มติคณะรัฐมนตรีวันอังคารที่ 12 กันยายน 2549

ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสำนักงาน ก.พ.ร.


           การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 12 กันยายน 2549  ณ ห้องประชุม ชั้น 2 ตึกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหลังใหม่ ทำเนียบรัฐบาล ได้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสำนักงาน ก.พ.ร. จำนวน 4 เรื่อง ดังนี้


เรื่องที่ 2

ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเบี้ยประชุมประธานกรรมการ
รองประธานกรรมการ กรรมการและอนุกรรมการ
คณะกรรมการมาตรวิทยาแห่งชาติ พ.ศ. ....



           คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเบี้ยประชุมประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการและอนุกรรมการ คณะกรรมการมาตรวิทยาแห่งชาติ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้  ทั้งนี้ ให้ระเบียบนี้มีผลใช้บังคับนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ตามความเห็นกระทรวงการคลัง และเห็นชอบให้สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติรับข้อสังเกตของสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

           ร่างระเบียบฯ ดังกล่าวมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดเบี้ยประชุมของคณะกรรมการมาตรวิทยาแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการไว้ ดังนี้

ลำดับ

ตำแหน่ง

อัตราเบี้ยประชุม (บาท)

หมายเหตุ

1.
2.
3.
4.
5.
6.

ประธานกรรมการ
รองประธานกรรมการ
กรรมการ
ประธานอนุกรรมการ
รองประธานอนุกรรมการ
อนุกรรมการ

7,500
6,750
6,000
3,750
3,375
3,000

การจ่ายเบี้ยประชุมให้จ่ายเป็นรายเดือน เฉพาะเดือนที่เข้าประชุม เดือนใดไม่มีการประชุม หรือมีการประชุมแต่ไม่เข้าประชุมให้งดจ่าย

           ทั้งนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชี้แจงว่า สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดขึ้นตามพระราชบัญญัติพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ พ.ศ. 2540 โดยมาตรา 4 กำหนดให้มีคณะกรรมการมาตรวิทยาแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดแผนหลัก และเสนอแนะนโยบายและมาตรการเกี่ยวกับการพัฒนาระบบมาตรวิทยาของประเทศ ให้คำแนะนำแก่หน่วยงานและบุคคลต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้ การเก็บรักษา การดำเนินการอย่างอื่นเกี่ยวกับเครื่องมือ อุปกรณ์ หรือวัสดุอ้างอิงในการใช้วัดปริมาณ ออกข้อบังคับว่าด้วยการบรรจุ แต่งตั้ง การกำหนดตำแหน่งการกำหนดอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้าง อนุมัติแผนการเงินและงบประมาณประจำปีของสถาบัน รวมทั้งปฏิบัติการอื่นตามที่กฎหมายกำหนด สมควรกำหนดเบี้ยประชุมประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการ และอนุกรรมการ ของคณะกรรมการมาตรวิทยาแห่งขาติโดยให้ได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายเดือนในอัตราที่เหมาะสม

           สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ตอบข้อหารือสถาบันมาตรวิทยาว่า โดยที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2547 เห็นชอบหลักเกณฑ์การกำหนดเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการ กรรมการ ที่ปรึกษา และอนุกรรมการขององค์การมหาชน และให้นำหลักเกณฑ์ดังกล่าวไปใช้กับหน่วยงานของรัฐ ที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะรวม 8 แห่ง ซึ่งรวมถึงสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติที่ถูกจัดไว้ในกลุ่มที่ 2 ด้วย ดังนั้น เพื่อให้ การกำหนดอัตราเบี้ยประชุมของคณะกรรมการมาตรวิทยาแห่งชาติ และอนุกรรมการสอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะต้องดำเนินการกำหนดระเบียบตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ พ.ศ. 2540 จึงได้เสนอร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเบี้ยประชุมประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการและอนุกรรมการ คณะกรรมการมาตรวิทยาแห่งชาติ พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ

เรื่องที่ 5

การติดตามประเมินผลการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545 - 2549)

                                                                  

           คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 และแนวทางการพัฒนาที่ควรให้ความสำคัญในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ  ดังนี้

           การดำเนินงานของ สศช.

           1. ในปีงบประมาณ 2549 การดำเนินงานภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ได้ดำเนินการมาถึงปีสุดท้ายของแผนฯ แล้ว สศช. จึงได้ดำเนินการติดตามประเมินผลการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 (2545 - 2549) ว่ามีผลสำเร็จและมีความก้าวหน้าของการดำเนินงานมากน้อยเพียงใด มีปัญหาและอุปสรรคต่อความสำเร็จและความล้มเหลวในการพัฒนาอย่างไร รวมทั้งข้อเสนอแนวทางการพัฒนาประเทศที่ควรให้ความสำคัญในระยะต่อไป  เพื่อประโยชน์ในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 - 2554)


           2. การติดตามประเมินผลการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะแผนพัฒนา ฯ   ฉบับที่  9  ครั้งนี้  ได้ประมวลและสังเคราะห์ข้อมูลจากการรายงานผลการปฏิบัติงานตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ที่กระทรวงต่าง ๆ จัดส่งให้ สศช. ประกอบการวิเคราะห์และติดตามประเมินผลด้วย โดยได้ให้ความสำคัญกับการติดตามผลการดำเนินงานใน 3 ประการ ดังนี้
               1) การประเมินผลการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวม
               2) การติดตามผลการดำเนินงานที่ตอบสนองการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9
               3) การประเมินผลกระทบที่เกิดจากการพัฒนา

           ผลการพัฒนาในระยะของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9

           1. ผลการพัฒนาตามเป้าหมายหลักของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9
                1) การพัฒนาเศรษฐกิจมหภาคในระยะแผนพัฒนาฯ  ฉบับที่ 9 บรรลุเป้าหมายในด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภาคอุตสาหกรรม
                2) คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น จากการขยายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การเพิ่มโอกาสการมีงานทำ และการปราบปรามยาเสพติดที่บรรลุผล
                3) การบริหารจัดการที่ดีในสังคมไทยก้าวหน้าขึ้นโดยเฉพาะการพัฒนาระบบราชการ การสร้างธรรมภิบาลภาคเอกชน ขณะที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนามากขึ้น
                4) การแก้ไขปัญหาความยากจนสัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมาย

           2. ผลการดำเนินงานที่สำคัญ
                1) การเสริมสร้างระบบการบริหารการจัดการที่ดี
                2) การพัฒนาคุณภาพคนและการคุ้มครองทางสังคม
                3) การปรับโครงสร้างการพัฒนาชนบทและเมืองอย่างยั่งยืน
                4) การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
                5) การบริหารเศรษฐกิจส่วนรวม
                6) การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
                7) การพัฒนาความเข้มแข็งทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

           3. ผลกระทบการพัฒนา
                1) ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทย ซึ่งอยู่ในระดับดีอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีแรกของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ได้ลดลงในปี 2548 และระดับความเข้มแข็งได้ลดลงต่ำกว่าปีสุดท้ายของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8
                2) ความอยู่ดีมีสุขของคนไทย อยู่ในระดับดีตลอดช่วง 4 ปีของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9
                3) การพัฒนาที่ยั่งยืนยังคงอยู่ในระดับที่ต้องปรับปรุง โดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพคนและสิ่งแวดล้อม

           4. แนวทางการพัฒนาที่ควรให้ความสำคัญในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10
                1) ปรับโครงสร้างการผลิตของประเทศให้มีความสมดุล และมีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น
                2) พัฒนาและส่งเสริมการประหยัดพลังงานเพื่อทดแทนการนำเข้า
                3) พัฒนาสังคมให้เป็นสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ เพื่อเป็นรากฐานการพัฒนาประเทศที่มั่นคงและยั่งยืน
                4) เสริมสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตครอบครัว
                5) ฟื้นฟูและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในคงความสมบูรณ์
                6) พัฒนากลไกตรวจสอบความโปร่งใสในการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ

 

เรื่องที่ 7

ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10
(พ.ศ. 2550 - 2554)



           คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 - 2554)
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ และให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีนำกราบบังคมทูลเกล้าถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 - 2554) ต่อไป 
 

           ทั้งนี้ ให้ สศช. รับไปปรับปรุงร่างแผนพัฒนาฯ ให้เหมาะสม โดยความสำคัญใน 3 ประเด็น ได้แก่
           1. การให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ
           2. การจัดลำดับความสำคัญในการลงทุนโครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของภาครัฐ รวมทั้งการแปลงสภาพของรัฐวิสาหกิจ
           3. การดำเนินการเพื่อสร้างเครือข่ายและระบบฐานข้อมูลภาครัฐและภาคประชาชน
           รวมทั้งให้ สศช. รับความเห็นของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปปรับปรุงแผนพัฒนาฯ ให้ครอบคลุมใน 3 ประเด็นดังกล่าวด้วย

           โดยร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ.2550-2554) มีสาระสำคัญดังนี้

           1. วิสัยทัศน์ประเทศไทย
                มุ่งพัฒนาสู่ “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน (Green and Happiness Society) คนไทยมีคุณธรรมนำความรอบรู้ รู้เท่าทันโลก ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข็มแข็ง สังคมสันติสุข เศรษฐกิจมีคุณภาพ เสถียรภาพ และเป็นธรรม สิ่งแวดล้อมมีคุณภาพและทรัพยากรธรรมชาติยั่งยืน
อยู่ภายใต้ระบบบริหารจัดการประเทศที่มีธรรมาภิบาล ดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และอยู่ในประชาคมโลกได้อย่างมีศักดิ์ศรี”

           2. พันธกิจ
                เพื่อให้การพัฒนาประเทศในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 มุ่งสู่ “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ภายใต้แนวปฏิบัติของ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” จึงกำหนดพันธกิจของการพัฒนาประเทศดังนี้
                (1) พัฒนาคนให้มีคุณภาพพร้อมคุณธรรมและรอบรู้อย่างเท่าทัน
                (2) เสริมสร้างเศรษฐกิจให้มีคุณภาพ เสถียรภาพ และเป็นธรรม
                (3) ดำรงความหลากหลายทางชีวภาพ  และสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพสิ่งแวดล้อม
                (4)
พัฒนาระบบบริหารจัดการประเทศให้เกิดธรรมาภิบาล ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุข

           3. วัตถุประสงค์
                (1) เพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้คู่คุณธรรม จริยธรรมอย่างต่อเนื่อง ที่ขับเคลื่อนด้วยการเชื่อมโยงบทบาทครอบครัว  สถาบันศาสนาและสถาบันการศึกษา  เสริมสร้างระบบสุขภาพอย่างสมดุลระหว่างการส่งเสริม  การป้องกัน  การรักษา และการฟื้นฟูสมรรถภาพ และสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
                (2) เพื่อเพิ่มศักยภาพของชุมชน  เชื่อมโยงเป็นเครือข่าย  เป็นรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจ 
คุณภาพชีวิต และอนุรักษ์  ฟื้นฟู ใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน นำไปสู่การพึ่งตนเองและลดปัญหาความยากจนอย่างบูรณาการ
                (3) เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตสู่การเพิ่มคุณค่า  (Value Creation)   ของสินค้าและบริการบนฐานความรู้และนวัตกรรม  รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างสาขาการผลิต เพื่อทำให้มูลค่าการผลิตสูงขึ้น
                (4) เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน  (Safety  Net)  และระบบบริหารความเสี่ยงให้กับภาคการเงิน การคลัง พลังงาน ตลาดปัจจัยการผลิต ตลาดแรงงาน และการลงทุน
                (5) เพื่อสร้างระบบการแข่งขันด้านการค้าและการลงทุนให้เป็นธรรม และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศรวมทั้งสร้างกลไกในการกระจายผลประโยชน์จากการพัฒนาสู่ประชาชนในทุกภาคส่วนอย่างเป็นธรรม
                (6) เพื่อเสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ  และคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพ  ควบคู่กับการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้เป็นฐานที่มั่นคงของการพัฒนาประเทศ และการดำรงชีวิตของคนไทย  ทั้งในรุ่นปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งสร้างกลไกในการรักษาผลประโยชน์ของชาติอย่างเป็นธรรมและอย่างยั่งยืน
                (7)
เพื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการประเทศสู่ภาครัฐ   ภาคธุรกิจ   เอกชน  และภาคประชาชน  และขยายบทบาทขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ควบคู่กับการเสริมสร้างกลไกและกระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาวัฒนธรรมประชาธิปไตย ให้เกิดผลในทางปฏิบัติต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

           4. เป้าหมาย
                (1) เป้าหมายการพัฒนาคุณภาพคน
                (2) เป้าหมายการพัฒนาชุมชนและแก้ปัญหาความยากจน
                (3) เป้าหมายด้านเศรษฐกิจ
                (4) เป้าหมายการสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
                (5)
เป้าหมายด้านธรรมาภิบาล

           5. ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ
                ภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงในกระแสโลกาภิวัตน์ที่ปรับเปลี่ยนเร็วและสลับซับซ้อนมากขึ้น ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับตัวและกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศอย่างเหมาะสมในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 ดังนี้
                (1) ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพคนและสังคมไทยสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้
                (2) ยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและสังคมให้เป็นรากฐานที่มั่นคงของประเทศ
                (3) ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลและยั่งยืน
                (4) ยุทธศาสตร์การพัฒนาบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพ และการสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
                (5)
ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการประเทศ

           6. การขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10
                โดยที่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการดำรงชีวิตทั้งในระดับบุคคล ครัวเรือน ชุมชน ธุรกิจเอกชน และรัฐ ซึ่งเน้นการปฏิบัติเป็นแนวทางหลักในการบรรลุวัตถุประสงค์ ดังนั้น แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 จึงให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนแผนฯ ไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งทุกภาคส่วนจะต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาและนำเอาแนวทางตาม 5 ยุทธศาสตร์ของแผนฯ มาแปลงเป็นแผนปฏิบัติการ โดยภาครัฐจะดำเนินการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน ชุมชนก็จะใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนชุมชน เป็นต้น ทั้งนี้ ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 ได้กำหนดแนวนโยบายและมาตรการของรัฐที่สำคัญ รวมทั้งแนวทางด้านการวิจัยและพัฒนาที่จะต้องดำเนินการในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 ไว้ด้วยแล้ว

 

เรื่องที่ 24

ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต พ.ศ. ….



           คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 5 (ฝ่ายการต่างประเทศ การศึกษา การศาสนาและวัฒนธรรม) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย) เป็นประธานกรรมการ ที่อนุมัติให้กระทรวงศึกษาธิการถอนร่างพระราชบัญญัติการศึกษานอกโรงเรียน พ.ศ. …. ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปได้ และอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต พ.ศ. …. และที่แก้ไขเพิ่มเติมตามผลการประชุมระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ให้ความเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง  

           ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการรายงานว่า

           1. ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2547 ให้ส่งร่างพระราชบัญญัติการศึกษานอกโรงเรียน พ.ศ. … ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณานั้น  เห็นควรให้ถอนร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยขอเสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต  พ.ศ. ....   แทน   เพื่อให้สามารถตอบสนองหลักการและแนวทางการจัดการศึกษาในลักษณะการศึกษาตลอดชีวิต โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมที่ชัดเจน และสามารถนำไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น

           2. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 กำหนดให้การจัดการศึกษายึดหลักการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับประชาชน   โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม   แต่ไม่มีบทบัญญัติใดที่กำหนดถึงแนวทางการจัดและกลไกการบริหารและการจัดการศึกษาที่ชัดเจน   ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ตามหลักการที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย จึงจำเป็นต้องมีพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต เพื่อเป็นกลไกในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคส่วนต่าง  ๆ  ของสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตลอดชีวิต


           3. สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ  โดยสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน  ได้ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองของกระทรวงศึกษาธิการ   ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่  กระทรวงการคลัง  สำนักงบประมาณ  สำนักงาน  ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร.  คณะเจรจาข้อตกลงและการประเมินการพัฒนากฎหมายของส่วนราชการ คณะที่  9  และฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการกลั่นกรองฯ  คณะที่  5   (ฝ่ายการต่างประเทศฯ )  ตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองฯ  คณะที่  5 (ฝ่ายการต่างประเทศฯ)  รวม  3 ครั้ง  ในวันที่ 23 มกราคม 2549  วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2549  และวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 โดยมีผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (นายพีระพันธุ์ พาลุสุข)  เป็นประธานซึ่งที่ประชุมมีมติให้ปรับแก้ไขและเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวใน 3 ประเด็น คือ

               3.1 ประเด็นการลดหย่อนและยกเว้นภาษี/สิทธิประโยชน์/เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา    ที่ประชุมมีมติให้ปรับแก้ไข มาตรา 11 โดยให้ตัดเรื่องการลดหย่อน การยกเว้นภาษีและเงินให้กู้ยืมทางการศึกษาออก และให้คงประเด็นสิทธิประโยชน์ โดยเติมคำว่า “ตามที่กฎหมายกำหนด” ต่อท้าย และเพิ่มเติมข้อความวรรคท้ายว่า “หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดสรรทรัพยากรและการให้สิทธิประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดโดยไม่ขัดแย้งหรือแย้งกับกฎหมาย”


               3.2 ประเด็นความซ้ำซ้อน   โดยการกำหนดอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต ซ้ำซ้อนกับอำนาจหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา การจัดการศึกษาของสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา  และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาที่ประชุมมีมติให้ปรับแก้ไขมาตรา 17 เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต

               3.3 ประเด็นสถานภาพและโครงสร้างองค์กร ที่ประชุมมีมติให้ปรับแก้ไขมาตรา 18 โดยให้ตัดต่อความในวรรคแรกความว่า “โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต มีฐานะเป็นอธิบดี เป็น ผู้บังคับบัญชาข้าราชการและบริหารราชการของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต” และตัดอำนาจหน้าที่ข้อ 4 และข้อ 9 รวมทั้งตัดข้อความในวรรคท้ายออก

               3.4 นอกจากนี้ ที่ประชุมมีข้อสังเกตว่า  การศึกษาตลอดชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ การพิจารณาโครงสร้างของหน่วยงานที่รับผิดชอบงานการศึกษาตลอดชีวิต จึงควรกำหนดให้เหมาะสมกับภารกิจที่ต้องการความคล่องตัว  มีประสิทธิภาพสูงในการบริหารจัดการ โดยที่ปัจจุบันกฎหมายมีข้อจำกัด ไม่เปิดช่องให้ดำเนินการจัดให้เหมาะสม และ  ผู้แทนสำนักงาน ก.พ. มีข้อสังเกตว่า หากจะให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต  ตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว  มีกฎหมายบังคับใช้ดังเช่นหน่วยงานอื่นในกระทรวงศึกษาธิการ จึงควรแก้ไขพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 ให้รองรับไว้ด้วย

 

E-Searching เพิ่มเติมได้ที่  http://www.thaigov.go.th