มติคณะรัฐมนตรีวันอังคารที่ 18 กรกฎาคม
2549
ที่เกี่ยวข้องกับสำนักงาน ก.พ.ร.
การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 18 กรกฎาคม
2549 ณ ห้องประชุม ชั้น 2 ตึกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหลังใหม่
ทำเนียบรัฐบาล ได้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานของสำนักงาน ก.พ.ร.
จำนวน 3 เรื่อง ดังนี้
เรื่องที่ 1
ขั้นตอนการจัดตั้งองค์การมหาชน |
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบขั้นตอนการจัดตั้งองค์การมหาชน
ตามมติคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ครั้งที่ 4/2549 วันที่ 8
มิถุนายน 2549 ตามที่ สำนักงาน ก.พ.ร.
เสนอ ทั้งนี้ให้สำนักงาน ก.พ.ร. รับความเห็นของกระทรวงการคลัง
และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
รวมทั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมของสำนักงบประมาณไปพิจารณา
ก่อนดำเนินการแจ้งเวียนให้ส่วนราชการถือปฏิบัติต่อไปด้วย
สำนักงาน
ก.พ.ร. รายงานว่าในการประชุม ก.พ.ร. ครั้งที่ 4/2549 เมื่อวันที่ 8
มิถุนายน 2549 ได้พิจารณาเรื่องขั้นตอนการจัดตั้งองค์การมหาชนแล้ว
มีมติเห็นชอบกับข้อเสนอของ อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนา
องค์การมหาชนและองค์กรรูปแบบอื่นในกำกับของราชการฝ่ายบริหารที่มิใช่ส่วนราชการที่มอบให้สำนักงาน
ก.พ.ร. แจ้งเวียนหนังสือให้กับส่วนราชการ
เพื่อซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการจัดตั้งองค์การมหาชนและถือปฏิบัติใหม่
โดยให้เสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนดำเนินการแจ้งเวียนขั้นตอนดังกล่าวแก่ส่วนราชการ
สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ความหมายขององค์การมหาชน
องค์การมหาชนในที่นี้ครอบคลุมองค์การมหาชน 2
รูปแบบคือ 1)
องค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.
2542 2)
หน่วยงานในกำกับของกระทรวงที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะ
ซึ่งมีภารกิจในการให้บริการสาธารณะเช่นเดียวกับองค์การมหาชนตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน
พ.ศ. 2542
ภารกิจของรัฐที่ไม่อาจจัดตั้งเป็นองค์การมหาชน 1)
ภารกิจด้านการกำหนดนโยบาย 2)
ภารกิจในการกำหนดหลักเกณฑ์
กฎระเบียบและข้อบังคับเพื่อใช้บังคับต่อหน่วยงานอื่น
และประชาชน 3)
ภารกิจที่เป็นบริการสาธารณะเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมที่แสวงหารายได้เป็นหลัก 4)
จำเป็นต้องใช้อำนาจรัฐที่กระทบกับสิทธิ
เสรีภาพของประชาชนเพื่อดำเนินภารกิจของหน่วยงาน
(เฉพาะกรณีองค์การมหาชนตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542)
2. ข้อเสนอขั้นตอนการจัดตั้งองค์การมหาชน
2.1 หลักการ
|
1)
ยืนยันขั้นตอนการขอจัดตั้งองค์การมหาชนตามหนังสือเวียนสำนักงานก.พ.ร.
ที่ นร 1204.1/ว 3 ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2547
ที่กำหนดให้ส่วนราชการต้องเสนอ
ขอจัดตั้งองค์การมหาชนต่อ ก.พ.ร.
ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี
2)
กำหนดให้ส่วนราชการระดับกระทรวงที่จะขอจัดตั้งองค์การมหาชน จัดทำ
ข้อเสนอของจัดตั้งองค์การมหาชนประกอบด้วย เหตุผลความจำเป็นภารกิจที่จะดำเนินการ
ร่างแผนการดำเนินงาน ผลลัพธ์ ผลผลิต ในระยะเวลาปีที่ 1-3
ของการจัดตั้งองค์การมหาชน เพื่อเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างองค์การมหาชน
กระทรวง ก.พ.ร. และคณะรัฐมนตรี
ซึ่งจะนำมาใช้ในการประเมินผลเมื่อดำเนินการครบ 3 ปี
ร่างแผนการเงินในระยะแรก แผนการจัดตั้งหรือแผนการถ่ายโอน
และร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเสนอ ก.พ.ร.
ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี
3)
กำหนดเป็นเงื่อนไขในการขอจัดตั้งว่ากระทรวงต้องเสนอเอกสารประกอบคำ
ขอจัดตั้งอย่างครบถ้วนทุกข้อ
จึงจะสามารถนำเรื่องเสนอต่อ ก.พ.ร. รวมทั้งต้องแนบมติ ก.พ.ร.
พร้อมกับการนำเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา
4)
กำหนดเวลาการพิจารณาแล้วเสร็จของ ก.พ.ร. ภายใน 45 วันทำการ
(กรณีได้รับเอกสารครบถ้วนสมบูรณ์)
|
2.2 รายการคำชี้แจง (Check
list) ประกอบการขอจัดตั้งองค์การมหาชน
ในการขอจัดตั้งองค์การมหาชน
ให้กระทรวงที่ประสงค์จะขอจัดตั้งองค์การมหาชนจัดทำรายละเอียด
ประกอบการพิจารณา
ตามแบบคำชี้แจงประกอบการขอจัดตั้งองค์การมหาชน
โดยมีสาระที่ครอบคลุมในเรื่องต่อไปนี้
1) เหตุผลความจำเป็นในการขอจัดตั้ง
ต้องระบุเหตุผลความจำเป็นของงานที่จะจัดตั้งเป็นองค์การมหาชนให้ชัดเจน
ได้แก่
เมื่อจัดตั้งขึ้นแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล
ยุทธศาสตร์ของชาติในด้านใด
เหตุใดจึงจำเป็นต้องจัดตั้งเป็นหน่วยงานในรูปแบบองค์การมหาชน
เหตุผลของการที่องค์กรรูปแบบส่วนราชการไม่สามารถดำเนินภารกิจนั้น ๆ ได้
รวมทั้งเหตุผลของการที่ไม่จัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจ
หรือหน่วยงานบริการรูปแบบพิเศษ
ตลอดจนเหตุของการไม่สามารถถ่ายโอนให้เป็นภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
หรือให้ภาคเอกชนดำเนินการ
เหตุผลที่แสดงว่าการจัดตั้งเป็นองค์การมหาชนจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการบริหารราชการ
สามารถแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องในการดำเนินงานที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
และ/หรือสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงในบริบท ต่าง ๆ
ที่เกี่ยวข้องได้อย่างไร
และประชาชนจะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นอย่างไร
2) ภารกิจที่จะดำเนินการ
บทบาทขององค์การมหาชน
ต้องระบุให้ชัดเจนว่า
องค์การมหาชนที่จะจัดตั้งมีกรอบภารกิจอะไรบ้างที่จะดำเนินการ
บทบาทขององค์การมหาชนนั้นคืออะไร มีอำนาจหน้าที่อย่างไร
มีความแตกต่างจากการดำเนินกิจการส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่น ๆ
ของรัฐที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกันอย่างไร
ต้องจำแนกภารกิจให้ชัดเจนว่า ภารกิจใดเป็นภารกิจขององค์การมหาชน
ภารกิจใดเป็น ภารกิจของส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานอื่น
ๆ
และมีระบบการดำเนินงานและระบบความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ
และภาคเอกชนอย่างไร
ทั้งนี้
ในกรณีที่จะจัดตั้งเป็นองค์การมหาชนตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.
2542 ต้องเป็นภารกิจที่สอดคล้องกับมาตรา 5
แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542
สำหรับองค์การมหาชนที่จะจัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะจะต้องแสดงเหตุผลความ
จำเป็นของการที่ต้องใช้อำนาจรัฐในการกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามภารกิจของหน่วยงาน
3) ร่างแผนการดำเนินงานขององค์การมหาชน
หมายถึงร่างแผนกลยุทธ์ (strategic plan)
และแผนธุรกิจ (business plan) หรือแผนดำเนินการงานขององค์การมหาชน
ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์เป้าหมาย ผลผลิต ผลลัพธ์ ตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน
จำแนกเป็นรายปี ในระยะเวลาปีที่ 1-3 ของการจัดตั้งองค์การมหาชน
เพื่อแสดงแผนที่เดินทาง (road map)
ของการดำเนินภารกิจขององค์การมหาชน
ซึ่งจะถูกกำหนดเป็นข้อตกลงระหว่างคณะรัฐมนตรี
รัฐมนตรีรักษาการตามพระราชกฤษฎีกา และองค์การมหาชน ทั้งนี้
เมื่อครบกำหนด 3 ปีของการจัดตั้ง ก.พ.ร.
มีหน้าที่ในการประเมินและรายงานผลต่อ
คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาความคุ้มค่าและผลสัมฤทธิ์ของการจัดตั้งองค์การมหาชนแห่งนั้น
ทั้งนี้
จะต้องคาดการณ์ถึงกำหนดการยุบเลิกขององค์การมหาชน โดยต้องนำเสนอว่า
องค์การมหาชนที่จะจัดตั้งจะดำเนินการแล้วเสร็จตามเป้าหมายที่กำหนดในระยะเวลากี่ปี
4) ร่างแผนการเงิน (Financial Proposal)
ต้องระบุถึงแผนรายรับว่าที่มาของทุน
และรายได้ที่จะใช้สนับสนุนการดำเนินงานขององค์การมหาชน ในระยะ 5
ปีแรก
โดยให้ระบุรายละเอียดของงบประมาณที่รัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิมหรือเงินอุดหนุนรายปี
เงินอุดหนุนจากภาคเอกชนหรือองค์กรอื่น
สำหรับค่าธรรมเนียมที่จะเรียกเก็บจะต้องระบุรายละเอียดด้วยว่า
จะเรียกเก็บเป็นเงินเท่าใด รวมทั้งรายได้อื่น ๆ
ขององค์การมหาชนจะมาจากทางใดได้บ้าง
ต้องระบุถึงแผนรายจ่ายในรายละเอียดว่า จะใช้เงินปีละเท่าไหร่
โดยเฉพาะในระยะ 5 ปีแรก จะใช้จ่ายเงินในกิจกรรมใด
ผลผลิตของแต่ละกิจกรรมได้แก่อะไรบ้าง
5) แผนการจัดตั้งหรือแผนการถ่ายโอน (Transition Plan)
ให้ระบุแผนการจัดตั้งหน่วยงาน ได้แก่ โครงสร้างองค์กร
กำหนดกรอบอัตรากำลังที่ต้องการในชั้นต้น
ในกรณีที่เปลี่ยนสภาพมาจากหน่วยงานของรัฐเดิม
ให้ระบุว่าเปลี่ยนมาจาก ส่วนราชการหรือหน่วยงานใด
เมื่อจัดตั้งขึ้นแล้วจะมีการยุบเลิกหรือรวมหน่วยงานใดเข้ากับองค์การมหาชน
จะมี การถ่ายโอนภารกิจ กิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ หนี้
สิทธิ ภาระผูกพัน บุคลากร จากส่วนราชการหรือ หน่วยงานใดบ้าง
6)
โครงสร้างการบริหารและการดำเนินกิจการ
ต้องระบุโครงสร้างองค์กรบริหารประกอบด้วย
คณะกรรมการและผู้อำนวยการ โดยต้องระบุองค์ประกอบของคณะกรรมการให้ชัดเจน
สำหรับผู้อำนวยการอาจจะเรียกชื่อตำแหน่งเป็นอย่างอื่นก็ได้
แต่ต้องระบุไว้ในกฎหมายจัดตั้ง
สำหรับกรณีองค์การมหาชนตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน
พ.ศ. 2542 ต้องสอดคล้องกับข้อกำหนดของมาตรา 19 และมาตรา 27
แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542
ระบุวิธีการทำงาน
และแนวทางการดำเนินกิจการ
การบริหารทรัพยากรขององค์การมหาชนที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่
7) ระบบการกำกับและประเมินผล
ต้องระบุบทบาทของรัฐมนตรีในการกำกับดูแลกิจการขององค์การมหาชนและกรอบในการประเมิน
ประสิทธิภาพการทำงานขององค์การมหาชน
8)
ร่างพระราชกฤษฎีกาหรือร่างพระราชบัญญัติจัดตั้ง
ให้หน่วยงานที่จะจัดตั้งเป็นองค์การมหาชนจัดทำร่างกฎหมายจัดตั้งหน่วยงานซึ่งอาจเป็นพระราชกฤษฎีกา
หรือพระราชบัญญัติ
สำหรับกรณีองค์การมหาชนตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน
พ.ศ. 2542 จัดทำร่างพระราชกฤษฎีกา
จัดตั้งองค์การมหาชน
โดยจะต้องมีรายละเอียดตามที่ปรากฏในพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.
2542
9) รายละเอียดอื่น ๆ
ควรมีการรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
(stakeolders) ในภารกิจที่จะจัดตั้งเป็นองค์การมหาชน
โดยเสนอหลักฐานของการสำรวจความคิดเห็น หรือการจัดประชุมสัมมนา
หรือเอกสารอื่น ๆ
ที่แสดงถึงความเห็นที่เป็นทางการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
นอกจากนั้น อาจระบุรายละเอียดอื่น ๆ
ที่เห็นว่าเกี่ยวข้องและจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการพิจารณา
หรือที่เป็นประเด็นสำคัญที่นอกเหนือจากที่ระบุข้างต้น เช่น
นโยบายและแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติที่ เกี่ยวข้องกับองค์การมหาชน
ความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในโครงการ หรือแผนงานสำคัญๆ
การทำบันทึกข้อตกลงในโครงการ
หรือแผนงานความร่วมมือระหว่างองค์การมหาชนกับหน่วยงานอื่น
ข้อมูลเชิงสถิติแสดงปริมาณความต้องการผลผลิตขององค์การมหาชน
เป็นต้น
เรื่องที่ 16
ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน)
พ.ศ. .... |
คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง
สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) พ.ศ. ....
ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ
และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา
โดยรับความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้
ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ
(องค์การมหาชน) พ.ศ. ....
มีสาระสำคัญดังนี้
1.
ให้จัดตั้งองค์การมหาชนขึ้น เรียกว่า สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ
(องค์การมหาชน) เรียกโดยย่อว่า สพภ. โดยให้มีวัตถุประสงค์
ดังต่อไปนี้
1.1
รวบรวม ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย
และจัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและมาตรการ
ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพให้มีประสิทธิภาพและมีความเชื่อมโยงกัน 1.2
เป็นศูนย์กลางข้อมูลเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ
และประสานการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง
ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในการจัดทำแผนปฏิบัติการ แผนงาน โครงการ
หรือกิจกรรมให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ 1.3
สนับสนุน กำกับดูแล
และดำเนินการเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ
และภูมิปัญญาของชุมชนและท้องถิ่น
รวมตลอดถึงการปกป้องสิทธิประโยชน์ของประเทศเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาของชุมชนและท้องถิ่น
|
2. ทุนและทรัพย์สินในการดำเนินงานของสำนักงาน ประกอบด้วย
(1)
เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับโอนมา
(2)
เงินที่รัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิม
(3)
เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามความเหมาะสม
(4)
เงินอุดหนุนจากภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรอื่น
รวมทั้งจากต่างประเทศการระหว่างประเทศ
และเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้
(5)
ค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน ค่าบริการ
หรือรายได้จากการดำเนินกิจการ
(6)
ดอกผลหรือประโยชน์อื่นใด ๆ ที่เกิดจากทรัพย์สินของสำนักงานฯ
|
3.
บรรดารายได้ของสำนักงาน
ไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมาย ว่าด้วยเงิน คงคลัง
และกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
4.
ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า คณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ ประกอบด้วย ประธานกรรมการ
กรรมการโดยตำแหน่ง (ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)
และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกิน 6 คน
5.
ผู้ปฏิบัติงานของสำนักงาน มีสามประเภท
คือ (1)
เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้าง ได้แก่
ผู้ซึ่งปฏิบัติงานโดยรับเงินเดือนหรือค่าจ้างจากงบประมาณของสำนักงาน (2)
ที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่
ผู้ซึ่งสำนักงานจ้างให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นที่ปรึกษาหรือผู้ทรงคุณวุฒิโดยมีสัญญาจ้าง (3)
เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมาปฏิบัติงานในสำนักงานเป็นการชั่วคราว ตามมาตรา
36 แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542
6.
ให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับ
ดูแลการดำเนินการของสำนักงานให้เป็นไปตามกฎหมาย
และให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง นโยบายของรัฐบาล
มติคณะรัฐมนตรีและมติของคณะกรรมการ ที่
คณะรัฐมนตรีกำหนดให้ทำหน้าที่เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ
เรื่องที่ 22
ผลการหารือกับนายกรัฐมนตรีและคณะเรื่อง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ฉบับที่ 10 |
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการหารือกับนายกรัฐมนตรีและคณะเรื่อง
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ
ดังนี้
สืบเนื่องจากการประชุมประจำปีของ สศช.
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2549 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ปาฐกถาพิเศษ
และได้ดำริที่จะหารือกับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของ สศช.
โดยนายกรัฐมนตรีและคณะได้เดินทางมาร่วมหารือกับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่
สศช. ในเรื่อง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10
(2550-2554) เมื่อวันพุธที่ 12 กรกฎาคม 2549 เวลา 10.00-15.00 น. ณ
ตึกสุริยานุวัตร เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันและปรับปรุงให้แผนฯ ฉบับที่
10 สามารถเชื่อมต่อกับการดำเนินงานของกระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ
ในการที่จะนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผลการประชุมสรุปได้ว่า
นายกรัฐมนตรีและคณะมีความเห็นที่สอดคล้องกับแนวคิด ทิศทาง
และกรอบยุทธศาสตร์ ที่ สศช. เสนอ
โดยนายกรัฐมนตรีและคณะได้มีความเห็นเสนอแนะให้ สศช.
ได้ปรับปรุงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 10
ในประเด็นสำคัญเพิ่มเติม ดังนี้
1. การวิเคราะห์สถานะของประเทศ
การกำหนดเป้าหมาย และ การกำหนดแนวทางในการ
ขับเคลื่อนแผนฯ นายกรัฐมนตรีและคณะ
มีความเห็นและข้อเสนอแนะ ดังนี้
1.1
ควรปรับปรุงเรื่องการวิเคราะห์สถานะในปัจจุบันของประเทศ
ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในแต่ละระดับทั้งปัจเจกบุคคล
ครอบครัว ชุมชน และประเทศ ให้มีความชัดเจนมากขึ้น
เพื่อเป็นฐานการวิเคราะห์สำหรับการกำหนดเป้าหมายของประเทศที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น
1.2
การกำหนดเป้าหมายในมิติต่าง ๆ ที่ต้องการบรรลุต้องมีความชัดเจน
และมีตัวชี้วัดที่ประเมินผลการดำเนินงานได้
โดยที่มีการนำเอามาตรฐานสากลและ best practices
มาใช้ประกอบในการกำหนดเป้าหมาย
ทั้งนี้เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อไปยังกระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ
ที่จะนำไปกำหนดเป็นแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic action
plan) ได้ซึ่งจะเป็นการเชื่อมต่อระหว่างการจัดทำแผนฯ ของ สศช.
ไปสู่การปฏิบัติการในระดับกระทรวงได้
และเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนสำหรับภาคเอกชน
|
1.3
การกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนแผนฯ
และการเชื่อมต่อกับกระทรวงเพื่อกำหนดแนวทางในการปฏิบัติในช่วงของการแปลงแผนฯ
ไปสู่การปฏิบัติต้องมีความชัดเจน การกำหนดแนวทาง เครื่องมือ และกลไก
ที่จะใช้เพื่อพัฒนาประเทศไปสู่เป้าหมายที่กำหนดต้องมีความชัดเจน
เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อกับกระทรวงในช่วงของการแปลงแผนฯ
ไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง โดยมีข้อเสนอแนะให้ สศช. ไปดำเนินการ
ดังนี้
(1)
สศช. จัดทำแนวทางในการดำเนินงาน (guidelines)
ของแต่ละยุทธศาสตร์ไว้เป็นภาคผนวกแนบท้ายแผนฯ 10 ประกอบด้วย เป้าหมาย
ตัวชี้วัด การกำหนดแผนงาน/โครงการ และการกำหนดงบประมาณ
ที่จะเป็นข้อมูลที่ใช้ในการจัดทำแผนบริหารราชการแผ่นดิน
(2)
ให้ สศช.
จัดประชุมหน่วยราชการและภาคเอกชนเพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจเกี่ยวกับแผนฯ
10 ในเรื่อง เป้าหมาย ตัวชี้วัด และแนวทางในการขับเคลื่อน
(3)
ให้มีการศึกษาและวิจัยในเชิงลึกต่อไปอย่างต่อเนื่องเพื่อนำมาใช้ประกอบในการกำหนด
แนวทางในการปฏิบัติ
โดย สศช.
กำหนดเรื่องให้ชัดเจนโดยคำนึงถึงลำดับความสำคัญและจัดจ้างที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
|
2.
ความเห็นเกี่ยวกับเนื้อหาสาระและยุทธศาสตร์แผนฯ 10
2.1 ด้านเศรษฐกิจ ในการปรับโครงสร้างการผลิต
ให้วิเคราะห์ภาคการผลิต ออกเป็น 3 ระดับ (tiers) ประกอบด้วย ระดับแรก ขายหยาดเหงื่อและน้ำตา (Sweat and
tear industries/services)
เป็นกลุ่มที่มูลค่าเพิ่มและการสร้างมูลค่าให้สินค้าและบริการมีน้อย
เช่น ผลผลิตภาคเกษตรที่เป็นวัตถุดิบยังไม่มีการแปรรูป
และกลุ่มที่รับจ้างทำของ โดยไม่มี brand และ know how เป็นของตนเอง
อาศัยความได้เปรียบจากการใช้แรงงานเป็นหลัก
ผลตอบแทนที่ได้จึงมีน้อย
ระดับที่สอง ขายหยาดเหงื่อและสมอง (sweat and
brain) เป็นกลุ่มที่มีการใช้องค์ความรู้ และ know how
มากขึ้นกว่าในกลุ่มแรก อาทิ แปรรูปการเกษตร การทำ brand
ของกลุ่มอุตสาหกรรมบ้าง รวมทั้งมีการทำการวิจัยและพัฒนา
ระดับที่สาม ขายสมองและจังหวะโอกาส Brain and
Opportunity ซึ่งเป็นกลุ่มการผลิตที่มีความไวต่อการเปลี่ยนแปลง
(economy of speed) การผลิตและการขายสินค้าและบริการ
(โดยเฉพาะในภาคบริการ)
ที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นและความไว้ใจให้เกิดขึ้นกับลูกค้า (trust and
confidence)
ซึ่งต้องมีการวิจัยและพัฒนาในระดับที่มีความก้าวหน้าและลึกซึ้งเพื่อสนับสนุนการผลิตและการตลาด
การผลิตในระดับนี้จึงสะท้อนถึงระบบเศรษฐกิจที่เป็น Modern capitalism
และสังคมฐานความรู้
2.2 ด้านสังคม ให้พิจารณา (1)
การพัฒนาระบบสุขภาพอย่างครบวงจร ที่มุ่งการป้องกัน การรักษา
และการฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพแข็งแรง
เป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศ (2)
แนวทางการพัฒนาและการบริหารกำลังคนให้สอดคล้องกับโครงสร้างการผลิต
ตั้งแต่ภาคการผลิตในกลุ่มที่มูลค่าเพิ่มและการสร้างมูลค่าให้สินค้าและบริการมีน้อย
กลุ่มแปรรูปการเกษตร การมีตราสินค้าของกลุ่มอุตสาหกรรม
และมีการวิจัยและพัฒนา
และกลุ่มที่ใช้ความรู้และโอกาสในการผลิตสินค้าและบริการ (3)
การสร้างโอกาสการมีงานทำให้ผู้พิการเพื่อเปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง
หลังจากที่ได้ ฟื้นฟูสภาพให้คนพิการที่สามารถพึ่งตนเองได้แล้ว
ควรจัดการฝึกอบรมพัฒนาทักษะและจัดหางานที่เหมาะสมกับศักยภาพให้คนเหล่านี้ได้มีงานทำ
มีรายได้เลี้ยงตนเอง
2.2.1 ด้านสิ่งแวดล้อม
นายกรัฐมนตรีมีความเห็นว่าในเรื่องปัญหาที่ดินทำกิน นั้นเมื่อแผนที่
1:4000 แล้วเสร็จก็จะสามารถยืนยันข้อเท็จจริงของการใช้ที่ดินได้
โดยแนวทางจัดหาที่ดินเพื่อมาจัดสรรให้กับผู้ไร้ที่ทำกินมี 3
แนวทางที่สำคัญ คือ (1)
การจัดสรรใหม่ (reallocate) จากผู้บุกรุกที่ทำกินขนาดใหญ่
แต่ไม่มีเอกสารสิทธิ โดยจะออกเอกสารสิทธิให้ในขนาดที่เหมาะสม
ส่วนที่เหลือจะนำมาจัดสรรให้ผู้ที่ไร้ที่ทำกินรายอื่น ๆ (2)
การ reshape จากการทำแผนที่ 1:4000
จะทำให้สามารถมีข้อมูลพื้นที่ว่างเปล่า เพิ่มขึ้น
ซึ่งจะสามารถนำมาจัดสรรให้ผู้ไร้ที่ทำกินได้ (3)
การจัดหาที่ดินเพื่อนำมาปฏิรูปที่ดิน
ไม่ควรใช้พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมอีกต่อไป
เพราะจะทำให้เกิดปัญหาป่าเสื่อมโทรมมากขึ้น
จึงควรนำที่เอกชนที่ไม่ได้ทำประโยชน์มาดำเนินการ
โดยนำภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้ามาใช้
นอกจากนี้ได้มีความเห็นเพิ่มเติมว่าในการพัฒนาที่ดิน สปก.
ควรมีแนวทางดำเนินการร่วมกับการสร้างอาชีพของเกษตรกร เช่น การทำ
contract farming ระหว่างภาคเอกชนกับเกษตรกรในนิคม สปก. เป็นต้น
2.2.2
ด้านธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการ
นายกรัฐมนตรีและคณะมีความเห็นสอดคล้องตามแนวที่ สศช. นำเสนอ
ในประเด็นที่สำคัญ ประกอบด้วย ประเด็นและเป้าหมายธรรมาภิบาลในแผนฯ 10
ซึ่งประกอบด้วย เรื่อง
การพัฒนาระบบราชการให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
การกระจายอำนาจสู่ภูมิภาคท้องถิ่นและชุมชน โดยมีเป้าหมายในระยะ 5 ปี
ของแผนฯ 10
การเสริมสร้างความเข้มแข็งภาคีการพัฒนาให้มีส่วนร่วมในการบริหารพัฒนาประเทศ
โดยมีเป้าหมายในระยะ 5 ปีของแผนฯ 10 มุ่งสร้างสังคมให้โปร่งใส
การทุจริตคอรัปชั่นลดลง
พิจารณาจากภาพลักษณ์ความโปร่งใสของประเทศและธรรมาภิบาลของเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น
และการพัฒนาวัฒนธรรมประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของวิถีการดำเนินชีวิต
โดยมีเป้าหมายในระยะ 5 ปีของแผนฯ 10 มุ่งให้ประชาชนมีความรู้
ความเข้าใจ มีพฤติกรรมดำเนินวิถีชีวิตตามหลักประชาธิปไตย
และมีการใช้สิทธิในการเลือกตั้งทุกระดับเพิ่มขึ้น
ตลอดจนระบบการเมืองมีเสถียรภาพและโปร่งใส
รวมทั้งเรื่องการกำหนดประเภทการลงทุนที่สำคัญ
เพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดินในระยะต่อไป
ซึ่งได้แก่ รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government)
การฝึกอบรมพัฒนาองค์ความรู้/บริหารจัดการความรู้ (Knowledge
Management) และการวิจัยและพัฒนาวัฒนธรรมประชาธิปไตย
โดยที่นายกรัฐมนตรีและคณะมีความเห็นเพิ่มเติม ดังนี้
(1)
การพัฒนาระบบราชการยังต้องเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะการพัฒนาการให้บริการในรูปแบบ e-government
ซึ่งมีกลไกนโยบายระดับชาติที่สามารถกำกับดูแลในภาพรวม
และบริหารจัดการงบประมาณให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ (2)
การลดขนาดกำลังคนภาครัฐเป็นเรื่องจำเป็น
โดยในระยะยาวอาจจำเป็นต้นปรับลดให้ได้ถึง 30%
จึงควรให้มีการศึกษาวิจัยในทุกส่วนราชการ
เพื่อตรวจสอบอัตรากำลังที่มีอยู่
พร้อมทั้งกำหนดแนวโน้มอัตรากำลังที่เหมาะสม สอดคล้องกับความจำเป็น
|
2.3 ข้อเสนอยุทธศาสตร์ของนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย
2.3.1
การเตรียมกลไกและเครื่องมือเพื่อให้รู้เท่าทันกระแสโลกาภิวัตน์
2.3.2
การปรับโครงสร้างการผลิตโดยการเคลื่อนขึ้นสู่ห่วงโซ่มูลค่าที่สูงขึ้น
2.3.3
การปรับตัวเข้าสู่สังคมฐานความรู้ ซึ่งจะต้องดำเนินการในเรื่อง
การปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปด้านการวิจัย
และการสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
2.3.4
การกำหนดแนวทางในการเข้าถึงแหล่งทุนของระดับต่าง ๆ
ที่จะชี้ถึงความเชื่อมโยงระหว่าง demand และ supply ของภาคการเงิน
ตั้งแต่ระดับ ปัจเจกบุคคล กิจการขนาดเล็ก ธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม
จนถึงระดับธุรกิจขนาดใหญ่ โดยที่มีการกำหนดในเรื่องกฎ ระเบียบ
และข้อกฎหมายต่าง ๆ
เพื่อลดอุปสรรคที่ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างด้านความต้องการและแหล่งระดมเงินทุน
2.3.5
การปรับปรุงด้านการบริหารจัดการของภาคเอกชนและการปฏิรูปภาครัฐ
2.3.6
การสร้างภูมิคุ้มกัน
การพัฒนาระบบการบริหารและการประกันความเสี่ยงในยุคโลกาภิวัตน์
|
กลับหน้าแรก |