โครงการ mini MPM เปิดตัว Module 9
ดึงสุดยอดนักวิชาการร่วมสอน
โลกแห่งวิทยาการห้องเรียนเสมือนจริงในโลกยุคไซเบอร์ บวกกับยุคข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยี การบรรจบกันอย่างลงตัวทำให้การเรียนการสอนออนไลน์
มีความก้าวหน้า
และกำลังได้รับความนิยมในขณะนี้ |
|
ในการเปิดการเรียนผ่านโลกอินเทอร์เน็ต โครงการ mini MPM นั้น สำนักงาน ก.พ.ร.เปิดมาแล้ว 8 Module หรือ หัวข้อวิชา โดย Module น้องใหม่ที่เพิ่งจะเปิดตัวไปใน การสัมมนาโครงการพัฒนาองค์ความรู้หลักสูตร mini MPM (mini Modern Public Management) เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 ณ ห้องวอเตอร์เกท บอลรูม เอบี ชั้น 6 โรงแรมอมารีวอเตอร์เกท ได้แก่ Module 9 การจัดการความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานของรัฐและภาคส่วนอื่นในสังคม (Intersectoral management and Inter-governmental relations)
|
|
|
ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวว่า การปฏิรูประบบราชการตลอด 2 ปี ที่ผ่านมา เวลาที่มีการประชุมมักจะเรียกผู้บริหารระดับสูงมาอบรม สร้างความเข้าใจ โดยคาดกันว่า ผู้บริหารจะเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้สดับรับฟัง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้บริหารมีหน้าที่การงานที่มากมายจนไม่สามารถถ่ายทอดความรู้ได้ ดังนั้น การแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดคือ การจัดทำสื่อการสอนออนไลน์เพื่อให้ผู้ที่มีหน้าที่การงานประจำสามารถเข้ามาเรียนได้ โดยไม่เสียเวลาในการทำงาน อย่างไรก็ดี มีผู้ที่สนใจในโครงการจำนวนมาก ทั้งนี้ ผู้ที่ผ่านและได้รับใบประกาศนียบัตรแล้ว สามารถต่อยอดเรียนต่อในระดับปริญญาโทได้ โดยขณะนี้มหาวิทยาลัยที่สามารถเข้าศึกษาโดบใช้ประกาศนียบัตรของโครงการคือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น |
หลังจากนั้นเป็นการบรรยายหัวข้อวิชาให้ผู้สนใจได้รับทราบเบื้องต้นว่า Module 9 นี้มีเนื้อหาวิชาอย่างไร เริ่มต้นที่หัวข้อ รูปแบบและวิธีการที่ภาคราชการควรมีในการทำงานกับภาคประชาชน โดย นายสมภพ อมาตยกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บีบี บิสเนส แมแนจเมนท์ จำกัด กล่าวในกระบวนการที่จะทำให้มองเห็นการทำงานกับภาคเอกชน ซึ่งการบริหารในปัจจุบัน ต้องมีการ outsourcing จากภายนอก เพราะประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนามีสัดส่วนของการ outsourcing อยู่ในเกณฑ์ที่สูง |
|
การบริหารงานนั้นแบ่งออกเป็น 4 ลักษณะ ได้แก่
1. บริหารเชิงยุทธศาสตร์ จะมีเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในวางแผนยุทธศาสตร์และผลักดันให้บรรลุวัตถุประสงค์มากขึ้น เพราะการนำเอกชนเข้ามาช่วยทำให้แผนประสบความสำเร็จได้
2. บริหารโดยเน้นผลลัพธ์ คิดจากค่าผลลัพธ์ที่ได้จากความสำเร็จ ซึ่งการตั้งเป้าหมายของความสำเร็จ ต้องใช้คนปฏิบัติเข้ามาร่วมด้วย เพราะคนเหล่านี้คลุกคลีมาโดยตลอด
|
3. บริหารองค์กรให้กะทัดรัด สิ่งที่ต้องทำคือ การลดคน และการถ่ายโอน ปัจจุบันประเทศไทยทำทั้ง 2 วิธี ในประสบการณ์จากต่างประเทศจะมีการถ่ายโอนหน่วยงานในส่วนกลางลงสู่ท้องถิ่นมากขึ้น ทำให้ขนาดกำลังของภาครัฐส่วนกลางนั้นเล็กลงได้เอง
4. มุ่งเน้นประสิทธิภาพและประหยัด สิ่งเหล่านี้ได้แก่ สถานที่ อุปกรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิร่วมกับภาคเอกชน ฯลฯ เมื่อรัฐต้องย้ายที่ทำการ จะต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมาก มีการก่อสร้างอาคาร และใช้อุปกรณ์สำนักงาน ซึ่งหากมีการใช้อาคารสำนักงานของเอกชน ก็จะทุ่นงบประมาณด้านนี้ไปได้มาก เช่นเดียวกัน ในการใช้ผู้ทรงคุณวุฒิ จะมีการใช้คนจากเอกชนมากขึ้น ซึ่งในอนาคตอาจจะต้องมีการสลับผู้ทรงคุณวุฒิระหว่างภาครัฐและเอกชน |
ทั้งนี้ งานที่เอกชนสามารถเข้ามาดำเนินการร่วมกับรัฐได้ อาทิ
1. งานนโยบาย ในอดีต รัฐจะดำเนินการเองทั้งหมด แต่ปัจจุบันต้องมีการให้เอกชนเข้ามาช่วยในการวางแผนมากขึ้น เราสามารถกำหนดค่าระหว่างรัฐกับเอกชนเป็น 90/10
2. งานกำกับ/ตรวจสอบ/อนุญาต รัฐยังคงทำงานเหล่านี้เองทั้งหมด โดยเฉพาะงานตรวจสอบ อนุญาต แต่อย่างไรเสีย ก็ยังมีงานบางประเภทที่เอกชนเข้ามาดำเนินการ อาทิ การตรวจสอบอาหาร โดยการใช้ห้อง LAB ของเอกชน ซึ่งอาจกำหนดว่าต้องผ่านการตรวจสอบจาก LAB ที่ใด จึงจะให้ใบรับรอง เราสามารถกำหนดค่าการทำงานระหว่างรัฐกับเอกชนเป็น 60/40
3. งานบริการประชาชน หากเมื่อรัฐมีขนาดกะทัดรัด โดยการทำงานของรัฐจะต้องมีการใช้ทักษะ ความรู้เฉพาะตัวสูง งานด้านธุรการ หรืองานสนับสนุนต่าง ๆ อาจเป็นการทำงานของเอกชนที่จะเข้ามาสนับสนุน อาทิ การติดต่อสอบถามประชาชน Call Center งานเหล่านี้มีเอกชนเข้ามารับทำงานมากขึ้น ดังนั้น เราสามารถกำหนดค่าการทำงานระหว่างรัฐและเอกชนเป็น 30/70 |
|
ในยุคระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ รัฐและเอกชนจะต้องมีส่วนร่วมในการทำงานมากขึ้น เพื่อนำพากลไลต่าง ๆ ของประเทศให้แข่งขันกับประเทศต่าง ๆ ได้
|
ด้านนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานกรรมการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ได้บรรยายในหัวข้อ รูปแบบและวิธีการที่ภาคราชการควรมีในการทำงานกับภาคประชาสังคม โดยให้ข้อคิดเห็นในส่วนของภาคประชาสังคม ที่มีความสำคัญที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานกับภาครัฐมากขึ้น เพราะบทบาทรัฐมีส่วนเกี่ยวพันกับประชาสังคม และรัฐควรจะมองว่า สังคมคือผู้ที่เราต้องให้บริการ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า เขาเป็นนายเรา ไม่ใช่มองว่าเขาเหล่านั้นเป็นผู้อยู่ใต้อำนาจรัฐ เหมือนเช่นการมองอย่างในอดีตที่ผ่านมา |
โดยในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกานั้น จะมีการกันเงินงบประมาณให้กับกลุ่มที่เรียกว่า NGO เพื่อทำงานด้านประชาสังคมแทนรัฐด้วย
สุดท้ายเป็นการบรรยายในหัวข้อ การแยกบทบาทและจัดความสัมพันธ์ระหว่างราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดย ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคลและกฎหมาย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้แบ่ง ความสัมพันธ์ของรัฐ ออกเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่
1. ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับส่วนกลาง ปัจจุบันความสัมพันธ์ส่วนนี้กำลังถูกเปลี่ยนรูปแบบ เนื่องจากในอดีต ทุกกระทรวง ทบวง กรม มีฐานะเป็นนิติบุคคล เมื่อหน่วยงานเหล่านี้ถูกลดฐานะ ไม่เป็นนิติบุคคล จะส่งผลให้กระทรวงมีฐานะเป็นนิติบุคคลเป็นฝ่ายเดียว จะทำให้การทำงานสามารถที่จะเคลื่อนทั้งคน ทรัพยากร และเงิน มาใช้ในหน่วยงานภายในกระทรวงเดียวกันได้ ไม่เหมือนในอดีตที่ทำไม่ได้ |
|
|
2. ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับส่วนภูมิภาค แต่เดิมนั้น การบังคับบัญชาในระบบนี้จะเป็นพิรามิดหัวกลับ คนในส่วนกลางจะมีจำนวนมาก รวมทั้งอำนาจด้วย ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงฐานขั้วอำนาจจะถูกสลับเป็นส่วนกลางมีคนน้อยลง และส่วนภูมิภาคจะมีความสำคัญในการกำหนดอะไรได้หลายอย่าง และกำลังคนจะมีมากขึ้น
3. ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ระบบราชการปัจจุบันต้องทำให้ท้องถิ่นใหญ่ขึ้น เป็นอิสระจากส่วนกลาง แม้ว่าในตัวกฎหมายนั้น ท้องถิ่นจะเป็นอิสระ แต่ปัจจุบันส่วนกลางมักคิดว่าท้องถิ่นเป็นหน่วยงานของตน จนไปก้าวก่ายการทำงาน ทั้งนี้ ส่วนกลางหรือภูมิภาคมีหน้าที่เพียงกำกับดูแลเท่านั้น |
4. ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนท้องถิ่นกับท้องถิ่น แม้ว่าความสัมพันธ์แบบนี้ของไทยจะใช้หลักสากลในการทำงาน แต่เราจะเห็นว่า การทำงานของท้องถิ่นกับท้องถิ่นนั้น ยังไม่มีการทำงานร่วมกัน หรือมีการตั้งบริษัทร่วมกันทำงาน เรียกว่า สหการ ซึ่งในต่างประเทศมีการดำเนินการวิธีนี้มาก ดังนั้น จึงเห็นว่าความสัมพันธ์ของท้องถิ่นกับท้องถิ่นมีอยู่น้อยเกินไป |