แนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์
ด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว
โดยใช้เส้นทาง

เชื่อมโยงทางเศรษฐกิจแนวตะวันออก - ตะวันตก
(East West Economic Corridor: EWEC)


          ยุทธศาสตรของชาติยุทธศาสตร์หนึ่งที่สำคัญต่อการผลักดันให้ประเทศไทยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน บนเวทีโลก คือ “การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยใช้เส้นทางเชื่อมโยง ทางเศรษฐกิจแนวตะวันออก - ตะวันตก (East West Economic Corridor) ร่วมกันระหว่างเอกอัครราชทูต แบบบูรณาการในประเทศเพื่อนบ้านของไทย กับผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (19 จังหวัด) และกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง (5 จังหวัด)” โดยมี กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงาน ก.พ.ร. ทำหน้าที่ประสานเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ และการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัด และระหว่าง กลุ่มจังหวัด เพื่อทำให้การพัฒนาระบบราชการ ในเรื่องการบริหารราชการแบบบูรณาการในจังหวัดและต่างประเทศ เป็นไป ตามเจตนารมณ์ของมาตรา 3/1 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) และตามพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

          นอกจากความร่วมมือของทั้ง 3 หน่วยงานหลักที่กล่าวมาแล้ว คณะทำงานยังประกอบด้วย ผู้แทนมหาวิทยาลัย ขอนแก่น  สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งทุกๆ ฝ่ายมีกรอบการทำงาน ที่เน้นให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านของไทย ตามรายละเอียดที่นำเสนอดังต่อไปนี้


 การทบทวนผลการดำเนินงานที่ผ่านมา

           มีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาระบบการทำงานร่วมกัน ระหว่างเอกอัครราชทูตแบบบูรณาการในประเทศเพื่อนบ้านของไทย กับผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19 จังหวัด เปิดตัวศูนย์ปฏิบัติการร่วมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก เฉียงเหนือ  จัดงาน Thailand-Laos-Vietnam Festival 2005 ที่เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 1-3 เมษายน 2548 เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่าง 3 ประเทศ  การประชุมเพื่อกำหนดแนวทางและกลไกการดำเนินงานของ ROC การคัดเลือกประธาน ROC ในแต่ละปี และคัดเลือกฝ่ายเลขานุการ ROC จากนั้นมีการประชุมเพื่อทบทวนโครงสร้าง บทบาทหน้าที่ และแผนกิจกรรม           


ภาพรวมของ East West Economic Corridor: EWEC


          เส้นทางสายนี้จะแล้วเสร็จประมาณปี 2552 จะเป็นเส้นทางสายใหม่ที่เชื่อมโยงมหาสมุทรกับมหาสมุทร เชื่อมโยงทะเลกับทะเล และเชื่อมโยงประเทศจีนและอินเดีย คาดว่าเส้นทางสายนี้จะก่อให้เกิดอุปสงค์และโอกาสใหม่ๆ ขึ้น เส้นทางสายนี้ยาว 1,450 กิโลเมตร ผ่านประเทศไทย 777 กิโลเมตร ประเทศไทยโดยเฉพาะกลุ่มจังหวัดภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะวางยุทธศาสตร์อย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขกับประชาชน และเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ และเกิดประโยชน์ร่วมในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
          มีการกำหนดกรอบประเด็นยุทธศาสตร์ EWEC ไว้ 3 ประเด็น คือ 1) การค้า-การลงทุน 2) การท่องเที่ยว-การบริการ 3) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ภายใต้ปรัชญา 3 C ที่ ADB และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้กำหนดไว้ คือ Community, Connection, Competitiveness อย่างไรก็ตาม การดำเนินการควรอยู่บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจและการประสานประโยชน์อย่างเท่าเทียม

ประเด็นยุทธศาสตร์การค้า การลงทุน ตามแนวเส้นทาง EWEC
          สิ่งที่คาดว่าจะเกิดคือ เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และจังหวัดมุกดาหาร ศูนย์โลจิสติกส์ จังหวัดพิษณุโลก เชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมทางน้ำกับจังหวัดนครสวรรค์ และเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยว กับจังหวัดสุโขทัย ศูนย์โลจิสติกส์ จังหวัดขอนแก่น เชื่อมโยงกับจังหวัดนครราชสีมา และเชื่อมโยงเส้นทางการบิน กับจังหวัดอุบลราชธานี และอุดรธานี            ประเด็นยุทธศาสตร์ที่โดดเด่นของภาคอีสาน มีหลายประเด็นที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาล เช่น ครัวของโลก ข้าวหอมมะลิ ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ การค้าชายแดน การแปรรูปสินค้าเกษตร และ Contract farming ดังนั้น โอกาสในการพัฒนาคือ การส่งเสริมกิจกรรม Contract Farming อย่างต่อเนื่อง พัฒนาเขตเศรษฐกิจ ให้สอดคล้องกับศักยภาพของจังหวัด สนับสนุนเรื่องนิคมอุตสาหกรรม และพัฒนาแหล่งพลังงานให้สอดคล้อง กับความต้องการพลังงานของโลก            กลุ่มจังหวัดภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีศักยภาพในการพัฒนาหลายมิติ เช่น เส้นทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม เส้นทางธรรม เส้นทางมรดกโลก เส้นทางท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และนิเวศน์ มีสินค้าการท่องเที่ยวที่มีคุณค่า และหลากหลาย
          ประเด็นของการพัฒนาศักยภาพคือ ทำอย่างไรจึงจะส่งเสริมเส้นทางนี้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมและส่งเสริม เส้นทางการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะมีขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน ต้องพัฒนา Cluster ท่องเที่ยว ที่เข้มแข็ง การพัฒนาบุคลากรทางการท่องเที่ยว ที่พัก ศูนย์การประชุม ศูนย์ข้อมูลทางการท่องเที่ยว รถเช่า การขายของ
ที่ระลึก

       

ศักยภาพการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

          ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีมหาวิทยาลัย โรงพยาบาล และศูนย์การแพทย์มากกว่า 50 แห่ง มีสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน ศูนย์ฝึกอบรม สถานีวิจัย/ทดลอง ของส่วนราชการมากกว่า 40 แห่ง มีศูนย์เรียนรู้ ปราชญ์ชาวบ้าน วิทยาลัยชุมชน ศูนย์ฝึกวิชาชีพ ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จะทำให้มีโอกาสอย่างมากในการสนับสนุน ส่งเสริม สร้างโอกาสทางการศึกษา และสนับสนุนการเรียนรู้ร่วมกันกับประเทศเพื่อบ้าน สนับสนุนส่งเสริมด้านการสาธารณสุขกับประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในภาคประชาชน

แผนที่ทางยุทธศาสตร์ และ Value Chain

          ภาพรวมยุทธศาสตร์การทำงานร่วมกัน สามารถนำเสนอเป็นแผนที่ยุทธศาสตร์ EWEC ดังนี้

          วิสัยทัศน์                   เส้นทางเชื่อมโยงสังคม เศรษฐกิจ บนพื้นฐานแห่งมิตรไมตรี
          ประเด็นยุทธศาสตร์    การค้าและการลงทุน การท่องเที่ยวและการบริการ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
          คุณค่า                      เพื่อสร้างคุณค่าความไว้เนื้อเชื่อใจ และประสานประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน

          จะสร้างคุณค่าได้ ต้องเกิดความร่วมมืออย่างเน่นแฟ้น เพื่อผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เหมาะสม ต้องมีกิจกรรมสัมพันธไมตรีเพิ่มขึ้น มีกิจกรรมที่ส่งเสริมมูลค่าการค้าการลงทุนสูงขึ้น และกิจกรรมและมูลค่าธุรกิจการบริการและการที่องเที่ยวเพิ่มขึ้น สร้างความเข้มใจและความพึงพอใจของภาคส่วนต่างๆ สร้างจุดแวะพัก ศูนย์กระจายสินค้า และบริการบนเส้นทาง EWEC พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ประเด็นสุดท้ายที่สำคัญคือ สร้างทีมงานที่เป็น Team Thailand พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของfunction และarea สร้างความรู้ความเข้าและทัศนคติจากทุกภาคส่วนในการสานสัมพันธไมตรีกับประเทศเพื่อนบ้าน ประสานยุทธศาสตร์และเป้าหมายการทำงานร่วมกันที่เชื่อมโยงระหว่าง กระทรวงและกลุ่มจังหวัด/จังหวัด ที่สอดคล้องกัน

 

                            

          ข้อเสนอสิ่งที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนสำหรับ 2 ซีอีโอ ได้แก่  กิจกรรมส่งเสริมสัมพันธไมตรีการพัฒนาทรัพยากร มนุษย์ การท่องเที่ยว  การค้าการลงทุน  ขณะเดียวกันก็จะต้องบริหารจัดการความเสี่ยง(Risk Management) ที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น  การเมือง ความมั่นคง ยาเสพติด อาชญากรรม แรงงาน  การค้ามนุษย์  โรคระบาด และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม

ยุทธศาสตร์ EWEC (Blue Ocean Strategy) และโครงการสำคัญ

         ใช้กลยุทธ์การส่งเสริมการทำงานร่วมกัน ไม่เน้นการแข่งขันระหว่างกลุ่มจังหวัด และการแข่งขันระหว่างประเทศไทย กับประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบด้วยกิจกรรม เช่น กิจกรรมสร้างสรรค์ กิจกรรมภาคประชาชน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ด้านวัฒนธรรม กิจกรรมขจัดความไม่ไว้วางใจ เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติ และความรู้สึก  การลดกฎระเบียบ และพิธีการ ที่เป็นอุปสรรคทางการค้า  การเพิ่มพูนสัมพันธไมตรี และเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์-ทุนสังคม

       

กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค

          เรามีแผนงานความร่วมมือร่วมในอนุภูมิภาคที่สำคัญ ได้แก่ แผนงานการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (ACMECS) โดยแผนงานการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) มีกรอบความร่วมมือใน 9 สาขา ได้แก่ การคมนาคมขนส่ง การพลังงาน การโทรคมนาคม การอำนวยความสะดวก การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การเกษตร ซึ่งผลของการพัฒนามีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เห็นชัดเจน แต่อย่างไรก็ดี ยังมีปัญหาและข้อจำกัดเกิดขึ้น และมีแนวโน้มรุนแรง ซึ่งเกิดจาก 3 ประเด็นหลัก
           ความแตกต่างของระดับการพัฒนาทางสังคมและช่องว่างทางเศรษฐกิจ
           ประวัติศาสตร์ในยุคสงครามเย็น ส่งผลให้ประเทศไม่ไว้เนื้อเชื่อใจและไม่ไว้ใจกันในบางกรณี
          การพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงยังเป็นไปในลักษณะที่ไม่ก่อให้เกิดความสมดุลทางเศรษฐกิจ และสังคม

                                                                 

          สำหรับยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (ACMECS) เป็นการดำเนินการ ระหว่างประเทศที่มีชายแดนติดกัน เพื่อลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและสร้างความแข็งแกร่งภายใน โดยความร่วมมือ 5 สาขา ได้แก่ การอำนวยความสะดวกการค้าการลงทุน ความร่วมมือด้านการเกษตร อุตสาหกรรม การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม การท่องเที่ยวและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีการพัฒนา Sister City เป็นฐานผลิตด้านอุตสาหกรรม การค้า การท่องเที่ยวระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน สนับสนุนการย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมจากไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน