การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 มีมติอนุมัติให้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน จำนวน 5 คน
สำหรับ รายชื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มีดังนี้
1. นายสมชัย สัจจพงษ์
2. นายเฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารองค์การมหาชน)
3. นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร
4. นายสุรพล นิติไกรพจน์ (ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารองค์การมหาชน)
5. นายรณภพ ปัทมะดิษ
อนึ่ง พระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติองค์การมหาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 มาตรา 5/1 กำหนดให้มี
คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชนคณะหนึ่ง เรียกโดยย่อว่า “กพม.” ประกอบด้วย ประธานกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เป็นประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวนสี่คน ได้แก่ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และผู้อำนวยการ
สำนักงบประมาณ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกินเจ็ดคน โดยในจำนวนนี้ต้องเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในการบริหารองค์การมหาชนอย่างน้อยสองคน ให้เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการเป็นกรรมการและเลขานุการ ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการเป็นผู้รับผิดชอบในงานธุรการและงานวิชาการของ กพม.
ทั้งนี้ มาตรา 5/8 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน ไว้ ดังนี้
1. เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบในการจัดตั้ง การรวม หรือการยุบเลิกองค์การมหาชน
2. เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดนโยบาย แนวทาง และหลักเกณฑ์กลางที่เกี่ยวกับการจัดตั้ง การรวม การยุบเลิก การบริหารและพัฒนา และการประเมินผลขององค์การมหาชน
3. เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์กลางเกี่ยวกับการสรรหาประธานกรรมการกรรมการในคณะกรรมการ และผู้อำนวยการ
4. เสนอแนะหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน การถือหุ้นหรือการเข้าเป็นหุ้นส่วน การเข้าร่วมทุนในกิจการของนิติบุคคลอื่น และการจำหน่ายทรัพย์สินจากบัญชีเป็นสูญตามมาตรา 18 ต่อคณะรัฐมนตรี
5. เสนอแนะหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการ กรรมการ ที่ปรึกษา กรรมการตรวจสอบ และอนุกรรมการขององค์การมหาชนตามมาตรา 26 รวมทั้งอัตราเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้อำนวยการตามมาตรา ๓๔ ต่อคณะรัฐมนตรี
6. กลั่นกรองการโอนอำนาจหน้าที่ กิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ และงบประมาณของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐให้แก่องค์การมหาชน ที่จะจัดตั้งขึ้นตามมาตรา 9 เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
7. เสนอแนะหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินและบุคลากรขององค์การมหาชนภายหลังการยุบเลิกองค์การมหาชนต่อคณะรัฐมนตรี
8. เรียกให้เจ้าหน้าที่หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงหรือแสดงความคิดเห็นประกอบการพิจารณา
9. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ตามที่มอบหมาย
10. จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับการบริหาร การพัฒนา และการประเมินผลขององค์การมหาชนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
11. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย
ทั้งนี้ คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน ได้มีการประชุมครั้งแรก เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ประธาน ก.พ.ร. เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม ก.พ.ร. ชั้น 5 สำนักงาน ก.พ.ร.