ส่วนราชการ / กรมปศุสัตว์
กรมปศุสัตว์
ประจำปีงบประมาณ
ข้อมูลทั่วไป
วิสัยทัศน์
เป็นองค์กรชั้นนำพัฒนาการปศุสัตว์สู่อาเซียนและตลาดโลก
พันธกิจหรือหน้าที่ตามกฎหมาย
1) เสริมสร้างการพัฒนาเพิ่มศักยภาพ และสมรรถนะบุคลากรในกระบวนการปศุสัตว์ไทยให้ได้มาตรฐาน มีความเป็นมืออาชีพ มีความรู้ ความเข้าใจ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เผชิญปัจจัยเสี่ยงและก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economics Community: AEC) ตลอดจนส่งเสริมการสร้างคุณค่า ความสำคัญในอาชีพเกษตรกรด้านการปศุสัตว์ ปรับโครงสร้างการผลิต เน้นการพึ่งพาตนเอง เพื่อยกระดับคุณภาพอาชีพเกษตรกร
2) ปรับปรุงโครงสร้างการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พัฒนาพันธุ์สัตว์ พืชอาหารสัตว์ สุขภาพสัตว์ ควบคู่กับการกำกับดูแลมาตรฐานการผลิตให้มีความน่าเชื่อถือ ตามเงื่อนไขประเทศคู่ค้า และตามหลักมาตรฐานสากล เสริมสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยความคิดสร้างสรรค์ เสริมสมรรถนะ ศักยภาพทางการแข่งขัน กํากับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และสนับสนุนการผลิตให้ได้ปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด
3) พัฒนาระบบสารสนเทศให้มีความเข้มแข็ง เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ครบวงจร เข้าถึงง่ายสะดวก รวดเร็ว ถูกต้องและเป็นธรรม โดยบุคลากรในเครือข่ายของการปศุสัตว์สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง
4) สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม ในเชิงบูรณาการกับภูมิปัญญา และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเป็นฐานแห่งศูนย์กลางแหล่งความรู้ มุ่งสื่อสาร ถ่ายทอดความรู้ไปสู่เกษตรกร ผู้ประกอบการให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ทั้งในเชิงวิชาการ สาธารณสุข การพาณิชย์ และอื่นๆ ได้อย่างยั่งยืน
5) กํากับ ดูแล ตรวจสอบกระบวนการปศุสัตว์ ด้วยกฎหมาย เงื่อนไข กฎระเบียบให้ได้มาตรฐานสากลและความร่วมมือกับต่างประเทศ
เป้าประสงค์หลัก
1) ทรัพยากรมนุษย์ในกรมปศุสัตว์และกระบวนการการปศุสัตว์ไทยมีศักยภาพสมรรถนะเข้มแข็งได้มาตรฐาน พร้อมทั้งมีจํานวนเพียงพอ เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงและปัจจัยเสี่ยงจากความร่วมมือทางการค้าในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economics Community: AEC) รวมทั้งมีความมั่นคงในอาชีพ วิชาชีพ ภูมิใจและพึงพอใจในคุณภาพชีวิตที่ดีตั้งแต่บุคลากรกรมปศุสัตว์ เกษตรกร ผู้ประกอบการ/ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้ที่เกี่ยวข้องกับกรม ปศุสัตว์และการปศุสัตว์ไทย
2) ระบบการผลิตปศุสัตว์ไทยทุกช่วงห่วงโซ่การผลิต มีความสอดรับกับการเปลี่ยนแปลง เป็นมิตรกับ
สิ่งแวดล้อม และได้มาตรฐานตรงตามเงื่อนไขประเทศคู่ค้า มีความร่วมมือกับประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน (ASEAN) สามารถรับมือกับเงื่อนไขทางการค้า มาตรการกีดกันทางการค้าในรูปแบบต่างๆ มีการผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดภายในประเทศ และความต้องการของตลาดภายนอกประเทศ พร้อมทั้งมีระบบการป้องกันโรคและระบบที่เกี่ยวข้องมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ปลอดภัยต่อผู้ผลิตและชุมชน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับกฎหมาย กฎระเบียบและมาตรฐานสากล แข่งขันได้ทุกตลาดอย่างยั่งยืน
3) มีระบบสารสนเทศที่มีความครบถ้วน ทันสมัย ง่ายต่อการเข้าถึง และมีการดำเนินงานเชื่อมโยงกันอย่างบูรณาการ การบริหารจัดการภาครัฐด้านการปศุสัตว์ไทยมีความเข้มแข็งเป็นมืออาชีพในการให้บริการ รวมทั้งมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคลากรกรมปศุสัตว์กับให้ผู้รับบริการ คือ เกษตรกร ผู้ประกอบการ/ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดจนมีการดำเนินงานในลักษณะที่เป็นเครือข่ายเชื่อมโยงได้อย่างเป็นรูปธรรม
4) เป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ด้านการปศุสัตว์ไทย ด้วยการร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย และเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงการวิจัยและนวัตกรรมต่างๆ บนพื้นฐานขององค์ความรู้ทางการปศุสัตว์ไทยที่เข้มแข็ง มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พร้อมเผยแพร่ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการปศุสัตว์ ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน
5) มีบทบาทในการกํากับ ดูแล และตรวจสอบกระบวนการปศุสัตว์ที่ชัดเจนมากขึ้น ด้วยเงื่อนไขข้อ
กฎหมาย กฎระเบียบที่ได้มาตรฐานสากลต่างๆ รวมทั้งข้อบัญญัติในความตกลงความร่วมมือกับต่างประเทศ
ค่านิยมและวัฒนธรรมของส่วนราชการ
“I2-SMART”
I: Innovation มุ่งเน้นนวัตกรรม
I: Integration บูรณาการการทำงาน
S: Standard มีมาตรฐาน
M: Mastery ทำงานอย่างมืออาชีพ
A: Agility คล่องตัวและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง
R: Responsibility รับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ
T: Teamwork มุ่งมั่นในการทำงานร่วมกัน
อำนาจหน้าที่
1) ดําเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ กฎหมายว่าด้วยการบํารุงพันธุ์สัตว์ กฎหมายว่าด้วยการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ กฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลสัตว์ กฎหมายว่าด้วยโรคพิษสุนัขบ้า กฎหมายว่าด้วยการควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
2) ศึกษา วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีด้านการปศุสัตว์
3) ตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ พันธุ์สัตว์พันธุ์พืชอาหารสัตว์อาหารสัตว์ ชีวภัณฑ์และ ชีววัตถุสำหรับสัตว์ ยาสัตว์และวัตถุอันตรายด้านการปศุสัตว์ ระบบการผลิตปศุสัตว์และสินค้าปศุสัตว์ และกระบวนการอื่นที่เกี่ยวข้องในด้านการปศุสัตว์ เพื่อให้ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย
4) ผลิตและขยายพันธุ์สัตว์ น้ำเชื้อ เชื้อพันธุ์ พืชอาหารสัตว์ เสบียงสัตว์ เพื่อการพัฒนาด้านการปศุสัตว์ และผลิต และจัดหาชีวภัณฑ์ เวชภัณฑ์ และชีววัตถุสำหรับสัตว์ เพื่อการควบคุมโรคระบาดสัตว์
5) ควบคุม ป้องกัน กําจัด บําบัด วินิจฉัยและชันสูตรโรคสัตว์ กํากับดูแลสถานพยาบาลสัตว์ และพัฒนาระบบการจัดการด้านสุขภาพสัตว์
6) ส่งเสริม พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการปศุสัตว์ และบริหารจัดการ การประสานความร่วมมือด้านการปศุสัตว์ ทั้งในและต่างประเทศ
7) ดําเนินการอนุรักษ์พันธุกรรมและความหลากหลายทางชีวภาพด้านการปศุสัตว์และป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการปศุสัตว์
8) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมหรือตามที่รัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย