ปีใหม่แล้วนะค่ะ e-newsletter
ฉบับต้อนรับปี 2006 เรายังคง
คัดสรรความรู้ และสาระจาก
กิจกรรมต่าง ๆ ที่สำนักงาน
ก.พ.ร. จัดทำขึ้นเช่นเคย ไม่ว่า
งานการประชุมเชิงปฏิบัติการ
ผู้บริหารการเปลี่ยนแปลง (CCO) และงาน Innovative Forum
2005 รวมถึง พิธีมอบรางวัล
คุณภาพการให้ับริการประชาชน
พิเศษสุดด้วย  สารปีใหม่จาก
เลขาธิการ ก.พ.ร. มาอยู่ใน
หน้าจอทุกท่านแล้วค่ะ ...



การประชุมเชิงปฏิบัติการ

ผู้บริหารการเปลี่ยนแปลง

(Chief Change Officer : CCO)

               
           เมื่อวันที่ 26 - 27 พฤศจิกายน 2548 สำนักงาน ก.พ.ร. โดยภารกิจการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการได้จัด ประชุมสัมมนาระหว่างสำนักงาน ก.พ.ร. กับผู้รับผิดชอบหลักในการเป็นผู้บริหารการเปลี่ยนแปลง (Chief Change Officer : CCO) ในระดับกระทรวงและกรม ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ซิตี้ จอมเทียน จังหวัดชลบุรี เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการเป็นผู้บริหารการเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งกำหนดแนวทางความร่วมมือในการพัฒนาระบบราชการร่วมกัน

 ในการประชุมสัมมนาครั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม ได้ให้กรอบแนวทางเกี่ยวกับบทบาทของผู้บริหารการเปลี่ยนแปลงต่อการพัฒนาระบบราชการ พร้อมทั้งบรรยายเรื่อง “แนวทางการพัฒนาระบบราชการในขั้นตอนต่อไป” โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนิ้

       สิ่งที่ถือเป็นเรื่องใหญ่ในการปฏิรูประบบราชการ คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเจ้าหน้าที่ของรัฐในการให้บริการประชาชน หรือการตอบสนองความต้องการของประชาชน การเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน วิธีคิด และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคน จะต้องใช้ความรู้ทั้งวิชาพฤติกรรมศาสตร์ จิตวิทยา รัฐประศาสนศาสตร์ และเทคนิคการบริหารต่าง ๆ ทั้งนี้




ของดีในภาคเอกชนที่น่าจะนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารงานภาครัฐ คือ เรื่องการบริหารงาน
แบบ CEO
ซึ่ง CEO จะเป็นผู้ที่ดูแลรับผิดชอบทั้งหมด แต่ไม่ใช่ทำงานเองทั้งหมด ต้องมีผู้ช่วย เช่น CFO : Chief Finance Officer ช่วยด้านการเงิน การคลัง การบัญชี   CIO : Chief Information Officer ช่วยเรื่องข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ การจัดระบบ  หรือในองค์กรที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง ก็จะต้องมีผู้รับผิดชอบวางแผนการเปลี่ยนแปลง หรือผู้บริหารการเปลี่ยนแปลง คือ CCO : Chief Change Officer


                                                                           

      ผู้ที่เป็น CCO จะต้องทำหน้าที่ 3 อย่าง คือ ปฏิบัติ ปริยัติ ปฏิเวช หลักปฏิบัติ คือ ต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยเริ่มจากตัวเองก่อน หลักปริยัติ คือ ต้องปลุกระดมให้ผู้อื่นทำ โดยแนะนำ เสนอความคิดในการเปลี่ยนแปลงต่อ CEO หลักปฏิเวช คือ เป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานกับ ก.พ.ร.

           สำหรับก้าวต่อไปในการปฏิรูป หรือเปลี่ยนแปลงในงานภาครัฐ ในส่วนของการปรับโครงสร้างส่วนราชการจะยังไม่รีบเร่ง เพราะวุฒิสภาจะหมดวาระในปลายเดือนมีนาคม 2549 จึงไม่ต้องการให้เรื่องค้างอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภา ดังนั้น ในระหว่างนี้จะรับฟังความคิดเห็นจากทั้งภาคเอกชน และข้าราชการ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างส่วนราชการให้ดีที่สุดต่อไป การพิจารณาในภาพรวมใหญ่จะรอการเลือกตั้งวุฒิสภาชุดใหม่ แต่หากส่วนราชการใดต้องปรับโครงสร้างเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนก็จะพิจารณาเป็นการเฉพาะกิจ ไป เช่น ขณะนี้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งกรมการข้าวในกระทรวงเกษตรฯ เป็นต้น

                                        

 นอกจากนี้ อยากให้ CCO ช่วยคิดในเรื่องการนำแนวคิดเรื่อง หน่วยบริการพิเศษ หรือ Service Delivery Unit (SDU) มาใช้ในองค์กรของตน รวมทั้งเรื่องการนำหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ลดระยะเวลาและขั้นตอนการปฏิบัติงาน มีความโปร่งใส คุ้มค่า ให้บริการประชาชนอย่างดี และการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในหน่วยงานให้มากที่สุด เพื่ออำนวยความสะดวก ประหยัดเวลาแก่ผู้มาติดต่อขอรับบริการ


          ก้าวต่อไปของการปฏิรูประบบราชการนั้น เราจะทำสิ่งที่ทำแล้วแต่ยังทำได้ไม่ดีให้ดี
ีขึ้นเราจะทำสิ่งซึ่งควรจะทำแต่ยังไม่ได้ทำให้เกิดขึ้น เพราะการปฏิรูปคือการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น ระบบราชการก็ต้องการการปฏิรูปเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีขึ้น รวดเร็วขึ้น



     ด้านเลขาธิการ ก.พ.ร. ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ได้บรรยายในหัวข้อ “ผู้รับผิดชอบการบริหารการเปลี่ยนแปลง : กำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบราชการ” ซึ่งกล่าวถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลง การบริหารการเปลี่ยนแปลง และบทบาทของผู้รับผิดชอบผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ยังกล่าวถึง agenda ของการพัฒนาระบบราชการในปีต่อไป ที่ให้ความสำคัญต่อผู้บริหารระดับกลาง การสร้างเครือข่ายการพัฒนาระบบราชการ การผลักดันในเรื่องการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และการนำยุทธศาสตร์ไปปฏิบัติให้บังเกิดผล โดยการทำงานนั้น จะเป็นการทำสิ่งที่ริเริ่มไว้ที่ยังไม่เสร็จสิ้นต่อให้ครบถ้วนสมบูรณ์

                                    

               สุดท้าย สิ่งสำคัญที่จะสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คือ หน่วยงานจะต้องมีการทำงานเชิงยุทธศาสตร์ โดยจะต้องมีการวิเคราะห์กระบวนการเพื่อให้สอดรับกับการทำงานเชิงยุทธศาสตร์ บุคลากรในองค์กรต้องมีความยินดี มีการตอบรับที่ดีต่อการเปลี่ยนแปลงนั้น ให้ความสำคัญต่อผู้บริหารระดับกลางซึ่งจะเป็นตัวเชื่อมโยงลงไปสู่ผู้ปฏิบัติ มีการบริหารความรู้ในองค์กรเพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างทั่วถึงในองค์กร และจะต้องมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และ CCO ยังต้องการให้สำนักงาน ก.พ.ร. สนับสนุนในเรื่องต่าง ๆ เช่น การสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับยุทธศาสตร์

การให้คำปรึกษาแนะนำ และเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงกระบวนงานและโครงสร้าง การจัดทำคู่มือการพัฒนาระบบราชการ การมี call center หรือคลินิก ก.พ.ร.    เพื่อช่วยตอบปัญหาต่าง ๆ เป็นต้น

                                                               1785 สายด่วนสำนักงาน ก.พ.ร.