ปีใหม่แล้วนะค่ะ e-newsletter
ฉบับต้อนรับปี 2006 เรายังคง
คัดสรรความรู้ และสาระจาก
กิจกรรมต่าง ๆ ที่สำนักงาน
ก.พ.ร. จัดทำขึ้นเช่นเคย ไม่ว่า
งานการประชุมเชิงปฏิบัติการ
ผู้บริหารการเปลี่ยนแปลง (CCO) และงาน Innovative Forum
2005 รวมถึง พิธีมอบรางวัล
คุณภาพการให้ับริการประชาชน
พิเศษสุดด้วย  สารปีใหม่จาก
เลขาธิการ ก.พ.ร. มาอยู่ใน
หน้าจอทุกท่านแล้วค่ะ ...


เวทีนวัตกรรม 2548 (Part II) :

การสร้างเครือข่ายและพันธมิตร
ในการปฏิบัติงาน
เพื่อความสำเร็จของหน่วยงานภาครัฐ

       
        การสัมมนาดังกล่าวยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่นำมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในครั้งนี้ นั่นก็คือเรื่อง
การสร้างเครือข่ายและพันธมิตรในการปฏิบัติงานเพื่อความสำเร็จของหน่วยงานภาครัฐ (Governing By Network : The New Shape of the Public Sector) ซึ่งบรรยายโดย Mr.William D. Eggers ซึ่งเป็น Global Director ของ Deloitte Research และมีประสบการณ์มากมายในการทำวิจัยเกี่ยวกับภาวะผู้นำสำหรัับการบริหารงานภาครัฐ อีกทั้งยังได้รับ การยอมรับในสหรัฐอเมริกาว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิรูปภาครัฐด้วย และในวันนี้เราก็มีบทสรุป บางส่วนของการบรรยายของ Mr.Eggers มานำเสนอกันค่ะ


การสร้างเครือข่ายและพันธมิตรในการปฏิบัติงานเพื่อความสำเร็จของหน่วยงาน
ภาครัฐ (Governing By Network : The New Shape of the Public Sector)

         
                                                            

                                                                     การบรรยายครั้งนี้  ได้รับเกียรติจาก  
คุณจักรภพ   เพ็ญแข   รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดำเนินรายการ

คุณจักรภพ เพ็ญแข เกริ่นนำว่า Mr.Eggers จะนำแนวความคิดเรื่องการสร้างเครือข่าย มาผสมผสานกับตัวอย่างใหม่ ๆ ที่ได้จากการวิจัยในประเทศที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง Mr.Eggers สนใจในเรื่องของการพัฒนาเอเชียเปรียบเทียบและผสมผสานกับความเป็นตะวันตก โดยหัวข้อเรื่องในการบรรยายนั้น เป็นไปตามชื่อหนังสือที่ Mr.Eggers ได้ร่วมกับ Mr.Stephen Goldsmith เขียนขึ้น นั่นคือ Governing By Network : The New Shape of the Public Sector ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับการสร้างเครือข่ายและพันธมิตร โดยจะกล่าวถึงวิธีการที่ผู้บริหาร ในระบบของรัฐจะสามารถได้ประโยชน์ จากการทำความรู้จักแบบสร้างระบบเครือข่ายกับผู้ที่จะ เป็นทรัพยากรในการบริหารงาน

 
จากนั้น Mr.Eggers ได้บรรยายในหัวข้อ การสร้างเครือข่ายและพันธมิตรในการปฏิบัติงาน เพื่อความสำเร็จของหน่วยงานภาครัฐ หรือ Governing By Network : The New Shape of the Public Sector โดยได้กล่าวในช่วงเริ่มต้นของการบรรยายว่า หลังจากที่ได้ดูเรื่องการปฏิรูป ของประเทศไทยและแผนกลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงระบบพัฒนาบุคลากร และทำให้การแข่งขันดีขึ้น แล้วตนรู้สึกทึ่ง ซึ่งหลาย ๆ ด้านนั้นเท่าเทียมกับสิ่งที่รัฐบาลที่ดีที่สุดในโลกกำลังทำอยู่ จึงขอชมเชยรัฐบาลที่ดำเนินนโยบายตามทิศทางนี้ ซึ่งเชื่อว่าอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้อง

 
อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปภาครัฐนั้น มีความท้าทายในเรื่องของ การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับภาคส่วนอื่น ๆ ทั้งภาคเอกชน องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ฯลฯ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การปฏิรูป ภาครัฐประสบความสำเร็จ ดังนั้น จึงต้องมีการจัดการและ การบริหารเครือข่ายที่ซับซ้อนดังกล่าว

               


ทั้งนี้ รูปแบบการบริหารงานภาครัฐที่เป็นลำดับชั้น แบ่งเป็นส่วน ๆ ไม่เกี่ยวข้องกันเพื่อส่งมอบการบริหาร ให้กับประชาชนนั้น กำลังจะหมดไป แต่กำลังจะเปลี่ยนไปเป็นการมุ่งเน้นไปที่พลเมืองเป็นหัวใจสำคัญ โดยภาครัฐจะเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันกับเครือข่ายองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งมอบ การ บริการให้กับประชาชน และตอบสนองความต้องการของประชาชน

แนวโน้มที่ทำให้เกิดการบริหารจัดการภาครัฐโดยอาศัยเครือข่าย
ประกอบด้วย

1. ความนิยมในการจ้างเหมา (Outsourcing)
           เพื่อให้ภาคเอกชนหรือองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เข้ามาดำเนินการในเรื่องที่มีความชำนาญ มากกว่าภาครัฐเพื่อให้บริการแก่สาธารณะและดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล

2. การร่วมกันของหน่วยงานต่าง ๆ ภาครัฐเพื่อให้บริการประชาชน
           เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ในการได้รับบริการต่าง ๆ โดยการร่วมมือกัน ของหน่วยงานภาครัฐเพื่อส่งมอบงานบริการให้กับประชาชน ณ จุดบริการเดียว โดยที่ประชาชนไม่ต้อง ไปติดต่อหลาย ๆ หน่วยงาน

3. เทคโนโลยีต่าง ๆ
           การมีเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น Internet ได้ช่วยให้การติดต่อสื่อสารและการทำงานประสานกัน ระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งการส่งมอบงานบริการให้กับประชาชน มีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น เป็นการลดขั้นตอน การทำงาน และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทำงานได้

4. ความต้องการของผู้บริโภค

           เนื่องจากผู้บริโภคต้องการทางเลือกและความเป็นส่วนตัว มากขึ้น รวมทั้งความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นจากการได้รับบริการของ ภาครัฐ ทำให้รัฐบาลจะต้องสามารถตอบสนองความต้องการของ ประชาชน และทำให้ประชาชนเกิดความพึงพอใจให้ได้

ทั้งนี้ ในการมุ่งสู่การทำงานที่มีประสิทธิผลสูง                จะต้องมีแนวคิดในเรื่องคุณค่าของสาธารณะ
เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย หน่วยงานภาครัฐต้องปรับเปลี่ยนความคิด        โดยมุ่งเน้นการจัดการให้ระบบงาน
ภาครัฐดีขึ้น และการสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นสูงสุดด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ ซึ่งวิธีการหนึ่งก็คือการร่วมมือ เป็นเครือข่ายกับหน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐและภาคเอกชน                              
  
คุณลักษณะเด่นของการบริหารจัดการภาครัฐโดยอาศัยเครือข่าย

1. ความรวดเร็วและความยืดหยุ่น (Speed and flexibility)

        ระบบบริหารจัดการภาครัฐโดยอาศัยเครือข่ายจะมีความยืดหยุ่นคล่องตัวกว่าระบบ การบริหาร แบบลำดับชั้น นอกจากนี้ ระบบเครือข่ายยังจะให้ทางเลือกในการปฏิบัติงานที่หลากหลายกว่า และสมาชิกในเครือข่ายมีอิสระในการตัดสินใจ ทำให้การตัดสินใจมีความรวดเร็ว สามารถตอบสนองต่อ ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว

2. การเพิ่มการเข้าถึง (Increased reach)
        ระบบบริหารจัดการภาครัฐโดยอาศัยเครือข่ายจะสามารถเพิ่มการเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น โดยการดึงหน่วยงานอื่น ๆ เข้ามาเพื่อช่วยหน่วยงานของรัฐในการเข้าถึงประชาชน เช่น NGOs ซึ่งสามารถถึงชุมชนได้ดีกว่าหน่วยงานของรัฐ

3. ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (Specialization)
        ระบบเครือข่ายจะทำให้เกิดประสิทธิผลในการดำเนินงาน ของหน่วยงานของรัฐ โดยการจ้างหน่วยงานเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาช่วยดำเนินการ เพื่อให้การดำเนินงานเกิดผลได้เร็วขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

4. นวัตกรรม (Innovation)
        ระบบเครือข่ายจะทำให้มีการนำนวัตกรรมเข้าช่วยในการปฏิบัติงาน ทำให้เกิดความหลากหลายของงานบริการ และประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นของการปฏิบัติงาน

 
สิ่งที่ต้องทำเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการภาครัฐโดยอาศัยเครือข่าย
 
1. การออกแบบเครือข่าย
         การออกแบบเครือข่ายนั้น จะชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จหรือความล้มเหลวได้ โดยเริ่มจากการพิจารณาว่าเครื่องมือที่ทำให้เกิดเครือข่ายคืออะไร เช่น เงิน การทำสัญญา การให้ทุน แต่บางครั้งเงินก็ไม่ใช่เครื่องมือที่ดีที่สุดเท่านั้น แต่ยังมีวิธีการหรือเครื่องมืออื่น ๆ ที่มีประโยชน์เช่นกัน เช่น สมรรถนะของบุคลากร เทคโนโลยี เป็นต้น

ประเภทของเครือข่าย
ที่พบในการวิจัย ยกตัวอย่างเช่น การทำสัญญาในการให้บริการ (Service Contract) ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เครือข่ายเฉพาะกิจ (Ad hoc) ตัวแทนการให้บริการ ( Channel Partnership) การเผยแพร่ข้อมูลสาธารณะ (Information Dissemination) ชุมสายในการเชื่อมโยงองค์กรต่าง ๆ (Civic Switchboard) เป็นต้น

         เนื่องจากเครือข่ายมีหลายประเภท ดังนั้น สิ่งที่ต้องตัดสินใจก็คือ การเลือกเครือข่าย เพื่อให้เกิดผลที่ดีที่สุดในแต่ละสถานการณ์

2. การบูรณาการและเชื่อมโยงเครือข่าย
         นอกจากการออกแบบเครือข่าย และการเลือกรูปแบบเครือข่ายที่เหมาะสมที่สุดแล้ว ยังจะต้องพิจารณาด้วยว่า ใครจะเป็นผู้ทำหน้าที่บูรณาการ หรือเชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยจะต้องนึกถึงทักษะและความช่วยเหลือที่จะทำให้ การบูรณาการเครือข่ายนั้น ประสบความสำเร็จด้วย

ในการพิจารณาว่าใครควรจะเป็นผู้ทำหน้าที่บูรณาการ หรือเชื่อมโยงเครือข่ายต่าง ๆ เข้าด้วยกันนั้น สามารถพิจารณาได้จาก 3 ทางเลือก คือ

          รัฐเป็นผู้ทำหน้าที่บูรณาการเอง และทำงานประจำวันของเครือข่ายในองค์กร

          รัฐสามารถมอบหมายงานทั้งหมดให้แก่ผู้รับจ้างเหมาหลัก

          รัฐจ้างเหมาบุคคลที่ 3 หลาย ๆ สัญญา ให้เป็นผู้ประสานงานเครือข่าย

        
ทั้งนี้ เทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยในการบูรณาการ เชื่อมโยงเครือข่าย และการร่วมมือกัน ทั้งในแบบธรรมดา และแบบซับซ้อน


3. การสร้างความรับผิดชอบ เพื่อก่อให้เกิดผลลัพธ์

         เรื่องความรับผิดชอบนั้นเป็นความท้าทายและเป็นประเด็นสำคัญ เมื่อมีหลายหน่วยงาน เข้ามาเกี่ยวข้องในการทำงานยกตัวอย่างเช่นเมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ต่อความผิดพลาดดังกล่าว เมื่ออำนาจและความรับผิดชอบนั้นกระจายอยู่ทั่ว เครือข่ายซึ่ง การสร้างความรับผิดชอบนั้นจะต้องมองที่ผลลัพธ์ และต้องให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียมากที่สุด เข้ามาร่วมกันรับผิดชอบ

                                          

 
        
เริ่มจากมีการสร้างแรงจูงใจผู้ร่วมเครือข่ายมีความสนใจ และมีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อที่จะกำหนดเป้าหมายและวางยุทธศาสตร์ร่วมกัน นอกจากนี้ยังจะต้องจัดการกับการเปลี่ยนแปลง ต่าง ๆ ด้วย เพราะแต่ละหน่วยงานจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในแต่ละปี ทั้งในเรื่องของโครงสร้าง และการทำงาน
 
         นอกจากนี้ ในการสร้างความรับผิดชอบนั้น ระบบการวัดผลการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ ก็เป็นสิ่งจำเป็น โดยจะต้องตัดสินใจเครื่องตัวบ่งชี้ที่จะวัดให้ชัดเจน รู้ว่าต้องการวัดอะไร รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็น Real-time อย่างต่อเนื่อง และมีการวัด feedback ของลูกค้า      

         
การสร้างความไว้วางใจก็เป็นอีกประการหนึ่งที่ทำให้เกิดความรับผิดชอบ เพราะหากขาด ความไว้วางใจแล้ว สมาชิกในเครือข่ายก็จะไม่เต็มที่จะแลกเปลี่ยนความรู้ และการร่วมมือกันทำงาน และนอกจากการสร้างความไว้วางใจแล้ว การแบ่งปันความเสี่ยงก็ทำให้เครือข่าย ๆ เกิดความรับผิดชอบ ในการทำงานด้วยเช่นกัน

4. ทุนมนุษย์ : การสร้างสมรรถนะที่ก่อให้เกิดการบริหารจัดการภาครัฐโดยอาศัยเครือข่าย

        ในการบริหารจัดการภาครัฐโดยอาศัยเครือข่ายนั้น ต้องอาศัยทุนมนุษย์ และการเปลี่ยนผ่าน ของวัฒนธรรม ซึ่งทุนมนุษย์หรือผู้ที่เป็นผู้จัดการเครือข่ายนั้น จะต้องมีความรู้ความสามารถ และศักยภาพในเรื่องต่าง ๆ เช่น การวางแผน การเจรจาต่อรอง การจัดทำงบประมาณ การจัดการสัญญา การประเมินความเสี่ยง เป็นต้น
 
       
นอกจากนี้ ยังจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับงานที่กำลังทำ สภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ องค์กรกอบต่าง ๆ และที่ผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งความสามารถในการจัดการความสัมพันธ์ การจัดการกลยุทธ์ให้มีความยืดหยุ่น ในสภาพแวดล้อมที่เป็นพลวัตร เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีความเชื่อมโยงกับหลายหน่วยงาน หลายบุคคล อีกทั้งยังต้องเข้าใจความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และกระตุ้นให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียช่วยส่งเสริม ให้ภารกิจบรรลุเป้าหมาย
                                       
        ในการสร้างความรู้ความสามารถดังกล่าวต้องอาศัยการพัฒนาทักษะ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรด้วย ซึ่งเราต้องตระหนักว่า การบริหารงานจะประสบความสำเร็จได้ ต้องมีการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรม มีแผนกลยุทธ์ และเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการทำงานให้มีลักษณะเป็นเครือข่ายความร่วมมือกัน และการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ

             
                                                                                                                 
                                       
                      เลขาธิการ ก.พ.ร. มอบของที่ระลึกพร้อมถ่ายภาพร่วมกับวิทยากรทั้ง 2 ท่าน