สำนักงาน ก.พ.ร. ขอชี้แจงถึงที่มาและความแตกต่างของการจัดสรร “เงินรางวัลประจำปีของข้าราชการ” และ “เงินเพิ่มพิเศษสำหรับผู้บริหาร”  อีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากมีข้าราชการบางส่วนยังเข้าใจสับสนคลาดเคลื่อน    จึงขอชี้แจง ข้อเท็จจริงดังต่อไนี้


ความแตกต่างระหว่าง


“เงินรางวัลประจำปีของข้าราชการ”
และ
“เงินเพิ่มพิเศษสำหรับผู้บริหาร”

           
             “เงินเพิ่มพิเศษสำหรับผู้บริหาร” เป็นผลมาจากการปรับโครงสร้างเงินเดือนของข้าราชการ เมื่อเดือนเมษายน 2547 ซึ่งไม่เคยมีการปรับมาเกือบ 10 ปี โดยได้มีการปรับขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการทั้งระบบ 3% เท่ากัน อันเป็นไปตาม เงื่อนไขที่กฎหมายเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งได้กำหนดไว้ว่าต้องปรับขึ้นเท่ากันหมด ทั้งนี้ หากปรับขึ้นไม่เกิน 10% ก็สามารถทำเป็นพระราชกฤษฎีกาได้ (ดูมาตรา 14)


            สำหรับข้าราชการระดับซี 1 ถึง ซี 7 นั้น รัฐบาลก็ได้มีนโยบายให้ความดีความชอบเป็นกรณีพิเศษเพิ่มเติม ให้อีก 2 ขั้นแก่ข้าราชการทุกคน (ประมาณเท่ากับ 8%) รวมปรับขึ้นทั้งหมดเป็น 11% อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นดังกล่าวนั้น เป็นการปรับเพิ่มหลังจากการประเมินรอบ 6 เดือนแรกของปีนั้น (31 มีนาคม 2547) ถ้าใครได้เลื่อน .05 หรือ 1 ขั้น (เทียบได้ประมาณ 2- 4%) ก็จะนำไปปรับเพิ่มในฐานเงินเดือนก่อนคำนวณ 11% อันเป็นผลให้มีการปรับเงินเดือน ข้าราชการระดับซี 1 ถึง ซี 7 ขึ้นไปรวมทั้งสิ้นอยู่ประมาณ 13%-15% และถือเป็นการปรับเข้าไปในฐานเงินเดือน ของแต่ละคนอย่างถาวร (ต่อมายังได้มีการปรับปรุงเงินเดือนค่าตอบแทนอีกครั้งหนึ่งและยังได้มีมาตรการเสริม ให้แก่ข้าราชการชั้นผู้น้อยเพิ่มเติมอีกเป็นการเฉพาะ)

            ในส่วนของผู้บริหารสูงสุดของแต่ละหน่วยงาน (CEO) นั้นเป็นการปรับเข้าสู่ระบบใหม่เรียกว่า Senior Executive System ซึ่งเป็นการเตรียมการรองรับระบบในอนาคตที่ต้องการให้ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดดังกล่าวมีลักษณะการจ้าง เป็นวาระคราวละ 4 ปี เช่นเดียวกับผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจ โดยผู้บริหารสูงสุดของ แต่ละหน่วยงานต้องมีการประเมินผล ตามคำรับรองการปฏิบัติราชการที่ได้ลงนามไว้กับผู้บังคับบัญชา และต้องรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติงานทั้งหมด ตามคำรับรองที่ได้ทำไว้ ถ้างานไม่ได้ผลตามเป้าหมายก็ให้มีมาตรการลงโทษ เช่น ถอดถอนจากการไปดำรงตำแหน่ง ในรัฐวิสาหกิจและอื่นๆ หรืออาจโยกไปไว้ในตำแหน่งอื่นแทน หรือเข้าสู่บัญชีผู้บริหาร/อัตราสำรองราชการแทน (ปัจจุบันยังไม่ได้ดำเนินการ)


          เมื่อพิจารณาถึงความแตกต่างในโครงสร้างเงินเดือน (ก่อนปรับเดือนเมษายนปี 2547) กับราคาเงินเดือน ในตลาดนั้นพบว่า ตอนเริ่มเข้ารับราชการจบปริญญาตรีจะได้รับเงินเดือนประมาณ 6,000 บาทแล้วเงินเดือนขั้นสูงสุด   ในระดับ 11 จะอยู่ที่ประมาณ 60,000 บาท ฉะนั้น ความแตกต่างในช่วงแรกเข้ารับราชการ กับราคาตลาดอยู่ประมาณ 2 เท่า (จบปริญญาตรี เข้าทำงานภาคเอกชนได้รับประมาณ 12,000 บาท) แต่สมมุติ เมื่อรับราชการต่อไปจนถึงระดับ 11 ขั้นสุดท้ายจะได้รับประมาณ 60,000 บาท ซึ่งแตกต่างจากราคาตลาดประมาณอย่างน้อย 5 เท่า สาเหตุก็เพราะโครงสร้าง เงินเดือนราชการเป็นแบบเส้นตรง (linear) ฉะนั้น จึงได้มีการปรับอัตราค่าตอบแทนของตำแหน่งปลัดกระทรวง เป็น 150,000 บาท อธิบดี/ผู้ว่าราชการจังหวัด 120,000 บาท เป็นต้น อันเป็นผลทำให้ความแตกต่างกับตลาด ก็จะเหลือเพียง 3 เท่า


            ผลจากการปรับดังกล่าว ทำให้ช่วงระยะห่างตั้งแต่ ซี 3 จนถึง ซี 11 กับตลาดอยู่ระหว่าง  2-3 เท่า ตลอดช่วงเวลา การรับราชการ ก็จะทำให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้นในทุกระดับ ทั้งนี้ มีเงื่อนไขว่า เงินเดือนที่ได้รับ 150,000 บาท หรือ 120,000 บาท นั้น จะต้องเอา เงินเดือนจริงที่ได้รับ รวมกับ เงินเพิ่มพิเศษต่างๆ ไปหักออกก่อน แล้วยังถูกถ่วงน้ำหนัก ด้วยผลการประเมินการปฏิบัติงานตามคำรับรองประจำปี ยอดคงเหลือก็คือ เงินเพิ่มพิเศษของผู้บริหาร โดยให้จ่ายเป็นงวดๆ ละ  6 เดือน ซึ่งวิธีการจ่ายดังกล่าวมีข้อดีคือ ไม่ไปผูกพันกับฐานเงินเดือนอันจะมีผลระยะยาวต่อการคำนวณบำเหน็จ บำนาญ และดีกว่าเงินเพิ่มพิเศษประจำตำแหน่งที่เคยใช้กันมาซึ่งผู้บริหารได้รับอัตโนมัติไปเลยในแต่ละเดือน ไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงผลงาน (โปรดดูแผนภาพประกอบ)


             สำหรับผู้บริหารในระดับรองลงไปจนถึงผู้บริหารในระดับผู้อำนวยการสำนัก/กองก็ได้จัดเงินเพิ่มพิเศษให้ลดหลั่น กันลงไปตามลำดับ ตามหลักการดังกล่าว ฉะนั้น เงินเพิ่มพิเศษสำหรับผู้บริหารจึงเป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้าง เงินเดือนเมื่อเดือนเมษายน 2547 เนื่องจากได้มีการแยกระบบออกไปจากกันแล้ว และยังได้กำหนดเป็นเงื่อนไขไม่ให้ผู้บริหารมีสิทธิได้รับเงินรางวัลประจำปี แต่ทุกฝ่ายต่างคงมีความผูกพันยึดโยงกับผลการปฏิบัติงานตามคำรับรอง การปฏิบัติราชการร่วมกัน เพราะจะต้องอาศัยผลการประเมินมาใช้ในการคำนวณเงินเพิ่มพิเศษแก่ผู้บริหารและเงินรางวัล ประจำปีแก่ข้าราชการในหน่วยงาน อนึ่ง เงินเพิ่ิ่มพิเศษสำหรับผู้บริหารที่ได้รับเงินจัดสรรจำนวนปีละ 1,215 ล้านบาท จึงเป็นเงินต่างประเภท กับเงินรางวัลประจำปีของส่วนราชการที่ได้รับจัดสรรจำนวน 5,550 ล้านบาท (โปรดดูหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินรางวัลให้แก่ส่วนราชการในหัวข้อถัดไป)

       

การจัดสรรเงินรางวัลเงินรางวัลประจำปี

           จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2546 เห็นชอบกับการกำหนดให้ทุกส่วนราชการและจังหวัดต้องการ มีการจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการและการประเมินผล ตลอดจนได้รับสิ่งจูงใจตามผลการปฏิบัติงาน เพื่อเป็นแรงจูงใจ ในการเสริมสร้างการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน อันเป็นไปพระราชกฤษฎีกาว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองทีดี พ.ศ. 2546 รวมถึงเจตนารมณ์ในมาตรา 3/1 ของกฎหมายระเบียบ บริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2545

            สำหรับการจัดสรรเงินรางวัลประจำปีได้คำนึงถึงปัจจัยดังต่อไปนี้

             ผลการประเมินการปฏิบัติราชการประจำปีของส่วนราชการและจังหวัดตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ
            ขนาดของส่วนราชการโดยใช้ข้อมูลเงินเดือนและค่าจ้างของข้าราชการและลูกจ้างประจำที่มีผู้ครอง ณ
               วันที่ 1 กันยายน 2548 จากกรมบัญชีกลาง
             กระทรวงการคลังการมีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกันระหว่างส่วนราชการในพื้นที่ โดยจำแนกเป็น (1)
                ราชการบริหารส่วนกลาง (2) ราชการบริหารส่วนกลางที่ปฏิบัติราชการอยู่ในส่วนภูมิภาค และ (3)
                ราชการบริหารส่วนภูมิภาค

           ขั้นตอนการจัดสรรเงินรางวัลประจำปี

             แบ่งการจัดสรรเป็น 2 ขั้นตอนคือ

               1. ขั้นตอนการจัดสรรเงินรางวัลประจำปีมีให้แก่ส่วนราชการและจังหวัด จะดำเนินการภายหลังจากที่มีการ ประเมินผลการปฏิบัติราชการประจำปีตามคำรับรองที่ส่วนราชการและจังหวัดต่างๆให้ไว้แล้ว และต้องได้คะแนน ไม่ต่ำกว่าระดับ 3.0000 คะแนน

               2.  ที่การจัดสรรเงินรางวัลประจำปีให้แก่ข้าราชการและลูกจ้างประจในส่วนราชการและจังหวัด ดำเนินการ โดยส่วนราชการและจังหวัด ภายในวงเงินที่ส่วนราชการและจังหวัดได้รับการจัดสรรโดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้

              2.1.  ส่วนราชการหรือจังหวัดต้องไม่นำเงินรางวัลทั้งหมดไปจัดสรรโดยวิธีการหารเฉลี่ยให้ข้าราชการและลูกจ้าง ประจำทุกคนได้รับเท่ากัน เนื่องจากการทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  ตลอดจนต้องอาศัยผู้ที่เป็นแกนหรือกำลังหลักในการผลักดันงานด้วยเช่นกัน  ดังนั้น รางวัลที่จัดสรรจึงประกอบด้วยสองส่วน คือ ส่วนหนึ่ง เป็นรางวัลเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน อีกส่วนหนึ่ง เป็นรางวัลที่สะท้อนถึงความโดดเด่น เฉพาะของ หน่วยงาน/บุคคลในการเป็นส่วนผลักดันที่สำคัญที่ทำให้บรรลุผล ซึ่งสัดส่วนของแต่ละส่วนจะเป็นเท่าไร ขึ้นอยู่กับการ พิจารณาของคณะทำงานจัดสรรเงินรางวัลของแต่ละส่วนราชการและจังหวัดนั้นๆ
            
            

              2.2.  จำนวนเงินรางวัลที่ข้าราชการและลูกจ้างประจำจะได้รับขึ้นอยู่กับผลการปฏิบัติราชการของข้าราชการ และลูกจ้างประจำผู้นั้น และการมีส่วนร่วมผลักดันให้ผลงานของหน่วยงาน ส่วนราชการ หรือจังหวัดบรรลุเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้

              2.3.  
ส่วนราชการและจังหวัดอาจแบ่งเงินรางวัลเป็นสองส่วน เช่น 40:60 หรือ 50:50 เป็นต้น โดยส่วนแรก ให้จัดสรรเป็นรางวัลที่สะท้อนถึงความร่วมมือกันในการสร้างผลงานให้ส่วนราชการ/จังหวัดให้แก่ข้าราชการ และลูกจ้างประจำทุกคนเป็นร้อยละของเงินเดือนที่เท่าๆกันหรือเป็นจำนวนที่เท่าๆกัน และส่วนที่สอง   ให้จัดสรรรางวัล สำหรับความโดดเด่นของผลงานให้แก่ข้าราชการและลูกจ้างประจำตามผลการปฏิบัติราชการที่โดดเด่น และมีส่วนร่วมในความสำเร็จของส่วนราชการและจังหวัด

      วิธีการ


     
            ให้ส่วนราชการ/จังหวัดแต่งตั้งคณะทำงานจัดสรรเงินรางวัลขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่พิจารณาหลักเกณฑ์ และวิธีการในการจัดสรรเงินรางวัล และต้องประกาศ หลักเกณฑ์ให้ข้าราชการและลูกจ้างประจำ ได้ทราบโดยทั่วกัน

             2.4  เพื่อเป็นการสนับสนุนมาตรการช่วยเหลือข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ส่วนราชการและจังหวัด อาจจัดสรรเงินรางวัลประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2548 เป็น 3 ส่วน โดยเพิ่ม ส่วนที่ 3 เป็นการจัดสรรเงินรางวัลให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยและลูกจ้างประจำที่มีผลการประเมินประสิทธิภาพ และประสิทธิผลการปฏิบัติงานในระดับที่ส่วนราชการกำหนด ทั้งนี้ ส่วนราชการและจังหวัด สามารถเลือกใช้แนวทาง การจัดสรรเงินรางวัลแนวทางใดแนวทางหนึ่งตามที่ส่วนราชการเห็นสมควร

                                                   


         วิธีการ (เพิ่มเติม)


            ให้ส่วนราชการ/จังหวัดแต่งตั้งคณะทำงานจัดสรรเงินรางวัลขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่พิจารณาหลักเกณฑ์ และวิธีการในการจัดสรรเงินรางวัล และต้องประกาศ หลักเกณฑ์ให้ข้าราชการและลูกจ้างประจำ ได้ทราบโดยทั่วกัน

           ทั้งนี้ ผู้บริหารสามารถนำเงินเพิ่มพิเศษของตนมาให้การสนับสนุนร่วมด้วยก็ได้ โดยนำเงินเพิ่มพิเศษ สำหรับผู้บริหารบางส่วนมาสมทบเพื่อเป็นเงินรางวัลสำหรับข้าราชการชั้นผู้น้อย เช่น นำมาสมทบเป็นเงินรางวัล ในส่วนที่ 3 เป็นต้น