มีเรื่องราวเกี่ยวกับคุณสมบัติของการเป็นซีอีโอ ในฐานะผู้นำองค์กรมานำเสนอกันค่ะ ซึ่งเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของเอกสารเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการ หมายเลข 009 เรื่อง ที่สุดก็ซีอีโอ : ถึงเวลาของการนำองค์การ อย่างมีสุจริตธรรม
ซึ่งเป็นเอกสารฉบับล่าสุดของ Knowledge Center และเป็นฉบับพิเศษด้วย เพราะท่านเลขาธิการ ก.พ.ร. ได้ลงมือแปลและเรียบเรียงเอง จากหนังสือเรื่อง It takes a CEO : It's time to lead with Integrity ที่เขียนโดย Leo J. Hindery และในวันนี้ ก็ขอสรุปบางส่วนที่กล่าวถึงคุณสมบัติและขีดความสามารถที่จำเป็นของซีอีโอ รวม 19 ประการมานำเสนอค่ะ มาดูกันว่า ซีอีโอที่จะนำองค์การอย่างมีสุจริตธรรม (Integrity) นั้น จะต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง
หนังสือเรื่อง It takes a CEO : It's time to lead with Integrity นี้ เป็น หนังสือแนะนำของนายกรัฐมนตรี ซึ่งกล่าวถึงบทบาทและความสำคัญของผู้นำองค์การว่า ซีอีโอ ในฐานะของผู้นำองค์การนั้นต้องมีคุณสมบัติที่โดดเด่นแตกต่างจากบุคคลอื่น ๆ รวมทั้ง ให้ความสำคัญกับเรื่องของจรรยาบรรณ คุณธรรมและจริยธรรมในการบริหารงาน กล่าวคือ นอกจากจะเป็นผู้มีความรู้ความสามารถทางการบริหารจัดการที่เก่งกาจแล้ว ยังจะต้องมีคุณธรรม จริยธรรม และสุจริตธรรมอีกด้วย ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้องค์การบรรลุเป้าหมายและประสบความสำเร็จได้
สำหรับรายละเอียดของเนื้อหาในบทต่าง ๆ นั้นสามารถติดตามอ่านได้จากหนังสือ It takes a CEO : It's time to lead with Integrity นะคะ หรือจะอ่านจากบทสรุป ของท่านเลขาธิการ ก.พ.ร. ในเอกสารเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ฯ หมายเลข 009 ก็ได้ค่ะ
แต่ในวันนี้จะขอกล่าวถึงบทที่ 10 ซึ่งเป็นบทสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ โดย Leo J. Hindery ได้นำเสนอบัญชีรายการคุณสมบัติและขีดความสามารถที่จะ เป็นของซีอีโอ (The CEO Checklist) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่จะก้าวขึ้นมาเป็น ผู้นำองค์การในอนาคต และสามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นเกณฑ์สำหรับตรวจสอบคุณลักษณะ ของผู้ที่ดำรงตำแหน่งซีอีโอ รวมทั้งพิจารณาคัดเลือกบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งซีอีโอ ว่ามีความเหมาะสมในการเป็นผู้นำองค์การหรือไม่ เพียงใด
สำหรับ 19 คุณสมบัติและขีดความสามารถที่จำเป็นของซีอีโอ ประกอบด้วย
|
1. เป็นคนฉลาดเฉลียว การศึกษาดี และมีข้อมูลพร้อม
(Bright, well educated, and well-informed?) |
กล่าวคือ ผู้นำองค์การในปัจจุบันต้องสามารถมองออกไปภายนอก และมองภาพไปข้างหน้า ได้มากกว่าในอดีต ต้องมีความคิดหรือมุมมองที่กว้างขวางมากขึ้น และสังคมความรู้ที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับองค์การของตนและหน่วยงานคู่แข่ง
ทั้งนี้ ในการพิจารณาว่าบุคคลดังกล่าวมีคุณสมบัติข้อนี้หรือไม่ ต้องฟังในสิ่งที่เขาพูด และพยายามอ่านในสิ่งที่เขาเขียน เพื่อพิจารณาว่าเขาสามารถคาดคะเนได้ว่าคู่แข่งขันกำลังจะทำอะไร และสามารถก้าวกระโดดขึ้นเหนือคู่แข่งได้อย่างไร? พิจารณาความฉลาดเฉียบคม ประวัติการศึกษาว่าจดบการศึกษาจากที่ใด้ และเมื่อสมัยที่เป็นนักศึกษานั้น เขามีความกระตือรือร้นหรือไม่? |
|
|
2. มีจิตใจใฝ่รู้
(An inquiring mind?) |
ความฉลาดเฉียบคม และพื้นฐานการศึกษาจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย หากไม่สามารถนำมา ประยุกต์ใช้ได้จริง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เกณฑ์มาตรฐานในการคัดสรรซีอีโอ นั้น จะต้องมีทั้งความกว้าง (broad) และความลึก (depth) นั่นคือ เมื่อถึงเวลาที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาต่าง ๆ บุคคลนั้นสามารถ วิเคราะห์เจาะลึกเพื่อหาคำตอบให้ได้เพียงใด? และมีปฏิกริยาอย่างไรเมื่อสามารถค้นหาคำตอบได้? ซึ่งหากมีความปิติยินดีก็จะเป็นสัญญาณที่ดี
นอกจากนี้ อาจพิจารณาว่า เขาชอบอ่านหนังสืออะไร? มักอ้างอิงถึงใคร? เคยเข้าร่วมประชุม สัมมนา ร่วมวงสนทนา หรือเข้าร่วมกิจกรรมอื่น ๆ ที่อาจไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการดำเนินธุรกิจบ้าง หรือไม่? เคยกล่าวสุนทรพจน์ หรือคำปราศรัยหรือไม่? ต่อใคร? และทำไมถึงทำ?
|
3. สามารถสื่อสารถ่ายทอดความคิดออกมาให้เห็นเป็นภาพพจน์อย่างชัดแจ้ง
(Articulate?) |
ผู้นำจะไม่สามารถนำได้ หากปราศจากความสามารถในการถ่ายทอดวิสัยทัศน์ของตนให้ผู้อื่น เข้าใจ และปฏิบัติตามได้ หมายความว่า ผู้ที่จะเป็นซีอีโอนั้น ต้องมีองค์ประกอบ 2 ประการ คือ 1) ความสามารถในการคิดอย่างตรงประเด็น 2) ความสามารถที่จะแสดงความคิด ของตนออกมาให้ผู้ฟัง ได้เข้าใจอย่างชัดเจนและตรงประเด็น
ทั้งนี้ บุคคลนั้นต้องรู้จักการใช้การเคลื่อนไหวของร่างกาย (body language) รู้จักเลือกจังหวะ เวลาที่เหมาะสม รู้จักวิธีใช้ไมโครโฟนและการใช้น้ำเสียงที่ชวนฟัง และสามารถประสานความคิดกับคำ พูดเข้าด้วยกัน ซึ่งจะทำให้สิ่งที่แสดงออกมาทางวาจานั้น เข้าเป้า ตรงประเด็น และเกิดอารมณ์ร่วมได้
|
4. ตั้งใจมุ่งมั่นทำงานหนัก
(Exceptionally hard working?) |
|
สำหรับผู้นำที่ดีนั้น หากทำงานเฉพาะในเวลาทำการคงจะไม่สามารถทำงานให้บรรลุผลได้ และไม่สามารถกระตุ้นให้ผู้อื่นทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถได้ ทั้งนี้ ซีอีโอที่ยิ่งใหญ่จะได้รับผลตอบแทนอย่างที่ควรได้รับก็เพราะสิ่งที่ทำลงไปนั้น ควรค่ากับผลตอบแทนดังกล่าวจริง ๆ พิจารณาได้จากคำกล่าวของ Thomas Edison ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นสุดยอดซีอีโอ ที่กล่าวว่า ความอัจฉริยะของเขาเกิดจากแรงบันดาลใจเพียง 10% เท่านั้น แต่ที่เหลืออีก 90% เป็นเรื่องของการทำงานแบบมุมานะบากบั่น
นอกจากนี้ ซีอีโอจะต้องเป็นผู้ที่มีสุขภาพสมบูรณ์ และมีรูปลักษณ์ที่ดี ซึ่งการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ถูกวิธี จะช่วยเสริมสร้างพลังงานได้มากกว่าที่จะบริโภคเพียงอย่างเดียว |
|
5. มีจริยธรรมและความซื่อสัตย์
(Honest and ethical?) |
ความซื่อสัตย์สุจริต และจริยธรรมนั้น เป็นสิ่งที่ผู้นำองค์การต้องมี เพราะองค์การจะไม่สามารถ ดำรงอยู่ได้หากผู้นำไม่มีสามัญสำนึกว่า อะไรเป็นเรื่องที่มีความถูกต้องชอบธรรม ซึ่ง Rich Teerlink แห่ง Harley-Davidson ได้กล่าวไว้ว่า ซีอีโอคือผู้พิทักษ์รักษาคุณค่าขององค์การ หรืออย่างน้อย ก็ทำให้คุณค่านั้นเป็นจริง และฝังรากลึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์การ ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้บริษัท ของการเปลี่ยนแปลง หรือไม่ก็ตาม และ ซีอีโอ ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีขององค์การ
นอกจากนี้ ผู้นำควรขจัดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกไป รวมทั้งป้องกันพฤติกรรม ที่ไม่เหมาะสม ดังกล่าว ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อตนเอง หรือเกิดผลเสียหายต่อองค์การด้วย อย่างไรก็ตาม การจะพิจารณาว่าพฤติกรรมใดเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ไม่สุจริต หรือผิดจริยธรรมนั้น อาจไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เพราะจะแตกต่างกันไปในแต่ละธุรกิจ หรืออาจจะไม่เหมือนกันระหว่างภาครัฐ และเอกชนก็ได้
|
6. แสดงออกให้เห็นถึงการมีความเป็นธรรม และยอมรับการแข่งขันอย่างยุติธรรม
(Demonstrates a sense of fairness and fair play?) |
สิ่งสำคัญที่ซีอีโอต้องมีคือ การมีจิตสำนึกอย่างสูงว่าอะไรคือความถูกต้องยุติธรรม และมีขีดสมรรถนะในเชิงคุณธรรมอย่างเพียงพอต่อการดำเนินการบางสิ่งบางอย่าง เมื่อมีการละเมิด
กฎกติกาขึ้น
|
7. ตั้งมั่นบนชีวิตแห่งความโอบอ้อมอารี และรู้จักให้อภัย
(Lives life with grace?) |
ซีอีโอต้องพอใจในวิถีชีวิตของตนเองและของโลกมนุษย์ รู้จักการให้อภัยผู้อื่นและให้อภัยตนเอง มีความโอบอ้อมอารี อดกลั้น และรู้จักให้อภัย ซึ่งความโอบอ้อมอารีและรู้จักให้อภัยในที่นี้หมายถึง ความมีเกียรติภูมิสง่างามสุภาพอ่อนโยน ประพฤติปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมและถูกต้องตามทำนอง คลองธรรม หรือมีขีดสมรรถนะในการอดกลั้น ปรับตนให้เหมาะสม และรู้จักให้อภัย
|
8. รักผู้คน
(Loves people?) |
เพราะการดำเนินธุรกิจ (หรือแม้แต่การปฏิบัติงานในภาคราชการ) ต้องเกี่ยวข้องกับ คน ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นก็ตาม เช่น สิทธิบัตรหมดอายุ เทคโนโลยีถูกไล่ทัน เป็นต้น ทำให้การปฏิบัติงานต้องมีปฏิสัมพันธ์กันคน ดังนั้น ซีอีโอต้องมีความรักให้กับบุคคลรอบข้างที่เกี่ยวข้อง
|
9. ไม่ดันทุรัง เกลียดการดูถูกเหยียดหยาม
(Hates bigotry?) |
เมื่อการดำเนินธุรกิจมีความเกี่ยวข้องกับคน ซีอีโอจึงต้องไม่ดูถูกเหยียดหยามคน หรือปฏิเสธ ไม่ยอมรับกลุ่มคนบางกลุ่ม เพราะการขีดเส้นกัน หรือสร้างกำแพงเพื่อแบ่งแยกกลุ่ม คนต่าง ๆ ออกไป มักจะก่อให้เกิดความสูญเสียเปล่าประโยชน์ ซึ่งจะต้องทำให้เรื่องดังกล่าวหมดไป
|
10. แสดงออกซึ่งความกล้า
(Shows courage?) |
ซีอีโอต้องสามารถแสดงความกล้าของตน โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องออกมาปรากฏตนอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชน ทั้งทางหนังสือพิมพ์ หรือรายการโทรทัศน์ เพื่อแสดงจุดยืนของการตัดสินใจบางอย่างที่มีผลต่อองค์การ ซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะหากผิดพลาด อาจหมายถึงชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงานและครอบครัวของพวกเขา
ถึงแม้ในยามคับขันที่ไม่มีทางออกของปัญหา ซีอีโอก็ต้องพยายาม กล้าตัดสินใจที่จะแสวงหาทางออกที่ดีที่สุดให้ได้ เพราะเป็นความรับผิดชอบ ของซีอีโอต่อผู้คนในองค์การ ซึ่งทุกคนต่างฝากความหวังไว้ นอกจากนี้ ซีอีโอต้องกล้าที่จะยอมรับความผิดพลาดที่ตนได้ตัดสินใจลงไป และจำเป็นต้องแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้น |
|
|
11. ยอมรับความเสี่ยง (อย่างชาญฉลาด)
(Takes (smart) risks?) |
การยอมรับความเสี่ยงอย่างชาญฉลาด คือ การมีข้อมูลค่อนข้างดี และรู้จักแสวงหาคำแนะนำ ที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งสามารถควบคุมความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูงได้ เช่น การแบ่งเบาภาระความเสี่ยง กับหน่วยงานอื่น การกระจายความเสี่ยงเพื่อให้มีโอกาสที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยง ความผิดพลาด ซึ่งเป็นผลมาจากการตัดสินใจในขั้นเริ่มต้นได้
|
12. สามารถตัดสินใจในเรื่องยาก ๆ ได้ภายในเวลาอันเหมาะสม
(Make tough decisions in a timely way?) |
Herb Kelleher แห่ง Southwest Airline เคยกล่าวไว้ว่า คุณไม่เคยมีข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนั้น เมื่อไม่มีข้อมูลสมบูรณ์ครบถ้วน ก็หมายความว่า คุณต้องเสี่ยง คุณจึงต้องเตรียมการอย่างดี ในการเสี่ยงและการตัดสินใจภายใต้ความเสี่ยงนั้น รวมทั้งเตรียมการที่จะรุกไปข้างหน้า และเตรียม การแก้ไขความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ประเด็นที่ซีอีโอควรคิดไตร่ตรอง คือ ใช่ ฉันผิดไปแล้ว แต่ฉันจะต้องแก้ไขให้ลุล่วงไปอย่างทันที
ตามหลักเหตุผลดังกล่าว ทุกคนในองค์การพร้อมที่จะอดทนกับความผิดพลาดได้ หากผู้นำสามารถปรับเปลี่ยนในทิศทางที่เหมาะสมได้อย่างรวดเร็ว
|
13. สามารถดำเนินการบางอย่างเพื่อยอมรับความผิด
(Acts on conviction?) |
ซีอีโอต้องกล้ายอมรับความผิดพลาด และตัดสินใจทำในสิ่งที่ถูกต้องเป็นการชดเชย ทั้งนี้ เมื่อเกิดปัญหา หรือมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ทุกคนต่างต้องการทราบว่า สุดท้ายแล้ว ผู้นำของเขา จะมีจุดยืนอย่างไร? จะยึดถือหลักการอะไร? หรือมีสติปัญหาอย่างไรบ้างเพื่อยืนหยัดต่อสู้ไม่ให้ล้ม ซึ่งทางออกในการแก้ไขปัญหาของซีอีโอจะกลายเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาขององค์การ อันจะทำให้เกิดความมั่นคง หรือเป็นหางเสือ ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายหลัก หรือปัดแกว่ง อย่างไร้ทิศทาง
|
14. มีความอดกลั้น (ได้ถึงในระดับหนึ่ง)
(Demonstrates patience up to a point?) |
ผู้นำที่ดีต้องเป็นครูที่ดี และครูที่ดีต้องมีความอดกลั้น ไม่พยายามคาดหวังว่าบุคคลอื่น จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ภายในเวลาชั่วข้ามคืน หรือเรียนรู้เข้าใจสิ่งยาก ๆ ได้อย่างครบถ้วน ในระยะแรกเริ่ม ต้องเข้าใจว่าเวลาใดควรเอาจริงเอาจัง และเวลาใดควรปล่อยวางตามสบาย
และครูที่ดีต้องทราบว่าเมื่อไหร่จะต้องเปลี่ยนจากวิธีการให้รางวัล ไปสู่วิธีการลงโทษ และทราบว่าเมื่อไหร่ต้องพักขอเวลานอก และปรับเปลี่ยนเทคนิคการเล่น หรือเปลี่ยนตัวผู้เล่น
|
|
สุดท้ายแล้ว ซีอีโอต้องทราบว่า เมื่อไหร่ที่ต้องปรับใครออกจากตำแหน่งเมื่อถึงจุดที่มี
ความจำเป็น และจะต้องทำอย่างไรในเรื่องดังกล่าว? โดยไม่ทำให้บุคคลนั้นและเพื่อร่วมงาน เสียความรู้สึก หรือท้อแท้หมดกำลังใจ |
|
15. รู้จักเลือกและแสวงหาคนเก่ง
(Spots talent and keeps on looking?) |
|
ซีอีโอต้องมีความสามารถในการแสวงหาบุคลากรที่ดีกว่า เข้ามาทดแทนบุคลากรที่มีอยู่ในปัจจุบัน ต้องยอมเสี่ยงให้โอกาส กับแต่ละบุคคลแล้วคอยติดตามผลว่าสำเร็จหรือไม่ เพียงใด รวมทั้งพยายามเรียนรู้ว่าสิ่งที่ตัดสินใจนั้นถูกหรือผิด หากบุคคลที่รับเข้ามาแล้วไม่สามารถทำงานได้ตามที่คาดหวังไว้ ต้องหาคำตอบให้ได้ว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุใด? อาจเป็นเพราะการมอบหมายงานยังไม่เหมาะสม บุคคลดังกล่าวได้รับการอ้างอิงสูงเกินความจริง หรือเราคาดการในตัวเขาผิดพลาดไป รวมไปถึงสภาพแวดล้อมบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้คนที่เลือกสรรมาอย่างดีกลับกลายเป็นไม่เหมาะสม
การเลือกสรรคนเก่งนั้น อาจเป็นได้ทั้งพรสวรรค์ หรือความสามารถเฉพาะตัว และทักษะที่ค่อนข้างจะไม่สามารถฝึกฝนให้เกิดขึ้นได้โดยง่าย ดังนั้น คำแนะนำสำหรับซีอีโอที่ไม่มีพรสวรรค์ดังกล่าว คือ ให้หาผู้ที่มีพรสวรรค์เข้ามาช่วยโดยด่วน และให้บุคคลนั้นทำหน้าที่ในการสรรหาและพัฒนาคนเก่งในองค์การ
|
|
16. มอบอำนาจโดยปราศจากความกังวลใจ
(Delegates without second question?) |
ในบางครั้ง ผู้บังคับบัญชาบางประเภทอาจมอบอำนาจในแบบจอมปลอม คือทำเหมือน ทำเหมือนกับยอมปล่อยให้ทำทุกอย่างได้เอง แต่กลับคอยเฝ้ามองอย่างไม่กระพริบตา หรือมักมีข้อสังเกตเพิ่มเติมแล้วขอทบทวนแก้ไขใหม่
การมอบอำนาจในแบบจอมปลอมนี้ จะเป็นการทำลายขวัญและกำลังใจหรือความมั่นใจ ของพนักงาน และเป็นเสมือนยาพิษร้ายขององค์การ
ซีอีโอที่ดีต้องปล่อยให้คนของเขาสามารถทำความผิดพลาดโดยสุจริตได้อย่างน้อยหนึ่งครั้ง แต่ต้องไม่ยอมให้เกิดความผิดพลาดขึ้นอีกเป็นครั้งที่สอง โดยเฉพาะความผิดพลาดที่เกิดจากความ สะเพร่าหรือประมาทเลินเล่อ
|
17. เปิดเผยและมีความรับผิดชอบต่อบรรดากลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย
(Acknowledges multiple constituencies?) |
Reginald H. Jones ซีอีโอของบริษัท GE (ก่อน Jack Welch) และเป็นผู้นำบริษัท ที่มีความโดดเด่นน่านับถือมาก ในปี ค.ศ. 1972 เขาเคยกล่าวปราศรัย ในที่ประชุมโต๊ะกลม ของสภาธุรกิจและสมาคมผู้สื่อข่าวแห่งชาติ ไว้อย่างน่าประทับใจว่า นับแต่นี้เป็นต้นไป เขาจะให้น้ำหนักความสำคัญในเรื่องของความรับผิดชอบต่อบริษัท พนักงาน อุตสาหกรรม และประเทศชาติ อย่างเท่าเทียมกัน
กล่าวได้ว่า ไม่เพียงแต่ผู้ถือหุ้นของบริษัทเท่านั้น ที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย (stakeholders) ชุมชนและประเทศชาติก็สมควรได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียด้วยเช่นกัน แน่นอนว่าทุกวันนี้ประเทศของเราต้องการซีอีโอประเภทรัฐบุรุษเป็นอย่างมาก
ในระยะยาวนั้น ซีอีโอจำเป็นต้องรู้จักการให้นิยามของบุคคลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างกว้าง ขวาง ซึ่งจะช่วยให้มีคำตอบในเรื่องต่าง ๆ ได้ดีขึ้น มีความยุติธรรมมากขึ้น และสามารถหลีกเลี่ยง การปะทะ ที่ไม่จำเป็น (และไม่จำเป็นต้องเผชิญหน้ากับแนวทาง หรือรูปแบบการตอบโต้ของ อีกฝ่ายหนึ่งที่ได้เตรียมการไว้อย่างรอบคอบ)
|
18. รู้ว่าต้องเป็นผู้ตัดสินใจ โยนออกไปให้ใครไม่ได้อีกแล้ว
(Know where the buck really stops?) |
ซีอีโอจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินใจและรับผิดชอบในการตัดสินใจนั้น หากจะเปรียบ กับการเล่นไพ่โปกเกอร์แล้ว ซีอีโอจะต้องไม่ทำตัวเหมือนผู้เล่นไพ่โปกเกอร์ที่เมื่อรู้ว่าตน ไม่มีแต้มที่จะสู้ ก็จะหมอบหรือยอมให้ผู้เล่นคนถัดไปเล่นแทน ซึ่งเป็นการโยนความรับผิดชอบ ออกไปให้ผู้อื่นตัดสินใจ หรือปัดสวะให้พ้นตัว (passed the buck)
เมื่อ Harry Truman อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ซึ่งชอบเล่นไพ่โปกเกอร์ เข้ามาดำรงตำแหน่งเมื่อปี ค.ศ. 1945 เขาได้สลักคำและติดไว้ที่โต๊ะทำงานว่า ทุกอย่างต้องจบลงที่นี่ (The Buck Stops Here) และในการกล่าวสุนทรพจน์อำลาตำแหน่ง เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1953 เขากล่าวว่า ประธานาธิบดี ไม่ว่าใครก็ตามจะต้องตัดสินใจ ไม่มีใครจะสามารถตัดสินใจแทนเขาได้อีกแล้ว เพราะนั่นคือภารกิจของประธานาธิบดี หมายความว่า ใครคนใดคนหนึ่งอาจจะเข้ามาร่วมพิจารณา เรื่องต่าง ๆ ด้วยได้ แต่ไม่มีใครที่จะต้องรับผิดชอบในการตัดสินใจ นอกจากซีอีโอ
|
19. ทนสภาพการถูกโดดเดี่ยว
(Tolerates loneliness?) |
บางครั้งอาจเป็นเรื่องของการยอมเสียสละตนเอง : ฉันช่างโชคร้ายเหลือเกิน ! มีทั้งอำนาจและเงินทอง แต่ไม่มีใครจะเรียกว่า เพื่อน ความจริงก็คือ การเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบสูง อาจต้องกลายเป็นผู้ที่ต้องอยู่คนเดียวอย่างโดดเดี่ยว
ซีอีโอไม่มีเพื่อนร่วมงานมากนัก เขาต้องก้าวเติบโตขึ้นไป หรือถูกแยกไปจากผู้สอนงาน (mentor) การอยู่ท่ามกลางบุคคลหรือกลุ่มบุคคลต่าง ๆ ซึ่งต่างแข่งขันกันเอาใจหรือทำตัวให้เป็นที่สนใจ เขาไม่สามารถใกล้ชิดกับใคร หรือเข้าข้างใครเป็นพิเศษได้ นอกจากนี้ เขาอาจต้องตัดสินใจในบางเรื่องที่อาจทำให้คนไม่มีความสุข |
|
การถูกโดดเดี่ยวนี้ ถือได้ว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง เพราะซีอีโอต้องรักทุกคน แต่เขาก็มักจะถูกยกไปเชิดชูไว้อย่างสูง และต้องยอมรับในสิ่งที่ทุกฝ่ายได้มอบให้ ซึ่งหมายความว่า ซีอีโอต้องยอมที่จะถูกโดดเดี่ยว |
ทั้งนี้ คุณสมบัติและขีดความสามารถที่จำเป็นของซีอีโอทั้ง 19 ประการอาจได้รับ การวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีข้อจำกัดอย่างน้อย 2 ประการ คือ
ต้องยอมรับว่า ในโลกนี้มีน้อยคนนักที่จะมีคุณสมบัติและขีดความสามารถครบทั้ง 19 ประการ แต่ทุกคนที่ดำรงตำแหน่งซีอีโอต้องพยายามเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์เพิ่มเติม จนมีคุณสมบัติ และขีดความสามารถครบถ้วน ที่สำคัญคือ การพยายามค้นหาว่าตัวเอง ยังขาดคุณสมบัติและขีดความสามารถในข้อใด เพื่อนำมาปรับปรุงให้ดีขึ้น หรือหาบางอย่างมา ทดแทนหากยังไม่สามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้
บัญชีรายการคุณสมบัติและขีดความสามารถที่จะเป็นของซีอีโอนี้ ค่อนข้างเน้น ให้ความสำคัญ ต่อภาวะผู้นำ หรือมีลักษณะในแบบจากบนลงล่าง หรืออาจถูกมองได้ว่าซีอีโอ ก็คือเทวดา ซึ่งนักวิชาการหลายท่านมองว่าผู้ตามที่ดีก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าผู้นำที่ดีเช่นกัน หรือบางครั้งอาจมีความสำคัญมากกว่า
คุณสมบัติและขีดความสามารถที่จำเป็นของซีอีโอทั้ง 19 ประการนี้ เป็นเสมือนกรอบ หรือแนวทางในการก้าวเดินไปข้างหน้า ซึ่งอาจต้องใช้เวลา และไม่ได้เกิดเพียงชั่วข้ามคืน เพราะการเปลี่ยนแปลงนั้น มีการบ้านที่จะต้องทำมาก และยังต้องอาศัยแรงสนับสนุน จากทุกฝ่ายอีกด้วย เพื่อให้ซีอีโอสามารถพัฒนาตนเองให้มีคุณลักษณะที่โดดเด่น และมีคุณสมบัติ และขีดความสามารถที่ครบถ้วนทุกประการ
ข้อมูลจาก...เอกสารเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ฯ หมายเลข 009
เรื่อง "ที่สุดก็ซีอีโอ : ถึงเวลาของการนำองค์การอย่างมีสุจริตธรรม"
แปลและเรียบเรียงโดย เลขาธิการ ก.พ.ร.