เรื่อง : วสุนธรา กิจประยูร |
นายกรัฐมนตรีประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในงานครบรอบ 72 ปี โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย |
เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ไปปาฐถาพิเศษในหัวข้อ ประเทศไทยกับเศรษฐกิจฐานข้อมูล ในงานกาล่าดินเนอร์ 72 ปี มงฟอร์ตร่วมต่อเติมอนาคตการศึกษาไทย เนื่องในโอกาสครบรอบ 72 ปีของโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย ณ หอประชุมกองทัพเรือ ซึ่งในการปาฐกถาของท่านนายกรัฐมนตรีนั้น มีหลายเรื่องที่น่าสนใจ ซึ่งวันนี้ e-Newsletter จะขอหยิบยกบางส่วนมานำเสนอกันค่ะ |
ในช่วงหนึ่งของการปาฐกถา ท่านนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงเรื่องเศรษฐกิจว่า ประเทศไทย หรือแม้แต่โลกทั้งใบนี้อยู่ในเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ เราก็ยังคงอยู่ในเศรษฐกิจแบบนี้ และในเศรษฐกิจทุนนิยมนั้น คำว่า ความน่าเชื่อถือและไว้วางใจ นับเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จ หรือที่เรียกว่า Trust and Confidence ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผู้ที่เราไปขอกู้มีความเชื่อถือในตัวเรา เขาก็จะยินยอมให้เรากู้ เป็นต้น ดังนั้น ความน่าเชื่อถือจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด หากเราไม่เชื่อถือพวกเรากันเอง ดูถูกประเทศไทย ดูถูกความน่าเชื่อถือหรือบรรยากาศเศรษฐกิจของประเทศไทย ก็เป็นเรื่องที่อันตราย เพราะแม้แต่เราเองยังไม่เชื่อ การจะให้คนอื่นมาเชื่อถือนั้นก็เป็นเรื่องยาก ทั้งนี้ ความเชื่อถือ ไม่ได้เป็นการโกหกหลอกลวง แต่เป็นการ นำความจริงทุกด้านออกมาเปิดเผย ทั้งข้อดีและข้อเสีย สิ่งสำคัญคือ ต้องมีความตรงไปตรงมา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องขยายสิ่งที่ไม่น่าเชื่อถือออกไปจนมากเกินไป จะต้องมีความเข้าใจว่าความน่าเชื่อถือนี้เป็นเรื่องสำคัญ |
พ.ต.ท.ทักษิณยังได้กล่าวถึงปัญหาเศรษฐกิจไม่ลื่นไหล ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่แพงขึ้นว่า สงผลให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องเติมเงินในกระเป๋าให้ประชาชน ท่านนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เหมือนทฤษฎีในการรักษาคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน คือ แทนที่จะควบคุมอาหารและให้อินซูลิน ซึ่งจะทำให้คนไข้ผอม และเสียชีวิตในที่สุด ก็เปลี่ยนมาเป็นการให้อาหาร แต่ควบคุมน้ำตาล และให้อินซูลิน ก็จะทำให้คนไข้อ้วนท้วนขึ้น ในที่สุดตับอ่อนจะฟื้นตัว และคนไขบางคนก็สามารถหายจากโรคเบาหวานได้ จากทฤษฎีดังกล่าว นำไปสู่ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยการลดรายจ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็นให้กับประชาชน แล้วจะเติมรายได้ให้ประชาชน เพราะหากไม่ลดรายจ่าย และเติมรายได้ให้อย่างเดียวก็ไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม รายจ่ายนั้นไม่สามารถลดได้ทั้งหมด แต่จะลดได้เท่าที่จำเป็น |
สำหรับบางส่วนของมาตรการที่จะเติมเงินในกระเป๋าของประชาชนนั้น มีดังนี้ 1. การเพิ่มเงินเดือนให้ข้าราชการ ข้าราชการไทยนั้น ได้รับการคาดหวังไว้มาก ว่าต้องทำงานหนัก ทำงานให้ได้ผล และทำงานด้วยความโปร่งใส แต่ได้รับเงินเดือนน้อย บางครั้งก็ไม่พอกับค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน ซึ่งบัญชีเงินเดือนของข้าราชการไม่เคยเพิ่มมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว จนกระทั่งได้มีการปรับเพิ่มเมื่อปี 2547 และแต่เดิมนั้น ตั้งใจว่า จะเพิ่มอีกครั้งประมาณเดือนกรกฎาคม 2549 แต่เมื่อมีเหตุการณ์น้ำมันแพงอย่างในปัจจุบันนี้ จึงต้องดำเนินการเร็วขึ้น โดยจะเพิ่มเงินเดือนให้กับข้าราชการอีก 5% ทุกระดับชั้น เริ่มตั้งแต่เดือนแรกของปีงบประมาณ 2549 นั่นคือวันที่ 1 ตุลาคม 2548 2. การเพิ่มเงินเดือนให้ข้าราชการบำนาญ เพราะส่วนใหญ่บางคนเกษียณมานานแล้ว บำนาญยังไม่ได้ปรับ โดยจะปรับให้อีก 5% เปอร์เซ็นต์ เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2548 เช่นกัน ซึ่งการดำเนินการใน 2 เรื่องนี้ใช้งบประมาณประมาณ 20,000 กว่าล้านบาท 3. การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้กับผู้ใช้แรงงาน โดยจะขอให้คณะกรรมการไตรภาคีเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้กับผู้ใช้แรงงาน ซึ่งจะเป็นการตกลงกันเองในไตรภาคี คือ นายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ โดยจะมีการตกลงกันเพื่อเพิ่มค่าแรงงานขั้นต่ำมีผลในวันที่ 1 สิงหาคม 2548 ซึ่งจะเพิ่ม 2 ระดับ คือ 1) แรงงานไร้ฝีมือ เป็นแรงงานขั้นต่ำ 2) รัฐบาลจะจูงใจให้ภาคเอกชนนำพนักงานลูกจ้างของเราไปฝึกงาน และพัฒนาให้เกิดความชำนาญขึ้น เช่น ฝึกภาษาอังกฤษในภาคการท่องเที่ยว เมื่อภาษาอังกฤษดีขึ้น ก็จ้างแพงขึ้นกว่าแรงงานขั้นต่ำ เรียกว่าเป็นการทำ Skill Improvement ทำให้เกิดการให้ค่าแรงสูงขึ้นได้ การฝึกอบรมที่นายจ้างจัด ให้นำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการลดหย่อนภาษีได้ 200% คือ 2 เท่า จากเดิมลดหย่อนได้เพียง 1.5 เท่า ทั้งนี้ เนื่องจากต้องการส่งเสริมให้ภาคเอกชนได้มีการลงทุนเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่คนไทย และไม่ต้องห่วงว่าจะไม่มีแรงงานพอใช้ เพราะแรงงานไร้ฝีมือนั้นหาได้ไม่ยากนัก ถ้าหากว่าเรามีแรงงานไร้ฝีมือจากต่างประเทศที่มาอยู่ในประเทศเราอยู่พอสมควรทีเดียว 4. การให้แรงจูงใจแก่ภาคธุรกิจเอกชนในการเพิ่มค่าเบี้ยยังชีพ หรือเงินเพิ่มค่าครองชีพ ให้แก่ลูกจ้าง/พนักงานที่เงินเดือนน้อย โดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกับข้าราชการ คือ ผู้ที่เงินเดือนไม่ถึง 10,000 บาท เพิ่ม 1,000 บาทจนถึง 10,000 บาท กรณีผู้ที่เงินเดือนน้อย หากเพิ่ม 1,000 บาทแล้วยังไม่ถึง 7,000 บาท ขอให้เพิ่มให้ถึง 7,000 บาท เงินส่วนที่เพิ่มนี้นำมาลดหย่อนได้ 150% จากเดิมลดหย่อนได้ 100% สรุปแล้วคือ ต้องการให้จ้างงานโดยมีอัตราขั้นต่ำสุด 7,000 บาท เงินเดือนๆ ละเท่าไรไม่ว่ากัน แต่ส่วนที่เพิ่มนั้นต้องเพิ่ม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ห้ามเปลี่ยนแปลงเงินเดือนเป็นเบี้ยยังชีพ 5. เบี้ยเลี้ยงค่ายังชีพคนชราผู้ยากไร้ ปัจจุบันมีผู้สูงอายุอยู่ประมาณ 6 ล้านคน โดยเป็นผู้ยากไร้ประมาณ 1,100,000 คน แต่ในขณะนี้ได้รับเบี้ยเลี้ยงค่ายังชีพคนชราผู้ยากไร้เพียงครึ่งเดียว คือ 500,000 กว่าคน โดยจะได้รับคนละ 300 บาทต่อเดือน ดังนั้น รัฐบาลจะจัดสรรให้อีก 500,000 กว่าคน เพื่อให้ครบทั้ง 1,100,000 คน 6. การเพิ่มเงินให้ผู้ที่ทำงานให้ภาครัฐ คือ อสม. หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านทั่วประเทศ ซึ่งได้รับเงินไปทำงานปีหนึ่ง 7,500 บาท ปีหน้าจะเพิ่มให้อีก 10,000 บาท สำหรับขณะนี้ เนื่องจากเหลืออีก 2 3 เดือนกว่าจะถึงเดือนตุลาคม รัฐบาลจะเพิ่มให้หมู่บ้านละ 2,500 บาท จากที่ได้ไปแล้ว 7,500 บาท รวมเป็น 10,000 บาท และตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2548เป็นต้นไป จะเพิ่มเป็น 10,000 บาทต่อปี ตามที่กล่าวไว้ 7. การจัดสรรเงินสนับสนุนการทำงานของแม่บ้านในพื้นที่ต่างๆ โดยจะมีการประสานกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อหาทางที่จะจัดเงินเพื่อสนับสนุนการทำกิจกรรมของแม่บ้านในหมู่บ้านต่าง ๆ เพราะกิจกรรมของแม่บ้านนั้น ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชุมชน และช่วยเพิ่มอาชีพให้กับชุมชนได้ 8. การจัดงบประมาณภาคประชาชน เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยได้มีการโอนงบประมาณให้กับประชาชน หมู่บ้านละเฉลี่ย 250,000 บาท รวมประมาณ 20,000 บ้านบาท เพื่อให้นำไปบริหารการแก้ปัญหา ของตัวเอง และนำไปสร้างรายได้ให้กับตัวเอง โดยไม่ผ่านระบบกลไกของราชการ หรือองค์กรใด ๆ แต่จะมอบตรงให้กับคณะกรรมการของชุมชน/หมู่บ้านนั้น ๆ ทันที 9. การเพิ่มราคาสินค้าเกษตร เพื่อให้รายได้ของเกษตรกรดีขึ้น เริ่มตั้งแต่ข้าว โดยในเดือนสิงหาคมนี้ นายกรัฐมนตรีได้เชิญรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องข้าวของประเทศผู้ผลิตข้าวทั้งหลาย มาหารือที่ประเทศไทย เพื่อที่จะดึงราคาข้าวขึ้น เช่นเดียวกับกรณีของน้ำมัน ที่จับมือกันดึงราคาขึ้นนอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังมีมาตรการส่งเสริมและผลักดันราคาสินค้าเกษตรอื่น ๆ อีก อาทิ กุ้ง ยางพารา ลำไย 10. การปล่อยเม็ดเงินออกสู่ระบบ ได้มีการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณซึ่งค้างอยู่ 300,000 กว่าล้านบาท พร้อมกับงบประมาณของรัฐวิสาหกิจอีกส่วนหนึ่ง ทั้งนี้แนวคิดในการบริหารงบประมาณในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปจากในอดีต โดยแต่ละโครงการได้รับงบประมาณจำนวนหนึ่ง หากดำเนินโครงการไปแล้ว ใช้งบประมาณไม่หมด หรือใช้ไม่ทันปี 2548 ก็ต้องส่งคืน เพื่อนำงบประมาณนั้นไปดำเนินโครงการอื่นเพื่อพัฒนาประเทศ และนำเม็ดเงินอัดฉีดสู่ระบบเศรษฐกิจ |
และนี่ก็คือบางส่วนของมาตรการที่รัฐบาลจะดำเนินการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวไว้ในการปาฐถาพิเศษในงานกาล่าดินเนอร์เนื่องในโอกาสครบรอบ 72 ปีของโรงเรียนมงฟอร์ต วิทยาลัย และได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีไปแล้วเมื่อวานนี้ สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดทั้งหมดของการปาฐกถาพิเศษในครั้งนี้ สามารถเข้าไปอ่านได้ในเว็บไซต์ของรัฐบาลที่ http://www.thaigov.go.th/ ค่ะ |