|
สรุปประเด็นการสัมมนา
ยุทธวิธีก้าวสู่ขีดความสำเร็จสูงสุด
ของผู้บริหารระดับกลาง
|
|
ฉบับนี้เราจะมีสรุปประเด็นของงานสัมมนาเชิงวิชาการ เรื่อง ยุทธวิธีก้าวสู่ขีดความสำเร็จสูงสุดของผู้บริหารระดับกลาง (High Impact Middle Management : Solutions for Today's Busy Managers) ที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดขึ้น เมื่อวันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน 2548 ที่ผ่านมา ณ ห้อง Escap Hall ศูนย์การประชุม องค์การสหประชาชาติ โดยได้เชิญคุณ Lisa Haneberg ผู้เขียนหนังสือ High Impact Middle Management โดยรวบรวมจากประสบการณ์การศึกษาเกี่ยวกับการทำงานของผู้บริหารระดับ กลางใน องค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก |
มาบรรยายแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับผู้บริหารระดับสูงและระดับกลางของหน่วยงานภาครัฐ ของไทย จำนวนกว่า 600 คน
|
ผู้บริหารระดับกลาง : กลไกในการขับเคลื่อนพันธกิจขององค์กรให้ประสบผลสำเร็จ |
|
Lisa Haneberg เชื่อว่า ผู้บริหารระดับกลาง เปรียบเสมือนกลไกที่สำคัญมากในการขับเคลื่อนพันธกิจขององค์กรให้ประสบผลสำเร็จ ผู้บริหารระดับกลางคือผู้ที่มีความสำคัญในการนำยุทธศาสตร์ขององค์ไปปฎิบัติงานจริง ผลของการดำเนินงานของผู้บริหารระดับกลางนั้น จะเป็นตัวสะท้อนความสำเร็จขององค์กรอย่างแท้จริง อย่างไรก็ดี ผู้บริหารระดับกลางบางท่านไม่ได้รู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญมากต่อองค์กรเหมือนอย่างที่ Lisa เชื่อ โดยได้ยกตัวอย่างที่สะท้อนถึงความรู้สึกเหล่านี้ ดังต่อไปนี้
|
รู้สึกว่าตนเองไม่มีสิทธิพิเศษใด ๆ หรือไม่รู้สึกว่าตนเป็นบุคคลที่สำคัญขององค์กรแต่อย่างใด
รู้สึกว่ามีความกดดันอยู่ตลอดเวลา และงานและปัญหาต่างๆ ก็ประดังเข้ามาหาจากหลาย ๆ ด้าน ซึ่งต้องให้เวลาและพละกำลังอยู่เสมอเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด
รู้สึกว่าบทบาทของตนเองนั้น เป็นบทบาทที่ยากเมื่อเปรียบเทียบกับผู้บริหารในระดับสูงซึ่งเป็นผู้กำหนดยุทธศาตร์และนโยบาย แต่ผู้บริหารระดับกลางนั้น ต้องนำไปปฎิบัติ รวมทั้งต้องเผชิญกับปัญหาและความไม่พอใจต่อยุทธศาตร์หรือ นโยบายนั้น และจะต้องเป็นผู้คอยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ แต่เพียงลำพัง
ในภาคเอกชน ผู้บริหารระดับกลางบางคนไม่ต้องการที่จะทุ่มเทให้กับทำงานอย่างเต็มกำลัง เพราะรู้สึกว่าในอีกไม่ช้าตนเองจะถูกปลดออก เนื่องจากการปรับลดขนาดขององค์กรซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งในสังคม ปัจจุบัน
|
Lisa ได้สรุปในเรื่องของการที่ผู้บริหารระดับกลางมีงานและปัญหาต่าง ๆ ล้นมืออยู่ตลอดเวลาว่า จากประสบการณ์เธอพบว่า มีผู้บริหารระดับกลางบางคนที่ถึงแม้ว่าจะยุ่งมากเพราะงานและปัญหาต่าง ๆ แต่พวกเขาเหล่านั้นจะควบคุมสติและไม่ท้อแท้กับปัญหาที่เกิดขึ้น ในทางตรงกันข้าม พวกเขาเหล่านั้นมีความพึงพอใจในภาระหน้าที่ความรับผิดชอบที่เป็นอยู่ และพวกเขาเหล่านี้ก็สามารถปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายได้ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ซึ่ง Lisa ได้ศึกษา พฤติกรรม ทัศนคติ และแนวทางการทำงานของกลุ่มคนเหล่านี้ และนำมาพัฒนาเป็นปรัชญาและวิธีการในการเป็น ผู้บริหารระดับกลางที่มีประสิทธิภาพและผลงานสูง (High Impact Middle Manager : HIMM)
|
ข้อกำหนดเบื้องต้นในการประยุกต์ใช้ HIMM ของ Lisa |
|
1. ทัศนคติต่องานของผู้บริหารระดับกลาง เป็นงานที่น่าตื่นเต้น เพราะการปฏิบัติงานที่เห็นผลของการดำเนินการด้วยตนเอง เป็นผู้ซึ่งสร้างความแตกต่างระหว่างความสำเร็จหรือล้มเหลวของโครงการต่าง ๆ ถึงแม้งานจะยุ่งและยาก แต่ก็เป็นงานที่สร้างความพึงพอใจอย่างมากเมื่องานสำเร็จ |
2. การบริหารงานเป็นงานศิลปะที่ละเอียดอ่อน โดยเฉพาะงานบริหารในภาครัฐที่มีผลกระทบกับประชาชนของ ประเทศ ซึ่งหากสำเร็จ ผลลัพธ์ที่ได้มานั้นจะน่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับงานศิลปต่าง ๆ ที่สร้างความ พึงพอใจ แก่ผู้ชม |
3. ผู้บริหารที่ดีต้องไม่เฉยเมยต่อสิ่งต่าง ๆ จะต้องคิดในสิ่งที่ผู้อื่นไม่ได้คิดถึง และหลายครั้งต้องทำในสิ่งที่ยากที่ผู้อื่นมักไม่ทำหรือไม่อยากทำ |
4. ความเชื่อจะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรม หากผู้บริหารเชื่อว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้องหรือมีความสำคัญที่จะต้องทำ ความเชื่อนั้นก็จะส่งผลต่อพฤติกรรมการปฏิบัติงาน ความเชื่อหรือทัศคติที่ดีต่อการงานจะส่งผลต่อการปฏิบัติงาน ในเชิงบวก ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จในการดำเนินการ ส่วนความเชื่อหรือทัศคติที่ไม่ดีจะส่งผลต่อผลการ ปฏิบัติงานในเชิงลบ ซึ่งจะนำไปสู่ความล้มเหลวในการดำเนินการ |
|
5. ความสัมพันธ์ระหว่างคนในองค์กรมีอิทธิพลต่อความสำเร็จ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้บังคับบัญชาและ ผู้ใต้บังคับบัญชา มีอิทธิพลต่อผลที่จะไดัรับของงาน โดยผ่านทางความคิดต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นก่อนการปฏิบัติ ซึ่งผู้บริหารคนใดที่มีความสัมพันธ์ที่ไม่ดี ก็จะมีโอกาสสูงมากที่งานจะไม่สำเร็จ เครื่องมือที่สำคัญในกระบวน การนี้คือ การสนทนา (Dialogue) การสนทนาที่ดี (ไม่ใช่การนินทาว่าร้าย) ระหว่างกันของผู้คนในองค์กรจะนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน แล้วนำไปสู่การคิดร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหา ต่าง ๆ การดำเนินการและความสำเร็จในที่สุด
|
6. จุดแข็งและจุดอ่อนของผู้บริหารเป็นที่รู้กันของทุกคนในองค์กร ผู้บริหารระดับกลางที่ทราบถึงจุดอ่อน จุดแข็งของตัวเอง จะต้องเปิดใจรับคำแนะนำจากผู้อื่นที่ชี้แนะ และพยายามปฏิบัติตัวเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น การยอมรับและขอความช่วยเหลือเพื่อลดจุดอ่อนของตนเองกับผู้อื่นไม่ได้ ทำให้คนในองค์กรขาดความนับถือ เพราะทุกคนทราบถึงจุดอ่อนนั้นอยู่แล้ว แต่ในทางตรงกันข้ามการยอมรับในจุดอ่อนของตนเอง จะเป็นนำไปสู่การร่วมงานที่ดีกับทุกๆคนในองค์กร
|
|
7. การเป็นผู้บริหารระดับกลางที่ดีนั้น สามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้ แต่การที่จะเป็นผู้บริหารระดับกลางท ี่ประสบ ความสำเร็จ ต้องเข้าใจบทบาทความรับผิดชอบของตนและผู้ร่วมงาน นอกจากนี้ ผู้บริหารระดับกลางที่ดีจะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับผู้ร่วมงานด้วย |
8. ผู้บริหารระดับกลางที่ดีไม่ใช่เป็นเพียงผู้ควบคุมการดำเนินการเท่านั้น แต่จะต้องสร้างความแตกต่างใน เชิงบวก รวมทั้งการแก้ไขปัญหาและค้นหาโอกาสที่จะสร้างผลกระทบที่ดีนั้น ๆ
|
Lisa เชื่อว่าองค์กรใดที่มีผู้บริหารระดับกลางที่มีประสิทธิภาพและผลผลิตสูง ย่อมจะแข็งแรง และประสพความสำเร็จได้มากกว่าองค์กรที่ปราศจากผู้บริหารระดับกลางเหล่านี้
|
ประโยชน์ของ H.I.M.M. ต่อองค์กร |
|
การปรับแต่ง กลยุทธ์ เป้าหมาย และการดำเนินงานให้สอดคล้องกันและนำไปสู่ความสำเร็จ
ให้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นกว่าเดิม
คนในองค์กรรู้สึกสนุกกับงานได้อย่างเต็มที่
ปัญหาจะถูกแก้ไขได้อย่างรวดเร็วก่อนที่จะเกิดปัญหาใหญ่ตามมา
สร้างโอกาสให้เป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ได้
สร้างผู้นำที่ดี เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโต และความก้าวหน้าขององค์กร
|
ผู้บริหารระดับกลางที่มีประสิทธิภาพและผลงานสูง (H.I.M.M.) ปฎิบัติตนอย่างไร |
|
1. รับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย อุทิศตนเปรียบเสมือนตนเองเป็นผู้นำหรือเจ้าของของ องค์กรนั้น ๆ เป็นผู้นำในการดำเนินงานที่ได้รับมอบหมายให้บรรลุผล
2. มีส่วนร่วมในการทำให้องค์กรดีขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
3. ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับผู้ร่วมงาน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่ดีให้กับ ผู้ร่วมงาน ในองค์กร
4. มีความมุ่งมั่นในการทำงานโดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใด ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้
5. เป็นนักสนทนาที่ดีเยี่ยม เพราะในการทำงาน ผู้บริหารจะต้องสนทนา (สื่อสาร) กับผู้ร่วมงานเพื่อ การสั่งงาน ชักจูง รับฟังความเห็น ระดมความเห็นเพื่อการแก้ปัญหาต่าง ๆ
6. ต้องเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเสมอ โดยการสร้างทีมงานที่มีความยืดหยุ่นสูง เพื่อปรับตัวและรองรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว
7. ต้องเข้าใจถึงความสำคัญของบทบาทและหน้าที่ของตนเองต่อองค์กรและเพื่อนร่วมงาน
8. ต้องรู้จักการกำหนดการวัดผลการดำเนินงานให้สอดคล้องกับผลลัพธ์และความสำเร็จที่ได้รับ
9. ต้องเป็นผู้ที่กระตือรือร้น ทำงานในเชิงรุกและตอบสนองต่อสถานะการต่าง ๆ ได้ดี
10. ต้องสามารถขจัดอุปสรรคในการทำงานได้
|
|
Mucky Muck คือ อุปสรรค (Barrier) ชนิดหนึ่งในการทำงานที่มักเกี่ยวข้องกับคนในการทำงานร่วมกัน อาทิเช่น ความเห็นไม่ตรงกัน ความสับสนในการดำเนินการ ความอิจฉาระหว่างกัน เป็นต้น การจัดการกับ อุปสรรคต่าง ๆ รวมทั้ง Mucky Muck นั้น ไม่ใช่งานที่ง่ายเลย แต่ ผู้บริหารระดับกลางที่มีประสิทธิภาพและผลงานสูง (H.I.M.M) สามารถทำได้ ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานราบรื่นขึ้นและมีผลงานที่ดีขึ้น
|
|
โอกาสที่จะเกิดขึ้นถ้าประยุกต์ใช้ H.I.M.M ในองค์กร |
|
1. โอกาสสำหรับผู้บริหารระดับสูง
ปรับบทบาทและความสำคัญของผู้บริหารระดับกลางใหม่
กำหนดระดับความคาดหวังตามบทบาทที่เปลี่ยนไป
กำหนดนิยามของการดำเนินงานที่ดีเลิศสำหรับผู้บริหารระดับกลางใหม่
จัดหาเครื่องมือและเทคนิคใหม่ให้กับผู้บริหารระดับกลาง
2. โอกาสสำหรับผู้บริหารระดับกลาง
ความพึงพอใจในการทำงานที่เพิ่มขึ้น
มีประสิทธิภาพและผลงานที่ดีขึ้น
มีส่วนช่วยปรับปรุงกระบวนการต่าง ๆ ในองค์กรให้ดีขึ้น
|
ขั้นตอนในการไปสู่ H.I.M.M. |
|
1. ปรับเปลี่ยนทัศนคติ (Mindset) ในการทำงานตามแนวทางของ H.I.M.M. เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงบทบาทและความรับผิดชอบของผู้บริหารระดับกลาง
2. เพิ่มการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่าง ๆ ในการเปลี่ยนแปลงการดำเนินการต่าง ๆ ตามแนว ทางของ H.I.M.M. ระหว่างผู้บริหารระดับกลางและระดับสูง ซึ่งจะนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีของทั้งสองฝ่าย เพื่อทำให้องค์กรเติบโตขึ้นอย่างเข้มแข็ง
3. พยายามขจัด Mucky Muck องค์กรให้หมดไป
|
ตัวอย่างของ Mucky Muck ในองค์กร
|
4. ปรับปรุงบทบาทของทุกคนในองค์กร ปรับปรุงโครงสร้างขององค์กร ปรับปรุงขั้นตอนการทำงานให้มีความสอดคล้องกัน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามแนวทางของ H.I.M.M. ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จ
5. ปรับปรุงขั้นตอนการทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายโดยปราศจากการเพิ่มความยุ่งยากให้กับการ ทำงาน
6. มีการพัฒนาทักษะผู้บริหารระดับกลางอย่างสม่ำเสมอ
7. จัดตั้งหน่วยงานภายในที่ช่วยให้คำปรึกษากับผู้บริหารระดับกลางในการดำเนินงานตามแนวทางของ H.I.M.M.
8. อย่ารอให้สิ่งเหล่านี้เกิดเอง ผู้บริหารระดับกลางที่มีประสิทธิภาพและผลงานสูงสามารถเริ่มต้นการดำเนินงานตามแนวทางของ H.I.M.M. ด้วยการเปลี่ยนความเชื่อและการกระทำของท่านได้ในทันที
|
ยุทธวิธี 11 ประการในการกำจัดหรือหลีกเลี่ยง Mucky Muck |
|
Lisa ได้แนะนำยุทธวิธีในการกำจัดหรือหลีกเลี่ยง Mucky Muck ดังต่อไปนี้ |
1. ศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วน ถ้าหากมีการเสนอความคิดเห็นที่มีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริหาร ทางที่ดีที่สุด คือ ท่านควรศึกษาให้ถ้วนถี่ และค้นหาให้ได้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร ก่อนที่จะเสียเวลาไปมากกับแนวทางปฏิบัติงานที่ไม่ถูกต้อง
2. เลือกให้ดีว่าจะต่อสู้เพื่อสิ่งใด ผู้บริหารระดับกลางมักจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ ที่ต้องเลือกระหว่างการยึดมั่น และต่อสู้ในสิ่งที่ตนคิดว่าถูกต้อง หรือทำใจยอมรับในสิ่งที่ขัดกับความคิดของตนเองและเดินหน้าต่อไป ถ้าหากท่านต่อสู้มากเกินไปในเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ อาจทำให้ความน่าเชื่อถือของท่านลดน้อยลง
3. ทุ่มเทพละกำลังและความสามารถของท่านไปยังเป้าหมายที่สำคัญที่สุด ผู้บริหารระดับกลางทำงานอย่างทุ่มเท เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ในเชิงบวกกับพนักงานมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่หากบุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่ให้การตอบรับหรือไม่สนใจสิ่งที่ท่านพยายามจะทำ ท่านจงทุ่มเทพละกำลังและความสามารถของท่านไปยังจุดหมายอื่นที่ให้ประโยชน์มากกว่า
4. ติดต่อสื่อสารให้มาก ๆ พูดให้ครอบคลุมทุกเรื่องที่สำคัญ และติดตามผลการดำเนินงาน ผู้บริหารระดับกลางควรจะสื่อสารกับผู้อื่นให้มากที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเข้าใจผิด การทำงานซ้ำซ้อน และข้อมูลที่ขัดแย้งกัน
5. วิเคราะห์ปัญหาและหาหนทางแก้ไข หากท่านต้องเผชิญกับข้อมูลที่ขัดแย้งกัน การทำงานซ้ำซ้อนหรือความเข้าใจผิด ๆ ผู้บริหารระดับกลางที่ดีควรทำ ทุกวิถีทางเพื่อทำความเข้าใจและขจัดปัญหาดังกล่าวนั้นเสีย การวิเคราะห์ปัญหาที่ถูกต้องแม่นยำจะช่วยลดความยุ่งยากทั้งหลายภายในองค์กรไปไม่ได้
6. ตั้งคำถามเพื่อค้นหาเป้าหมายและจุดประสงค์ที่ซ่อนเร้นอยู่ ท่านควรตั้งคำถามเพื่อเรียนรู้ถึงเป้าหมายและจุดประสงค์ที่ซ่อนอยู่ภายใต้คำวิจารณ์และ ความคิดเห็นของบุคคลอื่น
7. ปรับปรุงความสัมพันธ์ที่เคยสูญเสียไป แม้จะเป็นสิ่งที่ยากแต่ก็เป็นเรื่องที่ สำคัญยิ่งที่ท่านจะต้องปรับปรุงความสัมพันธ์ที่เคยสูญเสีย ไปกับเพื่อนร่วมงานหรือลูกน้องให้กลับมาดีเหมือนเดิม หากท่านไม่พยายามจัดการกับปัญหาดังกล่าวนี้ ความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ระหว่างท่านกับ เพื่อนร่วมงานหรือลูกน้องจะกลายเป็นอุปสรรค ในการติดต่อสื่อสาร การปฏิบัติงานและผลการดำเนินงาน
8. เชื่อมั่นในศักยภาพของพนักงานในอันที่จะเปลี่ยนแปลงและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ผู้บริหารระดับกลางที่ดีย่อมตระหนักว่าปัญหาในการปฏิบัติงานส่วนใหญ่ล้วนมาจากระบบการบริหารงาน และหากพนักงานได้รับทราบแนวทางและการชี้นำที่ถูกต้อง แล้วพวกเขาก็จะทุ่มเทให้กับงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ
9. จัดระเบียบในการทำงาน ผู้บริหารระดับกลางที่มีประสิทธิภาพ และผลงานสูงทราบดีว่า พวกเขาจำเป็นต้องจัดระเบียบในการทำงาน เพื่อให้แน่ใจได้ว่าตนเองและทีมงานมีประสิทธิภาพ และมีความมั่นใจเต็มเปี่ยมให้กับการทำงาน
10. มองโลกในแง่ดีไว้ก่อน ในบางครั้งวิธีที่ดีที่สุดก็คือ หัวเราะให้กับสิ่งที่เกิดขึ้น และเดินหน้าต่อไป
11. ชื่นชมความสำเร็จเมื่อท่านสามารถรับมือกับความยุ่งยากและปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้แล้วท่านจะมีความชำนาญในการเล็งเห็นปัญหาอันอาจจะเกิดขึ้น และหาหนทางป้องกันปัญหานั้นได้โดยไม่กระทบกระเทือนการดำเนินงานของท่าน
|
คำเตือนในการประยุกต์ใช้แนวทางการบริหารแบบ H.I.M.M. |
|
H.I.M.M. ไม่ใช่โปรแกรมหรือโครงการ แต่เป็นปรัชญาและศิลปในการทำงาน และการบริหารงานจะต้องอาศัยความพยายามเวลาและความต่อเนื่องในการเปลี่ยนแปลงตนเอง ให้เป็นผู้บริหารระดับกลางที่มีประสิทธิภาพและผลงานสูง
H.I.M.M.ต้องการการสนับสนุนอย่างจริงจังจากผู้บริหารระดับสูงในการปรับปรุงองค์กร และการสร้างบรรยากาศในการทำงานในรูปแบบของ H.I.M.M.
|
อุปสรรคในการประยุกต์ใช้แนวทางการบริหารแบบ H.I.M.M. |
|
1. พฤติกรรมเก่าที่แก้ไขได้ยาก
2. วัฒนธรรมภายในองค์กรเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ และเป็นธรรมดาที่จะมีการต่อต้านการเปลี่ยนแปลง
3. การขจัดอุปสรรคต่าง ๆ รวมทั้ง Mucky Muck ไม่ใช่งานที่ง่ายเลย หลาย ๆ ครั้งมันจะทำให้คุณท้อแท้
4. ต้องใช้ความกล้าในการที่จะแสดงจุดยืนในสิ่งที่ตนเองคิดว่าถูกต้อง
5. มีการเปลี่ยนแปลงแนวทางในการดำเนินงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงองค์กร ทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดความสับสน ให้จำไว้ว่าการสนทนาแลกปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างทุก ๆ คน ในองค์จะช่วยบรรเทาปัญหานี้ได้
6. ผู้บริหารบางคนเห็นว่า H.I.M.M. เป็นสิ่งน่ากลัว และไม่ยอมรับความคิดริเริ่มนี้
7. ในบางครั้งการพยายามที่จะเป็น H.I.M.M. ต้องอาศัยการอุทิศและทุ่มเทตนเอง แต่หากล้มเหลวหรือมีปัญหามากอาจจะทำให้คุณรู้สึกผิดหวังอย่างมาก
|
แนวทางการดำเนินงานระหว่างสำนักงาน ก.พ.ร. กับผู้บริหารระดับกลาง |
|
สำหรับแนวทางการดำเนินงานกับผู้บริหารระดับกลางที่ทางสำนักงาน ก.พ.ร. จะดำเนินการผลักดันต่อไปแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ
|
1. การพัฒนาขีดสมรรถนะผู้บริหารระดับกลาง (Middle Management Empowerment) เพื่อสร้างความพร้อมให้สามารถเป็น ผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผล โดย...
|
จะมีการจัดทำหลักสูตรพัฒนาขีดสมรรถนะผู้นำการเปลี่ยนแปลงระดับกลาง เพื่อสนับสนุนแนวความคิดที่จะปรับเปลี่ยนการทำงานของข้าราชการ จากระบบดั้งเดิมสู่การทำงานในระบบราชการที่ทันสมัย ปรับกระบวนทัศน์ มุมมอง และทัศนคติให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง ให้ตระหนักถึงความสำคัญ ในการให้บริการประชาชน และได้เรียนรู้ถึงเทคนิควิธีการต่าง ๆ ที่จะสามารถช่วยให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีแนวคิดพื้นฐานเรื่อง การบริการที่เป็นเลิศ (Service First Program) และ การบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management Program)
|
จะมีการคัดเลือกผู้บริหารระดับกลางจากองค์กรนำร่องที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง อาทิเช่น สถานีตำรวจ ด่านศุลกากร อำเภอ เป็นต้น ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้เข้าร่วมการอบรม และเมื่อผ่านการเรียนรู้อบรมแล้วผู้บริหารระดับกลางกลุ่มนี้จะต้องนำไปปฏิบัติจริงในหน่วยงาน ของตนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมซึ่งจะเป็นการกลับไปขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในองค์กรของตนเอง โดยสำนักงาน ก.พ.ร. จะจัดให้มีทีมพี่เลี้ยงเป็นที่ปรึกษา (Executive coaching) ให้คำแนะนำ ช่วยเหลือในช่วงการดำเนินงาน
|
2. การสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อกับการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง (Enabling Environment) เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติจริง โดยสำนักงาน ก.พ.ร. จะเร่งส่งเสริม สนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ ผู้เข้ารับการอบรมสามารถดำเนินการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในองค์กรของตน โดยจะมีหน่วยงานติดตาม ประเมินผลต่อไป
|