สรุปการประชุมสัมมนา

แนวทางการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ

            เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2549  ที่ห้องบอลรูม เอ โรงแรมเรดิสัน ถ.พระรามเก้า นายสุรนันทน์  เวชชาชีวะ    รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี    เป็นประธานใน การประชุมสัมมนาแนวทางการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ       ซึ่ง
จัดขึ้นโดย   สำนักงาน ก.พ.ร.   ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการตรวจสอบ
และประเมินผลภาคราชการ (ค.ต.ป.)

            การประชุมสัมมนาในครั้งนี้          เป็นการประชุมร่วมกันของคณะกรรมการ
และคณะอนุกรรมการทั้งหมด ประกอบด้วย คณะกรรมการตรวจสอบและประเมิน-
ผลภาคราชการ
 หรือที่เรียกว่า ค.ต.ป. คณะอนุกรรมการตรวจสอบและประเมินผล
ภาคราชการกลุ่มกระทรวง
 คณะอนุกรรมการตรวจสอบและประเมินผล   ภาคราชการ
กลุ่มจังหวัด
และ คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลประจำกระทรวง

 
  นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  

           นายสุรนันทน์  เวชชาชีวะ     รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี      และประธาน คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ  กล่าวถึงความสำคัญของคณะกรรมการ ชุดนี้ว่า คณะกรรมการชุดนี้มีความสำคัญมาก ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการวางระบบ ทั้งสิ้น  สิ่งสำคัญที่เป็นแนวคิดของรัฐบาลชุดนี้ตั้งแต่เริ่มทำงานมา  คือ   ความพยายามที่จะ ช่วยกันคิดระบบการทำงานที่ทำให้ระบบราชการมีประสิทธิภาพมากขึ้น   เพราะระบบราชการ เติบใหญ่มาก ฝ่ายการเมืองมองว่า ระบบราชการเป็นระบบที่สำคัญ เพียงแต่ว่าความเติบใหญ่ ของภาคราชการทำให้มีองคาพยพหลายรูปแบบ หลายมิติ    ซึ่งในบางองค์กร บางกระทรวง ทบวง กรม ก็สามารถปรับเปลี่ยนเอาเทคนิค เอาทักษะใหม่ ๆ  มาใช้   เพื่อทำงานให้กับโลก ทำงานให้กับสาธารณชนได้ดีขึ้น

             อย่างไรก็ตาม ในบางองค์กรก็ยังมีกระบวนการที่ต้องปรับเปลี่ยนอีกมาก  เพราะฉะนั้น สิ่งที่รัฐบาลชุดนี้นำมาเสนอนั้น หลายๆ ส่วนก็เป็นสิ่งที่คิดทำกันอยู่แล้ว แต่เราพยายามทำให้มันเป็นระบบมากขึ้น ตนเห็นว่า ตั้งแต่ปฏิรูประบบราชการ เป็นต้น และการวางขั้นตอนต่าง ๆ   ให้ชัดเจนขึ้น  และก็วางกระบวนการต่าง ๆ   ให้ชัดเจนขึ้น  ทำให้งานองคาพยพของราชการไทย ขับเคลื่อนได้เร็วขึ้น ถ้าขับเคลื่อนได้เร็วขึ้น มีความคล่องตัวสูงขึ้น  และขับเคลื่อนโดยมีองค์กรเพื่อบริการสาธารณะ ได้อย่าง แท้จริงแล้ว ตัวแกนของประเทศหมุน ส่วนอื่นๆ ก็หมุนแต่ถ้าตัวแกนของประเทศทำงานล่าช้าไม่สะท้อนความเป็นจริงของโลก ก็จะทำให้ส่วนอื่นของประเทศช้าไปด้วย

           นายสุรนันทน์ กล่าวต่อไปว่า  “ต้องขอขอบคุณคณะกรรมการและอนุกรรมการแต่ละท่าน ส่วนราชการ และสำนักงาน ก.พ.ร. ที่ช่วยกันวางระบบมาจนถึงวันนี้   ระบบนั้นยังไม่สมบูรณ์และมีข้อที่ต้องแก้ไขอีกมาก  เพราะเพิ่งจะเริ่มพัฒนามาไม่กี่ปี บางคนยังไม่ทราบว่า  Balance  Score  Card  คืออะไร  สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลา  เพราะฉะนั้น   วันนี้อาจไม่ได้คำตอบทั้งหมด ท่านต้องคุยกันว่า  ทำอย่างไรให้หน่วยงานสามารถประเมินผลได้อย่างแท้จริง  สามารถนำผลที่ได้จากการประเมินไปปรับปรุง ระบบงานให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

            “วันนี้แบบฟอร์มที่นำมาใช้กัน   ผมทราบดี  ผมเคยเป็นข้าราชการ ซี  3 ซี  4 ซี  5 ต้องกรอก แบบฟอร์มเยอะมาก  ไม่ว่าเป็นของสำนักงบประมาณ  ต้องกรอกแบบฟอร์มของสภาพัฒน์   แล้วยังมี แบบฟอร์มของ สำนักงาน ก.พ.ร. อีกซึ่งบางครั้งก็งงว่าจะตอบกันอย่างไรหลายหน่วยงานบ่นกับผมว่า กรอกแบบฟอร์มจนไม่ได้ทำงานแล้ว เรื่องนี้รัฐบาลก็เข้าใจจึงเริ่มวางระบบ ซึ่งในที่สุดก็จะต้องมีระบบ ที่ชัดเจนและเป็นระบบที่สามารถกรอกแบบฟอร์มแบบเดียว         แล้วท่านก็สามารถที่จะวางโครงการ วางงบประมาณและขอกำลังคนได้ด้วย  แล้วแบบฟอร์มนั้นท้ายที่สุดจะเป็นตัวชี้วัดและประเมินผลท่าน หากเราสามารถพัฒนาระบบนี้ได้ กระบวนการต่างๆ ก็จะลดลง และจะทำให้เราสามารถประเมินผลงาน ขององค์กรได้อย่างแท้จริง   ซึ่งวัตถุประสงค์ท้ายที่สุดก็คือ  การนำไปสู่การบริการสาธารณะ  (public service) ฉะนั้น เครื่องไม้เครื่องมือบางอย่างก็ต้องพาไปสู่เป้าหมายนั้น” นายสุรนันทน์กล่าว

             นอกจากนี้ นายสุรนันทน์กล่าวว่า ตนคิดว่า หลักธรรมาภิบาล หรือ  Good Governance  ควรจะสะท้อนในแบบฟอร์ม การประเมินผล หรือการประเมินผล   หรือการวางระบบต่าง ๆ  ไม่ใข่เฉพาะในกระบวนการเพียงอย่างเดียว  รวมถึงแนวคิดที่จะ เปิดเผยข้อมูลกัน   ใช้ข้อมูลร่วมกัน    เป็นระบบเปิดที่ทุกคนรู้ว่างานคืออะไร     และตัวเองจะถูกประเมินอย่างไร   และต้องมี ความยุติธรรมด้วย          พร้อมกันนี้ยังได้ยกตัวอย่างของการปรับกรมประชาสัมพันธ์ที่กำกับดูแลอยู่ว่า     กำลังปฏิรูปตัวเอง คือกำลังวางระบบ    ทำให้เป็น  SDU  ซึ่งก็มีบางคนออกมาบอกว่า   รู้สึกเหมือนถูกกดดันและไม่อยากเป็น SDU เพราะระบบ งานชัด  และต้องถูกทำการประเมิน   และแม้จะต้องอยู่ในระบบราชการต่อไป   แต่ไม่ต้องประเมินผลได้หรือไม่  เพราะกลัวว่า จะไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการประเมินผลงาน กลัวการเล่นพรรคเล่นพวกหรือมีระบบอุปถัมภ์

                                                         

           “ฉะนั้น  ระบบเองต้องมีความเป็นอิสระ   (fairness)   ซึ่งเน้นย้ำอยู่    ที่ผ่านมาได้ทำงานร่วมกับเลขาฯ    สภาพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ พยายามหาตัวชี้วัด ตัว  indicator  ก็หายากและคิดว่าในแต่ละหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นระดับชาติ หรือระดับท้องถิ่น เครื่องชี้วัดหรือตัวชี้วัดคงจะแตกต่างกัน  ตรงนี้ท่านต้องวางเงื่อนไขให้ดี ให้เข้ากับองค์กรท่านได้  และต้อง ช่วยคิดช่วยพัฒนาเครื่องชี้วัด    โดยเฉพาะหน่วยงานทางสังคม    หน่วยงานบริการบางทีไม่มีตัวชี้วัด เอกชนมีการวัดปริมาณ ผลกำไรขาดทุนเป็นเชิง quantitative วัดได้ แต่ในเชิงคุณภาพ qualitative หลายอย่างต้องช่วยกันพัฒนาตัวชี้วัดขึ้นมา”

            นายสุรนันทน์กล่าวถึงการประเมินผลของภาคเอกชนว่า  บางครั้งก็หลงทางเช่นกัน  เพราะไปประเมินทางด้านทักษะ มากกว่า จนลืมว่าระบบการประเมินผลงานที่จะออกมาอาจต้องมีการประเมินถึงการทำงานร่วมกันเป็นทีม (Teamwork)  ด้วย จึงต้องดูว่าจะวางระบบอย่างไรให้เป็นวัฒนธรรมองค์กรแท้ๆ ด้วย


  ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร.  

             ดร.ทศพร  ศิริสัมพันธ์  เลขาธิการ ก.พ.ร.     กล่าวถึงการปฏิรูประบบราชการที่ผ่านมาว่า เป็นการให้ความสำคัญกับการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี      โดยนำเอาหลัก  Good  Governance เข้ามาใช้ในภาคราชการ         ไม่ว่าจะเป็นหลักว่าด้วยผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ   ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล  เรื่องความรับผิดชอบ  เรื่องการมีส่วนร่วม การตอบสนองความต้องการของประชาชน การกระจายอำนาจตัดสินใจ   การปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่เมื่อปี  2545    จึงจับเอาหลักต่าง ๆ ดังกล่าวใส่ไว้ในมาตรา  3/1   ของพระราชบัญญัติระเลียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5)  พ.ศ. 2545     และกลายมาเป็นพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 ซึ่งประกอบด้วย 9 หมวด คือ

พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

หมวด 1

นิยามขอบเขต

หมวด 2

การบริหารราชการเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

หมวด 3

การบริหารราชการแนวใหม่ (แผนบริหารราชการแผ่นดิน แผนปฏิบัติราชการ
การจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการ (Balanced Scorecard) การจัดการความรู้
องค์การแห่งกาเรียนรู้ การบริหารแบบบูรณาการ PDCA

หมวด 4

ต้นทุนต่อหน่วย VFM ปรับปรุงระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง

หมวด 5

ลดขั้นตอนและกระบวนการปฏิบัติราชการ ศูนย์บริการร่วม

หมวด 6

ปรับปรุงบทบาทภารกิจและโครงสร้าง + แก้ไขกฎหมาย

หมวด 7

อำนวยความสะดวก แก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนของประชาชน

หมวด 8

ระบบการประเมินผลและการให้รางวัลจูงใจ (ตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน)

หมวด 9

องค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

                                                    
 
           
ในช่วงที่ผ่านมาได้พยายามนำการบริหารราชการแบบใหม่มาใช้           เป็นการทำงานโดยยึดวัตถุประสงค์เป็นหลัก มีการวางแผนในแบบที่ส่งต่อกัน     ไม่ว่าจะเป็นแผนการบริหารราชการแผ่นดิน  แผนปฏิบัติราชการ  แผนปฏิบัติการ   นำเอา การวิเคราะห์ความเสี่ยงในแต่ละโครงการมาใช้    การสร้างขีดสมรรถนะหลังวางยุทธศาสตร์แล้ว การปรับโครงสร้าง การเพิ่ม สมรรถนะของบุคลากร การควบคุมการบริหารจัดการ การใช้ Balanced Scorecard เป็นต้น

           จากนั้น เลขาธิการ ก.พ.ร.   ได้บรรยายถึงความสำคัญของการจัดประชุมในวันนี้ว่า      เพื่อให้คณะกรรมการทุกท่าน ได้รับทราบนโยบายและทิศทาง  เสริมสร้างความเข้าใจในอำนาจหน้าที่ และเป็นโอกาสในการทำความรู้จักอย่างเป็นทางการ ร่วมกัน   ของคณะกรรมการแต่ละคณะ  รวมทั้งรับทราบแนวทางการตรวจสอบและประเมินผลในระดับกระทรวง    และจังหวัด เพราะคณะกรรมการในระดับต่าง ๆ   จะดำเนินการตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงานของส่วนราชการ     ตามแนวทางที่ คณะรัฐมนตรี หรือ ที่ค.ต.ป. กำหนด

             เลขาธิการ ก.พ.ร.    ให้แนวทางเกี่ยวกับหน้าที่ของ  ค.ต.ป.     ว่า คณะกรรมการแต่ละคณะจะมีหน้าที่       และความรับผิดชอบที่ส่งต่อถึงกัน ตั้งแต่คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลประจำกระทรวง ที่จะทำหน้าที่ กำกับดูแลระบบการตรวจสอบและประเมินผลของกระทรวง   และหน่วยงาน ในสังกัด ให้เป็นไปตามคุณภาพมาตรฐานที่กำหนด   ทำหน้าที่สอบทายผล การดำเนินงาน   และประเมินผลการปรับปรุงประสิทธิภาพ ประสิทธิผลของ งานราชการ  เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา รายงานผลสถานะทางการเงิน ของกระทรวงและหน่วยงานในสังกัด   โดยรายงานต่อรัฐมนตรีว่าการ ปลัด กระทรวง  และคณะอนุกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการกลุ่ม กระทรวง เพื่อรายงานต่อไปยัง ค.ต.ป.  และคณะรัฐมนตรีด้วย ทุก 6 เดือน แต่หากมีประเด็นสำคัญที่จำเป็นก็สามารถรายงานต่อรัฐมนตรีว่าการได้ทันที

             การประชุมนี้จะช่วยเสริมให้การทำงานตามขั้นตอนของคณะกรรมการ    และคณะอนุกรรมการทุกคณะมีความชัดเจน ยิ่งขึ้นเพราะ ค.ต.ป. เห็นชอบกับการจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานไว้ให้กับคณะอนุกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ กลุ่มกระทรวง และคณะอนุกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการกลุ่มจังหวัดแล้ว   และในการประชุม ครั้งนี้  ค.ต.ป. ก็ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องมาอธิบายชี้แจงให้กับผู้เข้าร่วมสัมมนาได้รับทราบกัน          ขณะที่ผู้เข้าร่วมสัมมนาซึ่งก็คือ กรรมการและอนุกรรมการ จะได้ซักถาม   แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน   ก่อนจะถึงการจัดทำรายงานส่ง ค.ต.ป. รอบที่สอง ตอนสิ้นเดือนกันยายน 2549 ที่จะถึงนี้ด้วย


รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ

ใครคือ ค.ต.ป.?

         คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ หรือ ค.ต.ป. เป็นกลไกการควบคุมการบริหาร
ราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะหน่วยงานกลางที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบและประเมินผล ประกอบด้วย
         • สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
         • สำนักงบประมาณ
         • ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี
         • กรมบัญชีกลาง
         • สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ
         • คณะกรรมการตรวจสอบภาคราชการประจำกระทรวง

ทำไมต้องมี ค.ต.ป.?

            สืบเนื่องจากการบริหารราชการจำเป็นต้องมีการตรวจสอบ        ติดตามและประเมินผล เพื่อให้ส่วนราชการต่าง ๆ บริหารงานได้ตามระเบียบที่กำหนดไว้  มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และเกิดประสิทธิผล          โดยมีการบูรณาการและเสริมสร้างความเข้มแข็งของการกำกับดูแล และควบคุมตนเองที่ดีของส่วนราชการ  อันจะนำไปสู่การบรรลุผลตามเจตนารมณ์ตามหลักการ บริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี รวมทั้งเพื่อเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและความมั่นใจแก่สาธารณชน ต่อการดำเนินการตามนโยบายยุทธศาสตร์    และผลงานของส่วนราชการว่าได้มีการตรวจสอบ และกำกับดูแลอย่างรอบคอบถึงประสิทธิผล    ความคุ้มค่า    ประสิทธิภาพ    คุณภาพของการ บริหารงานตลอดจนการยกระดับ    ขีดสมรรถนะ      การเรียนรู้     และศักยภาพของการพัฒนา อย่างยั่งยืน รวมถึงมีความยุติธรรม โปร่งใส และความรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชน


ที่มาของ ค.ต.ป.

       สำหรับที่มาของคณะกรรมการและอนุกรรมการทั้งหมด        มาจากจุดเริ่มต้นที่ว่า   การดำเนินงานด้านการ
ตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการของประเทศ เป็นงานที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการเสริมสร้างความเข้าใจ
แก่ส่วนราชการเกี่ยวกับการตรวจสอบ ติดตาม   และประเมินผลการดำเนินงาน  โดยการตรวจสอบและประเมินผล
ภาคราชการดังกล่าว มีกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีต่างๆ รองรับ เช่น

         • พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 3/1 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า
ในการปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการต้องใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
         • พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546
         • มติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 2 มีนาคม 2547 ที่มีมติให้สำนักงาน ก.พ.ร. พิจารณาจัดระบบการตรวจสอบ
ภาคราชการใหม่ ให้มีความสอดคล้องกับการพัฒนาระบบราชการ และระบบการบริหารการคลังภาครัฐด้วย
ระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ GFMIS และ
         • ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ พ.ศ. 2548 ที่กำหนด
ให้มีคณะกรรมการ ตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (ค.ต.ป.)


องค์ประกอบของ ค.ต.ป.

          คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (ค.ต.ป.) ประกอบด้วย           รัฐมนตรีซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ มีกรรมการประกอบด้วย        ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ     เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ       เลขาธิการ ก.พ. ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี     อธิบดีกรมบัญชีกลาง   ผู้อำนวยการสำนักงาน กำกับระบบการบริหารการเงินการคลังโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์     กรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ       ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งได้รับการสรรหามา จำนวนไม่น้อยกว่า  5  คน    แต่ไม่เกิน  7  คน     และมีเลขาธิการ ก.พ.ร. เป็นกรรมการและเลขานุการ


คณะอนุกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ

        เมื่อได้มีการแต่งตั้ง  ค.ต.ป.  แล้ว  จากนั้น  ค.ต.ป.     ได้พิจารณากำหนดให้มีคณะอนุกรรมการตรวจสอบ
และประเมินผลภาคราชการกลุ่มกระทรวง และคณะอนุกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการกลุ่มจังหวัด โดยคณะอนุกรรมการแต่ละคณะจะมีผู้แทนจากหน่วยงานกลางร่วมเป็นกรรมการและเลขานุการรวมอยู่ด้วย

       คณะอนุกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการกลุ่มกระทรวง ยังแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ 1) กลุ่มกระทรวงด้านเศรษฐกิจ  2)   กลุ่มกระทรวงด้านสังคม  และ 3)   กลุ่มกระทรวงด้านการบริหาร  ความมั่นคง
และการต่างประเทศ
       คณะอนุกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการกลุ่มจังหวัด แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้

       และเพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลตนเองที่ดี ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการตรวจสอบ และประเมิน
ผลภาคราชการ พ.ศ. 2548 กำหนดให้แต่ละกระทรวงต้องจัดให้มี
        คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลประจำกระทรวง
ของตนเอง ซึ่งทั้งหมด
ได้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย

                                                   


นโยบายและหน้าที่ของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ

         คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ มีนโยบายในการตรวจสอบและประเมินผลใน
ภาคราชการ ดังนี้
          - เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ส่วนราชการ โดยเฉพาะการส่งเสริมและกระตุ้นให้ส่วนราชการมีระบบ
การกำกับดูแลตนเองที่ดี
          - ผลักดันการบริหารราชการให้บรรลุเป้าหมายของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ตามนัยพระราชกฤษฎีกา
ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546
          - ส่งเสริมผลักดันการบูรณาการงานด้านการตรวจสอบและประเมินผลในภาคราชการ เช่น กำหนดแนวทาง
การบูรณาการระบบข้อมูลด้านการตรวจสอบ ติดตามและประเมินผล เป็นต้น
          - สร้างความน่าเชื่อถือและความมั่นใจแก่สาธารณชน ต่อการดำเนินงานของส่วนราชการ

        คณะอนุกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการกลุ่มกระทรวง   และ คณะอนุกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการกลุ่มจังหวัด มีขึ้นเพื่อวางแนวทาง
การตรวจสอบและประเมินผลในระดับกระทรวงและจังหวัด  ซึ่งแนวทางการตรวจสอบและประเมิน
ผลดังกล่าว    จะต้องสอดคล้องกับนโยบายของ  ค.ต.ป.   ทิศทางการพัฒนาระบบราชการ และ
ระบบ  GFMIS   โดยการกำหนดแนวทางการส่งเสริมและผลักดันให้กระทรวงและจังหวัด  มีระบบ
การควบคุมภายในที่ได้รับมาตรฐาน       มีการประเมินความเสี่ยงในการบริหารจัดการที่เป็นระบบ ตามระเบียบหรือแนวปฏิบัติของหน่วยงานกลางที่เกี่ยวข้อง   ต้องมีการรายงานทางการเงิน มีการ
กำหนดจรรยาบรรณในการทำงานของหน่วยงาน

        คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลประจำกระทรวง         ทำหน้าที่กำกับดูแลระบบการตรวจสอบ
และประเมินผลของ กระทรวง  และหน่วยงานในสังกัด ให้เป็นไปตามคุณภาพ  และมาตรฐานที่กำหนด  สอบทาน ติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน รายงานผลสถานะทางการเงิน    และเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาแก่
กระทรวงและหน่วยงานในสังกัดมีระบบควบคุมภายในที่ได้มาตรฐาน มีการประเมินความเสี่ยงในการบริหารจัดการ
ที่เป็นระบบ ตามระเบียบหรือแนวปฏิบัติของหน่วยงานกลางที่เกี่ยวข้อง