ก้าว...ต่อไปของแผนบริหารราชการแผ่นดิน

              หลังจากการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อ วันที่ 26–27 มีนาคม 2548 ซึ่งเนื้อหาในวันดังกล่าวได้นำเสนอไว้ใน e-newsในฉบับที่ 2 เดือนเมษายน แล้วนั้น ก้าว...ต่อไปจะเป็นการกล่าวถึง การประชุมสัมมนาการจัดทำแผนบริหารราชการแผ่นดิน 4 ปี ัจัดโดย สำนักงาน ก.พ.ร เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2548 ณ โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ เป็นการสานต่อของการบรรจบกันของนโยบาย Top down และ Bottom up แผ่นบริหารราชการแผ่นดิน ประธานพิธีเปิดการประชุมในวันนั้นได้แก่นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาระบบราชการจาก ทั่วประเทศ

แผนบริหารราชการแผ่นดิน ตัวบทแห่งความหลากหลายของแผนระบบราชการ ระบบธุรกิจ และระบบการเมือง
           นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายในที่ประชุม สรุปได้ดังนี้ ก่อนนั้นประเทศไทยมี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1-5 เป็นแผนของราชการอย่างแท้จริง    โดยมีตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในการเปลี่ยนแปลงการพัฒนา
ประเทศคือระบบราชการแต่เมื่อเข้าสู่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6 พบว่าตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอก ประเทศ ไม่ใช่ระบบราชการเพียงอย่างเดียวแต่ยังมีระบบเอกชนรวมอยู่ด้วยจนถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่7-8-9    เริ่มเปิดโอกาส
ให้ภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ร่วมกันกำหนดทิศทางของประเทศ ประกอบกับเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในปี 2540 ที่ได้มีการกำหนดเงื่อนไขให้การเมืองมีส่วนร่วมมากขึ้นในการที่จะกำหนดทิศทาง ก่อนที่จะดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี ควรดำเนินไปตามกรอบของแผนบริหารราชการแผ่นดิน โดย ฯพณฯ ท่านนายกรัฐมนตรี ( พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ) แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2548 แบ่งได้ 9 ประเด็นยุทธศาสตร์ ได้แก่

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1

การขจัดความยากจน

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2

การพัฒนาคนและสังคมที่มีคุณภาพ

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3

การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลและแข่งขันได้

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4

การบริหารจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อม

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 5

การต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 6

การพัฒนากฎหมายและส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 7

การส่งเสริมประชาธิปไตยและกระบวนการประชาสังคม

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 8

การรักษาความมั่นคงของรัฐ

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 9

การรองรับการเปลี่ยนแปลงและพลวัตโลก

            หลังจากนั้นเป็นการบรรยายในหัวข้อ“ แผนการบริหารราชการแผ่นดินและการจัดทำแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี ”โดยนายบวรศักดิ์
อุวรรณโณ
เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นผู้ดำเนินรายการ และมีผู้ร่วมรายการดังนี้  นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ   รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการ เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ   นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการก.พ.ร พลเอกวินัย ภัททิยกุล  เลขาธิการสภาความมั่งคงแห่งชาตินายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์  ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และนายเอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ีฝ่ายข้าราชการประจำยุทธศาสตร์และการวางแผนผู้แทนเลขาธิการ นายกรัฐมนตรี

                นายบวรศักดิ์  อุวรรณโณ   เลขาธิการคณะรัฐมนตรี  ได้กล่าวถึงความสำคัญการจัดทำแผนบริหารราชการแผ่นดินว่ามีความสำคัญมาก เพราะตามพระราชกฤษฎีกา มาตรา16 นั้น กำหนดว่า เมื่อจัดทำแผนบริหารราชการแผ่นดินเสร็จสิ้นแล้ว และคณะรัฐมนตรีก็ให้ความเห็นชอบ ภารกิจใดที่ไม่ได้อยู่ในแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี และแผนปฏิบัติราชการรายปี ที่รัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ส่วนราชการจะไม่ได้รับงบประมาณ และเมื่อมีแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี และแผนปฏิบัติราชการรายปี ซึ่งได้รับงบประมาณแล้ว กฎหมายกำหนดให้ต้องใช้งบประมาณตามแผนฯนั้น   ซึ่งหมายความว่าจะใช้เงินในการอื่นไม่ได้  ตามมาตรา18 การที่จะโอนเงินจากภารกิจหนึ่งไป ภารกิจหนึ่งทำไม่ได้ นอกเสียจาก คณะรัฐมนตรีอนุมัติ แต่ก็ต้องมีการปรับแผนฯก่อน
               
กรณีที่รัฐมนตรีว่าการฯต้องการให้หน่วยงานในความรับผิดชอบดำเนินงานนอกแผนฯที่ไม่ได้มีการขออนุมัติ   สามารถทำได้้ตามระเบียบสำนัก
นายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดทำแผนบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2547 ข้อ 9 วรรค 2 ว่า กรณีที่รัฐมนตรีว่าการมีมติให้ส่วนราชการ ดำเนินการเรื่องใด แม้เรื่องนั้นจะมิได้กำหนดไว้ในแผนบริหารราชการแผ่นดินหรือแผนปฏิบัติราชการ 4 ปีก็ให้ส่วนราชการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีี
ในแต่ละยุทธศาสตร์นั้น จะมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพตามที่กำหนดไว้ตามมติคณะรัฐมนตรี ดังนี้
                • ยุทธศาสตร์ที่ 1 ยุทธศาสตร์ขจัดความยากจน : รองนายกฯ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์
                • ยุทธศาสตร์ที่ 2
ยุทธศาสตร์ การพัฒนาคนและสังคมที่มีคุณภาพ : รองนายกฯ จาตุรนต์ ฉายแสง
                • ยุทธศาสตร์ที่ 3
ยุทธศาสตร์ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลและแข่งขันได้ : รองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
                • ยุทธศาสตร์ที่ 4 ยุทธศาสตรการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม : รองนายกฯ พินิจ จารุสมบัติ
                • ยุทธศาสตร์ที่ 5
ยุทธศาสตร์ การต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ : รองนายกฯ สุรเกียรติ์ เสถียรไทย
                • ยุทธศาสตร์ที่ 6 ยุทธศาสตร์ การพัฒนากฎหมายและส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี : รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม
                • ยุทธศาสตร์ที่ 7 ยุทธศาสตร์การส่งเสริมประชาธิปไตยและกระบวนการประชาสังคม:รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สุรนันท์ เวชชาชีวะ
                • ยุทธศาสตร์ที่ 8
ยุทธศาสตร์ การรักษาความมั่นคงของรัฐ รองนายกฯ พล . ต. อ. ชิดชัย วรรณสถิตย์
                
ยุทธศาสตร์ที่ 9 ยุทธศาสตร์ การรองรับการเปลี่ยนแปลงและพลวัตโลก รองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

การแปลงแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี ต้องสอดคล้องกับแผนบริหารราชการแผ่นดิน

              ทางสำนักงาน ก.พ.ร ได้ดำเนินการจัดทำแบบฟอร์มให้หน่วยงานกรอก ซึ่งจะช่วยในการสรุปบทบาท หน้าที่ ในแต่ละกระทรวง ทบวง กรม ตามยุทธศาสตร์ในแผนบริหารราชการแผ่นดิน
               สำหรับเค้าโครงรายละเอียดของแผนปฏิบัติราชการ 4 ปีจะเหมือนเดิมกับที่กระทรวงทบวงกรม ได้เคยทำมาแล้วในการจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการเมื่อ 2 ปีก่อน แตกต่างกับครั้งนี้ที่จะมีแผนบริหารราชการแผ่นดินมาเป็นทิศทางหรือแนวทางที่ชัดเจน ดังนั้น หน่วยงานต่าง ๆ ต้องนำแผนฯ ที่ได้ทำและเสนอ ครม. กลับมาทบทวน เนื้อหาสาระว่ามีความสอดคล้องกับแผนบริหารราชการแผ่นดินหรือไม่ สิ่งที่จะต้องทำต่อไปคือการถอดออกมาเป็นแผนปฏิบัติราชการรายปี ซึ่งก็คือ แผนงบประมาณประจำปี

สำหรับ รายละเอียดแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี จะประกอบไปด้วย

คำนำ ( รัฐมนตรีว่าการกระทรวง...)
สารบัญ
บทนำ
วิสัยทัศน์และพัทธกิจของกระทรวง
ระดับภาพรวมของกระทรวง
      - ประเด็นยุทธศาสตร์
      - เป้าประสงค์
      - ตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย
      - กลยุทธ์
      - ผู้รับผิดชอบ
ระดับกลุ่มภารกิจ / กรม
      -  (เหมือนในระดับภาพรวมของกระทรวง )

โครงการตามยุทธศาสตร์และผลผลิตตามภารกิจงานประจำ
 งบประมาณ
 ภาคผนวก
      - ผลการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและขีดสมรรถนะ ( โอกาส-อุปสรรค-จุดแข็ง-จุดอ่อน )
      - ข้อมูลรายละเอียดของกระทรวง ( โครงสร้าง บุคลากร ฯลฯ )
      - อื่น ๆ


แผนบริหารราชการแผ่นดินช่วยให้เห็นภาพรวมงบประมาณประเทศ

                นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ได้ตอกย้ำความสำคัญของแผนบริหารราชการแผ่นดินขึ้น โดยได้ให้ความเห็นว่า ในอดีตแต่ละหน่วยงานมีการกำหนดแผนงบประมาณของตนเองแยกกันไป แต่ในรัฐบาลชุดนี้เรามีแผนบริหารราชการแผ่นดินที่ทุกหน่วยงานจะต้องนำมาเป็นกรอบการจัดทำงบประมาณ โดยนำยุทธศาสตร์ในแผนบริหารราชการแผ่นดินมากำหนดเป็นแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี การดำเนินงานของสำนักงบประมาณจะสามารถมองเห็นกรอบวงเงินรวมตามแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี ว่าจะต้องใช้เงินงบประมาณเท่าใด จากแหล่งเงินใด และเราสามารถทยอยใช้จ่ายเงินในแต่ละปีได้มากน้อยเพียงใด และจะทำให้เห็นภาพรวมของเงินในวงกว้างมากกว่าในอดีต ทางสำนักงบประมาณ มีความเห็นที่สอดคล้อง กับโครงสร้างของการจัดทำแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี ดังกล่าว ที่สำนักงาน ก. พ. ร. ได้นำเสนอไปแล้ว
แต่สิ่งสำคัญที่สำนักงบประมาณมีความต้องการที่จะเห็น ก็คือ การจัดทำแผนการเงินของแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี จนถึงแผนการเงินรายปีที่ประมาณการขึ้นจากแผนปฏิบัติราชการรายปี ที่เราเรียกว่า โครงสร้างแผนงบประมาณตามยุทธศาสตร์ การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2549 ของสำนักงบประมาณ ขณะนี้กำลังทบทวนตัวเลขเพื่อให้เกิดความแน่ใจกับการใช้จ่ายในโครงการต่างๆ เพราะรัฐบาลต้องการให้หน่วยงานต่างๆ ใช้งบประมาณที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาล หากโครงการใดไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ก็จะตัดทิ้ง เพราะรัฐบาลต้องการใช้งบประมาณต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้สำนักงบประมาณได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เข้าไปดูแผนยุทธศาสตร์การบริหารราชการแผ่นดินของแต่ละกระทรวง เพื่อให้เกิดความเข้าใจและพิจารณาอนุมัติงบประมาณประจำปี 2549 เนื่องจากรัฐบาลได้มียุทธศาสตร์การใช้งบประมาณทั้งการแบ่งพื้นที่ตามผู้ว่าฯซีอีโอ และการใช้งบประมาณตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ดังนั้นเพื่อให้การจัดทำงบประมาณของแต่ละหน่วยงานเป็นไปด้วยดีของให้แต่ละหน่วยงานกลับไปทบทวน แผนที่มีอยู่เสีย ไม่เช่นนั้นโครงการต่างๆที่เสนอมาหากไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์อาจถูกตัดได

ภาพ โครงสร้างแผนงบประมาณตามยุทธศาสตร์

สำนักงบประมาณ

จากนั้น เป็นการนำเสนอภาพรวมของแผนบริหารราชการแผ่นดินทั้ง 9 ยุทธศาสตร์ โดยเริ่มจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำเสนอในยุทธศาสตร์ที่ 1-5 สำนักงานก.พ.ร.นำเสนอยุทธศาสตร์ที่ 6 นาย อเนก เพิ่มวงศ์เสนีย์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำด้านยุทธศาสตร์และการวางแผน นำเสนอในยุทธศาสตร์ที่ 7 เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ นำเสนอยุทธศาสตร์ที่ 8 และยุทธศาสตร์ที่ 9 โดยรวมได้กล่าวถึงองค์ประกอบของยุทธศาสตร์ อันประกอบด้วย ประเด็น กลยุทธ์เป้าหมาย เป้าประสงค์ เจ้าภาพหลัก กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และสาระสำคัญของยุทธศาสตร์

หลังจากเสร็จสิ้น ได้เปิดโอกาสให้มีการซักถามในประเด็นต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่เป็นประเด็นด้านความเข้าใจในการจัดทำแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี และด้านการจัดทำคำของบประมาณ ท้ายสุดท่านเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ย้ำกับส่วนราชการต่าง ๆ ว่า ขอให้ส่วนราชการไปทบทวนโครงการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับแผนการบริหารราชการแผ่นดินหรือนโยบาย พร้อมทั้งให้จัดลำดับความสำคัญของโครงการด้วย และในส่วนงบประมาณที่แต่ละส่วนจะได้รับนั้นคงไม่มากกว่าที่ได้รับในปีงบประมาณ 2548

     การจัดประชุมเชิงปฏิบัติครั้งนี้จึงถือว่าเป็นการก้าว..แห่งการบรรจบกันของนโยบายTop downและ Bottom up ของสำนักงานก.พ.ร ในการจัดแผนบริหารราชการแผ่นดิน และยังจะมีการก้าว.. ต่อไป อีกที่น่าสนใจ