เรื่อง : วสุนธรา กิจประยูร
     
   

             สวัสดีค่ะ วันนี้ e-News ฉบับเดือนนี้  สำนักงาน ก.พ.ร. จะขอบอกเล่าก้าวสิบในหัวข้อเรื่อง การเตรียมการเพื่อรองรับการพัฒนาระบบราชการในขั้นต่อไป โดยการดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งจะเป็นการยกระดับและพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการบริหารงานในภาครัฐ เพื่อผลักดันให้การพัฒนาระบบราชการมีประสิทธิภาพ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น  ซึ่งเรื่องนี้ได้ถูกนำเสนอในที่ประชุม ก.พ.ร. ครั้งที่ 6/2548 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีภารกิจการบริหารการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรมเป็นผู้รับผิดชอบ

     การพัฒนาระบบราชการที่ผ่านมา

             สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ริเริ่ม ผลักดัน และเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบราชการ ด้วยระบบการบริหารราชการแนวใหม่ และการประยุกต์ใช้กระบวนการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Management) ได้แก่

             การวางยุทธศาสตร์
             เริ่มตั้งแต่ในระดับภาพรวมของรัฐบาล   ที่มีการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน 4 ปี   (พ.ศ. 2548 - 2551) และถ่ายทอดลงไปสู่ แผนปฏิบัติราชการ 4 ปี ของกระทรวง ทบวง กรม และจังหวัด  การจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการของส่วนราชการและจังหวัด โดยมีการกำหนดตัวชี้วัดหลัก (Key Performance Indicators) ตามแนวทางของ Balanced Scorecard ที่ครอบคลุมทั้ง 4 มิติ คือ
มิติด้านประสิทธิผลตามยุทธศาสตร์ (Financial Perspective) มิติด้านคุณภาพการให้บริการ (Customer Perspective) มิติด้านประสิทธิภาพของการปฏิบัติราชการ (Internal Work Process Perspective) และมิติด้านการพัฒนาองค์กร (Learning and Growth Perspective) รวมทั้งการจัดให้มีการให้เงินรางวัลตามผลงานเพื่อสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติราชการ

             การนำยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ
             โดยการจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปี รวมถึงวิธีการจัดสรรงบประมาณให้รองรับกับยุทธศาสตร์ตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ และแผนการบริหารราชการแผ่นดิน นอกจากนี้ เพื่อเป็นการผลักดันการทำงานให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ที่วางไว้ จึงได้มีการปรับแต่งองคาพยพของระบบราชการในด้านต่าง ๆ ด้วยได้แก่
             - การปรับปรุงโครงสร้างส่วนราชการ : การปรับปรุงโครงสร้างกระทรวง ทบวง กรม  การแปรสภาพหน่วยงานเป็นหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ (Special Delivery Unit : SDU) องค์การมหาชน และการถ่ายโอนภารกิจ
             - การปรับปรุงกระบวนงาน : การลดระยะเวลาและขั้นตอนในการปฏิบัติงาน การจัดทำข้อเสนอการเปลี่ยนแปลง (Blueprint for Change)
             
- การนำเทคโนโลยีมาใช้ : การนำ IT มาประยุกต์ใช้ในงานให้บริการประชาชน (e-service) และระบบบริการหลังสำนักงาน (Back Office)
             
- การพัฒนาบุคลากรและการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรม : การเตรียมวางหลักสูตรอบรมเพื่อปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงาน และความเข้าใจในระบบบริหารราชการแนวใหม่ สำหรับกลุ่มนักบริหารระดับกลาง และรองผู้ว่าราชการจังหวัด

             การควบคุมเชิงยุทธศาสตร์
             มีการเฝ้าระวังเชิงยุทธศาสตร์ โดยการกำหนดเจ้าภาพรับผิดชอบทั้งในด้าน Economic Intelligence และ National Security Intelligence เพื่อคอยติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อรายงานเตือนภัยให้แก่รัฐบาล นอกจากนี้ ยังได้มีการวางระบบประเมินผลตนเอง (Self Assessment) และการตรวจสอบผลการดำเนินการตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ  และสำหรับในด้านการติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณนั้น ก็ได้มีการวาง
ระบบการบริหารงานการเงินการคลังภาครัฐสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ GFMIS ด้วย

     การพัฒนาระบบราชการในขั้นต่อไป

             การเตรียมการเพื่อรองรับการพัฒนาระบบราชการในขั้นต่อไปนั้นก็คือ การยกระดับและพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการบริหารงานภาครัฐ เพื่อให้การพัฒนาระบบราชการมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สำนักงาน ก.พ.ร. จึงได้ร่วมกับสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ในการจัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐขึ้น

             โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐให้สอดคล้องกับ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546  และเพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานภาครัฐนำไปยกระดับคุณภาพการปฏิบัติงานสู่ระดับมาตรฐานสากล รวมทั้งเป็นกรอบในการประเมินตนเอง และเป็นบรรทัดฐานในการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐอีกด้วย

             สำหรับการดำเนินการนั้น จะมีการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบราชการที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คือการดำเนินการตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 และการประเมินผลการปฏิบัติงานตามคำรับรองการปฏิบัติราชการใน 4 มิติ

             นอกจากนี้ ยังจะสร้างความเชื่อมโยงให้การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐเป็นตัวผลักดันขับเคลื่อน ในการยกระดับคุณภาพในการปฏิบัติราชการให้มีประสิทธิภาพด้วย


             โครงการดังกล่าว ยังได้กำหนดเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ โดยนำกรอบการดำเนินการตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 รวมทั้งหลักเกณฑ์และแนวคิดของรางวัลคุณภาพแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แก่ Malcolm Baldrige National Quality Award (MBNQA) มาศึกษาวิเคราะห์เพื่อให้ได้เกณฑ์ที่สอดคล้องกับบริบทของส่วนราชการไทย และการพัฒนาสู่ระดับสากล ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการประเมินตนเองของส่วนราชการ เพื่อให้ผู้บริหารทราบว่าหน่วยงานของตนยังมีความบกพร่องในเรื่องใด และดำเนินการแก้ไขปรับปรุงในด้านต่าง ๆ เพื่อให้หน่วยงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

             นอกจากนี้ ส่วนราชการยังสามารถได้รับการตรวจรับรอง (Certify) จากผู้ตรวจประเมินภายนอก และขอเข้าประกวดเพื่อรับรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ เช่นเดียวกับรางวับคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award : TQA) ในภาคเอกชน

            สำหรับเกณฑ์การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐนั้น ประกอบด้วยเกณฑ์ 7 หมวด ได้แก่
            หมวด 1 การนำองค์กร
            หมวด 2 การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์และกลยุทธ์
            หมวด 3 การให้ความสำคัญกับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
            หมวด 4 การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้
            หมวด 5 การมุ่งเน้นทรัพยากรบุคคล
            หมวด 6 การจัดการกระบวนการ
            หมวด 7 ผลลัพธ์การดำเนินการ

            โดยเกณฑ์ทั้ง 7 หมวดนี้ มีความเชื่อมโยงในเชิงระบบ ซึ่งสามารถอธิบายได้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นกระบวนการ และ ส่วนที่เป็นผลลัพธ์

            ส่วนที่เป็นกระบวนการ
            สามารถแบ่งตามลักษณะการปฏิบัติการได้ 3 กลุ่มย่อย คือ

            กลุ่มการนำองค์กร : ได้แก่ หมวด 1 การนำองค์กร หมวด 2 การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ และหมวด 3 การให้ความสำคัญกับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งเกณฑ์เหล่านี้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกันเพื่อเน้นให้เห็นความสำคัญว่า ในการนำองค์กรนั้น ผู้บริหารต้องกำหนดทิศทางของส่วนราชการ โดยต้องมุ่งเน้นที่ยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ และการให้ความสำคัญกับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จากรูปข้างบนจะเห็นว่า ทั้ง 3 หมวดนี้เชื่อมโยงกันด้วยเส้นที่มีลูกศร 2 ข้าง ซึ่งแสดงว่า ทั้ง 3 หมวดต้องมีการปฏิสัมพันธ์เชื่อมโยงกันตลอดเวลา

            กลุ่มปฏิบัติการ : ได้แก่ หมวด 5 การมุ่งเน้นทรัพยากรบุคคล และ หมวด 6 การจัดการกระบวนการ กลุ่มนี้แสดงให้เห็นว่าทั้งบุคลากรและกระบวนการ มีบทบาททำให้การดำเนินงานสำเร็จ และนำไปสู่ผลลัพธ์การดำเนินการของส่วนราชการ และทั้ง 2 หมวดนี้ก็เช่นเดียวกันที่จะมีลูกศร 2 ข้างเชื่อมโยงกันอยู่

            กลุ่มพื้นฐานของระบบ : ได้แก่ หมวด 4 การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ กลุ่มนี้ส่งผลให้ส่วนราชการมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิผล และมีการปรัุบปรุงผลการดำเนินการโดยใช้ข้อมูลจริงและองค์ความรู้เป็นแรงผลักดัน จากภาพข้างบนจะเห็นว่า มีลูกศร 2 ข้างเชื่อมโยงกับหมวด 1 การนำองค์กร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้บริหารของส่วนราชการต้องมีข้อมูลจริง เืืพื่อใช้ในการตัดสินใจ ส่วนลูกศร 2 ข้างที่เชื่อมโยงกับหมวด 7 ผลลัพธ์การดำเนินการ แสดงให้เห็นว่า ต้องมีการวัด และการวิเคราะห์ เพื่อให้สามารถรายงานผลลัพธ์การดำเนินการของส่วนราชการได้ นอกจากนี้ ยังมีลูกศรใหญ่ที่เชื่อมโยงระหว่างหมวด 4 กับหมวดอื่น ๆ ทุกหมวด แสดงให้เห็นว่า ในการบริหารจัดการนั้น ต้องมีการใช้ข้อมูลและสารสนเทศอยู่ตลอดเวลา

            ส่วนที่เป็นผลลัพธ์
            ได้แก่ หมวด 7 ผลลัพธ์การดำเนินการ ส่วนนี้เป็นการตรวจประเมินใน 4 มิติ ที่สอดคล้องกับคำรับรองการปฏิบัติราชการ โดยจากภาพข้างบนนั้น ลูกศรแนวนอนตรงกลางของภาพแสดงการเชื่อมโยงของกลุ่มการนำองค์กรและกลุ่มปฏิบัติการกับส่วนที่เป็นผลลัพทธ์ และชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างหมวด 1 การนำองค์กร กับหมวด 7 ผลลัพทธ์การดำเนินการ


  •             สำหรับการดำเนินการในขั้นต่ิอไปนั้น สำนักงาน ก.พ.ร. ได้เิริ่มทำการศึกษาและกำหนดกรอบทิศทางในการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 โดยได้จัดทำเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐไว้แล้ว สำหรับในปี พ.ศ. 2548 จะเป็นการเตรียมพร้อมให้กับส่วนราชการ โดยได้จัดทำคู่มือสำหรับหน่วยงานภาครัฐเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินองค์กรด้วยตนเอง รวมทั้งการสร้างกลไลการดำเนินการภายในสำนักงาน ก.พ.ร.ให้มีความพร้อม และในปี พ.ศ. 2549 จะเป็นการสนับสนุนให้ส่วนราชการเสนอตัวเข้าสู่ระบบการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ และเสนอตัวเข้ารับ รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (Public Sector Management Quality Award : PMQA) ต่อไป.