นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม เลขาธิการ ก.พ.ร. เข้าร่วมประชุมงาน Asia Pacific launch of Paying Taxes 2014 ที่จัดขึ้นโดยสำนักงาน PwC และ The World Bank and IFC เพื่อนำเสนอผลการศึกษา “Paying Taxes 2014” โดยเลขาธิการ ก.พ.ร. ยังได้เข้าร่วมอภิปรายถึงแนวทางที่รัฐจะปรับลดภาระด้านการบริหารจัดการสำหรับภาคธุรกิจและความสำเร็จของมาตรการที่ใช้ในปัจจุบัน เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ที่ผ่านมา ณ ห้องแอทธินีคริสตัล ฮอลล์เอ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี
ในช่วงการอภิปราย เลขาธิการ ก.พ.ร. ได้กล่าวถึงแนวทางแก้ไขปัญหาของภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจไว้หลายแนวทาง เช่น จะมีการปรับปรุงขั้นตอนการทำงานของภาครัฐให้มีความชัดเจนขึ้น โดยจัดทำคู่มือการให้บริการสำหรับภาคธุรกิจ ให้หน่วยงานบริการต่างๆ จัดทำ Service Level Agreement (SLA) เพื่อเกิดการประกันคุณภาพการให้บริการ และ แก้ไขกฎระเบียบต่างๆ อย่างกฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ตลอดจน ได้กล่าวถึงการดำเนินการของภาครัฐที่ผ่านมาที่ประสบความสำเร็จ เช่น หลายหน่วยงานมีการนำระบบ IT มาใช้ในการให้บริการ การปรับปรุงขั้นตอนการทำงาน ทำให้สามารถลดขั้นตอนและระยะเวลาการให้บริการลงไปได้เกือบครึ่งหนึ่ง แล้วยังสามารถลดขั้นตอนและระยะเวลาต่อไปได้อีก และปรับปรุงบริการด้านการชำระภาษีโดย พัฒนาระบบการยื่น/ชำระภาษีผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
การศึกษา “Paying Taxes 2014” เป็นผลจากการศึกษาส่วนหนึ่งที่รวมอยู่ในผลการศึกษา “Doing Business by World Bank” ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค โดย Paying Taxes เป็นการศึกษาด้วยการสำรวจเพื่อให้ทราบถึงความยากง่ายในกระบวนการจ่ายชำระภาษีอากรให้แก่รัฐ รวมถึงการจัดอันดับความยากง่ายในกระบวนการจ่ายชำระภาษีอากรของแต่ละประเทศ ซึ่งมีจำนวน 189 ประเทศทั่วโลก โดยจากรายงานผลการวิจัยประเทศที่มีความสะดวกในการเข้าไปประกอบธุรกิจ ประจำปี 2556 (Ease of Doing Business 2014) นั้น ประเทศไทยได้ปรับปรุงบริการด้านการชำระภาษี (Paying Taxes) ทำให้มีอันดับที่ดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากอันดับที่ 96 ในปีที่แล้ว ขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 70 โดยมีตัวชี้วัดในการพิจารณา ได้แก่ จำนวนภาษีที่ต้องจ่าย(รายการ) ระยะเวลาโดยรวมของการจ่ายภาษี (ชั่วโมง) และอัตราร้อยละของภาษีที่ต้องชำระเมื่อเทียบกับรายได้ (% profit) จึงทำให้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความสะดวกในการเข้าไปประกอบธุรกิจ อันดับที่ 18 จาก 189 ประเทศทั่วโลก และจัดอยู่ในอันดับที่ 3 เมื่อเปรียบเทียบในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยรองจากประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย
กลุ่มสื่อสาร ฯ / จัดทำ