ก.พ.ร. จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น
จากเครือข่ายทั่วทุกภาค
เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วม
ในการพัฒนาระบบราชการ |
ในปี 2548 นี้ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้เดินหน้าส่งเสริมในเรื่องการสร้างเครือข่ายการพัฒนาระบบราชการ โดยจัดประชุมสัมมนา เครือข่ายและการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาระบบราชการ ซึ่งเป็นการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากเครือข่ายทั่วประเทศเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการระดับจังหวัด โดยมีกลุ่มเป้าหมายประกอบไปด้วย ข้าราชการ นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด สมาคมธุรกิจภาคต่างๆ องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) สื่อมวลชน และสมาชิกเครือข่ายการพัฒนาระบบราชการ
|
กิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการเสริมสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบราชการ ที่มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบราชการ โดยการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และสร้างการมีส่วนร่วม ผ่านกระบวนการ และช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ เืพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่ 7 ของ แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย (พ.ศ. 2546 - 2550) ที่มุ่งเน้นให้มีการเปิดระบบราชการเข้าสู่กระบวนการความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยการยอมรับและให้ประชาชน และผู้ที่เกี่ยวข้องในภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอแนะความคิดเห็น ร่วมปฏิบัติงาน และการตรวจสอบผลการดำเนินงาน
|
การสัมมนาได้แบ่งออกเป็นภาคต่าง ๆ โดยจัดขึ้นในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ดังนี้
ภาคเหนือ เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2548 ณ โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่
ภาคใต้ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2548 ณ โรงแรมเจ บี หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2548 ณ โรงแรมโซฟิเทล ราชาออคิด จังหวัดขอนแก่น
ภาคกลาง เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2548 ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนแวนชั่น กรุงเทพมหานคร
สำหรับเนื้อหาของการสัมมนานั้นเน้นในเรื่องของการสร้างความเข้าใจในการพัฒนาระบบราชการ
และ
การสร้างเครือข่ายทั้งในภาคราชการ ภาคเอกชน และองค์กรต่าง ๆ รวมทั้งสื่อมวลชน |
ท่าน ก.พ.ร. อรพินท์ สพโชคชัย ในฐานะประธาน อ.ก.พ.ร.เีกี่ยวกับการเผยแพร่ และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบราชการ ได้กล่าวเรื่อง ทิศทางและนโยบายในการพัฒนาระบบราชการ และการพัฒนาคุณภาพการบริการประชาชน ว่า ในอดีตระบบราชการมีปัญหาในเรื่องของธรรมาภิบาล ซึ่งต้องสร้าง GOOD GOVERNANCE ให้เกิดขึ้น และอีกปัญหาคือ การบริหารงานแบบดั้งเดิม ซึ่งต้องแก้ไขด้วยการสร้างให้มีการประยุกต์หลักการบริหารราชการยุคใหม่ (New Public Management : NPM) ทั้งนี้ เพื่อให้ระบบราชการเป็นที่พึงปรารถนา กล่าวคือ ตอบสนองความต้องการและประโยชน์สุขของประชาชน
|
|
เน้นบทบาทที่จำเป็น บริหารงานมุ่งผลสัมฤทธิ์ ประสิทธิภาพประสิทธิผล เน้นหลักคุ้มค่า ทันสมัย นอกจากนี้ ยังต้องมีความเที่ยงธรรมและรับผิดชอบ ยืนหยัดในความถูกต้อง ประชาชนมีส่วนร่วม สุจริตโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้
ทั้งนี้ เพื่อสนองตอบเป้าประสงค์หลักของการพัฒนาระบบราชการ อันได้แก่ พัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชนที่ดีขึ้น (better service quality) ปรับบทบาท ภารกิจ และขนาดให้มีความเหมาะสม (rightsizing) ยกระดับขีดความสามารถของข้าราชการ และมาตรฐานการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ให้อยู่ในระดับสูงและเทียบเท่าเกณฑ์มาตรฐานสากล (high performance) ตอบสนองต่อการบริหารปกครองในระบอบประชาธิปไตย และสุดท้ายคือ เปิดระบบราชการสู่กระบวนการความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น (democratic governance) |
ด้านรองเลขาธิการ ก.พ.ร. พรพิมล รัตนพิทักษ์ กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า บทบาทภารกิจหลักของสำนักงาน ก.พ.ร. คือ การสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบราชการในทุกภาคส่วนของสังคม ซึ่งในปัจจุบัน การบริหารราชการเป็นแบบระบบเปิด (Open Governance) โดยให้ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องในภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงภาคประชาสังคม มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมใน 5 มิติ คือ (1) ร่วมคิดและเสนอความคิดเห็น (2) ร่วมตัดสินใจ (3) ร่วมดำเนินการ (4) ร่วมรับประโยชน์ และ (5) ร่วมติดตามผลการดำเนินงาน ซึ่งในทางปฏิบัติที่เป็นสากลนั้น การดำเนินการในเรื่องการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมจะมีหลายรูปแบบ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การให้ข้อมูลแก่ประชาชน การจัดประชาพิจารณ์ การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น การจัดสัมมนาและประชุมชี้แจง รวมทั้งการจัดให้มีเครือข่ายการทำงานร่วมกัน หรือเครือข่ายองค์กรประชาชน
|
|
ดังนั้น การดำเนินการเพื่อส่งเสริมให้เกิดการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นและมีความสำคัญ เพราะจะเป็นการเปิดระบบราชการเข้าสู่กระบวนการความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ประชาชนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในสังคมยอมรับและเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอแนะความคิดเห็น ร่วมปฏิบัติงาน และร่วมตรวจสอบผลการดำเนินงานของภาครัฐ ซึ่งในปัจจุบันมีการตราพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ที่ให้ความสำคัญต่อการบริหารราชการอย่างสุจริตโปร่งใส การเปิดเผยข้อมูล และการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจทางการเมืองและนโยบายสาธารณะ รวมถึงการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในทุกระดับ |
|
ท่าน ก.พ.ร. อรพินท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ท้าทายมากที่สุดในการพัฒนาระบบราชการ ได้แก่ การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์และ วัฒนธรรมการทำงานของข้าราชการทุกระดับ ให้้สามารถรองรับความเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้นในโลกได้อย่างทันท่วงที |
และในครั้งสุดท้ายของการจัดสัมมนา ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพมหานครนั้น ดร. ชาติชาย ณ เชียงใหม่ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมกิจการบ้านเมืองที่ดี กล่าวในหัวข้อ "เครือข่ายส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี" ว่า ความจำเป็นที่จะต้องมีเครือข่ายความร่วมมือในการส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีนั้น เนื่องจากมีปัญหาเรื่องของข้อจำกัดในการเข้าถึงความรู้ ข้อมูลข่าวสาร อีกทั้งความจำเป็นที่จะต้องร่วมกันทำความเข้าใจปัญหา และกำหนดทางเลือกใหม่ ๆ ของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และความปรารถนาที่จะผลักดันการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ดังนั้น จึงต้องมีเครือข่ายมาเป็นผู้สนับสนุนการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว |
|
ทั้งนี้ หลักการทำงานของเครือข่าย ประกอบด้วย 1. ทุกฝ่ายมีเกียรติ ศักดิ์ศรี สิทธิ โอกาสที่เท่าเทียมกัน 2. เป็นการทำงานแนวราบ ไม่มีการสั่งการจากฝ่ายใด 3. เป็นกระบวนการเรียนรู้โดยผ่านการทำงานร่วมกัน
ประโยชน์ของเครือข่ายความร่วมมือ ได้แก่ (1) ตัดสินใจได้เร็ว แก้ปัญหาได้เร็ว ท่ามกลางความไม่แน่นอน และความสลับซับซ้อนของปัญหา (2) ลดค่าใช้จ่ายการบริหารราชการและผู้ใช้บริการ (3) ให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมายได้ตรงความต้องการ (4) เป็นการสร้างทุนทางสังคมให้แก่หน่วยงานและประเทศ |
นอกจากนี้ ดร.ชาติชาย ยังได้แนะนำให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รู้จักปรัชญาของความร่วมมือ ซึ่งประกอบด้วย การส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานงานมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดและข้อมูลข่าวสารให้มากที่สุด การลดเงื่อนไขและปัจจัยปิดกั้นการมีส่วนร่วมคิดของทุกคน ต้องให้ข้อมูลข่าวสารแก่ผู้ปฏิบัติงานให้มากที่สุด ส่งเสริมจูงใจให้ผู้ปฏิบัติงาน คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ และกระตุ้นให้ผู้ปฏิบัติงานรู้สึกเป็นเจ้าของผลลัพธ์ของงานที่ดี ไม่ใช่เป็นเจ้าของความคิด
หลักพื้นฐาน 4 ประการของกระบวนการร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์ ได้แก่
1. ทุกคนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วม
2. ทำให้ เห็น ข้อมูลข่าวสาร
3. ข้อมูลข่าวสารที่เคลื่อนย้ายได้
4. เพลินและสนุกกับการคิดและทำร่วมกัน |
|
ดร.ชาติชาย กล่าวเสริมในเรื่อง แนวทางการจัดการแบบเครือข่าย ว่า ต้องประกอบด้วย
1. การแสวงหาจุดมุ่งหมายร่วมกัน (Purpose)
2. การกำหนดความเชื่อพื้นฐานร่วมกัน (Principle)
3. การกำหนดความสามารถที่ต้องมีร่วมกัน (Capability)
4.การกำหนดบทบาทของแต่ละฝ่ายและความสัมพันธ์ที่มีต่อกัน ความรับผิดชอบต่อกัน (Concept)
5. การกำหนดกฏ ระเบียบที่ยึดโยงความสัมพันธ์ที่มีต่อกัน (Structure)
6. การกำหนดโครงการ กิจกรรมที่ควรทำร่วมกัน (Practice)
อย่างไรก็ดี การสร้างเครือข่าย ยังมีอุปสรรคของการจัดการความร่วมมือหลายด้านด้วยกัน
ผมว่าผู้คนรู้สึกว่าเป็นเรื่องยาก ไม่มีแรงพลังพอที่จะทำให้เครือข่ายความร่วมมือเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้กำหนดการทำงานและความสำเร็จทีละขั้น อีกทั้งขาดความวิริยะในการผลักดันให้มีความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง และไม่ได้ปลูกฝัง ความร่วมมือกัน' ให้เป็นวัฒนธรรมของหน่วยงาน ผู้คนนิ่งนอนใจ เห็นว่าเครือข่ายความร่วมมือเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นเร่งด่วน ขาดแรงผลักดันที่มากพอจากกลุ่มผู้บริหารระดับสูง ขาดวิสัยทัศน์ที่มีพลังชี้นำการเปลี่ยนแปลง ไม่สามารถสื่อสารวิสัยทัศน์ให้รู้และยอมรับร่วมกันระหว่างหน่วยงาน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นสำคัญ ดร.ชาติชายกล่าว |
สำหรับแนวทางการเสริมสร้างเครือข่าย ดร.ชาติชายได้แนะนำไว้ว่า
1. การบริหารงานแบบมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงาน
2. ผู้บริหารมีหน้าที่ในการเป็นผู้อำนวยความสะดวก
3. สร้างวิสัยทัศน์ของกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน
4. ผู้ปฏิบัติงานมีส่วนร่วมแข็งขันในกระบวนการทำงาน
5. ทุกคนเป็นกำลังสำคัญของกลุ่ม
6. ผู้ปฏิบัติงานเห็นและเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างงาน
7. มีการรับฟังและติชมผลงาน
8. งานที่ทำสร้างความรู้สึกพึงพอใจและความสำเร็จแก่ผู้ปฏิบัติ
9. มีการทบทวนสะท้อนความคิดถึงสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว |
|
10. มีการเรียนรู้ผลการทำงานเพื่อปรับปรุงทักษะและผลงานอย่างต่อเนื่อง
11.สมาชิกกลุ่มทุกคนสามารถพัฒนาทักษะและความเชี่ยวชาญของตน อย่างต่อเนื่อง |
สำหรับการจัดประชุมและเปิดรับฟังความคิดเห็นจากเครือข่ายทั่วทุกภาค ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี นั่นแสดงให้เห็นว่า ประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม มีความสนใจและกระตือรือร้นในการพัฒนาระบบราชการ และมองเห็นว่า หากระบบราชการมีการพัฒนา ประเทศชาติก็จะมีการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายตามที่หวังไว้ได้ |