เรื่อง : วสุนธรา   กิจประยูร

          เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่ผ่านมา ประเทศไทยของเราได้ต้อนรับการมาเยือนของ William H. Gates หรือที่รู้จักกันในชื่อ Bill Gates ประธานบริษัทและประธานฝ่าย สถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์ของ บริษัทไมโครซอฟท์ ผู้ที่ได้รับฉายาว่า “พ่อมดไมโครซอฟท์” และกลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลกด้วยการคิดค้นและจำหน่ายซอฟแวร์ระบบปฏิบัติการ ของไมโครซอฟท์ที่กินส่วนแบ่งในตลาดโลกมากกว่า 90%

          การมาเยือนประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2548 นั้น บิล เกตส์ ได้รับเชิญให้้บรรยายวิสัยทัศน์ของตน 2 รอบ คือ รอบแรก ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยบรรยาย ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรอบที่ 2 เป็นการบรรยายให้กับแขกผู้มีเกียรติ กว่าพันคน ณ หอประชุมกองทัพเรือ ในการบรรยายทั้ง 2 รอบ บิล เกตส์ ได้บรรยายในหัวข้อ “อนาคตของซอฟต์แวร์” ทั้งในเชิงธุรกิจ และสังคม สรุปสาระสำคัญจากการบรรยายได้ดังนี้
 

ทศวรรษแห่งดิจิตอล

          บิล เกตส์ มองว่าสังคมโลกกำลังเปลี่ยนเข้าสู่ยุคดิจิตอลที่ทำให้ทุกอย่างไปได้ไกลและใกล้ชิดกันมากขึ้นเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัสและเชื่อว่า ในอีก 10 ปี เทคโนโลยีจะเปลี่ยนสังคมให้เข้าสู่ยุคดิจิตอลเต็มตัว โดยนับว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ทั้งในเรื่องของการทำงาน การเรียนหนังสือ และการพักผ่อน

          การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเรา ทั้งด้านเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม จนทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขัน ถูกวัดด้วยระดับของเทคโนโลยีดิจิตอล เห็นได้ชัดจากอุปกรณ์คอมพิวเตอร์์ทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟแวร์ที่ได้รับการพัฒนา เติบโตและมีการแข่งขันในตลาดมากขึ้นแบบทวีคูณอย่างต่อเนื่อง และราคาของอุปกรณ์ ดังกล่าวก็มีการปรับลดลง นอกจากนี้ เทคโนโลยีต่าง ๆ ก็ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว และมีศักยภาพการทำงานมากขึ้นและ บิล เกตส์ ก็ได้เรียกระยะเวลาในอีก 10 ปีข้างหน้านี้ว่าเป็น “ทศวรรษแห่งดิจิตอล”
 

คิดแบบดิจิตอล

          เมื่อถึงยุคแห่งดิจิตอลแล้ว เราจึงต้องคิดแบบดิจิตอล และการบริหารจัดการต่างๆ ก็ต้องคิดแบบดิจิตอลมากขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น การถ่ายภาพที่เคยใช้ฟิล์ม ปัจจุบันก็กลายเป็นดิจิตอล สามารถส่งผ่าน e-mail หรือบันทึกลงในซีดีได้ การฟังเพลงที่เมื่อก่อนฟังจากซีดี ปัจจุบันก็กลายเป็นดิจิตอลแล้ว รวมไปถึงคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์ ที่มีการเชื่อมต่อกัน ซึ่งทำให้เราสามารถติดต่อกับบุคคลอื่นได้ตลอดเวลา

          บิล เกตส์ ชี้ให้เห็นว่า การเชื่อมต่อและพัฒนาดิจิตอลนี้มาจาก Internet นั่นเอง ดังนั้น Internet จึงมีความสำคัญอย่างมาก ทำให้้เราสามารถติดตามข่าวสารต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและเป็นส่วนตัวมากขึ้น ขณะเดียวกัน วิธีการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันก็เปลี่ยนแปลงไปมาก มีการทำงานผ่านระบบ Internet มากขึ้น ทำให้ต้นทุนของการส่งสินค้าลดลง เมื่อเทียบกับเมื่อทศวรรษที่ผ่านมา

          การพัฒนาสู่ยุคดิจิตอล และการติดต่อผ่านระบบ Internet ยังทำให้การพัฒนาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาซอฟแวร์ การทำแอนิเมชั่น การใช้โทรศัพท์ ช่วยให้เราทำงานได้สะดวกขึ้น และก่อให้เกิดโลกาภิวัตน์อย่างชัดเจน และเศรษฐกิจของโลกก็กำลังก้าวเข้าสู่โลกาภิวัตน์ด้วยสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้

          หากเราหันมามองในเรื่องของการพัฒนาระบบราชการ ก็คงจะเห็นด้วยกับทรรศนะของ บิล เกตส์ เพราะว่าดิจิตอล Internet และ เทคโนโลยี เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ที่ช่วยผลักดันให้การพัฒนาระบบราชการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น กรณีของศูนย์บริการร่วม (Service Link) และเคาน์เตอร์บริการประชาชน (Government Counter Service : GCS) ที่นำประโยชน์ของเทคโนโลยีและการติดต่อประสานงานผ่านระบบเครือข่าย และระบบ Internet มาทำให้งานบริการประชาชนมีความสะดวกรวดเร็ว และง่ายขึ้น

          นอกจากนี้ เรากำลังจะเปิดระบบติดตามและประเมินผลตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ เพื่อให้ส่วนราชการและจังหวัดได้รายงาน ผลความก้าวหน้าของตัวชี้วัดตามคำรับรองฯ ของตน ผ่านเครือข่าย Internet ซึ่งจะทำให้การติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐมีความสะดวกรวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย ซึ่งการดำเนินการของ ก.พ.ร. ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ก็เพื่อตอบสนองต่อเจตนารมณ์ของการพัฒนาระบบราชการ นั่นคือ “เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน” นั่นเอง
 

ซอฟต์แวร์...ศูนย์กลางการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลง

ในทรรศนะของ บิล เกตส์ ความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้น ถูกขับเคลื่อนโดยซอฟต์แวร์ที่เป็นศูนย์กลางการพัฒนา เปลี่ยนแปลงทั้งหมด การปฏิวัติ หรือการปฏิรูปซอฟต์แวร์ทำให้เกิดการปฏิรูปเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และสังคมในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หรือ PC ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และในอนาคต ขนาดของ PC ก็จะเล็กลง สามารถพกพาได้สะดวกขึ้น แม้แต่จอคอมพิวเตอร์ก็อาจจะเท่ากับกระดาษ จากที่เคยใช้ปากกาจดในกระดาษ คอมพิวเตอร์ก็จะสามารถทำได้เช่นเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ปริมาณการใช้กระดาษลดลงอย่างเห็นได้ชัด
 

          บิล เกตส์ ได้ยกตัวอย่างของเด็กไทยที่ชนะการแข่งขัน Imaging Cup ของไมโครซอฟท์ ด้วยการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อการท่องเที่ยวว่า เป็นการชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาซอฟต์แวร์กำลังเปลี่ยนแปลงการดำเนินการด้านเศรษฐกิจต่างๆ และทำให้ระบบเศรษฐกิจถูกเข้ารหัสเป็นดิจิตอล ขณะเดียวกันระบบการศึกษาก็สามารถเชื่อมต่อซึ่งกันและกัน การเรียนการสอนก็สามารถติดต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญมาให้กับสถาบันการศึกษาได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ รัฐบาลก็สามารถบริหารงานได้อย่างรวดเร็วและเป็นระบบ ระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) จะเปลี่ยนแปลง การดำเนินการด้านต่างๆ ของรัฐบาล ก่อให้เกิดความโปร่งใส สะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น
 
เชื่อมต่อการทำงานด้วยเว็บเซอร์วิส

          บิล เกตส์ เชื่อว่า ทั้งธุรกิจและบ้านจะต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมด้านดิจิตอล ขณะเดียวกัน คนที่ทำงานอยู่ในออฟฟิศต่าง ๆ ก็ต้องเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตในการทำงาน จนสามารถทำงานได้ในหลายสถานที่พร้อม ๆ กัน เช่น อาจจะมีแผนกงานสร้างสรรค์อยู่ที่แคลิฟอร์เนีย แต่คนทำแอนิเมชั่นอยู่ที่ประเทศไทย และคนทำซอฟต์แวร์อยู่ที่อินเดีย ซึ่งถือว่าเป็นการทำงานร่วมกันแต่ต่างสถานที่กันได้ ซึ่งตรงนี้เองการใช้แนวคิดทางด้านดิจิตอลทำให้บุคลากรทำงานเหมือนกับอยู่ที่เดียวกัน ที่สำคัญ ทั้งคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์กำลังจะเชื่อมต่อกันผ่านเครือข่ายไร้สายความเร็วสูง ทำให้เราสามารถส่ง e-mail หรือส่งภาพทาง Internet ได้อย่างรวดเร็วทุกที่ทุกเวลา ที่สำคัญคือ เครือข่ายเหล่านี้จะต้องรวดเร็วและปลอดภัยที่สุด

          ในอนาคต เราจะมีการประชุมกันน้อยลงเพราะเรียนรู้กันมากขึ้นผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงการทำงานของเรา เช่น ระหว่างอยู่หน้าจอก็ไม่ต้องรับโทรศัพท์หรือขยับเอกสารไปมาเพราะทุกอย่างจะอยู่บน ระบบ XML ซึ่งเป็นเหมือนภาษากลางที่ทำให้ภาพ เสียง ข้อมูล สามารถทำงานร่วมกันได้ บนอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องพีดีเอ เป็นต้น

          XML เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้เว็บไซต์แต่ละแห่งสามารถทำงานร่วมได้ ซึ่งจะทำให้เว็บไซต์ หรือบริการทางอินเทอร์เน็ตสามารถทำงานเชื่อมโยงกับเว็บไซต์อื่นๆ ดังนั้นเมื่ออุปกรณ์หรือข้อมูลต่าง ๆ อยู่บนระบบ XML แล้ว ก็จะสามารถเชื่อมต่อซึ่งกันและกันได้

          ระบบ XML นี้เป็นส่วนหนึ่งของ เว็บเซอร์วิส ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้แอพลิเคชันต่าง ๆ ของผู้ผลิตแต่ละราย สามารถทำงานร่วมกัน และแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ แม้ว่าแอพลิเคชันเหล่านี้จะสร้างบนภาษา และฐานข้อมูลที่แตกต่างกัน มาตรฐานของเว็บเซอร์วิสดังกล่าวจะทำให้มีการเชื่อมต่อซึ่งกันและกันได้สะดวก ดังนั้น แต่ละอุตสาหกรรม/บริษัท ไม่ว่าจะเป็นไมโครซอฟท์ ไอบีเอ็ม หรือแม้แต่ซัน จึงต้องมีการทำงานโดยใช้มาตรฐาน XML เดียวกัน

          บิล เกตส์ กล่าวว่าเว็บเซอร์วิสกำลังเปลี่ยนแปลงการทำงานของคนทั่วไปอย่างชัดเจน ขณะที่นักพัฒนาก็ไม่ต้องเขียนโปรแกรมต่าง ๆ มากมาย ซอฟต์แวร์ต่างๆ จะทำงานได้อย่างอัตโนมัติมากขึ้น และสามารถนำเข้าสู่เครือข่ายไร้สาย และอุปกรณ์ไร้สายต่า ๆ ได้ เท่ากับว่าจะทำให้การทำงานมีความสะดวก และเพิ่มศักยภาพการทำงานขององค์กรได้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ในทุก 25 ปีที่ผ่านมาทุก อย่างเปลี่ยนแปลงไป คอมพิวเตอร์และโปรแกรม MS Word ถูกนำมาใช้แทน เครื่องพิมพ์ดีด ขณะที่ข้อมูลทุกอย่างก็จะถูกเก็บรวบรวมไว้ ผ่านบริการเว็บเซอร์วิสนั่นเอง นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการซื้อสินค้าด้วย โดยเราสามารถค้นหาข้อ มูลต่างๆ ของสินค้าจากที่ไหนก็ได้ ดังนั้น จึงต้องมีการทำงานของเว็บเซอร์วิส โดยที่แต่ละคนทำงานต่าง ๆ ร่วมกัน

          ในอีก 10 ปีต่อจากนี้ไป จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ต้นทุนของซอฟต์แวร์จะลดลง และเชื่อมั่นว่า อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์จะยังคงเติบโต และกลายเป็นสินค้าที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้คน ไม่เพียงจะส่งขายเฉพาะในพื้นที่ี่เท่านั้น แต่ยังสามารถส่งขายออกไปทั่วโลกได้อีกด้วย และ บิล เกตส์ เชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอที่จะก้าวเป็น ผู้นำในด้านเว็บเซอร์วิสของโลกได้อีกด้วย
 

 




          โดยสรุปแล้ว สิ่งที่ บิล เกตส์ กำลังบอกเราก็คือ ดิจิตอลและไอที มีบทบาทสำคัญในโลกปัจจุบันรวมไปถึงในอนาคตด้วย เพราะจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเราในทุก ๆ ด้าน ทั้งการใช้ชีวิต การศึกษา และการทำงาน ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. เอง ก็ตระหนักถึงเรื่องนี้ดี จะเห็นได้จากโครงการต่าง ๆ ที่เรานำดิจิตอลและไอทีมาเป็นสื่อหรือเครื่องมือในการดำเนินการ หรือแม้แต่การทำงานในแต่ละวันของเราที่จะต้องใช้ไอทีและระบบเครือข่ายต่าง ๆ ทั้ง e-Office Intranet รวมไปถึง Internet เพื่อช่วยในการทำงานและรับทราบข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ ซึ่งจะเป็นช่องทางที่จะพัฒนาตนเองไปสู่การเป็น Knowledge Worker ต่อไป ดังนั้น สิ่งที่เราต้องทำก็คือ การปรับตัวและเตรียมพร้อมเพื่อเข้าสู่โลกแห่งดิจิตอล นั่นเอง