สวัสดีค่ะ  ถึงเศรษฐกิจจะ้
ตกสะเก็ด น้ำมันขึ้นราคาสูงและ
การเมืองป่วน?   แต่ดูเหมือนสิ่ง
เหล่านี้จะไม่มีผลกระทบต่อสาระ
อันมีประโยชน์   e-Newsletter
แต่อย่างไรเลย
      ฉบับนี้ ขอนำเรื่อง สุดHot!
มานำเสนอ อาทิเช่นการจัดสรร
เงินรางวัล    คลินิคสัญจรให้คำ
ปรึกษาแก่ส่วนราชการและการ
เปิดตัว   สถาบันประชาสัมพันธ์ เป็น SDU   เป็นอย่างไร นั้น
โปรดติดตามค่ะ!

 

e-news ย้อนหลัง




คลีนิคสัญจรให้คำปรึกษา
ด้านการบริหารจัดการภาครัฐ

         ตลอดช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนที่ผ่านมาสำนักงาน ก.พ.ร.ได้ระดมกำลังข้าราชการ รจากทุกภารกิจและ Desk Officer ประจำกระทรวงต่าง ๆ เดินสายจัด คลินิกสัญจร เพื่อให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการภาครัฐ แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในกระทรวงต่าง ๆ ทั้ง 20 กระทรวง

         สำหรับที่มาของการจัดคลินิกให้คำปรึกษาเกิดจากการตระหนักถึงความสำคัญ ในการพัฒนาแนวทางและวิธีการทำงานรวมทั้งโมเดล (model) ต่าง ๆ ที่ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2545 อย่างไรก็ตามแนวทางและ model ต่างๆ นั้น ยังมีการดำเนินการในลักษณะที่แยกกัน สำนักงาน ก.พ.ร. จึงมีแนวคิดในการบูรณาการ การทำงานในเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้นโดยปรับแต่งองค์ประกอบต่างๆ ให้มีความเชื่อมโยงเกิดความชัดเจนเป็นองค์รวมมากยิ่งขึ้นประกอบกับผลการศึกษา วิจัยพบว่าข้าราชการ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้ความสนใจกับงานของสำนักงาน ก.พ.ร. เป็นอย่างมาก เนื่องจากการที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ผลักดันให้ส่วนราชการนำ การบริหารจัดการภาครัฐในประเด็นต่างๆ ไปใช้ในองค์กรนั้นบางประเด็นเป็นเรื่องใหม่ และมีความซับซ้อน ส่วนราชการจึงมีความต้องการที่จะให้สำนักงาน ก.พ.ร. จัดกิจกรรมให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการบริหารจัดการต่าง ๆ โดยเฉพาะ อย่างยิ่งการจัดกิจกรรมในลักษณะ Clinic Road Show (CRS) ในหัวข้อหลัก ดังนี้

            1. การจัดทำข้อเสนอการเปลี่ยนแปลง (Blueprint for Change)
            2. การจัดการความรู้ (Knowledge Management : KM)
            3. เกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการ ภาครัฐ (Public Sector Management Quality : PMQA)
            4. การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม
            5. การจัดตั้งศูนย์บริการร่วม
            6. แผนผังยุทธศาสตร์และการวัดผล แบบสมดุล (Strategy Map & Balanced Scorecard)
            7. ตัวชี้วัดในระดับบุคคล (Individual Scorecard)

           การให้คำปรึกษาดังกล่าวได้รับความสนใจจากเพื่อนข้าราชการเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งจากการสังเกตการณ์ ผู้เข้ารับคำปรึกษาได้สนทนาซักถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กับวิทยากรตลอดเวลาทั้งรายละเอียดการดำเนินงานข้อเสนอแนะในแต่ละด้าน ซึ่งคำถามยอดฮิตที่หลายหน่วยงานให้ความสนใจ สรุปได้ดังนี้

การจัดทำข้อเสนอการเปลี่ยนแปลง (Blueprint for Change)
 

            เป็นที่ทราบกันดีว่า การจัดทำข้อเสนอการเปลี่ยนแปลง (Blueprint for Change)เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารราชการโดยบริหารการเปลี่ยนแปลง ให้เกิดความพร้อมในการสนับสนุนและผลักดันให้ประเด็นยุทธศาสตร์ของส่วน ราชการบังเกิดผลทางปฏิบัติ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสอดคล้องกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ซึ่งได้กำหนดแนวทาง การบริหารราชการเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง 3 ด้าน คือด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพ ด้านการพัฒนาคุณภาพ และด้านการเสริมสมรรถนะขององค์กร

            สำหรับคำถามที่ส่วนราชการหลายแห่ง ให้ความสนใจในเรื่อง Blueprint for Change คือ หากส่วนราชการไม่มีงบประมาณจะสามารถนำข้อ เสนอการเปลี่ยนแปลงไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร

          ประเด็นคำถามนี้มักเป็นข้อกังวลของเกือบทุกหน่วยงานซึ่งวิทยากรได้ให้คำแนะนำ ไว้โดยสรุปคือ หากส่วนราชการใดไม่ได้รับงบประมาณตามที่ขอ ผู้บริหารก็ต้องใช้ความสามารถในการบริหารจัดการ โดยนำแผนข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงมาร่วมกันพิจารณาว่าจะผลักดันอย่างไรภายใต้ งบประมาณที่จำกัด ทั้งนี้อาจพิจารณาว่ามีแผนงานใดที่สามารถผนวกเข้ากับแผนงานอื่น ในกลุ่มเป้าหมายเดียวกันได้ นอกจากนี้ ข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงที่หลายหน่วยงาน เลือกในด้านเทคโนโลยีนั้น ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนอีกครั้ง เนื่องจากการจัดทำข้อเสนอ ไม่ได้เน้นถึงผลผลิต (Product) ที่อยู่ใน รูปแบบของโครงการ/กิจกรรม แต่มุ่งเน้นกระบวน การทำงานเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 3 ด้าน คือ ลดเวลาการทำงาน ลดต้นทุน และเพิ่มคุณภาพซึ่งจะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ส่วนราชการไม่จำเป็นต้องระบุสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงให้ครบทั้ง 4 ด้าน ทั้งด้านขั้นตอน/วิธีปฏิบัติงาน ด้านเทคโนโลยี ด้านการจัดแบ่งหน้าที่ และด้านบุคลากร แต่ส่วนราชการสามารถเปลี่ยนแปลงในแง่ของกระบวนการทำงานหรือวิธีปฏิบัติซึ่งอาจ ไม่มีความจำเป็นในการใช้งบประมาณแต่อย่างใด


การจัดการความรู้ (Knowledge Management : KM)
 

       ส่วนราชการหลายแห่งมีข้อสงสัยว่า ตัวชี้วัดเรื่อง Knowledge Management หรือ KM นั้น ต้องทำใน ประเด็นยุทธศาสตร์เหมือน Blueprint for Change หรือไม่
   

         ระดับความสำเร็จของแผนการจัดการความรู้เพื่อสนับสนุนประเด็นยุทธศาสตร์ เป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดในคำรับรองการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ และจังหวัด เพื่อประเมินผลการจัดการความรู้ภายในองค์กรโดยการรวบรวมองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในองค์กรทั้งที่เป็นเอกสารและความรู้ ที่อยู่ในตัวบุคคลมาพัฒนาให้เป็นระบบ เพื่อให้ ทุกคนในองค์กรสามารถเข้าถึงความรู้ และพัฒนาตนเองให้เป็นผู้รู้สามารถปฏิบัติงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้องค์กรประสบความสำเร็จตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้โดยใน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 นี้ ได้กำหนดให้ส่วนราชการเลือกประเด็นยุทธศาสตร์ขึ้นมา 1 ประเด็นยุทธศาสตร์ เพื่อจัดทำแผนการจัดการความรู้เพื่อสนับสนุนประเด็นยุทธศาสตร์ โดยประเด็นยุทธศาสตร์ดังกล่าว ควรเป็นประเด็น ยุทธศาสตร์เดียวกันกับที่ส่วนราชการได้จัดทำข้อเสนอการเปลี่ยนแปลง (Blueprint for Change) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2548 หรืออาจเป็นประเด็น ยุทธศาสตร์ที่สอดรับต่อการดำเนินงานในภาพรวม และเกิดประโยชน์ต่อองค์กร

                                 

         การประเมินผลการดำเนินการตามตัวชี้วัดเรื่อง ระดับความสำเร็จของแผนการจัดการความรู้เพื่อสนับสนุนประเด็นยุทธศาสตร์นี้ จะพิจารณา ความสำเร็จใน 3 ประเด็นย่อย คือ ผลสำเร็จของการส่งมอบแผนการจัดการความรู้เพื่อ สนับสนุนประเด็นยุทธศาสตร์ระดับคุณภาพของรายละเอียดของแผนการจัดการความรู้ เพื่อสนับสนุนประเด็นยุทธศาสตร์ และผลสำเร็จของแผนการจัดการความรู้เพื่อสนับสนุน ประเด็นยุทธศาสตร์


เกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (Public Sector Management Quality : PMQA)
 

            การจัดทำ เกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจ ประเมิน การดำเนินการของส่วนราชการในประเด็นต่างๆ ตามหมวดของเกณฑ์คุณภาพ การบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งเป็นโอกาสในการปรับปรุงกระบวนการของส่วนราชการ นำไปสู่การยกระดับคุณภาพ การปฏิบัติงานของส่วนราชการต่อไป เกณฑ์คุณภาพดังกล่าว ประกอบด้วย หมวดที่ 1 การนำองค์กร หมวดที่ 2 การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ หมวดที่ 3 การให้ความสำคัญกับผู้รับบริการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หมวดที่ 4 การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ หมวดที่ 5 การมุ่งเน้นทรัพยากรบุคคล หมวดที่ 6 การจัดการ กระบวนการ และหมวดที่ 7 ผลลัพธ์การดำเนินการ

         การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ ภาครัฐนั้นเป็นตัวชี้วัดเลือกในคำรับรอง การปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 โดยเป็นตัวชี้วัดเรื่อง ระดับความสำเร็จของการดำเนินงาน ตามขั้นตอนการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ ภาครัฐอยู่ในมิติ ที่ 4 ด้านการพัฒนาองค์กร ทั้งนี้ น้ำหนักของตัวชี้วัดดังกล่าวของระดับกรม และ ระดับจังหวัดจะแตกต่างกัน คือ ในระดับกรมตัวชี้วัดนี้จะมีน้ำหนักร้อยละ 3 แต่ในระดับจังหวัด จะมีน้ำหนักร้อยละ 4


         อย่างไรก็ตามเนื่องจาก PMQA เป็นตัวชี้วัด ใหม่ ทำให้หลายส่วนราชการไม่เข้าใจแนวทาง และกระบวนการของ ระบบ PMQA ซึ่งหลักของ การนำ PMQA ไปใช้คือ ให้องค์กรประเมินตนเองตามเกณฑ์ที่มีอยู่ โดยการตอบคำถามในแต่ละหมวด ซึ่งจะทำให้องค์กรทราบว่าอะไรเป็นจุดแข็ง และ จุดอ่อน เพื่อนำไปสู่การวางแผนและการดำเนินการปรับปรุงตามแผน โดยองค์กรจะเป็นผู้เลือกเครื่องมือทางการบริหารเองว่าจะใช้เครื่องมือใดที่เหมาะสม กับองค์กรของตนซึ่งการเลือกเครื่องมือในการปรับปรุง จะมีผลกับระดับคะแนนที่จะได้รับด้วยและเมื่อปรับปรุงแล้วก็จะวน กลับไปที่การประเมินตนเองอีกครั้ง เมื่อพบโอกาสในการปรับปรุงอีกก็จะดำเนินการ ปรับปรุงต่อไป จนกว่าจะเห็นว่าองค์กรของตนมี ความแข็งแรงแล้ว

         จากนั้นก็จะให้หน่วยงานอื่นเข้ามาประเมิน ซึ่งผู้ที่จะเข้าไปทำหน้าที่ตรวจประเมินก็คือ สำนักงาน ก.พ.ร. นั่นเอง โดยจะให้คำแนะนำว่าองค์กรนั้น ๆ ต้องปรับปรุงในเรื่องใดเพื่อให้องค์กร กลับไปสู่กระบวนการของการวางแผนในการปรับปรุง การดำเนินการปรับปรุง และการประเมินตนเองอีกครั้ง จนกระทั่งมีความพร้อมที่จะเข้ารับการประเมิน จากหน่วยงานภายนอกอีกครั้งหนึ่ง และเมื่อองค์กร ได้รับคะแนนผ่านเกณฑ์การประเมินแล้วก็จะได้รับรางวัล PMQA ทั้งนี้ องค์กรที่ได้รับรางวัลแล้วมีหน้าที่ที่จะต้องแบ่งปันความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ให้กับองค์กรอื่น ๆ ต่อไป


การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม
 

            การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม คือ การบริหารราชการที่เจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานของรัฐเปิดโอกาสให้ประชาชนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องได้เข้ามามีส่วนร่วมในการ ตัดสินใจทางการบริหารและดำเนินการของรัฐ ทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อที่จะตอบ สนองต่อความต้องการของประชาชน ซึ่งฐานที่มาของการบริหารราชการดังกล่าว มีหลายประการ คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 3/1 (การมีส่วนร่วมและโปร่งใส) พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหาร กิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย (พ.ศ. 2546 – 2550)


         ลักษณะขององค์กรที่บริหารราชการแบบมีีส่วนร่วม คือ เป็นองค์กรที่เปิดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ (Accessibility) มีการติดต่อสื่อสาร สองทางกับประชาชน (Dialogue) ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ มีการนำข้อคิดเห็น ของประชาชนมาประกอบการตัดสินใจขององค์กร พร้อมทั้งอธิบายเหตุผล และมีการจัดกระบวนการ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทันท่วงที ถูกต้อง โปร่งใสและจริงใจ

         การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมเป็นตัวชี้วัดที่ 6 ตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 เรื่อง ระดับความสำเร็จในการเปิดโอกาสให้ประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบราชการ ซึ่งกำหนดเกณฑ์การให้คะแนนเป็นระดับขั้นของความสำเร็จ 5  ระดับ (Milestone) โดยพิจารณาจาก ความก้าวหน้าของขั้นตอนการดำเนินงานตามเป้าหมาย แต่ละระดับ ดังนี้

         ขั้นตอนที่ 1 ส่วนราชการมีการเปิดเผยข้อมูล ข่าวสารแก่ประชาชนอย่างโป่รงใส โดยมีช่องทางต่างๆ อย่างน้อย 5 ช่องทาง เช่น การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ อินเตอร์เนต การจัดงานแถลงข่าว การเผยแพร่จดหมายข่าว การจัดนิทรรศการ การจัดทำสปอตโฆษณา

         ขั้นตอนที่ 2 ส่วนราชการมีระบบการรับฟัง ความคิดเห็นของประชาชนอย่างน้อย 5 ช่องทาง เช่น การจัดให้มีตู้รับข้อคิดเห็น การจัดให้มีสายด่วน การสัมภาษณ์ความคิดเห็นของประชาชน การสัมมนา วิชาการ การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน การจัดให้มีศูนย์ข้อมูล-ห้องสมุด

             ขั้นตอนที่ 3 ส่วนราชการมีการนำความคิดเห็นของประชาชนไปประกอบการบริหารงาน โดยมีระบบการนำความคิดเห็นของประชาชนไปประกอบการบริหารงาน มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบ และมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม

           ขั้นตอนที่ 4 ส่วนราชการมีที่ปรึกษาที่มาจากภาคประชาชน (เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ) โดยมีการดำเนินกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่องและชัดเจน เช่น การจัดประชุมร่วมกันอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง

           ขั้นตอนที่ 5 มีกระบวนการ/กลไกการติดตามตรวจสอบโดยภาคประชาชน

            สำหรับการดำเนินการในขั้นตอนที่ 3 – 5 จะได้รับการซักถามจากส่วนราชการ เป็นอย่างยิ่ง โดยในขั้นตอนที่ 3 ส่วนราชการต้องการทราบว่า การนำความคิดเห็น ของประชาชนไปประกอบการบริหารงานนั้นทำอย่างไร และต้องมีคำสั่งแต่งตั้ง คณะทำงาน หรือมีเจ้าหน้าที่ประจำในงานนั้น ๆ หรือไม่ ซึ่งในการดำเนินงานสามารถ กระทำได้โดย จัดให้มีเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเป็นการเฉพาะดำเนินการรวบรวม ข้อคิดเห็นของผู้รับบริการหรือประชาชนที่ได้จากช่องทางต่าง ๆ ที่ได้รับจากขั้นตอนที่ 2 โดยหน่วยงานอาจมอบหมายเจ้าหน้าที่ตอบข้อคิดเห็น ข้อซักถาม หรือชี้แจง ข้อสงสัย โดยผ่านทางเว็บไซต์ จดหมาย หรือทางโทรศัพท์

            ส่วนขั้นตอนที่ 4 นั้น สามารถดำเนินงานในรูปแบบของคณะกรรมการที่ปรึกษา (Advisory board)ที่มาจากภาคประชาชน ทั้งที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ ซึ่งคณะกรรมการที่มีความรู้ความสามารถจากทุกภาคส่วนจะร่วม การประชุมสัมมนาวิชาการ หรือร่วมเสวนาระดมความเห็นรวมทั้งกำหนดให้นำผล จากการประชุม การสัมมนา กิจกรรมแสดงความคิดเห็นมาประกอบการวางแผน หรือตัดสินใจในการกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์ การบริหารจัดการด้านต่างๆ

          ในขั้นตอนที่ 5 ส่วนราชการจะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีบทบาทหน้าที่ใน การตรวจสอบติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานของส่วนราชการ สนองตอบ เจตนารมณ์ ของการบริหารราชการ ระบบเปิดที่จะต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้

การจัดตั้งศูนย์บริการร่วม
 

            การบริการร่วม หมายถึง การเชื่อมโยงและนำกระบวนการที่หลากหลาย จากส่วนราชการ ต่างๆ ในสังกัดกระทรวงหรือระดับจังหวัดมาไว้ ณ สถานที่เดียวกัน เพื่อให้ประชาชนหรือผู้รับบริการอื่นๆ สามารถรับบริการจากภาครัฐได้อย่างสะดวก และรวดเร็ว ณ จุดเดียว ตัวอย่างของ การบริการร่วมที่มีการดำเนินการในปัจจุบัน ได้แก่ การบริการร่วมแบบเบ็ดเสร็จจุดเดียว การบริการร่วมแบบเคาน์เตอร์ บริการประชาชน (Government Counter Service : GCS) และการบริการแบบ e-Service เป็นต้น ส่วนผู้รับบริการ หมายถึง ประชาชนผู้รับบริการโดยตรงหรือหน่วยงานภาคเอกชน ที่มารับบริการจากส่วนราชการ และยังรวมถึงผู้รับบริการที่มาจากส่วนราชการด้วยกัน

 
        
การนำศูนย์บริการร่วมมาดำเนินการได้อย่างประสบความสำเร็จนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกรอบแนวคิดของการดำเนินงาน จากแบบราชการดั้งเดิมไปสู่ราชการแนวใหม่ โดยการเน้นการดำเนินนโยบายเชิงรุกที่ยึด ความต้องการของประชาชนเป็นสำคัญ

         ศูนย์บริการร่วม เป็นตัวชี้วัดใหม่ ตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ ประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2549 โดยเป็นเรื่องของ “ระดับความสำเร็จของการดำเนินการจัดตั้ง ศูนย์บริการร่วม” ซึ่งการดำเนินงาน เพื่อบรรลุตัวชี้วัดระดับความสำเร็จของ การดำเนินการจัดตั้งศูนย์บริการร่วม จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ 5 ระดับ คือ ขั้นตอนที่หนึ่ง สำรวจงานบริการทั้งหมดเพื่อคัดเลือกงานบริการสำหรับการจัดทำแผน การจัดตั้งศูนย์บริการร่วม โดยสำรวจความต้องการของประชาชนผู้ใช้บริการ / หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าต้องการให้มีงานบริการใดอยู่รวมกันเพื่อให้บริการ ณ ศูนย์บริการร่วม ขั้นตอนที่สอง จัดทำแผนการจัดตั้งศูนย์บริการร่วมให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2549 ขั้นตอนที่ 3 มีความคืบหน้าในการดำเนินการจัดตั้งศูนย์บริการร่วม ตามแผนและขั้นตอนที่กำหนดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ขั้นตอนที่ 4 มีการดำเนินการเพื่อให้เป็นศูนย์บริการร่วม อย่างน้อย 1 แห่ง สามารถเปิดดำเนินการได้ ภายในปีงบประมาณ 2549 และขั้นตอนที่ 5 จัดทำรายงานการประเมินผลความสำเร็จ ของการดำเนินการตามแผน และผลสำเร็จ โดยรวมของการดำเนินงานของศูนย์ฯ พร้อมทั้งรายงานข้อมูลที่ได้รับจากประชาชน ผู้ใช้บริการ / หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

         ทั้งนี้ ในประเด็นการสนทนา ส่วนราชการ ได้ซักถามว่า หากส่วนราชการใดมีการจัดตั้งศูนย์บริการร่วมไว้แล้ว แต่การดำเนินงาน ไม่สอดคล้องกับตัวชี้วัด ซึ่งได้กำหนดไว้เป็นการขยายศูนย์บริการร่วม ส่วนราชการควร ดำเนินการอย่างไร

         ในส่วนนี้ ส่วนราชการจะต้องย้อนกลับไป พิจารณาตั้งแต่ขั้นตอนที่หนึ่ง คือ การสำรวจงาน บริการ ซึ่งประกอบด้วยการสำรวจจากหน่วยงาน ให้บริการ และสำรวจจากประชาชน โดยเฉพาะการสำรวจจากประชาชน ส่วนราชการควรพิจารณา จากการให้บริการว่าครอบคลุมทั้ง 3 ประเภท หรือไม่ ทั้งการให้บริการข้อมูล-ข่าวสาร ซึ่งไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 การให้บริการรับเรื่อง-ส่งเรื่อง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และการให้บริการเบ็ดเสร็จ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 นอกจากนี้ ส่วนราชการ สามารถวัดผลการดำเนินงานศูนย์บริการร่วมได้ โดยวัดจากความพึงพอใจของประชาชนที่ได้รับจากการบริการ ทั้งนี้ การสำรวจดังกล่าวจะทำให้ ทราบว่ามีงานใดบ้างที่ควรนำมาให้บริการ ณ ศูนย์บริการร่วม

แผนผังเชิงยุทธศาสตร์และการวัดผลแบบสมดุล ( Strategy Map & Balanced Scorecard)
 

            ส่วนราชการหลายแห่งไม่เข้าใจวิธีการทำ Strategy Map และการเชื่อมโยง
กับ Balanced Scorecard

            แผนผังเชิงยุทธศาสตร์ เป็นเครื่องมือในการสื่อสารและถ่ายทอดกลยุทธ์ ขององค์กร ไปสู่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ทำให้ผู้ปฏิบัติงานทราบถึงความสำเร็จที่องค์กร ต้องการจะบรรลุ การกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญๆ วิธีการประเมินผล ในสิ่งที่มี ความสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กร เป้าหมายการดำเนินงานทำให้ผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานทราบบทบาท และมีความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมาย ที่กำหนดไว้ และเพื่อให้การประเมินผลมีความต่อเนื่องและเป็นรูปธรรมองค์กรจึงควรมี การติดตามและประเมินผลงานตนเอง (Self-Assessment) อย่างสม่ำเสมอ เพื่อการปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่อง

            สำหรับการจัดทำ แผนผังเชิงยุทธศาสตร์ (Strategy Map) นั้น จะอยู่ในช่วงของ การวางแผนหรือวางยุทธศาสตร์ โดยการหาความเชื่อมโยง ของยุทธศาสตร์ในเชิงเหตุและผล เพื่อนำยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติให้ประสบ ผลสำเร็จ โดยการตอบคำถามสำคัญ 4 ข้อ คือ
            1. Where are we now? (SWOT)
            2. Where do we want to be? (Vision)
            3. How do we get there? (Strategy Formulation)
            4. What do we have to do or change in order to get there? (Strategy Implementation)



            ทั้งนี้ ในการพิจารณาความเชื่อมโยงของยุทธศาสตร์ เพื่อถ่ายทอดออกมาเป็น แผนผังเชิงยุทธศาสตร์นั้น ได้นำเรื่องของ Balanced Scorecard มาเป็นกรอบใน การพิจารณา ซึ่งหลักการของ Balance Scorecard นั้น เป็นกรอบที่ใช้ใน การประเมินผลองค์กร ทำให้เรามองภาพของการประเมินผลองค์กรได้อย่างครบถ้วน และเป็นเครื่องมือในการสร้างความสมดุลระหว่าง มิติต่าง ๆ ความสมดุลระหว่าง มุมมองภายใน และภายนอกองค์กร ความสมดุลระหว่างมุมมองระยะยาวและระยะสั้น รวมทั้งความสมดุลระหว่างวัตถุประสงค์และตัวชี้วัดที่เป็นเหตุและผล

            และเมื่อนำ Balanced Scorecard มาปรับใช้กับการปฏิบัติราชการแล้ว
ทำให้เราได้ กรอบการประเมินผลการปฏิบัติราชการใน 4 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 : มิติด้านประสิทธิผลตามพันธกิจ มิติที่ 2 : มิติด้านคุณภาพการให้บริการ  มิติที่ 3 : มิติด้านประสิทธิภาพของการปฏิบัติราชการ  
มิติที่ 4 : มิติด้านการพัฒนาองค์กร

            โดยมิติที่ 1 และ 2 นั้น เป็นการประเมินผลความสำเร็จจากภายนอกองค์กร ส่วนมิติที่ 3 และ 4 เป็นการประเมินผลภายในองค์กร ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิด ผลสัมฤทธิ์ในมิติที่ 1 และ 2

ตัวชี้วัดในระดับบุคคล (Individual Scorecard)
 

            การจัดทำตัวชี้วัดระดับบุคคล หรือ Individual Scorecard เป็นหนึ่งใน ตัวชี้วัดตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 โดยเมื่อปี 2548 ได้มีการจัดทำโครงการต้นแบบเพื่อศึกษาในเรื่องดังกล่าวที่จังหวัดปทุมธานีและกลุ่ม ภารกิจด้านพัฒนาประพฤตินิสัย กระทรวงยุติธรรมเพื่อหาตัวแบบในการถ่ายทอดตัวชี้วัด จากระดับหน่วยงานลงไปยังระดับสำนัก/กองและถ่ายทอดถึงตัวชี้วัดระดับบุคคล ทั้งในระดับจังหวัด และระดับกรม

                                 

         อย่างไรก็ตามการประเมินผลตัวชี้วัดเรื่องตัวชี้วัดระดับบุคคล ตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 จะยังไม่เต็มรูปแบบ หรือลงลึก ไปถึงการกำหนดตัวชี้วัดระดับบุคคลของเจ้าหน้าที่ทุกคนในหน่วยงาน แต่จะให้้กำหนดเพียงแค่ตัวชี้วัด ระดับผู้อำนวยการสำนัก/กอง โดยในเกณฑ์ตามตัวชี้วัดดังกล่าว จะกำหนดว่าหน่วยงานต่างๆต้องทำอะไรบ้าง มีกรอบของตัวชี้วัด วิธีการดำเนินการและแนวทางในการนำตัวชี้วัดระดับผู้อำนวยการ สำนัก/กอง ไปใช้ในการจัดสรรสิ่งจูงใจ

         ในการกำหนดตัวชี้วัดระดับบุคคลจะมองที่ภาพรวมขององค์กรในลักษณะ top-down โดยพิจารณาจากแผนยุทธศาสตร์ขององค์กรเป็นหลักประกอบ กับหน้าที่ความรับผิดชอบของสำนัก/กองด้วย


            นอกจากนี้ ในการกำหนดตัวชี้วัดระดับบุคคล นอกจากพิจารณาจากแผนยุทธศาสตร์ ขององค์กร ประกอบกับหน้าที่ความรับผิดชอบของสำนัก/กองแล้ว ยังจะต้องคิดในเชิงของ ความเชื่อมโยงด้วย เริ่มตั้งแต่การกำหนดเป้าประสงค์และตัวชี้วัดขององค์กรที่เชื่อมโยงกัน เป็น Mapping จากนั้นก็พิจารณาว่าแต่ละสำนัก/กองจะเข้าไปมีบทบาทสนับสนุนในเป้าประสงค์ใด เพื่อเป็นการยืนยันว่าแต่ละสำนัก/กองมีส่วนร่วมในความสำเร็จตามเป้าประสงค์ขององค์กร ที่ตรงไหนบ้าง

ความคิดเห็น

             หลังจากที่เราทราบภาพรวมของการให้คำปรึกษาแล้ว เราลองมาฟังความคิดเห็น ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในหน่วยงานต่าง ๆ กันบ้างนะคะว่าเขามีความรู้สึกอย่างไร ต่อการให้คำปรึกษาครั้งนี้

คุณพรพงศ์ กนิษฐานนท์ เลขานุการกรม สำนักงานปลัดกระทรวงการต่างประเทศ

             เป็นท่านหนึ่งที่ให้ความสนใจซักถามวิทยากร โดยเฉพาะ เรื่อง Blueprint for Change ซึ่ง คุณพรพงษ์กล่าวว่า
            “โดยความเห็นส่วนตัวแล้วคิดว่า การขาดแคลน งบประมาณเป็นเรื่องที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการตาม Blueprint for Change ได้ เพราะเนื้องานของ กระทรวงการต่างประเทศแตกต่างกับกระทรวงอื่น และ การเอาบางโครงการไปรวมกับอีกโครงการหนึ่ง นับว่า เป็นเรื่องที่ยากมากถ้าหากจะเปลี่ยนแปลงได้ก็คงทำได้ ในแง่ Competency ของข้าราชการซึ่งในส่วนนี้ ข้าราชการของกระทรวงการต่างประเทศมี Competency สูงแล้วอย่างก็ตามตนเองจะนำเสนอแนะของวิทยากร ของวิทยากรไปพิจารณาว่ามีช่องให้สอดคล้องกับภารกิจ ของกระทรวงการต่างประเทศอย่างไรบ้าง"

คุณเนตรชนก เกษรโรจน์ นักวิชาการเงินและบัญชี 6 (ซ้าย) และ
คุณอมรรัตน์ นิลวงศ์ นักวิชาการเงินและบัญชี 7 (ขวา) กระทรวงการต่างประเทศ

             ผู้รับผิดชอบและเป็นคณะทำงานตัวชี้วัด เรื่อง การบริหารความเสี่ยง ซึ่งเป็นตัวชี้วัด เลือกของกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งสองท่านได้แสดง ความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดคลินิกสัญจรว่า

             “การจัดคลินิกสัญจรของสำนักงาน ก.พ.ร. ในครั้งนี้ นับเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าหากเป็นไปได้ขอให้ สำนักงาน ก.พ.ร. จัดกิจกรรมให้เร็วขึ้นก่อนที่หน่วยงาน จะเริ่มดำเนินการ โดยในส่วนความรับผิดชอบของตนเอง คือ การบริหารความเสี่ยง ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องใหม่ และตนเองยังไม่ค่อยเข้าใจมากนัก อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนนี้ ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อดำเนินการเรื่องดังกล่าวแล้ว ถ้าหากคิดตามระดับ คะแนน Mile Stone ก็ไม่แน่ใจว่าได้คะแนนแล้วหรือยัง

  นอกจากนี้ อยากแจ้งให้สำนักงาน ก.พ.ร.ทราบถึงปัญหา ของส่วนราชการ คือการดำเนินงาน
  ในเชิงยุทธศาสตร์นั้น พบว่า หลายครั้งที่คนทำไม่ได้คิด...คนคิดไม่ได้ทำตรงจุดนี้ อยากให้   สำนักงานก.พ.ร.ส่งเสริมหรือสนับสนุนให้ส่วนราชการต่างๆ จัดฝึกอบรมเรื่องการบริหารจัดการ   ภาครัฐภายในส่วนราชการเองเพื่อที่จะให้ข้าราชการทุกคนมีความรู้ความเข้าใจที่เหมือนกัน   และเป็นการแก้ไขปัญหา ที่ถูกต้อง”

คุณสุดาพร ปานกลิ่น เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน สำนักงานเขตพื้นที่ การศึกษานครปฐม เขต 1 กระทรวงศึกษาธิการ

          ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดคลินิกสัญจรว่า
“หลังจากที่เข้ารับการให้คำปรึกษาจาก  สำนักงาน ก.พ.ร. ในวันนี้แล้ว ตนเองเข้าใจและยอมรับประโยชน์ของการจัด ทำ Blueprint for Change มากขึ้น โดยเฉพาะการบริหาร จัดการที่มุ่งเน้นผลผลิต มีการปรับเปลี่ยนแนวคิด กระบวนการทำงาน ซึ่งถ้าพิจารณาให้ดีแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การที่หลายคนวิตกเพราะยึดติดกับการปฏิบัติแบบเดิม ที่เคยชินมากกว่าซึ่งในเรื่องนี้ตนเองคิดว่าผู้บริหารจะต้อง เป็นแบบอย่างในการเปลี่ยนแปลงให้แก่ข้าราชการ โดยในส่วนของสำนักงานเขตพื้นที่ต้องย้อนกลับมาดูตนเอง ให้มากขึ้นว่าเราสอนผู้อื่นให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลง แต่ตัวเราเองมีความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวมากน้อยเพียงไร

สำหรับในกรณีที่บางส่วนราชการในสังกัดกระทรวงศึกษา จัดทำข้อเสนอการเปลี่ยนแปลง ที่มุ่งเน้นแต่เทคโนโลยีนั้น ตนเองคิดว่าบางโครงการก็ไม่มีความจำเป็น เนื่องจาก เทคโนโลยีไม่ใช่คำตอบเดียวของการจัดทำ Blueprint for Change

 นอกจากนี้ อยากฝากถึงเพื่อนข้าราชการว่าสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของผู้ที่ทำงาน ในแวดวงการศึกษาที่จะละเลยไม่ได้ คือการทำงานด้วยอุดมการณ์ มีหลักการ ในการทำงาน และประการสำคัญคือคุณธรรม จริยธรรม”

  คุณจิชุกร รัศมีธัญ นักสถิติเศรษฐสังคม 6ว (ซ้าย)
  และคุณจุฑารัตน์ หงษ์จันทร์ภู นักวิชาการคอมพิวเตอร์ 7วช (ขวา)   สำนักงานสถิติแห่งชาติ

            ผู้รับผิดชอบเรื่องการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม กล่าวว่า “ก่อนเข้ารับการให้คำปรึกษายังขาดความรู้ ความเข้าใจ เรื่องช่องทางการเปิดโอกาสให้ประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในแต่ละระดับซึ่งในบางเรื่องหน่วยงาน ของตนได้ทำไปแล้วแต่ไม่ทราบว่าการดำเนินงาน ดังกล่าวเป็นการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม และก็ไม่ทราบว่าอยู่ในระดับใดของ Mile Stone เช่น การจัดทำแผ่นพับ การเผยแพร่ ข้อมูล ทางอินเทอร์เน็ต การจัดนิทรรศการการจัดเวทีเสวนา ซึ่งตอนนี้ก็เข้าใจมากขึ้นและคิดว่าจะนำความรู้ที่ได้ ไปใช้ในองค์กรโดยเฉพาะการเพิ่ม ช่องทางให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น”

            เป็นอย่างไรบ้างคะสำหรับบรรยากาศการจัดคลินิกสัญจรที่นำมาฝากกันในครั้งนี้ หากสำนักงาน ก.พ.ร. มีกิจกรรมดีๆ แบบนี้อีก เราจะเกาะติดสถานการณ์ และนำมารายงานให้ทราบกันอีกค่ะ