การจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดินนั้น เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับแนวคิดของระบบการเมืองการปกครอง ในระบบประชาธิปไตยโดยมุ่งเน้นให้คณะรัฐมนตรี หรือผู้บริหารราชการแผ่นดินฝ่ายการเมือง แสดงภาวะผู้นำเพื่อทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย วางยุทธศาสตร์ และกำกับดูแล ควบคุมให้ฝ่ายราชการประจำทำหน้าที่รับผิดชอบในการนำไปปฏิบัติให้บรรลุผล
ดังนั้น แผนการบริหารราชการแผ่นดิน จึงเป็น แผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ( government strategic plan) ที่แสดงวิสัยทัศน์และทิศทางการทำงานของรัฐบาลในช่วงระยะเวลา 4 ปี ตามกรอบแนวทางที่ได้แถลงนโยบายไว้ต่อรัฐสภา และแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของคณะรัฐมนตรีในการบริหารปกครองประเทศ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- ประเด็นวาระในภาพรวมของรัฐบาล ( government-wide agenda) หรือ ยุทธศาสตร์หลัก (strategic result areas) ที่มุ่งเน้น หรือให้ความสำคัญ เช่น ด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน เป็นต้น
- เป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ (strategic goals) ประกอบด้วย ตัวขี้วัด (key performance indicators) และค่าเป้าหมาย (targets) ของแต่ละประเด็นวาระ/ยุทธศาสตร์หลัก เพื่อใช้ประโยชน์ในการกำกับดูแลควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน
- แผนผังเชิงยุทธศาสตร์ (strategy map) ที่แสดงให้เห็นภาพความสัมพันธ์เชื่อมโยงเชิงเหตุผล (logic model) ของกลยุทธ์/ตัวแปรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือปัจจัยแห่งความสำเร็จ (critical success factors) ในแต่ละประเด็นวาระ/ยุทธศาสตร์หลัก
การจัดทำแผนบริหารราชการแผ่นดินจึงเป็นประโยชน์สำหรับเป็นแม่บท หรือการอ้างอิงในการบูรณาการเพื่อถ่ายทอดลงไปยังระดับพื้นที่ (area-based approach) และระดับกระทรวง (functional-based approach) เพื่อช่วยให้การบริหารราชการแผ่นดินเกิดความสอดคล้องและเชื่อมโยงกันในทุกมิติ และทุกระดับ โดยการถ่ายทอดลงไปยังระดับพื้นที่ และระดับกระทรวงนั้น จะแบ่งเป็น
- รองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลเขตพื้นที่ หรือกลุ่มจังหวัด ดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด/จังหวัด
- รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์ของกระทรวง (หรือแผนปฏิบัติราชการของกระทรวง ตามนัยของมาตรา 16 แห่ง พ.ร.ฎ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546)
ทั้งนี้ยุทธศาสตร์ในระดับพื้นที่และกระทรวงนั้น จะต้องนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ โดยจะกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นวาระเฉพาะ (area/functional agenda) หรือผลงานหลัก (key result areas) ที่ต้องการมุ่งเน้นหรือให้ความสำคัญ ตัวชี้วัด และค่าเป้าหมาย แผนผังยุทธศาสตร์ของตนที่สอดคล้องกับแผนการบริหาราชการแผ่นดิน
นอกจากนี้ แผนการบริหารราชการแผ่นดินยังเป็นประโยชน์ในการจัดวางแผนนิติบัญญัติ (legislative program) แผนการเงินการคลังของรัฐบาล โดยเฉพาะการประมาณการเกี่ยวกับรายรับ-รายจ่ายล่วงหน้าในระยะปานกลาง (medium-term forward estimation) และการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐด้วย
สรุปแล้วแผนการบริหารราชการแผ่นดินนั้น เป็นเครื่องมือสมัยใหม่ที่จะช่วยให้รัฐบาลสามารถบริหารปกครองประเทศในเชิงรุกได้อย่างเป็นระบบ เกิดการบูรณาการการเชื่อมโยง ซึ่งจะช่วยให้เกิดพลังและสามารถขับเคลื่อนการทำงานของภาครัฐให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น
แผนการบริหารราชการแผ่นดินจะเป็นเสมือนกรอบแม่บทในการถ่ายทอดนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติ ทั้งในระดับพื้นที่ (กลุ่มจังหวัด/จังหวัด) และระดับกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ รวมถึงการจัดสรรทรัพยากร (เงิน/คน) ตลอดจนการติดตามตรวจสอบและประเมินผลการบริหารราชการแผ่นดิน |