เรื่อง : วสุนธรา   กิจประยูร                                                              

    สำนักงาน ก.พ.ร. จับมือสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
            จัดทำโครงการการจัดการความรู้ในส่วนราชการ

                เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัด พิธีเปิดตัวโครงการการพัฒนาส่วนราชการให้เป็น
องค์การแห่งการเรียนรู้ และการจัดการความรู้ในส่วนราชการ (Knowledge Management : KM)
ขึ้น ณ ลาน Center Point ชั้น 3 สำนักงาน ก.พ.ร.

               โครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่าง สำนักงาน ก.พ.ร. และ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้ส่วนราชการมีระบบการจัดการความรู้ในองค์กรที่สอดรับกับ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ที่กำหนดให้ส่วนราชการต้องมีหน้าที่ในการพัฒนาความรู้ให้มีลักษณะเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ 

ในพิธีเปิดตัวโครงการฯ นั้น ดร. ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. พร้อมด้วยนาย ธวัชชัย ตั้งสง่า ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ได้ร่วมกันแถลงข่าว และพูดคุยถึงความเป็นมาและรายละเอียดของโครงการฯ

                     ดร. ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. ได้กล่าวถึงที่มาของโครงการการพัฒนาส่วนราชการให้เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ และการจัดการความรู้ในส่วนราชการ ว่า ความรู้นั้นมีหลายประเภท มีทั้งความรู้ที่อยู่ในตำรา และความรู้อีกประเภทหนึ่งก็คือ ความรู้ที่อยู่ในตัวของผู้ปฏิบัติงาน หรือที่เรียกว่า Tacit Knowledge ซึ่งถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Assets) ที่มีส่วนสำคัญในโลกยุคปัจจุบันที่จะเป็นตัวนำพาองค์กรให้เกิดความได้เปรียบทางการแข่งขัน ดังนั้น เราจะต้องเปลี่ยนความรู้ในตัวบุคคลให้กลายเป็นทุนทางปัญญาขององค์กร และมีการบริหารจัดการทุนทางปัญญาดังกล่าว เพื่อให้องค์กรมีกำไร และขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จ

                      อย่างไรก็ตาม เรื่องการจัดการความรู้และการถ่ายทอดความรู้ที่อยู่ในตัวบุคคลนั้น ยังนับว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับองค์กรภาครัฐ เพราะในสังคมไทยนั้น บุคคลมักจะเก็บความรู้ไว้กับตัวโดยไม่ถ่ายทอดต่อ ดังนั้น เมื่อบุคคลนั้นไม่ปฏิบัติงานอยู่ในองค์กรแล้ว ความรู้ก็จะหายไปพร้อมกับตัวบุคคลด้วย ด้วยเหตุนี้ จึงต้องคิดหาวิธีในการนำความรู้ที่บุคคลมีอยู่ไปแลกเปลี่ยน แบ่งปันและถ่ายทอดต่อ

                      ยกตัวอย่างเช่น ในกิจกรรม Site Visit ของ Area Officer ของสำนักงาน ก.พ.ร. ซึ่งเป็นการลงพื้นที่จังหวัดเพื่อเก็บข้อมูลต่าง ๆ นั้น ผู้ที่ลงไปในพื้นที่ที่รับผิดชอบก็จะได้รับความรู้ มุมมอง รวมทั้งประสบการณ์การทำงานใหม่ ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่จะต้องนำมาแลกเปลี่ยน และถ่ายทอดให้กับบุคลากรอื่น ๆ ได้รับทราบ โดยผ่านกระบวนการและวิธีการจัดการความรู้ในองค์กรนั่นเอง

                       อีกกรณีหนึ่งที่เลขาธิการ ก.พ.ร. ยกขึ้นมาเป็นตัวอย่าง ได้แก่ ที่อำเภอเมืองนครปฐม ซึ่งนายอำเภอได้เห็นบริการต่าง ๆ ของเอกชนที่อำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าและประชาชน เช่น บริการส่งสินค้า/บริการถึงที่ (Delivery) จึงเกิดแนวคิดที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบงานให้บริการประชาชนของทางอำเภอ โดยใช้วิธีการจัดเก็บและการจัดการความรู้เพื่อนำมาหาวิธีการในการปรับปรุงรูปแบบการทำงาน เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากขึ้น และยังนำความรู้ที่ได้ขยายผลต่อไปยังอำเภออื่น ๆ ด้วย

นอกจากนี้ อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การจัดการความรู้มีความสำคัญมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากวิสัยทัศน์ของรัฐบาลที่ต้องการเห็นประเทศไทยเป็นประเทศแห่งการเรียนรรู้ หรือ Nation that learn โดยการทำให้สังคมไทยสามารถเรียนรู้และพัฒนาให้ก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป รวมทั้งองค์กรของภาครัฐที่จะต้องมีการเรียนรู้และการพัฒนา และยังรวมไปถึงตัวข้าราชการเองด้วย ที่จะต้องยกระดับให้เป็นข้าราชการที่เรียนรู้และใฝ่รู้ เพื่อช่วยยกระดับการพัฒนาระบบราชการต่อไป
        สำหรับแนวทางในการส่งเสริมความรู้ให้กับส่วนราชการนั้น เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวว่า จะต้องทำให้ผู้บริหาร หรือ CEO ของส่วนราชการ เข้าใจถึงขั้นตอนการบริหารความรู้ พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกิดการบริหารจัดการความรู้ในองค์กรอย่างเป็นระบบ

ทั้งนี้ จะต้องมีผู้ที่ทำหน้าที่เป็น ผู้บริหารองค์ความรู้ขององค์กร หรือ CKO (Chief Knowledge Officer) ที่จะเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการความรู้ภายในองค์กร และกระตุ้นให้คนในองค์กรสนใจในเรื่องความรู้ และการจัดการความรู้ โดยการนำองค์ความรู้ใหม่ ๆ และกรณีศึกษาที่เป็น best practice จากภายนอกองค์กร มาจัดเก็บให้เป็นระบบ และทำให้เป็นภาษาที่เข้าใจง่าย พร้อมทั้งถ่ายทอดต่อให้กับบุคลากรภายในองค์กร รวมไปถึงการพัฒนาองค์ความรู้ภายในองค์กร โดยการส่งเสริมให้บุคลากรแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของตน และนำความรู้ดังกล่าว รวมทั้งความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการปฏิบัติงาน มาถ่ายทอดต่อให้กับบุคลากรอื่น ๆ ในองค์กร

นาย ธวัชชัย ตั้งสง่า ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ได้กล่าวถึงเรื่องการจัดการความรู้ในประเทศไทยว่า ในส่วนของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาตินั้น ได้มีแนวคิดที่จะส่งเสริมในเรื่องการจัดการความรู้มาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว โดยได้ศึกษาวิธีการและแนวทางในการจัดการความรู้ในต่างประเทศ และนำมาปรับเปลี่ยน และหาวิธีการจัดการความรู้ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมของประเทศไทย

ทั้งนี้ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ได้จัดทำโครงการนำร่องในเรื่องของการพัฒนาวิธีการจัดการความรู้ ที่เหมาะสมกับการบริหารจัดการและวัฒนธรรมแบบไทย ๆ โดยมีองค์กรนำร่องเข้าร่วมโครงการ 4 องค์กร ได้แก่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท สแปนชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด โรงพยาบาลศิริราช และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ โดยการนำแนวคิดการจัดการความรู้ของบริษัท Xerox Corp. ในประเทศสหรัฐอเมริกามาปรับใช้ ซึ่งแต่ละองค์กรก็จะมีวิธีการจัดการความรู้ที่แตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อม และความเหมาะสมของแต่ละองค์กร ซึ่งผลที่ได้จากการดำเนินโครงการนำร่องดังกล่าว สามารถนำมาเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมเรื่องการจัดการความรู้ให้เกิดขึ้นในองค์กรภาครัฐได้ 

                   ปัจจัยที่จะช่วยให้การจัดการความรู้ในองค์กรประสบผลสำเร็จก็คือ ผู้บริหารขององค์กร ที่จะต้องเข้าใจและให้การสนับสนุนในเรื่องดังกล่าว พร้อมทั้งมีการกำหนดแนวคิดที่ชัดเจน และถ่ายทอดแนวคิดดังกล่าวไปยังบุคลากรในองค์กรด้วย

                   จุดเริ่มต้นของการจัดการความรู้ในองค์กรนั้น จะต้องเริ่มจากการกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนว่า องค์กรต้องการให้เกิดผลลัพธ์อะไร ยกตัวอย่างเช่น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า/ประชาชน จากนั้น จึงหาวิธีที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ดังกล่าว โดยนำเอาความรู้มาเป็นตัวช่วยผลักดัน

สำหรับกิจกรรมของโครงการการพัฒนาส่วนราชการให้เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ และการจัดการความรู้ในส่วนราชการ ที่จะดำเนินการต่อไปคือ การจัด Roadshow เรื่องการจัดการความรู้ ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยจะแบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

1. ผู้บริหารของส่วนราชการและจังหวัด โดยจะเป็นการ overview ให้เห็นภาพรวมของการจัดการความรู้ เพื่อให้ผู้บริหารได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของการจัดการความรู้ในองค์กร และให้การสนับสนุนในการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าวให้ประสบความสำเร็จ
2. คณะทำงานด้าน KM ขององค์กร และผู้ทำหน้าที่ CKO โดยจะเป็นการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ที่เน้นทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ เพื่อให้รับทราบถึงวิธีการและกระบวนการ รวมทั้งเทคนิคต่าง ๆ ในการจัดการความรู้ในองค์กร

 

                     สำหรับกำหนดการจัด Roadshow เรื่องการจัดการความรู้ ในส่วนภูมิภาค มีดังนี้

                               วันที่ 18 – 20  กรกฎาคม 2548   ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี

                         วันที่   8 – 10   สิงหาคม 2548    ที่จังหวัดเชียงใหม่

                         วันที่ 15 – 17   สิงหาคม 2548    ที่จังหวัดขอนแก่น

                     ช่วงท้ายของพิธีเปิดตัวโครงการการฯ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นการลงนามข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ ในโครงการการพัฒนาส่วนราชการให้เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ และการจัดการความรู้ในส่วนราชการ ระหว่างเลขาธิการ ก.พ.ร. และผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ