ค่านิยมและวัฒนธรรมของส่วนราชการ
•ค่านิยม
1.คิดริเริ่มและเรียนรู้
•คิดเชิงยุทธศาสตร์ และให้ความสำคัญกับการคิดริเริ่มสร้างสรรค์
•เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการเรียนรู้ด้วยตนเองและตามแผนพัฒนาบุคลากรของสำนักงาน ก.พ.ร.
2.มองไปข้างหน้าและสามารถปรับตัวทันต่อการเปลี่ยนแปลง
•ทำงานเชิงรุก กล้าคิด กล้าทำ ท้าทาย มุ่งความสำเร็จไปข้างหน้าและเปิดมุมมองให้กว้าง
•มีความยืดหยุ่น คล่องตัว รวดเร็วไม่ติดกับความเป็นราชการในแบบเดิม เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เน้นความรวดเร็ว เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ปรับตัวให้ทันโลกทันสมัย
3.ทำงานแบบเครืยึดหลักบูรณาการไร้พรมแดนของหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศและระดับนานาชาติ
•ร่วมเป็นพันธมิตรเครือข่ายการพัฒนาระบบราชการเครือข่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะเครือข่ายผู้นำการบริหารการเปลี่ยนแปลง และกลุ่มพัฒนาระบบบริหารของหน่วยงานต่าง ๆ ในทุกระดับ
4.มีขีดสมรรถนะสูง
•พัฒนาตนเองให้เป็นผู้ปฏิบัติงานที่มีความรู้ความสามารถ (Knowledge Workers) มีขีดสมรรถนะ (competencies) ตรงตามเงื่อนไขที่จำเป็น ทำงานโดยใช้ความรู้ความสามารถหลากหลายมิติ สามารถทำงานได้ด้วยตนเองตั้งแต่ต้นจนจบอย่างคล่องตัวและยืดหยุ่น
•ตั้งเป้าหมายในการทำงาน สามารถวัดผลสำเร็จได้อย่างชัดเจน
•ทำงาน/บริหารงานบนฐานขององค์ความรู้และข้อมูลสารสนเทศ และพัฒนาไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้
•แสวงหาและประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการทำงาน
5.ยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้องและชอบธรรม
•การทำงานยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และยึดประโยชน์สุขของประชาชนเป็นหลัก
•ปฏิบัติตามข้อบังคับสำนักงาน ก.พ.ร. ว่าด้วยจรรยาข้าราชการสำนักงาน ก.พ.ร.
•วัฒนธรรมของส่วนราชการ
สำนักงาน ก.พ.ร. มีวัฒนธรรมการทำงานในการมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน รับผิดชอบต่อผลงานและต่อสังคม ทำงานอย่างทุ่มเทเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย มีการทำงานแบบ Knowledge Workers และก้าวไปสู่องค์กรที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศ (Intelligence Organization) เคารพอาวุโส เน้นการทำงานเป็นทีม การเป็นเครือข่ายและพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ร่วมกับทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ และยึดมั่นในความซื่อสัตย์ สุจริต
•อำนาจหน้าที่ตามกฎกระทรวง
(1) เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการและงานของรัฐอย่างอื่น ซึ่งรวมถึงโครงสร้างระบบราชการ ระบบงบประมาณ ระบบบุคลากร มาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรม ค่าตอบแทน และวิธีปฏิบัติราชการอื่น ให้เป็นไปตามมาตรา 3/1 โดยจะเสนอแนะให้มีการกำหนดเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการก็ได้
(2) เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานอื่นของรัฐที่มิได้อยู่ในกำกับของราชการฝ่ายบริหารตามที่หน่วยงานดังกล่าวร้องขอ
(3) รายงานต่อคณะรัฐมนตรีในกรณีที่มีการดำเนินการขัดหรือไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา 3/1
(4) เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรฐานในการจัดตั้ง การรวม การโอน การยุบเลิก การกำหนดชื่อ การเปลี่ยนชื่อ การกำหนดอำนาจหน้าที่ และการแบ่งส่วนราชการภายในของส่วนราชการที่เป็นกระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการอื่น
(5) เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีในการตราพระราชกฤษฎีกา และกฎที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้
(6) ดำเนินการให้มีการชี้แจงทำความเข้าใจแก่ส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และประชาชน รวมตลอดทั้งการฝึกอบรม
(7) ติดตาม ประเมินผล และแนะนำเพื่อให้มีการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ และรายงานต่อคณะรัฐมนตรีพร้อมทั้งข้อเสนอแนะ
(8) ตีความและวินิจฉัยปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม รวมตลอดทั้งกำหนดแนวทางปฏิบัติ ในกรณีที่เป็นปัญหามติของคณะกรรมการตามข้อนี้ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ให้ใช้บังคับได้ตามกฎหมาย
(9) เรียกให้เจ้าหน้าที่หรือบุคคลอื่นใดมาชี้แจงหรือแสดงความเห็นประกอบการพิจารณา
(10) จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับการพัฒนาและจัดระบบราชการและงานของรัฐอย่างอื่นเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
(11) แต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ตามที่มอบหมาย และจะกำหนดอัตราเบี้ยประชุมหรือค่าตอบแทนอื่นด้วยก็ได้
(12) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย