ส่วนราชการ / กระทรวงการคลัง

กระทรวงการคลัง
Ministry of Finance
ประจำปีงบประมาณ

ข้อมูลทั่วไป

วิสัยทัศน์
เสาหลักทางการคลังและเศรษฐกิจ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
พันธกิจหรือหน้าที่ตามกฎหมาย
1. เสนอแนะและกำหนดนโยบายการคลังและระบบการเงิน
2. เสนอแนะและกำหนดนโยบายภาษี และบริหารการจัดเก็บภาษี
3. เสนอแนะและกำหนดนโยบายรายจ่ายและหนี้สาธารณะ บริหารรายรับรายจ่ายและหนี้สาธารณะ
และบริหารพัสดุภาครัฐ
4. บริหารที่ราชพัสดุ เหรียญกษาปณ์ รัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ และทรัพย์สินอื่น ๆ ของรัฐ
เป้าประสงค์หลัก
เป้าหมายที่ 1 การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ (Narrowing Inequality Gap) 1. การเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่คนฐานราก
2. การขยายระบบสวัสดิการพื้นฐานให้ทั่วถึงและมีคุณภาพ
3. การกระจายรายได้และการถือครองทรัพย์สินอย่างเป็นธรรม
เป้าหมายที่ 2 การสนับสนุนศักยภาพและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน (Enhancing Competitiveness)
1. การสนับสนุนการจัดตั้ง ธุรกิจ การพัฒนาภาคเอกชน ให้เกิดการสร้างมูลค่า (Value Creation)
2. การเชื่อมโยงธุรกิจเพื่อก้าวสู่เศรษฐกิจระดับภูมิภาคและ ระดับโลก
3. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน
เป้าหมายที่ 3 การรักษาความยั่งยืนทางการคลัง (Ensuring Fiscal Sustainability)
1. การเสริมสร้างความมั่นคงทางการคลัง
2. การส่งเสริมความโปร่งใสในการดำเนินงานของภาครัฐ (Anti-Corruption) 3. การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของกระทรวงการคลัง
หน่วยงานในสังกัด
  • สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
  • กรมธนารักษ์
  • กรมบัญชีกลาง
  • กรมศุลกากร
  • กรมสรรพสามิต
  • กรมสรรพากร
  • สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ
  • สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
  • สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

สถานที่ติดต่อ
ถนนพระรามที่ 6 แขวงสามเสนใน พญาไท กรุงเทพฯ 10400
โทร. 02-273-9021   โทรสาร 02-273-9408
http://www.mof.go.th
slink@mof.go.th

อำนาจหน้าที่
กระทรวงการคลังมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเงินการคลังแผ่นดิน การประเมินราคาทรัพย์สิน การบริหารพัสดุภาครัฐ กิจการเกี่ยวกับที่ราชพัสดุ ทรัพย์สินของแผ่นดิน ภาษีอากร การรัษฎากร กิจการหารายได้ที่รัฐมีอำนาจได้แต่ผู้เดียวตามกฎหมายและไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการอื่น การบริหารหนี้สาธารณะ การบริหารและพัฒนารัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ และราชการอื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลังหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงการคลัง

คำรับรองการปฏิบัติราชการ

หมายเหตุ :

ข้อมูลปี 2557

http://www.opdc.go.th/uploads/files/result_peform/2557/government_57/C57_Ministry.pdf

รายงานผลการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ

รายงานผลการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 (รอบ 12 เดือน) ของคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลประจำกระทรวงการคลัง

ผลการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ตามประเด็นการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ ดังนี้

1. การสอบทานกรณีปกติ

          1.1 การตรวจราชการ
ข้อค้นพบ ข้อเสนอแนะ

การตรวจราชการของกระทรวงสาธารณสุขปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการตรวจราชการ พ.ศ. 2548

1.ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ควรจัดให้มีการตรวจราชการแบบบูรณาการร่วมกับผู้ตรวจราชการกรมธนารักษ์ และผู้ตรวจราชการกรมสรรพากร อย่างน้อยปีละ 1 โครงการ/เรื่อง

2. ผู้ตรวจราชการกรมธนารักษ์และผู้ตรวจราชการกรมสรรพากร ควรจัดให้มีการประสานร่วมมือ/ประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นกับผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดของกรมตนเอง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้หน่วยงานปฏิบัติงานได้บรรลุภารกิจเป้าหมายที่กำหนด

3. ผู้บริหารกรมสรรพกร ควรทบทวนบทบาทภารกิจหน้าที่และจัดแบ่งงานให้ชัดเจน มิให้เกิดการตรวจที่ซ้ำซ้อน

4. ผู้บริหารของกระทรวงการคลัง กรมธนารักษ์ และกรมสรรพากร ควรพิจารณาให้การสนับสนุนสำหรับการที่ผู้ตรวจราชการขอรับการสนับสนุนตามความเหมาะสม เพื่อให้ผู้ตรวจราชการในสังกัดฯ สามารถปฏิบัติงานตรวจได้อย่างเต็มศักยภาพ 

          1.2 การตรวจสอบภายใน
ข้อค้นพบ ข้อเสนอแนะ
กรมบัญชีกลางจัดให้มีโครงการประกันคุณภาพงานตรวจสอบภายในภาครัฐ และกำหนดแนวทางการประกันฯ ปี 2555 ซึ่งจะมีการประเมินการประกันฯ โดยในเบื้องต้น หน่วยตรวจสอบภายในในสังกัดกระทรวงการคลังบางหน่วยได้มีการจัดทำกฎบัตรฉบับใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการประกันฯ

หน่วยตรวจสอบภายในในสังกัดกระทรวงการคลังทุกแห่ง ควร เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการประเมินประกันคุณภาพฯ ตามที่กรมบัญชีกลางกำหนด

          1.3 การควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยง
ข้อค้นพบ ข้อเสนอแนะ
ในภาพรวมผลการประเมินระดับความเหมาะสมของการควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยงของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงฯ อยู่ในระดับดีมาก การบริหารจัดการงานภายใต้การมีบุคลากรจำกัด จำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ประสบการณ์ และปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การบริหารจัดการงานของกระทรวงฯ ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพตามภารกิจประเด็นยุทธศาสตร์ และกระบวนงานหลักขององค์กร สามารถแก้ไขจุดอ่อนหรือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ทันท่วงที 
          1.4 การปฏิบัติราชการตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ
ข้อค้นพบ ข้อเสนอแนะ

1. ส่วนราชการสามารถรายงานผลตัวชี้วัดระดับกระทรวงได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีความชำนาญในการจัดทำรายงานมาอย่างต่อเนื่อง

2. ตัวชี้วัดบางตัวของส่วนราชการเป็นภารกิจตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ดังนั้น จึงมีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด

 

  1.ส่วนราชการในสังกัดฯ ควรมีการติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินการเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง

  2. ส่วนราชการในสังกัดฯ ควรระบุปัญหาอุปสรรค ในกรณีที่ตัวชี้วัดนั้นๆ ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด เนื่องจากสามารถนำไปปรับปรุงการดำเนินงานในปีงบประมาณถัดไปได้
          1.5 รายงานการเงิน
ข้อค้นพบ ข้อเสนอแนะ
ผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555กระทรวงฯ มีการเบิกจ่ายในภาพรวมร้อยละ 98.90 ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่คณะรัฐมนตรีกำหนด (ร้อยละ 93.00) และมีการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนร้อยละ 58.99 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุน ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่คณะรัฐมนตรีกำหนด (ร้อยละ 72.00)

หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดฯ ควรกำกับดูแลให้มีการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณในส่วนของรายจ่ายลงทุน ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนด สำหรับปัญหาการเบิกจ่ายเงินงบประมาณไม่ทันควร มีการวางระบบใหม่ในภาพรวมของภาคราชการซึ่งประกอบด้วย ระบบการตั้งงบประมาณประจำปี ระบบการจัดซื้อจัดจ้าง และระบบอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การเบิกจ่ายภาครัฐในแต่ละปีเป็นไปตามผลการดำเนินงานจริงของหน่วยงาน

2. การสอบทานกรณีพิเศษ

          1. การจัดทำผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (Gross Provincial Product : GPP) ของกรมบัญชีกลาง
ข้อค้นพบ ข้อเสนอแนะ

ข้อสังเกตในการดำเนินโครงการ

    ผลการดำเนินงาน กรมบัญชีกลางได้จัดให้มีโครงการที่สำคัญ 2 โครงการ ดังนี้

    1) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดทำ GPP แบบ Bottom up สำหรับสำนักงานคลังจังหวัดการดำเนินโครงการสำเร็จลุล่วงเป็นไปตามแผน
การดำเนินการงานโครงการฯ   

     2) กำหนดให้สำนักงานคลังจังหวัดจัดทำรายงานประมาณการเศรษฐกิจของจังหวัดเป็นรายไตรมาสการดำเนินการเป็นไปตามแผนและเป้าหมายที่กำหนด นอกจากนี้กรมบัญชีกลางได้มีแนวคิดที่จะจัดทำรายงานฯ เป็นรายกลุ่มจังหวัดหรืออาจจะเป็นรายสำนักงานเขต

1. ผู้บริหารกรมบัญชีกลาง ควรให้ความสำคัญการจัดทำรายงาน GPP ให้เป็นปัจจุบันแบบปีต่อปี

2. ผู้บริหารกรมบัญชีกลาง ควรติดตามกำกับดูแลการปรับปรุงแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานให้เป็นไปตามแนวทางฯ ที่กำหนด  

3. ผู้บริหารกรมบัญชีกลาง ควรให้มีการพัฒนาการจัดทำรายงานฯ ที่อาจมีการปรับปรุงรูปแบบการนำเสนอเป็นแบบรายกลุ่มสาขา/จัดทำในระดับประเทศด้วย อันจะทำให้ข้อมูลรายงานฯ เกิดประโยชน์เพิ่มมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการขยายวงผู้ใช้รายงานฯ มากยิ่งขึ้นด้วย
          2. โครงการพัฒนาปรับปรุงท่าเรือสงขลาของกรมธนารักษ์
ข้อค้นพบ ข้อเสนอแนะ

ข้อสังเกตในการดำเนินโครงการ

   การดำเนินโครงการฯ ปรากฏ ผลสัมฤทธิ์ตามแผนฯ แต่ยังไม่สามารถแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมงานได้ (ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการให้กิจการของรัฐ พ.ศ. 2535) เนื่องจากต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) และผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านคมนาคม ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขรายงานฯ ตามข้อสังเกตของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ
เนื่องจากระยะเวลาในการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ เป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมกรอบระยะเวลาได้ ดังนั้น กรมธนารักษ์ ควรเร่งดำเนินการปรับปรุงแก้ไขรายงานฯ ตามข้อสังเกตของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ และประสานงานต่อไป