คณะข้าราชการจากประเทศศรีลังกา
ศึกษาดูงานเรื่อง ธรรมาภิบาลภาครัฐ
เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้รับเกียรติจาก คณะข้าราชการจากประเทศศรีลังกา มาศึกษาดูงานเรื่อง ธรรมาภิบาลภาครัฐ (Good Governance) ณ ห้องประชุมฝ่ายบริหาร ชั้น 4 สำนักงาน ก.พ.ร. โดยมีนางกิตติยา คัมภีร์ ผู้อำนวยการสำนักเผยแพร่และสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบราชการ เป็นผู้บรรยาย
คณะข้าราชการจากประเทศศรีลังกา ที่มาศึกษาดูงานเกี่ยวกับธรรมาภิบาลภาครัฐในครั้งนี้ เป็นข้าราชการจากส่วนราชการต่าง ๆ ของประเทศศรีลังกา ที่เข้ารับร่วมการศึกษาดูงานในโครงการ Good Governance Initiatives in Thailandซึ่งจัดโดย สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (Mekong Institute) เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการส่งเสริมธรรมาภิบาลในภาครัฐของไทย โดยมีสำนักงาน ก.พ.ร. เป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันเรื่องดังกล่าว โดยส่งเสริมให้การบริหารราชการเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี อันประกอบด้วย ความเสมอภาค/ความเที่ยงธรรม (Equity) การมุ่งเน้นฉันทามติ (Consensus Oriented) การกระจายอำนาจ (Decentralization) ประสิทธิภาพ (Efficiency) ประสิทธิผล (Effectiveness) ภาระรับผิดชอบ (Accountability) ความโปร่งใส (Transparency) การตอบสนอง (Responsiveness) การมีส่วนร่วม (Participation) และ นิติธรรม (Rule of law)
สำหรับผู้ที่มาต้อนรับและบรรยายให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคณะศึกษาดูงานในครั้งนี้ คือ นางกิตติยา คัมภีร์ ผู้อำนวยการสำนักเผยแพร่และสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบราชการ โดยได้บรรยายในหัวข้อ Good Governance Initiatives in Thailand และ Modern Public Administration Concepts and Administrative Structure โดยได้บรรยายถึงที่มาของการปฏิรูประบบราชการ การดำเนินการพัฒนาระบบราชการไทยนับตั้งแต่การประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 ซึ่งกำหนดกรอบแนวทางการบริหารราชการแผ่นดินที่เน้นหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และการบริหารงานภาครัฐแนวใหม่ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย
นอกจากนี้ ผอ.กิตติยายังได้แนะนำให้คณะศึกษาดูงานได้ทราบถึงบทบาทหน้าที่ และภารกิจของคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และสำนักงาน ก.พ.ร. ซึ่งได้ดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาระบบราชการ อาทิ การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย การปรับปรุงโครงสร้างส่วนราชการ การจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการและการติดตามประเมินผลการปฏิบัติราชการ การลดขั้นตอนและระยะเวลาในการปฏิบัติราชการและพัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชน การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรมและค่านิยมของข้าราชการให้เอื้อต่อการพัฒนาระบบราชการ การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) การจัดทำโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Learning) เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการต่าง ๆ ดังกล่าว ส่งผลให้การพัฒนาระบบราชการบังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม จนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ดังจะเห็นได้จากผลการจัดอันดับความยากง่ายในการเข้าไปประกอบธุรกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก (Doing Business) ที่จัดทำโดยธนาคารโลก (World Bank) ซึ่งประเทศไทยได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับ Top 20 ทุกปี นับตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา โดยล่าสุด การจัดอันดับในปี 2011 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 19 จาก 183 ประเทศ และเป็นอันดับที่ 3 ของทวีปเอเชีย รองจากสิงคโปร์ และฮ่องกง
วสุนธรา & ภัทรพร (สลธ.) / รายงาน
ชนกสุดา & ธนาพร (สลธ.) / ข้อมูล
กลุ่มสื่อสาร ฯ / จัดทำ
เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 15 มิถุนายน 2554 10:30:52 ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 15 มิถุนายน 2554 10:30:52