ฉบับที่ 8 ประจำเดือน ตุลาคม 2548

สวัสดีค่ะ ก.พ.ร. e-newsletter ฉบับนี้พบกับข่าวสารการพัฒนาระบบราชการ งาน 3 ปี แห่งการพัฒนาระบบราชการ และเรื่องน่ารู้ประจำฉบับที่น่าสนใจค่ะ


gotomanager.com/books/
valuebasedmanagement.net
Logistics
กับการประยุกต์ใช้ในระบบราชการ


Logistics

           โดยหลักการแล้ว Logistics เป็นกระบวนการบริหารจัดการในการวางแผน ดำเนินการ และการควบคุม เพื่ื่อให้เกิดการผลิต การเคลื่อนย้าย การจัดเก็บ และการกระจายสินค้า ตั้งแต่ยังเป็นวัตถุดิบ ผ่านการผลิตเป็นสินค้า/บริการ และส่งมอบให้กับลูกค้า ใหู้ถูกที่ ถูกเวลา สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า

ดังนั้น Logistics จึงเกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่าง ๆ ของหน่วยงาน เริ่มตั้งแต่การสั่งซื้อจากลูกค้า การจัดซื้อจัดหา้วัตถุดิบเพื่อนำมาผลิตสินค้า การผลิต การจัดเก็บในคลังสินค้า การกระจายสินค้า การขนส่งและส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้า เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการ ตั้งแต่ข้อมูลที่ลูกค้าส่งเข้ามาเพื่อให้เกิดการจัดหา/จัดจ้าง/จัดซื้อ ข้อมูลที่สั่งให้นำวัตถุดิบที่จัดซื้อมาทำการผลิต ข้อมูลที่ส่งให้ฝ่ายบัญชีสำหรับเตรียมตั้งใบเรียกเก็บเงิน เพื่อเก็บเงินจากลูกค้าหลังส่งสินค้า ทั้งหมดนี้เป็นองค์ประกอบของคำว่า Logistics ทั้งสิ้น
สำหรับประเทศไทยนั้น ข้อมูลจากสภาพัฒน์ฯ แจ้งว่า ต้นทุน Logistics ของสินค้าที่ขายในประเทศไทย สูงประมาณ 25 - 30% ของต้นทุนสินค้าที่ผลิต หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของ GDP ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่สูงมากหากเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีต้นทุน Logistics ของสินค้าอยู่ที่ประมาณ 8 - 11% ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสินค้าของไทยส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรกรรม ซึ่งมีต้นทุนค่าขนส่งค่อนข้างสูง ในขณะที่ราคาขายค่อนข้างต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าไฮเทคของประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีมูลค่าสูง น้ำหนักเบา สามารถขนส่งได้ครั้งละมาก ๆ

อย่างไรก็ตาม ต้นทุนทางด้าน Logistics ไม่ได้มีเพียงแค่ค่าขนส่งอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงต้นทุนของกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย อาทิ การจัดซื้อจัดหา  การบริหาร supplier  การบริหารการผลิต  การบริหารจัดการเกี่ยวกับลูกค้า  การบริหารการสั่งซื้อของลูกค้า ธุรกรรมทางการเงิน เป็นต้น  ดังนั้น ที่กล่าวว่า ต้นทุน Logistics ของสินค้าที่ขายในประเทศไทย สูงประมาณ 25 - 30% ของต้นทุนสินค้า จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่ต้นทุนทางด้านการขนส่งเท่านั้น แต่รวมไปถึงต้นทุนของกิจกรรมอื่น ๆ ที่กล่าวมาแล้วด้วย

           อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า Logistics เป็นกระบวนการบริหารเพื่อส่งผ่านสินค้าจากจุดผลิตไปยังจุดผู้บริโภค ซึ่งจะต้องมีการสอดประสานกันทุกหน่วยงาน ไม่ได้ผ่านเพียงหน่วยงานใดหน่วยงานเดียว

 ทั้งนี้ ยิ่งสินค้าถูกแปรรูป และเคลื่อนย้ายเข้าไปใกล้ลูกค้ามากขึ้น ราคาก็จะสูงขึ้น เพราะต้องมีต้นทุนทางด้าน Logistics เพิ่มขึ้นทั้งการผลิต และการขนถ่ายสินค้าให้เข้าถึงลูกให้มากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น ราคากระเบื้องจะแพงกว่าราคาของปูนผง เพราะจะต้องผ่านกระบวนการในการนำปูนผงมาผลิตหรือแปรรูปเป็นกระเบื้อง และกระเบื้องที่ขายที่ร้านค้าปลีกใกล้บ้านย่อมจะมีราคาสูงกว่ากระเบื้องที่ขายที่ร้านค้าใหญ่ ๆ ในเมือง

           อย่างไรก็ตาม ก็จะต้องมีการควบคุมราคาให้เหมาะสม ไม่ให้แพงเกินไป ซึ่งการควบคุมนั้นมี 2 อย่าง คือ การควบคุมโดยภาครัฐ และการควบคุมโดยกลไกทางธุรกิจเอง กล่าวคือ ผู้ค้ารายใดที่ตั้งราคาสูง ก็จะขายสินค้าไม่ได้ นั่นเอง

Supply Chain : ห่วงโซ่อุปทาน

           ในการทำธุรกิจนั้น  ไม่ได้ดำเนินการเพียงหน่วยงานเดียว  ยกตัวอย่างเช่น ผู้ผลิตต้องมีการสั่งซื้อวัตถุดิบจากหน่วยงานอื่น และขายสินค้าให้กับลูกค้าซึ่งเป็นร้านค้า ซึ่งจะนำสินค้าดังกล่าวไปขายให้กับผู้บริโภคอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทุกหน่วยงานที่อยู่ในสายธุรกิจนี้ จะถูกเรียกว่า อยู่ใน ห่วงโซ่อุปทาน หรือ Supply Chain เดียวกัน กล่าวคือ ทุกหน่วยงานเป็นส่วนหนึ่งที่ร้อยเรียงกันของกระบวนการ ที่จะนำสินค้า/บริการไปสู่ผู้บริโภค

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ Supply Chain ก็คือ การเชื่อมโยงกันของระบบ Logistics ของแต่ละหน่วยงานในสายธุรกิจเดียวกัน เพื่อให้วัตถุดิบส่งผ่านจากหน่วยงานแรกซึ่งเป็นผู้ผลิต/ผู้ขายวัตถุดิบ ไปยังหน่วยงานที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าเพื่อผลิตสินค้า แล้วส่งต่อไปยังหน่วยงานต่อไปซึ่งเป็นผู้ที่จะจำหน่ายสินค้าให้กับผู้บริโภคอีกต่อหนึ่ง

           และเพื่อให้กระบวนการดังกล่าวมีประสิทธิภาพ ก็จะต้องมีการบริหารกระบวนการ หรือ Supply Chain Management โดยการวางแผนร่วมกันของทุกหน่วยงานในสายธุรกิจเดียวกัน มีการแบ่งปันข้อมูล แบ่งปันความเก่งและความชำนาญในแต่ละด้านของแต่ละหน่วยงาน รวมทั้งบูรณาการการทำงานร่วมกัน มีการกำหนดแผนงานและเป้าหมายร่วมกัน เพื่อบริหารงานไปพร้อม ๆ กัน ให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยที่ทุกหน่วยงานมีแผนธุรกิจของตนรองรับแผนงานและเป้าหมายดังกล่าว และอาจมีการกำหนดตัวชี้วัดของแผนธุรกิจของตน ซึ่งหากทุกหน่วยงานสามารถดำเนินการตามตัวชี้วัดตามแผนของตนได้จนสำเร็จ ก็จะส่งผลให้แผนงานใหญ่ประสบความสำเร็จได้ในภาพรวม

 โดยสรุปแล้ว Logistics คือภาคย่อยของแต่ละหน่วยงาน เป็นกิจกรรมที่แต่ละหน่วยงานต้องบริหาร และเมื่อแต่ทุกหน่วยงานในสายธุรกิจเดียวกันมาวางแผนร่วมกัน เพื่อให้การบริหารในภาคย่อยมีความสอดคล้อง มีทิศทางและเป้าหมายร่วมกัน นั่นก็จะกลายเป็น Supply Chain Management  และหากมองในภาพรวมของประเทศไทย หากธุรกิจทุกประเภทมีการวางแผนร่วมกัน ในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังและเป็นระบบ ระบบธุรกิจของประเทศไทยก็จะมีการบริหารจัดการในเรื่องของ Logistics และ Supply Chain ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งผลดีต่อธุรกิจของประเทศได้ เพราะจะทำช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ธุรกิจต่าง ๆ สามารถบริหารการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีวัตถุดิบหรือสินค้าเหลือค้างที่ทำให้ต้องขาดทุน ซึ่งอาจจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าสูง และสุดท้ายผู้บริโภคก็จะซื้อสินค้าได้ในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม

ตัวอย่างการพัฒนาระบบ Logistics ของธุรกิจเอกชน

           เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ทั้งการเข้ามาของธุรกิจทางด้าน Logistics ของต่างประเทศ ระบบการค้าเสรี พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยผู้บริโภคมีโอกาสและทางเลือกมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบต่าง ๆ  สิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ภาคธุรกิจต้องมีการปรับตัวเข้าสู่กระแสการเปิดการค้าเสรี เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน

คราวนี้มาดูตัวอย่างของการพัฒนาระบบ Logistics ของธุรกิจเอกชนเพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันกันบ้าง โดยเป็นการปรับตัวและพัฒนาธุรกิจของ บริษัทซิเมนต์ไทย โลจิสติกส์ จำกัด [(Cementhai Logistics Co., Ltd. (CTL)]  ซึ่งเป็นบริษัทหนึ่งในเครือซิเมนต์ไทย โดยใช้ 6 แนวทาง คือ

           1. Brand Indentitty Creation
           คือ การสร้างบริษัทฯ ให้เป็นที่รู้จักของตลาด ซึ่งได้แก่นักธุรกิจ หรือผู้ลงทุนในภูมิภาคนี้ ด้วยวิธีการต่าง ๆ อาทิ การติดตราสัญลักษณ์ที่ตัวรถพร้อมทั้งออกแบบทำสีรถ รวมถึงการติดระบบอุปกรณ์มาตรฐานที่รถ เช่น ระบบ GPS เพื่อให้สามารถติดตามสถานะและีระบุตำแหน่งของรถได้ การกำหนดให้พนักงานขับรถต้องใส่เครื่องแบบ รวมทั้งมีการอบรมมารยาทและเทคนิควิธีการให้บริการ เพื่อสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า

2. Customer Solution Provider
           ต้องเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า และหาช่องว่างเพื่อที่จะเข้าไปปรับปรุงและเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้า เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของสินค้าของลูกค้า และทำให้ขายได้ดีขึ้น โดยทำตัวเหมือนที่ปรึกษาด้านการตลาดเนื่องจากบริษัทฯ มีข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์กับธุรกิจของลูกค้าได้  วิธีนี้จะเป็นปัจจัยอีกประการหนึ่งที่จะทำให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกใช้บริการ เพราะบริษัทฯ ไม่เพียงแต่ขนส่งสินค้าเท่านั้น แต่ยังช่วยให้คำปรึกษาแนะนำที่เป็นประโยชน์อีกด้วย
3. Logistics Network Redesign
           การออกแบบระบบ logistics ใหม่ อาทิ การสร้างเครือข่ายที่หลากหลาย เพื่อช่วยในเรื่องของการขนส่งสินค้า เช่น ในบางครั้งแทนที่จะขนส่งสินค้าโดยใช้รถ ก็เปลี่ยนมาเป็นการขนส่งทางรถไฟแทน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า  การยกเลิกคลังเก็บสินค้าบางแห่ง ให้เหลือจำนวนน้อยลง แล้วเปลี่ยนมาเป็น Regional Hub แทน เพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยให้ผู้ที่เป็นตัวแทนขายสินค้าของบริษัทฯ สั่งสินค้าครั้งละหลาย ๆ ชิ้น และนำไปเก็บไว้ที่ร้านของตน เพื่อขายให้กับผู้บริโภคต่อไป การใช้รถขนาดใหญ่บรรทุกสินค้าของลูกค้าหลาย ๆ รายจากโรงงานไปยังจุดกระจายสินค้า ซึ่งจะมีรถขนาดเล็กหรือรถปิ๊กอัพมาคอยรับสินค้าเพื่อนำไปส่งต่อให้กับลูกค้าแต่ละรายต่อไป วิธีนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนถ่ายสินค้าได้ เพราะไม่ต้องใช้รถขนาดเล็กหลายๆ คันไปขนถ่ายสินค้าจากโรงงาน
       นอกจากนี้ ยังมีการหาสินค้าเที่ยวกลับ หลังจากที่ส่งสินค้าให้กับลูกค้าแล้ว เพื่อที่จะไม่ต้องตีรถเปล่ากลับโรงงาน/บริษัทฯ ซึ่งจะทำให้ค่าขนส่งแพงขึ้น  รวมทั้งการวางระบบและจัดเส้นทางเดินรถใหม่ เพื่อให้รถ 1 คันสามารถรับ-ส่งสินค้าได้หลายราย ซึ่งจะเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ แต่วิธีการนี้จะมีข้อจำกัดในเรื่องของเวลา คือ ลูกค้าบางรายอาจจะได้รับสินค้าช้าลง เนื่องจากจะต้องไปส่งสินค้าให้กับลูกค้ารายอื่นก่อน ดังนั้น จึงต้องมีการทำความตกลงและวางแผนร่วมกันกับลูกค้า เพื่อให้ได้รับประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย
        4. Technology Driven
           การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้เพื่อช่วยให้ระบบการทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น การนำระบบ GPS มาใช้ติดตามสถานะและตำแหน่งของรถ  การนำระบบ IT มาใช้แทนระบบ paper-based ซึ่งจะช่วยลดความซ้ำซ้อนของงาน ลดระยะเวลาในการทำงาน และทำให้การดำเนินงานเป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้อง นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมโยงกับระบบต่าง ๆ ของทางราชการที่จะต้องเกี่ยวข้องกับการทำงาน เช่น ระบบ e-manifest  ระบบ e-container  และระบบ e-payment ของกรมศุลกากร

        5. Process Oriented
           การให้ความสำคัญกับกระบวนการ โดยการออกแบบกระบวนการให้บริการลูกค้า มีการกำหนด KPI ที่เป็นจุดสำคัญต่อความสำเร็จและ้ความล้มเหลวของบริการ ซึ่งจะต้องเป็น KPI ที่วัดได้ และสามารถเป็นสัญญาณเตือนเพื่อปรับปรุงการทำงานก่อนที่จะเกิดผลเสีย  รวมทั้งการวิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา หรือข้อร้องเรียนจากลูกค้า เพื่อนำมากำหนดเป็น KPI ในการแก้ไขปรับปรุงการบริการ

            6. Partnership / Alliance
           การสร้างพันธมิตรโดยการจ้างเอกชนมาเป็นผู้ขนถ่ายสินค้า ซึ่งเอกชนจะได้รับค่าจ้าง ขณะเดียวกันบริษัทฯ ก็จะสามารถประหยัดงบประมาณในการจ้างพนักงานประจำ เพื่อเป็นผู้ขับรถขนถ่ายสินค้า อย่างไรก็ตาม ก็จะต้องมีการดูแลเอาใจใส่ ให้ความสำคัญกับพันธมิตรเหล่านี้ และพนักงานด้วย เนื่องจากบุคคลเหล่านี้เป็นเสมือนตัวแทนของบริษัท นอกจากนี้ อาจใช้วิธีการ outsource โดยการจ้างหน่วยงานภายนอกให้เป็นผู้จัดหารถ พร้อมคนขับรถที่มีคุณภาพ ทั้งนี้ บริษัทฯ ก็จะต้องกำหนดคุณสมบัติ หรือมาตรฐานของคุณภาพดังกล่าวให้ตรงกับความต้องการของบริษัทฯ  รวมทั้งมีการจัดทำแบบสอบถาม เพื่อติดตามประเมินคุณภาพการให้บริการด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้กับพันธมิตรและพนักงานด้วย เช่น การจัดการอบรมในเรื่องต่าง ๆ บริการตรวจเช็คสภาพรถ  การตรวจระดับแอลกอฮอล์  การจัดกิจกรรมชิงรางวัล เป็นต้น