ฉบับที่ 8 ประจำเดือน ตุลาคม 2548

สวัสดีค่ะ ก.พ.ร. e-newsletter ฉบับนี้พบกับข่าวสารการพัฒนาระบบราชการ งาน 3 ปี แห่งการพัฒนาระบบราชการ และเรื่องน่ารู้ประจำฉบับที่น่าสนใจค่ะ


gotomanager.com/books/
valuebasedmanagement.net

บรรยายพิเศษ
ท่านรองนายกรัฐมนตรี 
เรื่อง... การพัฒนาระบบราชการ
กับการปรับปรุงโครงสร้างส่วนราชการ


เมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา นับเป็นการครบปีอีกครั้งของการพัฒนาระบบราชการไทย ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดงาน 3 ปีแห่งการพัฒนาระบบราชการไทย ขึ้น ณ หอประชุมกองทัพเรือ ถนนอรุณอัมรินทร์ โดยมี รองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม ในฐานะประธาน ก.พ.ร. เป็นประธาน


                                          

 ในกิจกรรมครั้งนี้ หลังจากที่ได้กดปุ่มเปิดงานแล้ว รองนายกรัฐมนตรีได้บรรยายพิเศษให้กับ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด และข้าราชการที่เข้าร่วมงานกว่าพันคน ในหัวข้อเรื่อง "การพัฒนาระบบราชการ กับการปรับปรุงโครงสร้างส่วนราชการ"  ขอนำสรุปบางส่วนของการบรรยายในครั้งนี้ มารายงานให้ทราบกันค่ะ

ความจำเป็นในการปฏิรูประบบราชการ

               วันนี้ นับถอยหลังไปเมื่อ 3
ปีที่แล้ว ต้องถือว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งในระบบราชการของไทย เพราะเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้มีพระมหากรุณาธิคุณทรงลงพระปรมาภิไธยใน พระราชบัญญัติสำคัญของประเทศ 2 ฉบับพร้อมกัน และประกาศในราชกิจจานุเบกษาในตอนบ่ายวันเดียวกัน โดยมาตรา 2 ของพระราชบัญญัติทั้ง 2 กำหนดว่า พระราชบัญญัตินี้ให้มีผลตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจ จานุเบกษาเป็นต้นไป
              
               ดังนั้น วันที่ 3 ตุลาคม 2545 จึงเป็นวันที่กฎหมายทั้ง 2 ฉบับมีผลใช้บังคับ กฎหมายทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ได้แก่ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 และ พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 จากวันนั้นเป็นต้นมา ถือว่าเราได้ปักธงแห่งการเปลี่ยนแปลง พัฒนา และปฏิรูประบบราชการ และยังโบกพริ้วปลิวไสวจนถึงทุกวันนี้ เพราะงานที่ทำมา 3 ปียังไม่สำเร็จ ยังต้องเดินหน้าต่ออีกมาก
                  ทั้งนี้ เนื่องจากอะไรก็ตามที่เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่ ที่เรียกว่า ปฏิรูป หรือ Reform นั้น เป็นเรื่องที่ทำยาก เพราะเป็นการไปเปลี่ยนสิ่งที่เคยชิน เคยปฏิบัติกันมานาน บางครั้งการเปลี่ยนคนนั้นง่าย แต่ถ้าเป็นการเปลี่ยนนิสัย วัฒนธรรม วิธีการ และวิธีคิดนั้น เป็นเรื่องยาก และจะยิ่งยากขึ้นหากบุคคลนั้นยังเป็นคนเดิม อยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิม แต่ไม่ว่ายากอย่างไรก็ตาม ก็ยังจะต้องทำ เพราะหากไม่ทำ ก็จะไม่มีการเริ่มต้น และก็จะไม่เห็นผลสำเร็จ
                     การปฏิรูประบบราชการเป็นเรื่องที่ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาได้คิดและวางแนวทางไว้แล้ว เพียงแต่มีอุปสรรคในการดำเนินการมาก ทุกรัฐบาลนั้น มีความตั้งใจดีที่จะปฏิรูประบบราชการ ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่ได้ทำตามสมัยนิยม หรือเป็นแฟชั่น แต่เป็นเรื่องที่ทุกรัฐบาลคิดตรงกันว่าไม่ทำไม่ได
                     ความจำเป็นที่ทำให้ต้องมีการปฏิรูประบบราชการนั้น มาจากกระแสเรียกร้องของประชาชนที่ต้องการจะเห็นระบบราชการที่ดีขึ้น ข้าราชการยิ้มแย้มแจ่มใส ยินดีให้บริการ รวมทั้งต้องการเห็นงานของภาคราชการที่มีความรวดเร็ว ลดขั้นตอน ประหยัดเวลา นอกจากนี้ ประชาชนยังอยากเห็นระบบราชการมีความโปร่งใส ใสสะอาด ปราศจากการทุจริต รีดไถ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เป็นความจำเป็นที่ทำให้ระบบราชการต้องมีการปรับปรุง
นอกจากความจำเป็นดังกล่าวแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ ความต้องการของส่วนราชการ ที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงหน่วยงานของตนเอง ในเรื่องของการตั้งหน่วยงานภายใน เพิ่มอัตรากำลัง โดยคิดในบริบทของตนเอง ซึ่งจะถูกทัดทานจากรัฐบาลสมัยก่อน ๆ เนื่องจากเมื่อมองในภาพรวมแล้ว เมื่อหลาย ๆ ส่วนราชการขอเพิ่มหน่วยงานและอัตรากำลัง ก็จะต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลของประเทศ ซึ่งหากจะอนุมัติให้บางกับกรม แต่ไม่อนุมัติให้กับบางกรม ก็อาจจะกลายเป็นปัญหาทางการเมืองได้ เพราะในอดีตนั้น รัฐบาลเป็นรัฐบาลผสม ทางออกที่ใช้จึงมีอยู่ 2 ประการ คือ อนุมัติให้ทั้งหมด หรือไม่ก็ไม่อนุมัติเลย ซึ่งไม่เป็นผลดีกับระบบราชการของประเทศ

                    ด้วยเหตุดังกล่าว ในอดีตไม่ว่าใครที่เข้ามาเป็นรัฐบาลนั้น วาระต้นๆ ที่นายกรัฐมนตรีทำก็คือ การตั้งกรรมการขึ้นมาเพื่อดูและเรื่องการปฏิรูประบบราชการของประเทศ โดยเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีอยู่เพื่อก้าวไปข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ประเทศชาติมีวาระงานมาก แม้จะมีความจำเป็นในการปฏิรูประบบราชการ แต่ในอดีต รัฐบาลไม่สามารถจัดงานปฏิรูประบบราชการที่เป็นแผนระยะยาวได้ อีกทั้งยังไม่สามารถจัดใหม่ทั้งหมด แต่จะต้องสะสางของเดิมด้วย เป็นเหตุให้งานดังกล่าวต้องใช้ระยะเวลา และยังเป็นงานที่ยาก เนื่องจากมีกระแสต่อต้านมาก เริ่มตั้งแต่กระแสต่อต้านของรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล ที่คิดว่าจะเป็นการลดทอนอำนาจและอาณาจักรของตน

                                                                   


อุปสรรคต่อมาก็คือ ข้าราชการ ซึ่งไม่เข้าใจว่าทำไมต้องรื้อให้ระบบที่มีอยู่ ถูกกระทบกระเทือน ซึ่งการปฏิรูปนั้น ส่งผลกระทบต่อข้าราชการแน่นอน เพราะต้องมีการโยกย้ายงาน แน่นอนที่สุด การปฏิรูปนั้น ต้องเกิดความโกลาหลอลหม่านขึ้น ซึ่งหากนำเอาความโกลาหลนี้มาตอกย้ำ ขยายผล ก็จะทำเกิดความตื่นตระหนก ความกลัว และเกิดการต่อต้านในที่สุด

ที่กล่าวมานี้ เป็นอุปสรรคในการปฏิรูประบบราชการทั้งสิ้น ซึ่งยังไม่รวมถึง อุปสรรคในทางเทคนิคซึ่งนับว่าสำคัญที่สุด อุปสรรคทางเทคนิคที่ว่านี้ก็คือ ในการปฏิรูประบบราชการนั้นจะต้องแก้กฎหมาย ซึ่งมีหลายฉบับ แต่ด้วยเหตุที่เป็นรัฐบาลผสม มีเสียงไม่แน่นพอ การจะเสนอกฎหมายเพื่อปฏิรูประบบราชการ จึงเป็นเรื่องที่ยาก และถูกต่อต้าน ซึ่งหากรัฐบาลเสนอกฎหมายในสภาผู้แทนราษฎรแล้วตกไป รัฐบาลก็จะต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก หรือประกาศยุบสภา ซึ่งเป็นการเดิมพันที่สูง ทำให้ไม่มีใครกล้าเสี่ยง
           
              โดยสรุปแล้วแนวคิดในเรื่องของการปฏิรูประบบราชการนั้น ได้มีการดำเนินการมาตลอดในทุกรัฐบาล จนมาถึงรัฐบาลของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นการเข้ามาต่อยอดแนวคิดของรัฐบาลที่ผ่าน ๆ มา เนื่องจากปัญหา อุปสรรคต่าง ๆ ลดลงจากเดิม เช่น เสียงในสภามีมาก ประชาชนเริ่มเข้าใจในแนวคิดของการปฏิรูประบบราชการ มีการย้ำให้ประชาชนรับทราบถึงเรื่องของการปฏิรูป

                เมื่อทุกอย่างลงตัว จึงถึงเวลาที่จะมีการปฏิรูประบบราชการอย่างจริงจัง เริ่มด้วยการเสนอกฎหมาย 2 ฉบับที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีกฎหมายฉบับอื่น ๆ ตามมาด้วย ซึ่งในขณะนี้ได้มีการจัดทำบ้างแล้วบางฉบับ เช่น กฎหมายวิธีการงบประมาณฉบับใหม่ ระเบียบพัสดุฉบับใหม่ เป็นต้น

 คัมภีร์ในการปฏิรูประบบราชการ
 
ในการปฏิรูประบบราชการนั้น ต้องมีคัมภีร์อยู่ 2 เล่ม ได้แก่

           1. พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 เป็นกฎหมายที่บอกว่า ประเทศไทยแบ่งระเบียบราชการออกเป็นส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น และเป็นกฎหมายเดียวในประเทศไทยที่บอกถึงอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นต้น รวมทั้งเรื่องการรักษาราชการแทน และการปฏิบัติราชการแทน ฯลฯ และในขณะนี้กำลังมีการแก้ไข พ.ร.บ. ดังกล่าวอีกครั้งหนึ่งด้วย เพื่อที่จะกรุยทางไปสู่การปฏิรูป ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย หากเป็นไปตามร่างพระราชบัญญัติที่กำลังจัดทำอยู่

             2. พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 เป็นกฎหมายที่บอกว่า ประเทศไทยมีกี่กระทรวง แต่ละกระทรวงมีกี่กรม และหน่วยงานดังกล่าวมีชื่ออะไรบ้าง

             นอกจากกฎหมายทั้ง 2 ฉบับแล้ว คัมภีร์ในการปฏิรูประบบราชการอีกฉบับหนึ่ง คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ซึ่งได้มีการกล่าวถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูประบบราชการไว้มากมาย เช่น กำหนดว่า รัฐต้องจัดระบบงานราชการและงานของรัฐอย่างอื่นให้มีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน

             ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีการจัดตั้ง สำนักงาน ก.พ.ร. ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ดังนี้

                 1. หาคำตอบว่า ความต้องการของประชาชนคืออะไร โดยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สำรวจความต้องการของประชาชน

             2. ควรทำอย่างไรจึงจะตอบสนองความต้องการของประชาชน

             3. ประเมินผลว่าสิ่งที่รัฐได้ทำไปนั้น ตอบสนองความต้องการของประชาชนหรือไม่ ซึ่งจาก 3 ปีที่ผ่านมาพบว่าบางเรื่องที่รัฐทำไปนั้น ไม่ได้เป็นความต้องการของประชาชน ในขณะที่บางเรื่องเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการ แต่ต้องการให้ทำอย่างจริงจังและหนักกว่านี้

      


ผลจากการปักธงปฏิรูประบบราชการ

   
ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ผลจากการปักธงปฏิรูประบบราชการ ได้แก่

             1. เกิดสำนักงาน ก.พ.ร. ขึ้นเป็นเจ้าภาพดูแลในเรื่องการปฏิรูประบบราชการแต่สำนักงานก.พ.ร. ไม่ได้เป็นหน่วยที่จะขับเคลื่อนการปฏิรูประบบราชการโดยลำพัง แต่ทำหน้าที่เป็นเหมือนสถาปนิกในการคิดเรื่องปฏิรูประบบราชการ เพื่อขอความร่วมมือจากส่วนราชการในการดำเนินการ หรือส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ส่วนราชการดำเนินการ จึงกล่าวได้ว่า ผู้ขับเคลื่อนการปฏิรูประบบราชการ จึงเป็นส่วนราชการและข้าราชการทั่วประเทศ ดังนั้น การประสบความสำเร็จ หรือความล้มเหลว จึงเป็นสิ่งที่ทุกส่วนราชการร่วมกันผลักดันและรับผิดชอบ

             2. อัตรากำลังข้าราชการ ซึ่งสำนักงาน ก.พ. ก็มีส่วนในเรื่องนี้ด้วย โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เราสามารถตรึงอัตรากำลังข้าราชการของประเทศไว้ได้อย่างน่าพอใจ แม้จะมีการปรับโครงสร้างส่วนราชการ โดยมีการเพิ่มจำนวนกระทรวงขึ้นเป็น 20 กระทรวง แต่จำนวนข้าราชการไม่ได้เพิ่มขึ้น โดยใช้เทคนิคต่าง ๆ เช่น การเกลี่ยอัตรากำลัง เป็นต้น โดยจำนวนข้าราชการพลเรือนทั่วประเทศ ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2545 คือ 394,385 คน และ 3 ปีที่ผ่านมาก็ไม่ได้เพิ่มจำนวนขึ้น

3. การเพิ่มประสิทธิภาพของบุคลากร เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้นของการปฏิรูประบบราชการ จึงต้องมีการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ นอกจากนี้ ก็ได้มีการคิดระบบวิธีการใหม่ ๆ ในการนำบุคลากรเข้าสู่ระบบราชการ ตัวอย่างเช่น โครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่

 4. การจัดโครงสร้างส่วนราชการ นอกจากการปรับโครงสร้างส่วนราชการที่มีจำนวนกระทรวงทั้งสิ้น 20 กระทรวงแล้ว ก็ได้มีการยับยั้งไม่ให้มีการตั้งกรม/กองด้วย

 5. การปรับปรุงวิธีการทำงาน ซึ่งหลายหน่วยงานได้มีการปรับปรุงให้ดีขึ้นแล้ว เนื่องจากมีวิธีประเมินผลที่เป็นรูปธรรมจากหลายหน่วยงาน ไม่เพียงเฉพาะสำนักงาน ก.พ.ร. เท่านั้น และเมื่อประเมินผลแล้วก็จะมีการให้รางวัล โบนัส และมีการลงโทษด้วย ทั้งนี้ เสียงสะท้อนจากประชาชนก็เป็นอีกกลไกหนึ่งในการประเมินผล โดยการแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของส่วนราชการ เช่น พฤติกรรมการให้บริการของเจ้าหน้าที่ การลดขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติงานเพื่อบริการประชาชน เป็นต้น ทั้งในเรื่องที่ดี และเรื่องที่ควรปรับปรุง

สิ่งที่จะดำเนินการต่อไป

 
 
สำหรับสิ่งที่จะดำเนินการต่อไปนั้น รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ยังมีอีกหลายเรื่องที่จะต้องดำเนินการต่อ ได้แก่

             1. โครงสร้างส่วนราชการ ต้องมีการดำเนินการต่อ โดยปรับให้เข้าที่เข้าทาง เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายดังนี้
                  ลดความซ้ำซ้อนของงาน โดยการยุบ/ควบรวมหน่วยงาน หรือมิฉะนั้นต้องเปลี่ยนภารกิจ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน
                  หาเจ้าภาพงานที่ชัดเจน เพราะงานบางงานยังขาดเจ้าภาพที่ชัดเจน บางงานอาจมีหลายหน่วยงานเป็นผู้ดูแล ในขณะที่บางงานยังขาดผู้รับผิดชอบหลัก
                  แก้ปัญหา “เตี้ยอุ้มค่อม” ของหน่วยงานต่าง ๆ โดยการจัดใหม่ หาวิธีการที่จะทำให้หน่วยงานอยู่ได้โดยไม่ต้องอุ้มกัน


เรื่องของการปรับโครงสร้างส่วนราชการนี้ ได้มีการประชุมหารือระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งในขณะนี้โครงสร้างส่วนราชการที่จะดำเนินการต่อไปเริ่มอยู่ตัวแล้ว โดยได้มีการคิดคร่าว ๆ เป็นตุ๊กตาไว้ เช่น ปรับลดกระทรงลงเหลือ 17 - 18 กระทรวง ทำให้ต้องมีการยุบ/ควบรวมบางกระทรวง บางกรมอาจต้องมีการยุบ/ควบรวมกัน หรือเปลี่ยนภารกิจ งานบางงานที่มีความสำคัญ อาจต้องแยกออกมาตั้งขึ้นเป็นกรมใหม่เพื่อรองรับงานดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างดังกล่าว เป็นเพียงตุ๊กตาซึ่งอาจจะมีการปรับเปลี่ยนได้อีก

              2. วิธีการทำงาน จะต้องทำให้เน้นหนักให้เป็นไปตามการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (Good Governance) มากขึ้นไปอีก ต้องโปร่งใส สุจริต

             3. อัตรากำลังและบุคลากร ทั้งเรื่องลดอัตรากำลังคนภาครัฐ โดยจะมีการนำโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด มาใช้อีก และการตอบแทนสำหรับการทำงานหนักของข้าราชการ เช่น การให้ค่าตอบแทนพิเศษ การขึ้นเงินเดือน/เพิ่มค่าครองชีพ การให้โบนัส/รางวัลตามผลงาน ซึ่งได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว

                   ทั้งนี้ ในเรื่องของการปรับโครงสร้างส่วนราชการนั้น ไม่ใช่เรื่องเร่งรีบ เนื่องจากยังมีบางเรื่องที่ยังหาคำตอบไม่ชัด หรือต้องการคำตอบหรือทางเลือกอื่นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงต้องใช้เวลา นอกจากนี้ยังติดในเรื่องของขั้นตอนกระบวนการนิติบัญญัติด้วย เนื่องจากกลางเดือนธันวาคมสภาผู้แทนราษฎรจะปิดสมัยประชุม ซึ่งหากยื่นเรื่องการปรับโครงสร้างไปตอนนี้ อาจจะไม่สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จ หรือถึงแม้ว่าจะสามารถดำเนินการได้ แต่เมื่อเปิดสมัยประชุมในเดือนมีนาคม 2549 วุฒิสภาก็จะหมดวาระลงพอดี ทำให้มาถึงทางตัน ดังนั้น จึงควรรอและทำให้ดีเสียก่อนจึงจะผลักดันเข้าไป ดังนั้น โดยสรุปแล้วจะยังไม่มีการปรับปรุงโครงสร้างส่วนราชการภายใน 1 ปีนี้


อย่างไรก็ตาม แม้การปรับโครงสร้างส่วนราชการการจะยังไม่ดำเนินการภายใน 1 ปีนี้ แต่ในส่วนของการปฏิรูปวิธีการทำงาน การปรับอัตรากำลัง ปรับเงินเดือน/ค่าตอบแทนนั้น สามารถทำได้โดยไม่ต้องอาศัยกฎหมาย เพราะฉะนั้น จึงสามารถดำเนินการได้ทันที

ร่วมกันขับเคลื่อนการปฏิรูประบบราชการ
              
           รองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม
ย้ำเป็นประโยคสุดท้ายว่า “สิ่งใดที่เป็นความสำเร็จนั้น เกิดจากข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหมดประมาณ 3 ล้านคนช่วยกันทำ ขณะเดียวกัน สิ่งใดที่ไม่สำเร็จ ล้มเหลว หรือผิดพลาด ก็เกิดจากข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่บางคนบางหน่วยใน 3 ล้านคนทำเช่นเดียวกัน”
   “วันนี้ สายตาทั้งหมดจับจ้องอยู่ที่ระบบราชการ เพราะฉะนั้น ขอให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐกรุณาทำงานด้วยการอุทิศตน ช่วยกันขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงภายในขีดความสามารถของตน รัฐหวังเป็นพิเศษกับระดับหัวหน้าหน่วยงาน คือ ปลัดกระทรวง ผู้ว่าราชการจังหวัด อธิบดี ซึ่งเป็น ผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Leader) และนำสิ่งที่ได้ยินไปถ่ายทอดต่อ กวดขัน และเคี่ยวเข็ญผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติ และเริ่มทำสิ่งใหม่ ๆ ดี ๆ สำหรับหน่วยงานของตน เพื่อทำในสิ่งที่รัฐธรรมมนูญกำหนดไว้คือ ตอบสนองความต้องการของประชาชน นี่คือความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ แต่ทั้งหมดนั้น ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ต้องทำในกรอบของกฎหมาย” รองนายกรัฐมนตรีกล่าวปิดท้าย