เรื่อง : ทีมที่ปรึกษาโครงการฯ
ผู้ว่าซีอีโอและความคาดหวัง
ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของรัฐบาล

           เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ( 8 - 10 กรกฎาคม 2548) สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ "โครงการเพิ่มขีดสมรรถนะในการถ่ายทอดยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ" ( CEO Short Course) ขึ้น ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกต ประตูน้ำ โดยได้เชิญผู้บริหารระดับสูงของส่วนราชการและจังหวัดเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ และเพิ่มขีดสมรรถนะในการถ่ายทอดและแปลงแผนยุทธศาสตร์สู่แผนปฏิบัติการ

           การประชุมเชิงปฏิบัติการ "โครงการเพิ่มขีดสมรรถนะในการถ่ายทอดยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ" ครั้งนี้ มีรองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม เป็นประธานกล่าวเปิด และบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ ผู้ว่าซีอีโอและความคาดหวังในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ” ซึ่งในเดือนนี้ e-News ฉบับนี้มีสรุปการบรรยายพิเศษของรองนายกรัฐมนตรีมาฝากกันค่ะ
ผู้ว่าซีอีโอและความคาดหวังในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของรัฐบาล
          สืบเนื่องจากเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2547 ได้มีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับผู้ว่าราชการจังหวัดขึ้น ที่จังหวัดชลบุรี โดย มีนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งที่ประชุมในครั้งนั้นมีความเห็นว่า ควรมีการจัดประชุมในลักษณะดังกล่าวเป็นประจำทุกๆ ปี โดยเรียกชื่อการประชุมว่า “ การประชุม CEO Retreat” ซึ่งหมายความถึงการประชุมนอกสถานที่ ในบรรยากาศเบา ๆ สบาย ๆ ไม่ตึงเครียด
          บัดนี้ ระยะเวลาได้ผ่านมาเกือบ 1 ปี จากการประชุมครั้งก่อน แต่เนื่องด้วยมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น นั่นคือ การเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ซึ่งมาพร้อมกับนโยบายใหม่และยุทธศาสตร์ใหม่ จึงทำให้ต้องมีการ จัดประชุม CEO Retreat ครั้งที่ 2 เร็วขึ้นกว่าปกติ เพราะหากมีการจัดประชุมล่าช้าจะส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการ
            
ตั้งแต่ตั้งรัฐบาลใหม่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา ท่านนายกรัฐมนตรีได้ไปตรวจราชการในจังหวัดต่าง ๆ และพบว่า บางเรื่องนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถทำได้ ดีเกินคาด แต่ในบางเรื่อง ยังไม่ดีพอ และเมื่อศึกษาแล้วพบว่า เรื่องที่ทำได้ดีจะเป็นเรื่องที่ได้มีการซักซ้อมทำความเข้าใจแล้ว จึงสามารถทำได้ดี ในขณะที่เรื่องที่ยังทำได้ไม่ดีนั้น มีสาเหตุมาจากความคาดหมายของรัฐบาลที่ต้องการให้ทำ แต่ไม่เคยบอกว่าต้องทำอย่างไร จึงเป็นเหตุให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมักทำตามความเข้าใจ ความคุ้นเคย และความเคยชินของตนเองในการปฏิบัติ

                                    
            ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ต้องมีการซักซ้อมทำความเข้าใจ โดยเรื่องที่นายกรัฐมนตรีปรารภมากที่สุดคือ การบริหารงบประมาณในจังหวัด ซึ่งหมายความตั้งแต่การเริ่มกระบวนการตั้งงบประมาณ การเสนองบประมาณ การได้งบประมาณ และการใช้งบประมาณอย่างถูกต้อง ถูกกฎหมาย ใช้งบประมาณเต็มเม็ดเต็มหน่วยด้วยความซื่อสัตย์และสุจริต และเม็ดเงินงบประมาณออกไปสู่ภายนอก ไม่ใช่เก็บอยู่ในบัญชี ซึ่งทั้งกระบวนการนั้น เรียกว่า การบริหารจัดการงบประมาณ

            การบริหารจัดการงบประมาณ ถือเป็นนโยบายที่สำคัญประการหนึ่งของรัฐบาลตั้งแต่สมัยที่แล้ว และอยู่ในแผนการปฏิรูประบบราชการ นอกจากนี้ ยังมีความพยายามที่จะให้จังหวัดสามารถเสนอของบประมาณได้ด้วยตนเอง คำถามที่เกิดขึ้นคือ “ ทำอย่างไรให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีความสามารถมีความรู้ความเข้าใจในเทคนิควิธีการงบประมาณ โดยเฉพาะการตั้งและเสนอของบประมาณ ”

            เมื่อรัฐบาลแถลงนโยบาย และนำไปสู่การแบ่งยุทธศาสตร์เป็น 9 ด้าน ซึ่ง ยุทธศาสตร์ คือ เป้าหมายที่จะเดินไปสู่ ปัจจุบันมีการของบประมาณตามรายยุทธศาสตร์ ในการตั้งงบประมาณการของบประมาณ การขออัตรากำลังต้องโยงเข้าหายุทธศาสตร์ให้ได้ ซึ่งจะทำให้เกิดสัมฤทธิผล โดยยุทธศาสตร์ทั้ง 9 ด้าน ซึ่งเป็นตัวตั้งของการบริหารราชการแผ่นดินของไทย ประกอบด้วย

            ยุทธศาสตร์ที่ 1 การแก้ปัญหาความยากจน
            ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาคนและสังคมที่มีคุณภาพ
            ยุทธศาสตร์ที่ 3 การเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันทำให้เศรษฐกิจแข็งแรง โดยเฉพาะทำให้ ประเทศสามารถแข่งขันได้
            ยุทธศาสตร์ที่ 4 การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
            ยุทธศาสตร์ที่ 5 การต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
            ยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนากฎหมายและการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ครอบคลุมเรื่องกฎระเบียบการพัฒนากระบวน
                                  การยุติธรรม การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน

            ยุทธศาสตร์ที่ 7 สิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตยและประชาสังคม
            ยุทธศาสตร์ที่ 8 ความมั่นคง
            ยุทธศาสตร์ทื่ 9 การรองรับการเปลี่ยนแปลงและพลวัตรของโลก

           เมื่อมียุทธศาสตร์เช่นนี้แล้ว ถ้าเป็นในอดีตก็ไม่มีคนสนใจ รัฐบาลก็จะแก้ตัวว่า ที่ยังไม่ทำเพราะเพิ่งผ่านไปปีเดียว หรือเมื่อครบ 4 ปีแล้วก็จะบอกว่า เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไปไม่สามารถดำเนินการได้ แต่ถึงวันนี้รัฐบาลไม่สามารถตีสำนวนอย่างนั้นได้อีกแล้ว เพราะรัฐบาลนี้ (และรัฐบาลหน้า) ได้ผูกมัดตัวเอง ด้วยการออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 เพื่อให้เกิดการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (Good Governance) ทำให้เมื่อรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเสร็จสิ้น ต้องจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ซึ่งเป็นระดับ “National Action Plan” เรียกว่า แผนการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะ การแถลงในรัฐสภาเป็นเพียงนโยบาย พระราชกฤษฎีกานี้จึงกำหนดไว้ว่า เมื่อรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเสร็จ ภายใน 120 วันต้องเสนอแผนการบริหารราชการแผ่นดิน 4 ปี โดยรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพยุทธศาสตร์แต่ละด้านร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง สำนักงบประมาณ สภาพัฒน์ฯ และ สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกันจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดินซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว

           หลังจากการทำแผนบริหารราชการแผ่นดินเสร็จสิ้น กระทรวงแต่ละกระทรวงต้องทำแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี โดยแผนปฏิบัติการของแต่ละกระทรวงจะต้องกำหนดว่าแต่ละกรม/กอง จะทำอะไร และจะต้องมีความสอดคล้องกับแผนบริหารราชการแผ่นดินและนโยบายของรัฐบาล คือ ยุทธศาสตร์ทั้ง 9 ด้าน

           ความยากของการจัดทำแผน คือ จะต้องมองภาพในข้างหน้าเป็นระยะเวลา 4 ป ซึ่งบางกระทรวงไม่สามารถมองภาพในระยะยาวได้ จึงมีการกำหนดว่า หากโครงการใดเรื่องใดไม่อยู่ในแผนปฏิบัติราชการกระทรวงไม่ให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณให้ สำหรับในระดับจังหวัด ก็ต้องจัดทำแผนบริหารราชการของจังหวัดที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติราชการของกระทรวง แผนการบริหารราชการแผ่นดิน และนโยบายของรัฐบาลเช่นเดียวกัน
           ผู้ที่แปลงยุทธศาสตร์ 9 ด้านของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติ ประกอบด้วย ราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้แก่ กระทรวงและจังหวัด ซึ่งการคิดจะ ต้องเชื่อมโยงกับนโยบายรัฐบาลให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ สำหรับราชการส่วน ท้องถิ่นนั้น   จะไม่เกี่ยวข้องโดยตรงแต่จะมีช่องว่างให้คิดเองได้ วิธี ีในการแปลงนโยบายจะต้องมีการศึกษาแผนการบริหารราชการแผ่นดิน แผนปฏิบัติราชการของกระทรวงให้เข้าใจกล่าวคือ ในระดับจังหวัดไม่ได้ ้่พิจารณาแค่แผนปฏิบัติราชการของกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น แต่การพิจารณาจะต้องพิจารณาถึงแผนปฏิบัติราชการของ  กระทรวงต่าง ๆ ด้วย เช่น เกษตร ชลประทาน คลัง สรรพากร ตำรวจ ทหาร โดยผู้ว่าฯอาจใช้กระบวนการทำงานร่วมกับข้าราชการในพื้นที่ โดยให้เจ้าหน้าที่ี่ของกระทรวงต่างๆ พิจารณาแผนของกระทรวงที่ตนเอง เกี่ยวข้อง และนำประเด็นสำคัญมาสื่อสารร่วมกับผู้ว่าฯ

           ในอนาคต งบประมาณของแต่ละกระทรวงจะลดลง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะต้องทำฝาย หรือเขื่อน โดยถ้าโครงการนี้เป็นแผนของจังหวัดเชียงใหม่ งบประมาณจะปรากฎอยู่ในรายการงบประมาณของจังหวัดเชียงใหม่แทน ซึ่งจะสามารถดูแลและบริหารงบประมาณได้ตรงความต้องการ และถ้าเป็นแผนของจังหวัดเองที่ไม่คาบเกี่ยวกับจังหวัดอื่น เช่น การดำเนินงานในโครงการของจังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ดำเนินการที่อำเภอสะเมิง แต่มีปัญหาไม่สามารถดำเนินการได้ จังหวัดก็สามารถเปลี่ยนพื้นที่เป็นดอยสะเก็ดได้ เป็นต้น แต่ถ้าเป็นงบประมาณที่ตั้งไว้ที่กระทรวงจะปรับเปลี่ยนได้ยากกว่า

           พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณกำหนดไว้ว่า หน่วยที่จะตั้งงบประมาณได้คือ กระทรวง ทบวง กรม หรือ เทียบเท่า การแก้ไข พ.ร.บ. งบประมาณ โดยเพิ่มคำว่า “ จังหวัด ” ลงไปอีกหนึ่งคำ จำเป็นต้องศึกษาว่าจะกระทบต่อมาตราอื่น ๆ อย่างไร และการแก้ไขนั้น ยังทำไม่ได้เพราะต้องแก้ทั้งฉบับ ดังนั้น ในเรื่องนี้จำเป็นต้องทดลองนำร่องก่อนสัก 1 - 2 ปี แล้วค่อยจึงนำไปปฏิบัติจริง 

           การแปลงยุทธศาสตร์ออกมาเป็นงานภาคปฏิบัติจำเป็นต้องอาศัยวิธีการหลายอย่าง แม้ในระดับกระทรวงที่มีประสบการณ์ในการตั้งงบประมาณเอง ก็ยังเหนื่อย เพราะไม่ชินกับการแปลงยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งเดิมแต่ละกระทรวงจะกำหนดนโยบายเป็นรายกระทรวง พอเปลี่ยนมาเป็นการกำหนดตามยุทธศาสตร์ จะทำให้เป็นการลบเขตพรมแดนของกระทรวง เช่น ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาความยากจน มีความเกี่ยวพันกับกระทรวงต่าง ๆ เช่น กระทรวงยุติธรรม กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งจะต้องมีการกำหนดเจ้าภาพหลัก ปรากฏว่า ทุกกระทรวงมีส่วนรับผิดชอบ แม้แต่กระทรวงการต่างประเทศก็ยังมีส่วนร่วม แต่ต้องหาเจ้าภาพหลัก และให้หน่วยงานที่เหลือเป็นเจ้าภาพร่วม และผู้สนับสนุน  

                                              

           กรณีของ ยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนากฎหมายและส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ถ้าจะจัดสรรงบประมาณแบบง่าย ๆ ก็นำงบประมาณทั้งหมดมาจัดสรรให้กับหน่วยงานต่าง ๆ เท่า ๆ กัน แต่มีการให้แต่ละกระทรวง กรม เสนอแผนมาเกินงบประมาณที่กำหนดไว้กว่า 3 เท่า ดังนั้น การปรับลดงบประมาณจึงมีการเสนอให้นำหลักการเทียบบัญญัติไตรยางค์มาใช้ในการคำนวณ ซึ่งทำให้หน่วยงานที่เสนอขอตั้งงบประมาณมาสูงมีโอกาสที่จะได้รับงบประมาณสูง และทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมสำหรับหน่วยงานที่เสนอของบประมาณมาน้อย แต่เมื่อได้พิจารณาในรายละเอียดพบว่า งบประมาณของยุทธศาสตร์ที่ 6 ได้นำงบประจำมารวมด้วย ทั้งเงินเดือนข้าราชการ เงินเดือน สว. สส. เพราะถือว่าเกี่ยวข้องกับการปรับปรุงกฎหมาย กลายเป็นว่าแท้ที่จริงแล้วมีงบยุทธศาสตร์จำนวนไม่มากนัก เพียงประมาณ 30% แนวทางการแก้ไขในเรื่องนี้คือ มีการแบ่งงบประมาณ

           ที่กล่าวมาทั้งหมดไม่ต้องการย้ำให้เห็นปัญหา แต่ต้องการย้ำสรรพคุณของคำว่า            “ ยุทธศาสตร์ ” การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะจัดทำงบประมาณ จะต้องมีการพิจารณาถึงยุทธศาสตร์ และการแปลงยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติจะพิจารณาถึงประเด็นต่าง ๆ โดยเฉพาะกฎระเบียบ กฎหมายวิธีการงบประมาณ การกรอกแบบฟอร์มต่าง ๆ ต้องเข้าใจความหมายในแบบฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น “ เป้าหมาย ” “ เป้าประสงค์ ” และคำอื่น ๆ รวมทั้งการส่งข้อมูลภายในกำหนดเวลา บางครั้งกรอกข้อมูลถูกต้องแต่ผิดเวลาไม่ทันกำหนดเวลา เช่น บางส่วนราชการสอบตก ไม่ใช่เพราะทำงานไม่ดี แต่ส่งล่าช้าจึงถูกตัดคะแนน
            งบประมาณ 40,000 ล้านบาท ที่จัดสรรให้จังหวัด ผู้ว่าฯ ต้องทราบว่าจะเอาไปทำอะไร ถ้าไม่ใช้จะถูกดึงกลับเหมือนกระทรวง ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะดู GFMIS เกือบทุกวัน สามารถเปิดดูหน้าจอได้เลย ทำให้ทราบว่ากระทรวงได้รับงบประมาณเท่าไร วันนี้ใช้งบประมาณไปแล้วเท่าไร จ่ายเงินผู้รับเหมาเท่าไร 6 เดือนผ่านไปจ่ายงบไปไม่ถึง 30 % มีงบประมาณที่ยังไม่ได้ใช้ออกไปจำนวน 2 แสนกว่าล้านบาท เนื่องจาก 1) ไม่เริ่มโครงการ หรือ 2) เริ่มโครงการแล้ว แต่ยังไม่จ่ายเงินผู้รับเหมา ซึ่งถ้าอธิบายไม่ได้จะขอเงินคืน เพราะเงินงบประมาณดังกล่าวจะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากมาย


      เดือนตุลาคมนี้ จังหวัดก็จะเริ่มใช้ระบบ GFMIS ซึ่งจะต้องมีความรู้ว่า GFMIS คืออะไร น่ากลัวอย่างไร ต่อไปการตั้งงบประมาณ การบริหารงบประมาณต้องเข้าใจคำว่า “ ปัจจัยแวดล้อม ” เช่น ปัจจัยจากการเมือง ทัศนคติประชาชน วัฒนธรรมท้องถิ่น การถ่ายทอดออกไปให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเข้าใจ และสิ่งสำคัญที่สุดคือ ดัชนีตัวชี้วัดความสำเร็จ (KPI) คือ ในการตั้งงบประมาณจะต้องพิจารณาว่า วิธีการวัดความสำเร็จของโครงการจะวัดอย่างไร นอกจากนั้น ยังต้องพิจารณาถึง เป้าหมาย ขอบเขต กำหนดเวลา ผู้ปฏิบัติ การบริหารความเสี่ยง คือจะต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องซักซ้อมความเข้าใจ ได้ทดลองตั้งงบประมาณ บริหารงบประมาณ วิธีที่จะจัดการกับโครงการไม่ให้ล้มเหลว เนื่องจากกระทรวงและจังหวัดจะต้องลงมือทำการแปลงยุทธศาสตร์ ทั้ง 9 ด้านไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับทุกจังหวัด การของบประมาณ ขอบุคลากร ขอเครื่องมืออุปกรณ์จะต้องโยงเข้ากับยุทธศาสตร์ให้ได้

           
          ตัวอย่างการปฏิรูประบบราชการในประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ปัญหาก่อนการปฏิรูปคือ มีจำนวนข้าราชการ 65,000 คน ผ่านไป 12 ปี เหลือ 30,000 คน ปัจจุบันมีความจะเป็นต้องเพิ่มเป็น 36,000 คน เนื่องจากมีภารกิจเพิ่มขึ้น สิ่งที่สำคัญคือ ต้องมียุทธศาสตร์และให้ทุกคนทราบว่ายุทธศาสตร์คืออะไร รู้ว่าจะไปทิศทางไหน ข้าราชการจะต้องรู้ว่าจะไปทิศทางใด การทำงานถ้ามียุทธศาสตร์ ก็เปรียบเสมือนเรือที่มีหางเสือ สิ่งที่เขาประสบความสำเร็จ คือ การกระตุ้นให้คนทำงานร่วมกันเพื่อไปสู่ยุทธศาสตร์เดียวกัน
            
    อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากคือ ปัจจุบันประเทศประสบกับสถานการณ์พลังงานที่รุนแรงและมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น ตัวเลขน้ำมันดิบแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อ 30 ปีก่อน เราก็เคยพบกับสถานการณ์เหมือนในปัจจุบันนี้ แต่เมื่อ 30 ปีที่แล้วเป็นเรื่องที่น้ำมันมี ไม่เพียงพอ แต่สถานการณ์ในปัจจุบัน ปริมาณน้ำมันมีพอเพียง แต่มีราคาแพงมาก เงินตราที่ควรจะนำไปใช้พัฒนาประเทศกลับต้องนำไปซื้อน้ำมัน
 ดังนั้น รัฐบาลจึงได้ตกลงกับสำนักงาน ก.พ.ร. ว่า หนึ่งในตัวชี้วัดตามคำรับรองการปฏิบัติราชการนั้น นอกจากจะเป็นการประเมิน Performance ในด้านต่าง ๆ แล้ว ยังต้องพิจารณาในเรื่องของ การประหยัดพลังงาน ด้วย โดยแต่ละหน่วยงานจะต้องมีตัวชี้วัด (KPI) ที่วัดการประหยัด พลังงาน ไม่ว่าจะเป็นการประหยัดไฟฟ้า ลดปริมาณการใช้น้ำมัน และมีการให้รางวัลแก่หน่วยงานที่สามารถประหยัดไฟฟ้า ลดปริมาณการใช้น้ำมันได้ หน่วยงานที่ได้รับรางวัลมีมาตรการในการประหยัด เช่น ให้ข้าราชการในหน่วยงานเดินทางร่วมกันในเส้นทางเดียวกัน (Car pool) มีรถสวัสดิการของหน่วยงาน เปิดเครื่องปรับอากาศระหว่างเวลา 09.00 - 16.00 น. และปิดเครื่องปรับอากาศตอนเที่ยง ใช้วิธีการประชุมทางไกล ผ่านระบบ teleconference ใช้ e-mail และโทรศัพท์ในการติดต่อสื่อสารแทนการเข้าประชุม และขณะนี้ได้มีการเจรจาให้งบประมาณที่หน่วยงานสามารถ ประหยัดได้ ไม่ต้องส่งคืนคลัง และนำไปใช้เป็นงบประมาณของหน่วยงานได้

 

 

 

 


ศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
ชี้แจงรายละเอียดโครงการ และ หลักสูตรการประชุม


ดร.ทศพร  ศิริสัมพันธ์
เลขาธิการ ก.พ.ร
ชี้แจงวัตถุประสงค์ของโครงการ


วิทยากร
     

 

 

 


ดร.สำราญ ภูอนันตานนท์
กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
ดร. วิเทศ เตชางาม และคุณอัศวิน วราทร
ผู้แทนโครงการ GFMIS
คุณชุณหจิต สังข์ใหม่
กรมบัญชีกลาง

การประชุมกลุ่มย่อย



นำเสนอผลงานกลุ่ม
โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
(นายสุรนันทร์ เวชชาชีวะ) เป็นประธาน
 

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
(นายสุรนันทร์ เวชชาชีวะ)
ให้ข้อเสนอแนะ
จุดดี จุดด้อย ในการนำเสนอผลงาน