เลขาธิการ ก.พ.ร. ย้ำ

การพัฒนาระบบราชการต้องเดินหน้าต่อ


           เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2549   คุณอัญชลี อับดุล ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวไทย   ได้เข้าพบ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์  เลขาธิการ
ก.พ.ร. เพื่อบันทึกเทปโทรทัศน์การสัมภาษณ์ และจัดทำข่าว เพื่อออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์โมเดิน ไนน์ ทีวี ซึ่งการสัมภาษณ์ครั้งนี้ มีหลายประเด็นคำถามที่น่าสนใจ อีกทั้งคำตอบของเลขาธิการ ก.พ.ร. นั้น นอกจากจะช่วยสร้างความชัดเจนให้กับเพื่อนข้าราชการและประชาชนที่สนใจเรื่องการพัฒนาระบบราชการได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังสามารถสร้างความมั่นใจให้แก่ชาวสำนักงาน ก.พ.ร. ให้ร่วมมือกันปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนต่อไป โดยไม่ต้องกังวลถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่ผันผวนตลอดเวลา และในวันนี้ ก็มีบทสัมภาษณ์ดังกล่าวมานำเสนอกันค่ะ


ก้าวต่อไปของการพัฒนาระบบราชการ

           “ในความเห็นผม... การดำเนินงานพัฒนาระบบราชการในช่วงนี้ เราก็คงยังยึดหลักตาม พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีนะครับ ซึ่งใน พ.ร.ฎ. นี้ เราก็ต้องนำหลายเรื่องเข้ามาใช้ ฉะนั้นในช่วงที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอยู่บ้าง ผมคิดว่า ผลกระทบต่อการดำเนินการเรื่องการพัฒนาระบบราชการอาจจะไม่มีมากเท่าไหร่นัก เพราะว่าเราดำเนินการตามตัว พ.ร.ฎ. เช่น การบริหารเชิงบูรณาการที่ได้ถูกกำหนดเอาไว้ใน พ.ร.ฎ. ก็ต้องมีการดำเนินการต่อ ในส่วนของการจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการฯ ก็ต้องทำต่อ ในส่วนของการอำนวยความสะดวกการให้บริการประชาชน รวมทั้งการสร้างความเข้มแข็งในระบบราชการเอง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการจัดการความรู้ การอบรมในลักษณะที่เรียกว่า e-training พวกนี้ก็ต้องมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องครับ”


 
ปัญหาอุปสรรคที่พบช่วงนี้

           “ในช่วงนี้ก็อาจจะเกิดความสับสนในบรรดาข้าราชการอยู่บ้างนะครับ ว่าทิศทางการพัฒนาระบบราชการนี้ จะเปลี่ยนหรือจะทำเหมือนเดิม ผมเองก็ได้เดินสายออกไปอธิบายในหลายๆ เวที ก็ยืนยันนะครับว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็เป็นเรื่องทางการเมือง แต่ว่าในเรื่องของการพัฒนาระบบราชการเราก็มีหลักการที่เราจะต้องทำนะครับ หลายเรื่องก็ได้ใส่เป็นตัวบทกฎหมายเอาไว้แล้ว ก็ขอให้เพื่อนๆ ข้าราชการดำเนินการไปตามหลักการที่เรียกว่า ธรรมาภิบาล หรือการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีที่ได้มีการกำหนดเอาไว้ครับ”

 

การลาออกของท่านอาจารย์วิษณุ และอาจารย์บวรศักดิ์
มีผลกระทบต่อการทำงานของสำนักงาน ก.พ.ร. หรือไม่

           “ในส่วนของประธาน ก.พ.ร. คือ ท่านรองฯ วิษณุ ที่ท่านได้ออกไป ตอนนี้ทางรัฐบาลก็ได้แต่งตั้งท่านรองฯ สุวัจน์ เข้ามาดูแลแล้ว ฉะนั้นการประชุม ก.พ.ร. ก็คงจะดำเนินการต่อไปได้ คิดว่าในการประชุม ก.พ.ร. ครั้งที่จะถึงนี้คงจะกำหนดทิศทางการทำงานและวิธีการทำงานของ ก.พ.ร. ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านหรือระยะเปลี่ยนแปลงทางการเมืองช่วงนี้ด้วยครับ

           ส่วนคำถามที่ว่ามีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน  ในส่วนของท่านอาจารย์บวรศักดิ์คงจะไม่มีผลกระทบ  เพราะว่าท่านถูกแต่งตั้งโดยชื่อ ไม่ใช่โดยตำแหน่ง แล้วคำถามที่ว่าในส่วนการทำงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย เช่น กฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หรือว่า กฎหมายปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม นี่นะครับ ก็อยากที่จะเรียนว่า ในส่วนของ ก.พ.ร. เราก็มี อนุกรรมการ ก.พ.ร. ในด้านกฎหมาย ซึ่งมีท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธานอยู่ และก็มีกรรมการจากกฤษฎีกาอยู่ในนั้นด้วย ฉะนั้นในส่วนตรงนี้ก็คิดว่า สามารถดำเนินการไปได้ แต่ส่วนที่มีผลกระทบอันเนื่องมาจากว่า ไม่มีรัฐสภาในช่วงนี้ก็คงจะมีแน่นอน   นั่นคือ   กฎหมายที่เราเตรียมแก้ไข    ทั้งกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินก็ดี กฎหมายปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ก็ดี ก็มีอันที่จะต้องชะลอไปก่อนนะครับ รอให้มีรัฐบาล มีสภา แล้วก็คงจะต้องมีการดำเนินการต่อไป”


หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ขยายเวลาการดำรงตำแหน่งของท่านเลขาธิการ ก.พ.ร. ไปอีก 1 ปี
ท่านมีแนวโน้มหรือมีแนวทางการดำเนินงานต่อไปอย่างไร


           “คงต้องมีใครสักคนที่ดูแลการปฏิรูประบบราชการต่อไป เพราะว่าการปฏิรูประบบราชการไม่ใช่งานที่ทำแล้ว 5 ปี 4 ปี เสร็จแล้วก็เลิกกันไปนะครับ มันเป็นสิ่งที่ต้องทำต่อเนื่อง ก็อาจจะเป็นความโชคดีที่ทางคณะรัฐมนตรีได้กรุณาต่อให้ผมทำงานอีก 1 ปี อาจจะเป็นช่วงจังหวะเวลาที่สำคัญ เพราะว่าจะเป็นช่วงของการเปลี่ยนจากรัฐบาลเก่าเป็นรัฐบาลใหม่ ซึ่งจะเป็นใครก็ไม่ทราบนะครับ อย่างน้อยในที่สุดผมเองในฐานะที่เป็นเลขาธิการ ก.พ.ร. ก็จะสามารถทำหน้าที่ในการส่งไม้ต่อ ก็จะสามารถทำให้การพัฒนาระบบราชการเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และราบรื่นต่อไปได้ครับ”

 

สำหรับการดำเนินงานของผู้ว่าฯ CEO มีการประเมินผลหรือไม่อย่างไร

           “ในเรี่องของการประเมินผล 6 เดือนนี่นะครับ ก็ไปเร่งรัดในเรื่อง การใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินตามโครงการต่างๆ ส่วนการดำเนินงานก็ก้าวหน้าไปตามเป้าหมายพอสมควร คิดว่าปีนี้ก็เข้ามาปีที่ 3 ของระบบการทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการ ปัญหายังคงมีอยู่ แต่ความเข้าใจต่างๆ ก็ดีขึ้น และการทำงานก็ก้าวเข้าไปอีกระดับหนึ่ง อย่างเช่น เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้มีการประชุมร่วมกัน ระหว่างท่านผู้ว่าราชการจังหวัด กับท่านเอกอัครราชทูตแบบบูรณาการที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ก็ได้มีการคิดในเรื่องที่ได้มีการทำโครงการต่างๆ ร่วมกัน ที่เรียกว่า East West Economic Corridor (EWEC) ผมคิดว่า มาได้ไกลแล้วและ็ดำเนินการมาได้ค่อนข้างดีทีเดียว  ในขณะนี้ก็พยายามให้ภาค
ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานของผู้ว่าฯ แบบบูรณาการเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคิดว่าเป็นขั้นตอนต่อไปที่เราต้องเร่งดำเนินการ”

 

ขอย้อนกลับไปที่ ท่านอาจารย์วิษณุ กับ อาจารย์บวรศักดิ์
ว่าจะเชิญท่านมาเป็นที่ปรึกษาในเรื่องของปฏิรูปกฎหมายได้ไหม

           “สามารถเชิญมาได้ครับ แล้วก็ได้เรียนเชิญท่านเอาไว้นะครับว่า ทางสำนักงาน ก.พ.ร. มีโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ ที่สื่อเรียกว่า “ข้าราชการพันธุ์ใหม่” ก็เชิญทั้ง 2 ท่านมาเป็นครูของนักเรียนเหล่านั้น เพื่อที่จะเตรียมพวกเขาเข้าสู่ระบบราชการครับ ซึ่งท่านก็ให้เวลาส่วนหนึ่ง เพราะว่าท่านต้องการทำงานวิชาการสอนหนังสืออีกหลายแห่ง อย่างน้อยที่ท่านกรุณามาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาให้กับพวกนักเรียน ซึ่งเป็นข้าราชการพันธุ์ใหม่ พวกเขาก็จะได้เข้าใจเรื่องกฎหมาย เรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะอย่างน้อยท่านเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ และมีความรู้ด้านนี้โดยตรง”