เรื่อง : จันทกานติ์ จตุรพาณิชย์
|
จัดประชุมร่วมรองผู้ว่าฯ CCO และ CKO
เพื่อพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ
และการจัดการองค์ความรู้
|
เมื่อวันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม 2548 สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จัดประชุมชี้แจงเรื่อง การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ และการจัดการองค์ความรู้ ให้แก่รองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำการบริหารการเปลี่ยนแปลง (CCO) และผู้บริหารด้านการจัดการองค์ความรู้ในหน่วยงาน (CKO) ณ โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างเวลา 08.30 16.30 น. โดยมี รองเลขาธิการ ก.พ.ร. พรพิมล รัตนพิทักษ์ เป็นประธานเปิดงาน
|
|
รองเลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวว่า การพัฒนาคุณภาพการบริหาร
จัดการภาครัฐ และการจัดการองค์ความรู้นั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญ และได้ถูกกำหนดอยู่ในเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์์ของแผนบริหารราชการแผ่นดิน ในประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 6 ซึ่งกำหนดไว้ว่า จะต้องมีการสร้างความพึงพอใจให้กับผู้รับบริการ และยกระดับมาตรฐานหน่วยงานภาครัฐให้อยู่ในระดับที่สามารถยอมรับได้ รวมทั้งมาตรา 11 ของพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ได้กำหนดให้ส่วนราชการจะต้องมีการพัฒนาองค์ความรูู้้ในส่วนราชการ (Knowledge Management) เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับ และพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการองค์การ ให้อยู่ในระดับสูงเทียบเท่าเกณฑ์สากลได้
|
รองเลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวต่อว่า รองผู้ว่าฯ ซีซีโอ ในฐานะเป็นผู้นำการบริหารการเปลี่ยนแปลง (CCO) และรองผู้ว่าฯ ซีเคโอ ในฐานะเป็นผู้บริหารด้านการจัดการองค์ความรู้ในหน่วยงาน (CKO) จะต้องเป็นหัวหน้าทีมในเรื่องการจัดการความรู้ในภาพรวมของหน่วยงาน ต้องรู้ว่า หน่วยงานของตนต้องการความรู้ด้านไหน อย่างไรในการที่จะยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการ ขีดความสามารถและมาตรฐานการทำงานให้อยู่ในระดับสูงเท่ากับเกณฑ์สากล ซึ่งถ้ามีการจัดการองค์ความรู้ได้เป็นอย่างดีจะสามารถทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ภายในหน่วยงาน และสามารถข้ามหน่วยงานด้วยยิ่งดี โดยสำนักงาน ก.พ.ร. ได้รับความร่วมมือจากสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ในการทำ workshop เรื่องการจัดการองค์ความรู้จากทฤษฎีสู่ปฏิบัติให้แก่รองผู้ว่าซีซีโอและรองผู้ว่าซีเคโอ ในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ระหว่างวันที่ 9 10 สิงหาคม 2548 ณ ห้องบ้านพันตน โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่
|
|
ด้านคุณสังวร รัตนรักษ์ รองผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ได้บรรยายในหัวข้อ การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ สรุปได้ว่า การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ เป็นการนำแนวคิดและโครงสร้างของรางวัลคุณภาพของประเทศสหรัฐอเมริกา The Malcolm Baldrige National Quality Award มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับระบบราชการไทย ซึ่งจะช่วยยกระดับการปฏิบัติงานของรัฐให้สอดคล้องกับพระราชกฤษฎีกาด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 อีกทั้งยังช่วยในการวางกรอบประเมินตนเอง และเป็นบรรทัดฐานการติดตามและประเมินผลการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งจะทำให้ผู้บริหารของส่วนราชการนั้นๆ ได้รับทราบว่าส่วนราชการของตนเองยังมีข้อบกพร่องในเรื่องใด
|
|
รองผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมครั้งนี้ใช้เวลา 3 วัน โดยในช่วงเช้าของการประชุมในวันแรก เป็นการประชุมชี้แจงเรื่องการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ จากนั้นในช่วงบ่ายเป็นการฝึกอบรมให้ความรู้ เกี่ยวกับหลักการเบื้องต้นของการจัดการความรู้ สำหรับในวันที่ 8 และ 9 สิงหาคม เป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการจัดการความรู้ : จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ (Knowledge Management Implementation Workshop) ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับความรู้และฝึกปฏิบัติ ในเรื่องหลักการเบื้องต้นและขั้นตอนการจัดการความรู้ การกำหนด Desired state ของการจัดการความรู้ แนวทางการประเมินความพร้อมขององค์กร และการจัดทำแผนงานการจัดการความรู้
|
การจัดการความรู้ (Knowledge Management) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการรวบรวมองค์ความรู้ที่มีอยู่ในส่วนราชการ ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในตัวบุคคลหรือเอกสารมาพัฒนาให้เป็นระบบ เพื่อให้ทุกคนในองค์กรสามารถเข้าถึงความรู้และพัฒนาตนเองให้เป็นผู้รู้ รวมทั้งปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลให้องค์กรมีความสามารถในเชิงการแข่งขันสูงขึ้น
อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การจัดการความรู้มีความสำคัญมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากวิสัยทัศน์ของรัฐบาลที่ต้องการเห็นประเทศไทยเป็นประเทศแห่งการเรียนรู้ หรือ Nation that learn โดยการทำให้สังคมไทยสามารถเรียนรู้และพัฒนาให้ก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป รวมทั้งองค์กรของภาครัฐที่จะต้องมีการเรียนรู้และการพัฒนา และยังรวมไปถึงตัวข้าราชการเองด้วย ที่จะต้องยกระดับให้เป็นข้าราชการที่เรียนรู้และใฝ่รู้ เพื่อช่วยยกระดับการพัฒนาระบบราชการต่อไป
|
|
ทั้งนี้ จะต้องมีผู้ที่ทำหน้าที่เป็น ผู้บริหารองค์ความรู้ขององค์กร หรือ CKO (Chief Knowledge Officer) ที่จะเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการความรู้ภายในองค์กร และกระตุ้นให้คนในองค์กรสนใจในเรื่องความรู้ และการจัดการความรู้ โดยการนำองค์ความรู้ใหม่ ๆ และกรณีศึกษาที่เป็น best practice จากภายนอกองค์กร มาจัดเก็บให้เป็นระบบ และทำให้เป็นภาษาที่เข้าใจง่าย พร้อมทั้งถ่ายทอดต่อให้กับบุคลากรภายในองค์กร รวมไปถึงการพัฒนาองค์ความรู้ภายในองค์กร โดยการส่งเสริมให้บุคลากรแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของตน และนำความรู้ดังกล่าว รวมทั้งความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการปฏิบัติงาน มาถ่ายทอดต่อให้กับบุคลากรอื่น ๆ ในองค์กร
|