMECS) |
|
โดยแผนงานการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) มีกรอบความร่วมมือใน 9 สาขา ได้แก่ การคมนาคมขนส่ง การพลังงาน การโทรคมนาคม การอำนวยความสะดวก การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การเกษตร ซึ่งผลของการพัฒนามีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เห็นชัดเจน แต่อย่างไรก็ดี ยังมีปัญหาและข้อจำกัดเกิดขึ้น และมีแนวโน้มรุนแรง ซึ่งเกิดจาก 3 ประเด็นหลัก ได้แก่
- ความแตกต่างของระดับการพัฒนาทางสังคมและช่องว่างทางเศรษฐกิจ
- ประวัติศาสตร์ในยุคสงครามเย็น ส่งผลให้ประเทศไม่ไว้เนื้อเชื่อใจและไม่ไว้ใจกันในบางกรณี
- การพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงยังเป็นไปในลักษณะที่ไม่ก่อให้เกิดความสมดุลทางเศรษฐกิจและสังคม
สำหรับยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี เจ้าพระยา แม่โขง (ACMECS) เป็นการดำเนินการระหว่างประเทศที่มีชายแดนติดกัน เพื่อลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและสร้างความแข็งแกร่งภายใน โดยความร่วมมือ 5 สาขา ได้แก่ การอำนวยความสะดวกการค้าการลงทุน ความร่วมมือด้านการเกษตร อุตสาหกรรม การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม การท่องเที่ยวและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีการพัฒนา Sister City เป็นฐานผลิตด้านอุตสาหกรรม การค้า การท่องเที่ยวระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน สนับสนุนการย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมจากไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
EWEC กับความก้าวหน้าในการเชื่อมโยง 4 ประเทศ
เมื่อ EWEC สามารถดำเนินการแล้ว จะสามารถเชื่อมโยงภูมิภาคและกระตุ้นการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งความก้าวหน้าในการเชื่อมโยงอนุภูมิภาค EWEC ภาคตะวันออกจะเสร็จในปี 2550 ข้อที่สำคัญแม้ว่าเส้นทาง EWEC จะแล้วเสร็จและจะทำให้เราได้เส้นทางการค้าสำคัญมา แต่ก็ใช่ว่าเราจะมุ่งแต่พัฒนาเส้นทางหลักนี้จนลืมเส้นทางอื่นๆ ที่จะมาเชื่อมต่อกับเส้นหลักนี้ ซึ่งมีเส้นทางย่อยๆ อยู่มากมาย ทั้งนี้ หากมีการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องเส้นทางอื่นๆ ที่เชื่อมต่อหรือตัดกับ EWEC จะทำให้เราพบเส้นทางการค้า การลงทุนอีกเป็นจำนวนมาก โครงการอื่นๆ ตามแนวทาง EWEC ได้แก่ Thailand Sukhothai World Heritage Site, Han van Tunnel, Lane Xing Minerals,Ltd (Oxiana) in Lao (PDR)
|
|
ทั้งนี้ EWEC เชื่อมโยงภูมิภาคและกระตุ้นการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม จะต้องมีการร่วมมือพัฒนา Hardware และ Software ตามแนวพื้นที่ เพื่อกระตุ้นการพัฒนาการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การเกษตร อย่างเป็นรูปธรรม
ความเชื่อมโยงกับกรอบแผนฯ 10
เมื่อมีการวางแผนการพัฒนา ควรที่จะนำแผนฯ 10 มาวิเคราะห์และพิจารณาดูว่าแผนฯ 10 เป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง
การเตรียมความพร้อมของไทยต่อการพัฒนา EWEC
เพื่อโอกาสในการลงทุนของไทยใน EWEC แบ่งออกเป็น 3 ประเด็น คือ 1) พื้นที่เป้าหมายและ Cluster ให้มีการพัฒนา Border Node เป็น SEZ และเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับ Cluster 2) โครงสร้างพื้นฐาน สร้างโครงข่ายขนส่งและ Logistics กับเพื่อนบ้าน มีระบบขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และพัฒนาเมืองและวางระบบโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เป้าหมาย 3) นโยบายและกฎระเบียบ ให้มีการผลักดันข้อตกลงระหว่างประเทศ สนับสนุนสิทธิประโยชน์เป็นพิเศษในพื้นที่เป้าหมายในลักษณะ Incentive Package (สิทธิประโยชน์/OSS/แรงงาน)
แนวทางในการขับเคลื่อนระยะยาว
เราควรที่จะยึดทิศทางการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยใช้หลักการพึ่งตนเอง สร้างภูมิคุ้มกัน ใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการประเทศสู่สังคมที่มีความสุขอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดี ยังมีเงื่อนไขความสำเร็จในการส่งเสริมการลงทุน EWEC ในอนาคต คือ การที่รัฐบาลประเทศสมาชิกสามารถดึงดูดและส่งเสริมเอกชน รวมทั้ง Donor เข้าพัฒนาและลงทุนใน EWEC ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการเข้าเป็นหุ้นส่วนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ โดยภาครัฐให้สัมปทานลงทุน ประชาสัมพันธ์และการตลาดร่วมกับรัฐบาล ร่วมทุนพัฒนาโครงสร้าง/ลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย การให้ความช่วยเหลือวิชาการ (TA) เช่น วิจัย การจัดทำระบบฐานข้อมูล เป็นต้น
|
จากนั้นเป็นการระดมสมองเพื่อ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะร่วมกัน ระหว่างเอกอัครราชทูตในประเทศเพื่อนบ้านของไทย กับ ผู้ว่าราชการจังหวัด กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (19 จังหวัด) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง (5 จังหวัด) ผู้แทนจากกระทรวง กลุ่มจังหวัด/จังหวัด นักวิชาการ และภาคเอกชน โดยมี ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ เป็นผู้ดำเนินการประชุม โดยที่ประชุมตกลงกันว่า จะมีการระดมสมองในประเด็นหลัก ได้แก่ ประเด็นทั่วไปเกี่ยวกับ EWEC ประเด็นยุทธศาสตร์ด้านการค้า การลงทุน ประเด็นยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยว ประเด็นยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และีการให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม |
สำหรับประเด็นที่ทางภาคเอกชนมองนั้น สามารถสรุปได้ในประเด็นดังนี้
1. การสร้างเส้นทาง EWEC มีการศึกษาถึงความต้องการที่แท้จริงของคนส่วนใหญ่ใน 5 ประเทศที่เส้นทางจะต้องถึงกันหรือไม่
2. การ Grouping ประเด็นที่ทางรัฐเสนอ เป็นการจัดแบบให้หลักทางภูมิศาสตร์เป็นหลัก ซึ่งแท้จริงแล้วการจัดจะต้องมีการแตกในส่วนย่อยของแต่ละพื้นที่ก่อนและค่อยนำมาจัดกลุ่ม
3. เส้นทาง EWEC ที่เริ่มจากแม่สอดจบที่มุกดาหารในประเทศไทย และเราต่อเส้นทางไปทางตะวันออกไปลงที่ท่าเรือดานังประเทศเวียดนามนั้น ในขณะนี้มีอีกเส้นทางหนึ่งที่นำสินค้าออกทะเลด้านเวียดนามเช่มกัน แต่ไม่มีใครสนใจ นั่นคือทางจังหวัดอุบลราชธานีซึ่งมีเส้นทางที่ใกล้เวียดนามมาก เราสามารถทำเส้นทางนี้เป็นเส้นเชื่อมโยงกับ EWEC ได้หรือไม่
4. จังหวัดกาฬสินธุ์ เห็นว่าหากเส้นทางเกิดขึ้นเราจะนำอะไรไปขาย ดังนั้น จังหวัดที่อยู่ในเส้นทางหรือนอกเส้นทางแต่สามารถหาเส้นทางเชื่อมโยงได้ ต้องพิจารณาลักษณะเด่นของตนเอง
5. หากเกิดเส้นทาง EWEC ขึ้นแล้ว ไม่ทราบว่าท่าเรือแหลมฉบังจะต้องปล่อยร้างใช่หรือไม่ เพราะเป็นการแย่งเส้นทางกัน
6. เมื่อเส้นทางเสร็จ จะมีปัญหาที่สะพานข้ามแม่น้ำโขง รัฐต้องมีระบบ One Stop Service เพื่อลดปัญหาอุปสรรคในการใช้สะพาน และการให้บริการบริเวณสะพานต้องมีความโปร่งใส
7. ปัญหาที่สำคัญคือ เมื่อเส้นทางเสร็จ ต้องมีการเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อบ้าน ความไม่ใจวัฒนธรรมของเขาเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้น ควรศึกษาวัฒนธรรมของแต่ละชาติ และทางรัฐโดยกระทรวงต่างประเทศต้องเข้ามาช่วยเหลือ
ทางด้านกระทรวงการต่างประเทศ ประด้วยเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศเวียดนาม
พม่า ลาว กัมพูชา และกงสุลใหญ่ประจำเมืองต่างๆ ได้ให้ข้อคิดเห็นถึงแนวทางที่เอกชนจะเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน หาก EWEC เป็นรูปธรรม ซึ่งการค้าการลงทุนจะต้องมีเพิ่มมากขึ้น โดยสามารถสรุปประเด็นต่างๆได้ดังนี้
เอกอัคราชทูตไทยประจำเวียดนาม ให้ข้อเสนอแนะว่า เมื่อ EWEC ได้ถือกำเนิดขึ้น ต้องพิจารณาทำประโยชน์จากเส้นทางนี้ให้มากที่สุด คนเวียดนามในปัจจุบันส่วนใหญ่จะมองไปข้างหน้า เขามองว่าเขาจะอยู่ดีกินดีอย่างไร เขาไม่มองปัญหาในอดีตที่เราต่างวิตก เขามองว่าเรามีประโยชน์กับเขามากน้อยแค่ไหน หากเรามีประโยชน์เขาก็จะเข้ามาลงทุนหรือร่วมลงทุน แต่เมื่อเขามองเห็นประเทศอื่นมีความสำคัญกว่า เขาก็จะถอยห่างเราไป ตอนนี้สัดส่วนการส่งออกข้าวของไทยไปฟิลิปปินส์ตกลงจากที่เราเคยครองตลาดกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้เราต้องเสียตลาดนี้ไปให้เวียดนามแทน
จะเห็นว่าเส้นทาง EWEC เป็นเส้นทางที่มาออกทะเลที่เวียดนาม ท่าเรือดานัง ซึ่งเป็นส่วนกลางของประเทศที่ยังไม่เจริญ ไม่มีผู้คนจำนวนมากในแถบนี้ ดังนั้น เมื่อเราสร้างเส้นทางนี้ขึ้นมา อยากให้รัฐมองว่าเราจะได้อะไร เอาอะไรไปขาย และเขาได้อะไร หากเราไม่ได้อะไรจะเปลี่ยนเส้นทางลงใต้ของเวียดนามซึ่งมีการพัฒนาที่ดีกว่านี้ได้ไหม
|
|
สิ่งที่กล่าวมาเป็นการมองให้เห็นว่าตลาดนั้นไม่ใช่ของเรา และหากเราจะมีการสร้างเขตนิคมอุตสาหกรรมแนวชายแดน แล้วนำแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานเช่นเดียวกับที่มาเลเซียทำจะดีกว่าหรือไม่
กลสุลใหญ่ เมืองโฮจิมินท์ กล่าวว่า ถึงเวลาที่เราต้องประเมินเชิงลึกว่า เส้นทางมีประโยชน์ตรงไหน ต้องดูว่าแต่ละประเทศมีความพร้อมแค่ไหน ที่ท่าเรือดานังซึ่งเราหวังว่าจะเป็นแหล่งส่งสินค้าไปประเทศแถบแปซิฟิก ที่ที่รับตู้คอนเทนเนอร์ได้เพียงปีละ 30,000 ตู้เท่านั้น หากมีการมองและวางแผนว่า เวียดนามกำลังจะเกิดท่าเรือเล็กๆ น้อยๆ ตลอดชายฝั่ง เราไม่ควรจะไปเจาะจงที่เดียว แต่ควรกระจายไปยังจุดอื่นๆ ด้วย และที่สำคัญต้องศึกษาด้วยว่า ท่าเรือดานังมีศักยภาพจริงหรือไม่ เพราะท่าเรือที่นี่มีคุณภาพที่ต่างกัน
นอกจากนี้การที่เราจะลงทุน เรารู้จักประเทศเพื่อนบ้านดีแค่ไหน ปัญหาคือตอนนี้เรา (รัฐ) พยายามทำให้เขาชอบเรา แต่แท้จริงเราต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ในการสร้างให้เขาชอบเรา เราต้องให้ประชาชนรู้จักประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น
เอกอัคราชทูตไทยประจำย่างกุ้ง กล่าวว่า ตอนนี้เรากำลังแสวงหาผลประโยชน์จากประเทศเพื่อบ้านอยู่หรือไม่ เส้นทางนี้จะใช้ประโยชน์เพียงในท้องถิ่นเท่านั้น หรือหากคิดเช่นนั้นเราก็พลาด
|
เอกอัคราชทูตไทยประจำเวียงจันทน์ สำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนในลาวมักจะเกิดปัญหาและอุปสรรคมาก เพราะไม่คิดจะศึกษาว่าลาวเป็นอย่างไร เรามองว่าลาวคือไทยเพราะพูดจาใกล้เคียงกัน ฟังกันออก แต่แท้ที่จริงเราฟังกันไม่รู้เรื่องและตีความกันผิดเป็นประจำ นักธุรกิจที่จะไปลาวต้องมองว่าเราเป็นคนละประเทศ เราต้องรู้กฎระเบียบให้แน่ชัด การที่จะเข้าพบผู้ใหญ่ในลาวนั้น เขาพบง่ายเพราะเขาเปิดโอกาสให้เข้าพบ แต่ใน 100 คน คนที่จะช่วยในการสานต่อธุรกิจมีเพียง 2 เท่านั้น ดังนั้น การหาพันธมิตรในลาวตัวปลอมค่อนข้างมาก นักลงทุนควรปรึกษากับรัฐก่อน ระบบอำนาจในลาวก็ต้องเข้าใจว่าในพื้นที่การปกครองเขามีใครใหญ่สุด รองลงมาเป็นมาใคร เพราะการปกครองของลาวต่างกับไทย ง่ายๆ คือ อัยการสูงกว่าประธานศาลฎีกา และการลงทุนอย่ากระจุกตัวแค่ไม่กี่เมือง ต้องกระจายไปให้ทั่ว |
และนี่คือประเด็นสรุปที่เอกอัครราชทูต CEO ได้ร่วมหารือกับทางเอกชนไทย และผู้ว่าฯ CEO ที่มักจะเน้นในเรื่องปัญหาการเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านของนักธุรกิจไทย
ต่อจากนั้นเป็น การประชุมหารือระหว่างเอกอัครราชทูตในประเทศเพื่อนบ้านของไทยกับ ผู้ว่าราชการจังหวัด กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (19 จังหวัด) และกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง (5 จังหวัด) เพื่อสรุปผล และเตรียมการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย โดย ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ เป็นผู้ดำเนินการประชุม ซึ่ง การประชุมนี้ไม่มีเอกชนเข้าร่วม โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ นำเสนอปัญหาดังนี้
1. เมื่อเอกชนไปกับภาครัฐเพื่อเจรจาการค้ากับต่างประเทศ มักได้รับการต้อนรับอย่างดี แต่เมื่อเอกชนไปเองกลับไม่ได้รับความสะดวก ปัญหาดังกล่าวควรมีหน่วยงานดูแลตรงนี้อย่างไร
2. ผู้ประกอบการแต่ละจังหวัดยังไม่เข้มแข็ง ขาดงบประมาณ รัฐเองก็เข้าไปช่วยไม่ได้
3. เรื่องการทำข้อตกลงระหว่างท้องถิ่นด้วยกัน เมื่อเขาร้องขอให้ช่วยทำถนน เมื่อจังหวัดไปทำ กระทรวงต่างประเทศได้ทักท้วงว่าทำไมไม่บอกก่อน ตรงนี้ผู้ว่าฯ มีอำนาจในการดำเนินการได้เลยหรือไม่จะได้ไม่ล่าช้า
รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย กล่าวว่า ในเรื่องการทำข้อตกลงบ้านพี่เมืองน้องนั้น ทางสุโขทัยก็ได้ทำกับเมืองซานสีของจีน ซึ่งเขาให้ความสำคัญมาก เมื่อเราไปพบ เขาให้การต้อนรับอย่างดี แต่ปัญหาเกิดขึ้นที่จังหวัดเมื่อถึงคราวต้องรับตอบ ทางจังหวัดไม่รู้ว่าจะต้องจัดการอย่างไร ซึ่งหากกระทรวงการต่างประเทศมีข้อมูลหรือระบบพิธีการอะไร ควรบอกให้ทางจังหวัดได้รู้บ้าง เพราะจีนเขามีระบบการจัดการที่ดี สารนิเทศของเขาลงมาจัดการเรื่องนี้อย่างเต็มที่ แต่ของเรากระทรวงการต่างประเทศไม่ได้เข้ามาช่วยเหลือ อีกทั้งเรื่องข้อมูลของประเทศ ที่เราจะต้องติดต่อนั้น ทางจังหวัดไม่มีข้อมูลจำพวกนี้
|
ทางด้าน เอกอัคราชทูตไทยประจำย่างกุ้ง ให้ข้อเสนอแนะว่า การที่ภาคธุรกิจของไทยจะไปต่างประเทศ ให้ประสานกับกระทรวงการต่างประเทศและกำหนดการไม่ควรที่จะเลื่อนบ่อยๆ เพราะปัญหาคือการนัด ในต่างประเทศการนัดไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เวลาไปแล้ว หากนักธุรกิจหรือใครต้องไปดูงาน ควรจะแยกออกเป็นกลุ่มย่อยๆ ไม่ใช่ไปเป็นกลุ่มใหญ่ เพราะคนที่ไม่อยากไปก็มี ที่สำคัญ การไปมากๆ ต้องใช้รถคันใหญ่ไม่สะดวกกับการเดินทาง
อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องการฝากไว้คือ การไปขายของในต่างประเทศ ต้องรู้จักมองหาสินค้ากลับมาขายด้วย ไม่ใช่ไปขายอย่างเดียว เพราะการที่นำของกลับมาขายจะได้กำไรมากกว่า |
เอกอัคราชทูตไทยประจำกรุงปักกิ่ง กล่าวในประเด็นการที่จังหวัดไปทำข้อตกลงบ้านพี่เมืองน้องนั้น เรื่องนี้จีนให้ความสำคัญมาก ซึ่งมีหลายจังหวัดที่ไปทำข้อตกลงแล้วเงียบไป ซึ่งทางจีนก็พยายามสอบถาม การทำข้อตกลงไม่ใช้ความสำเร็จที่จังหวัดได้รับ แต่การพัฒนาไปสู่การลงทุนหรืออะไรก็แล้วแต่เป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งทางจังหวัดควรมีหน่วยงานดูแลเรื่องนี้โดยตรง แม้ว่าผู้ว่าฯ จะเปลี่ยนแต่โครงการก็ต้องอยู่
เอกอัคราชทูตไทยประจำเวียงจันทน์ กล่าวเสริมในประเด็นการทำข้อตกลงบ้านพี่เมืองน้องในลาวว่า จังหวัดควรเลือกพื้นที่ที่จะทำให้มีเส้นเขตแดนใกล้กัน เพราะหากท่านเลือกพื้นที่ไกลแขวงเขาจะไม่มีอำนาจเพราะอยู่นอกเหนืออำนาจในการตัดสินใจ
ช่วงสุดท้ายของการประชุมวันแรก นางสาวพรพิมล รัตนพิทักษ์ รองเลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวว่า การที่จะทำให้สิ่งที่หารือกันในวันนี้ เกิดขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะ ROC (Regional Operation Center) หรือ ศูนย์ปฏิบัติการร่วม ที่จะเข้ามาช่วยในการเสริมศักยภาพเส้นทาง EWEC เราจะต้องการวัดความสำเร็จการทำงานของ ROC โดย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และจังหวัด ต้องให้ความร่วมมือทำให้ที่นี่เป็นพื้นที่นำร่อง
การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นั้น จริงๆ แล้วต้องอยู่ที่ความไว้เนื้อเชื่อใจ โดยเชื่อมโยงกับ ROC ระบุออกมาชัดเจน กำหนดวิธีวัดความสำเร็จ ซึ่งจะไม่วัดยากมาก โดยจะมีการหารือกันว่า การจัดทำกรอบการ
ประเมินผลตัวชี้วัดตามคำรับรองฯ ในปี 2550 ของจังหวัดในส่วนมิติด้านประสิทธิผล อาจจะมีตัวชี้วัดนี้ขึ้นมา แต่จะเป็นตัวช่วยจังหวัดไม่ใช่เป็นตัวฉุดคะแนนของจังหวัด |
|
การประชุมเชิงปฏิบัติการ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยใช้เส้นทางเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจแนวตะวันออก - ตะวันตก (East West Economic Corridor) ร่วมกันระหว่างเอกอัครราชทูตแบบบูรณาการในประเทศเพื่อนบ้านของไทย กับผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (19 จังหวัด) และกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง (5 จังหวัด) ยังมีประเด็นและกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น การรายงานผลการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างเอกอัครราชทูต CEO และผู้ว่าฯ CEO ข้อเสนอแนะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเลขาธิการ ก.พ.ร.